ธนา เธียรอัจฉริยะ คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการใหญ่ในหลายๆ อุตสาหกรรมบ้านเรา ภาพที่ใครหลายคนจดจำเขาได้เป็นอย่างดี คือการพาแบรนด์อย่าง dtac ขึ้นแท่นบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ แบบที่ถ้าใครนึกถึง dtac ก็ต้องมีชื่อของธนาอยู่ในนั้นเสมอ ชื่อของเขายังปรากฏอยู่ในหลายๆ แวดวง ตั้งแต่รีเทล แฟชั่น, มีเดีย, การเงินการธนาคาร ที่มาพร้อมกับการเรียกขานเขาไม่ว่าจะเป็น ธนา Mc Jeans, ธนา GRAMMY, ธนา SCB หรืออะไรก็แล้วแต่ตามที่เขาโยกย้ายไป ล่าสุด เขาคือแม่ทัพที่ทำให้แอปพลิเคชัน Robinhood กลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมในสนามรบของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ในประเทศไทย
นี่เป็นเพียงภาพด้านหนึ่งที่เราเห็น ทว่ารอยทางแห่งความสำเร็จของเขาไม่ได้ราบเรียบนัก และมีคำว่า ‘ผิดพลาด’ ซ่อนอยู่ในนั้นเสมอ ประสบการณ์ชีวิตในแต่ละช่วงวัยที่ถูกบอกเล่าผ่านทุกคำพูดของเขาในวันนี้ เป็นหนึ่งหลักฐานอย่างดีว่า ความขรุขระในแต่ละก้าวได้หล่อหลอมจนเกิดเป็นชุดความคิด ทัศนคติ รวมทั้งการมองโลกของธนาในฐานะผู้รับจ้าง นักการตลาด นักบริหาร นักคิด และนักพัฒนาได้อย่างไร
ชีวิตที่ปะติดปะต่อจากความผิดพลาด
“ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ช่วงอายุ 37 ตอนเป็นผู้บริหารที่ dtac เวลานั้นผมประสบความสำเร็จมาก ก็คิดว่าตัวเองเจ๋ง อีโก้เริ่มพอง ตัวก็พองเพราะทานเยอะและทานซี้ซั้วมาก แถมไม่ชอบออกกำลังอีก จนกระทั่งมาถึงจุดที่อีโก้ระเบิด ตัวก็ระเบิด น้ำหนักผมไต่ไปเกือบ 100 กิโลได้ ร่างกายอ่อนแอ หัวใจผิดปกติเหมือนหัวใจจะวาย เลยต้องไปอยู่ CCU คืนหนึ่ง พอออกจากโรงพยาบาลก็ยังมีความกลัวว่าหัวใจจะวายตลอดเวลา ทำอะไรไม่ได้ ต้องอยู่บ้านทั้งวัน เป็นอย่างนั้นอยู่ 3 เดือน ตอนแรกผมนึกว่าเป็นโรคหัวใจ แต่คุณหมอวินิจฉัยแล้วไม่ใช่ ซึ่งผมมารู้ภายหลังว่าเป็นอาการ Panic Attack จนคิดว่าต้องเปลี่ยนตัวเองแล้ว ไม่อย่างนั้นคงใช้ชีวิตไม่ได้แน่ๆ ผมเลยปรับการใช้ชีวิตใหม่ทั้งหมด พยายามทานอาหารที่ดี ทั้งที่ชีวิตไม่เคยทานผักเลย แต่กลัวตายก็ทาน จากที่ไม่เคยวิ่งก็หันมาวิ่ง ทำแบบนี้ทุกวันจนน้ำหนักลดไป 15 กิโล และอาการต่างๆ ดีขึ้น วิกฤตครั้งนี้ ผมเลยได้เรียนรู้ตั้งแต่เรื่องความประมาท ความล้มเหลว การมีวินัย ไปจนถึงการแก้ไขตัวเอง สมัยก่อนเราอาจชอบเปลี่ยนคนอื่น แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งเลยว่า การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดคือการเปลี่ยนตัวเอง
หลังวิกฤตสุขภาพ ผมได้ค้นพบว่าตัวเองเป็นมนุษย์บัวปริ่มน้ำ คือไม่สามารถเข้าใจในโลกได้เอง ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็คิดว่าจะออกกำลังได้เอง แต่ต้องเจอเรื่องอะไรบางอย่างแล้วถึงจะเรียนรู้ว่าชีวิตเป็นอย่างนี้นะ ขณะที่ผมเองก็ไม่ได้เป็นคนจีเนียสหรือมีพรสวรรค์อะไรพิเศษ แต่เริ่มปะติดปะต่อได้ว่า ความผิดพลาดที่มาผ่านได้หล่อหลอมให้ผมเป็นผมอย่างทุกวันนี้ ผมเริ่มไม่กลัวที่จะเจอความผิดหวัง เวลาใครชวนทำอะไรหรืออยากทำอะไร ก็ไม่กลัวที่จะลอง เพราะว่าถ้าล้มหรือพลาด นั่นจะทำให้เราเข้าใจชีวิต เข้าใจโลก และสามารถถ่ายทอดเพื่อเป็นบทเรียนและมีประโยชน์กับคนอื่นได้ ทำให้ผู้รับสารเห็นว่า นี่คือเรื่องปกติของการเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ที่ในชีวิตต้องเจอเหตุการณ์ประมาณนี้ ผมเลยชอบเรื่องล้มเหลวแรงๆ เพราะว่ามันจะทำให้เราคิดใหม่ เลิกยึดติดกับอดีต ทำให้กลับมาทบทวนและปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น”
สำหรับธนา การล้มเหลวมาตั้งแต่วัยหนุ่ม ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรมากมาย และในความล้มเหลวแต่ละครั้งก็ทำให้เขาตัวเบาขึ้น “ถ้าภาษา Steve Jobs จะบอกว่า แทนที่เราจะแบกความสำเร็จไว้ มันกลายเป็นว่า เราเป็น beginner again เพราะทันทีที่เรารู้สึกว่าตัวเองไม่เจ๋งและตัวเล็กมากเมื่อไหร่ เราจะเริ่มอยากเรียนรู้ อยากนั่งฟังคนเก่งๆ และถ่อมตัวขึ้น” ทัศนคติที่ว่านี้เลยทำให้เขาไม่ยึดติดกับตำแหน่ง ไม่หมกมุ่นกับอดีตที่ผ่านไปแล้ว และทำให้เขาตระหนักได้ว่าทุกความล้มเหลวมักจะมีเรื่องราวดีๆ ซ่อนอยู่เสมอ
การบรรลุเป้าหมาย สองฝ่ายต้องสมประโยชน์กัน
“มีคนบอกว่าผมเปลี่ยนงานบ่อย แต่ผมก็ใช้เวลาในแต่ละที่พอสมควรนะ และแม้ผมจะอยู่ในยุคที่เขาสอนให้ต้องอยู่กับบริษัทนี้ตลอดไปแบบ lifetime employment บริษัทดูแลเรา เราดูแลบริษัท ขณะเดียวกันผมจะสำรวจตัวเองอยู่เสมอว่าเรามีประโยชน์กับบริษัทไหม บริษัทต้องการเราไหม ถ้าเราไม่มีประโยชน์แล้ว ผมจะไม่ฝืน ในเส้นทางการทำงาน เราจะต้องสร้างประโยชน์ให้กันและกัน ผมจะมองงานเป็นโปรเจ็กต์ๆ ไป จะไม่มองเป็น career path ถ้าลงมือทำไปแล้ว หาก 2-3 ปีนั้นเรายังมีความสุขอยู่ ยังมีคุณค่าต่อกัน ผมก็จะเดินต่อไป แต่เมื่อใดที่เราไม่มีคุณค่ากับองค์กรนั้นๆ แล้ว หรือไม่ส่งผลประโยชน์กันทั้งคู่ หรืออยากไปทำอย่างอื่น เราก็ต้องเดินออกมา ชีวิตผมจะเลือกให้ดำเนินไปประมาณนี้
จริงๆ ผมชอบใช้คำว่า ‘อัตลักษณ์’ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือเป็นบุคคล เราต้องหาอัตลักษณ์ตัวเองให้เจอ สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่สังคมให้ค่า แล้วเราจะได้ประโยชน์จากอัตลักษณ์นั้นทั้งต่อตัวเองและคนอื่นๆ สำหรับผม อัตลักษณ์นั้นคือความหลากหลาย ดังนั้น บางคนจะบอกว่าผมเปลี่ยนงานบ่อย นั่นคืออัตลักษณ์ของผม การที่มีโอกาสได้ทำงานอยู่ในหลายๆ อุตสาหกรรม ทำให้ผมมีเพื่อนฝูงเต็มไปหมด มาถึงวันนี้ก็พบว่ามีประโยชน์มาก เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ผมมีความรู้ที่หลากหลาย รู้จักคนมาก มี working connection ที่ทำให้เกิดประโยชน์ระหว่างกันได้ นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถทำให้เรามีตัวตนและมีประโยชน์ขึ้นมาครับ”
ยุค Attention Economy ที่ใครได้ Attention มากกว่าคือผู้ชนะ
“หากมองในมุมของประวัติศาสตร์ สิ่งที่คนแย่งชิงมากที่สุดแบบที่ใครได้มา คนนั้นจะครองโลก ยุคแรกๆ จะเป็นเรื่องที่ดิน เพราะคนคนนั้นจะสามารถทำการเกษตรและมีอำนาจทางเศรษฐกิจ จนมาถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือแรงงาน หากใครมีแรงงานราคาถูก เครื่องจักร ทรัพยากรการผลิต คนนั้นก็จะเติบโตได้เร็ว จนมาในยุคที่ผมทำงานใหม่ๆ จะเป็นเรื่องข้อมูล ที่ใครเข้าถึงข้อมูลได้ก่อนก็จะได้เปรียบ
ในเวลานี้ ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดคือเรื่อง attention หรือเวลาของคน ใครสามารถแย่ง attention คนได้ คนนั้นคือผู้ชนะ ลึกไปกว่านั้น ยิ่งเราได้ attention คนให้มาใช้เวลากับธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และการบริการของเรามากเท่าไหร่ ข้อมูลและพฤติกรรมที่เราได้จากพวกเขาสามารถนำไปปล่อยกู้ได้หรือขายของเพิ่มได้แล้วนะ ที่เขาบอกว่า ‘Data is the new oil’ ก็มาจาก attention นี่แหละ
แล้ว attention เป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างไร มันสำคัญเพราะมันมีจำกัด ทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน ไม่มีทางที่จะงอกมามากกว่านี้แล้ว เมื่อมันจำกัด เราจะเห็นทุกๆ ธุรกิจพยายามเข้ามาแย่ง attention ของเรา จะเห็นได้ว่า Netflix ประกาศลุยกับทุกคน แล้วก็ประกาศสู้แม้กระทั่งกับการนอน เพราะยิ่งเราดูเขามากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งรวยมากเท่านั้น เขาขายโฆษณาได้ สามารถนำข้อมูลของเราไปทำประโยชน์ให้กับตัวเองได้ ซึ่ง YouTube, Facebook, Line, Shoppee, Lazada หรือแม้แต่ Adidas เองออกมาบอกในลักษณะเดียวกันแล้ว เพราะเราใช้เวลาไปกับการบริการเหล่านี้มากเท่าไหร่ เราก็จะดึงตัวเองไปออกกำลังกายได้น้อยลงเท่านั้น ดังนั้นนี่คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของโลกยุคนี้เลย”
‘คน’ สิ่งที่ทำให้ไทยไปได้ต่อ
“เมื่อถามว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหน – ไม่มีนะ เพราะเราไม่มีแพลตฟอร์ม ไม่มีอะไรเลย ถ้าเป็นสมัยโบราณ เราแพ้สงครามหรือตกเป็นอาณานิคมไปแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัว แล้วทรัพยากรอะไรสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในเวลานี้ ถ้ามองในระดับองค์กรก็จะกลับมาที่ ‘คน’ เราจะเห็นว่าขีดความสามารถของคนไทยทุกวันนี้สูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว คนเก่ง 1 คนเท่ากับคนไม่เก่ง 100 คนได้แล้ว เพราะพวกเขามีความครีเอทีฟ มีความปรารถนาที่จะเรียนรู้ เป็นคนที่จะขึ้นเป็นผู้นำแบบที่มีวิธีคิดที่ดีและพลังมหาศาลมากกว่าสมัยก่อน สามารถเปลี่ยนอะไรได้เยอะแยะมาก คนเก่ง 1 คนตอนนี้จะสามารถชนะอีก 100 คนได้แล้ว นี่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องโฟกัส”
Leaders Eat Last
“ในยุค 80s – 90s เราจะเห็นการบริหารงานที่เป็นการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากปู่สู่พ่อ จากพ่อสู่ลูก จากผู้นำคนก่อนสู่ผู้นำคนถัดไป นี่คือเคล็ดลับและโลกก็เปลี่ยนช้า จึงทำให้สามารถอยู่รอดกันมาได้ 50 ปี 100 ปี แต่ทุกวันนี้ วิธีการแบบ top down เป็นบอส เป็นวิธีการที่เชื่อผู้นำหรือผู้นำเก่งที่สุดจะไม่เวิร์กแล้ว เพราะวิทยาการ ความรู้ ช่องว่างระหว่างรุ่นต่อรุ่น โซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้นำคนเดียวไปต่อไปไม่ได้และไม่มีใครที่รู้ทุกอย่างนะครับ ผมชอบยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างรุ่นผมที่อายุ 50 ถ้าไปบอกเด็กๆ ว่า อยากโฆษณา BTS เราจะเห็น BTS คนละแบบกัน รุ่นของผมจะนึกไปถึงรถไฟฟ้า แต่สำหรับเด็กๆ คือวงไอดอลเกาหลี BTS ซึ่งคนละเรื่องกันเลย ดังนั้นการจะเป็นผู้นำที่ดี เราต้องถอยกลับมาดูก่อนว่าโลกตอนนี้อยู่ตรงไหน
ไซมอน ซิเน็ค (Simon Sinek ผู้เขียนหนังสือ Start With Why และ Leaders Eat Last) เคยพูดประโยคที่ฮิตไปทั่วโลกก็คือ เราต้อง ‘Start With Why’ ขณะที่สมัยก่อน เราอยู่กับคำถามว่า how และ what คุณไม่ต้องรู้หรอกว่าทำไม แต่ให้ทำแบบนี้ เอาสิ่งนี้ไปขายสิ ลดสิ่งนี้สิ ไม่ต้องสนใจว่าทำไม แต่ในยุคนี้ผู้นำต้องเริ่มจาก why ทำไมเขาต้องทำให้คุณ ทำไมถึงมีคำสั่งแบบนี้ ถ้าทำวิธีนี้แล้วจะได้อะไร นอกจากต้องมีเหตุและผลให้เขาแล้ว บางครั้งบางทีจะต้องมีเป้าหมายหรือจุดประสงค์ให้เด็กๆ ด้วย แล้วผู้นำที่จะทำให้คนเชื่อมั่นได้ คือผู้นำที่เวลาที่มีภัยจะต้องบุกก่อน รับภัยแทนลูกน้อง เวลาไปเยี่ยมลูกค้าต้องไปก่อน ต้องอยู่นานกว่า แต่เวลาฉลองกันหรือรับเครดิตจะต้องเป็นคนสุดท้าย ดังนั้น ผู้นำในยุคนี้จึงมีความต่างจากผู้นำยุคที่แล้ว เพราะต้องเริ่มจาก why ต้องเสียสละ ต้องถ่อมตน ต้องยอมรับสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ ต้องรู้จักใช้คนให้เป็น มีเหตุมีผล รับฟังความคิดเห็นคน ซึ่งการจะเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนได้ ผู้นำคนนั้นต้องมี empathy ที่สูงมาก ต้องเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคน”
ผู้นำแบบ ธนา เธียรอัจฉริยะ
“สำหรับผม จะแตกต่างกันไปในแต่ละยุค ช่วงบู้ๆ คงเป็นตอนที่อยู่ dtac ผมจะเป็นผู้นำแบบผู้เล่นกึ่งโค้ช ก็คือลงมือเอง ลุยเอง รู้จักลูกน้อง ใครอกหักมาต้องไปช่วย ลงรายละเอียดเยอะมาก แต่ถ้าเวลานี้เป็นช่วงที่ผมอายุเยอะแล้ว สิ่งที่ทำได้ก็คือการเป็นโค้ชที่จะคอยแนะนำน้องๆ คอยดูทิศทางหลักๆ ให้ แต่ไม่ได้ลงไปคลุกคลีกับน้องๆ ได้เหมือนเดิมแล้ว สำหรับผมการเป็นผู้นำที่จะทำให้คนเชื่อมั่นได้จะต้องมีเรื่องการกระทำ แล้วก็ต้องเป็นการกระทำที่ทำให้คนรู้สึกว่าเราอยู่ข้างเขาจริงๆ นี่คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า trust สำหรับผู้นำ trust จะต้องสร้างขึ้นมา มันไม่ได้มาด้วยตำแหน่งนะ
ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเมื่อไหร่ที่มีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้นไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากตรงไหน ในฐานะผู้นำ เราจะต้องดับไฟก่อน อย่างแรกคือการขอโทษอย่างสุดจิตสุดใจ และสองคือการรับผิดชอบความผิดพลาดนั้นแบบ 100% ผมเองก็เคยโดนลงโทษจากเหตุการณ์ความผิดพลาดลักษณะนี้ เวลานั้น สิ่งที่ผมคิดอย่างเดียวคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับน้องๆ ในทีมว่า หากเขาโดนลงโทษ เขาจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ดีแน่ และเราในฐานะผู้นำของพวกเขา ไม่ว่าใครทำผิด เราต้องรับผิดชอบด้วย ทุกวันนี้ผมยังเก็บจดหมายลงโทษทางวินัยนั้นมาใส่กรอบไว้เตือนใจอยู่เลย (หัวเราะ) ซึ่งผมว่าจดหมายฉบับนี้เจ๋งกว่าใบปริญญาอีกนะ เพราะนี่คือการเซฟชีวิตคน แล้วก็ทำให้วัฒนธรรมองค์กรแบบ ‘ลูกน้องตาย หัวหน้ารอด’ ค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยชุดความคิดแบบใหม่ นี่เป็นวิธีการที่ผมว่าคนเป็นผู้นำต้องเป็นแบบนี้”
ผู้นำต้นแบบ
“ผู้นำต้นแบบของผมมีอยู่คนเดียวก็คือคุณซิกเว่ เบรกเก้ (Sigve Brekke ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Telenor Group และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร dtac) ผมเขียนบทความถึงเขาบ่อยมาก แน่นอนเขาเก่ง ทำงานหนัก เขามี charisma เวลาเขาเดินเข้า dtac ไม่ว่าจะตอนไหนหรือแม้แต่เวลานี้ เขายังคงเป็นตำนาน คนจะเชียร์เหมือนชาวร็อคอย่างนั้นเลย เขาสอนผมมาตลอดว่า ยิ่งอยากให้คนรัก อยากให้คนทำตาม เราต้องยิ่งรู้สึกปรารถนาดีอย่างจริงใจและช่วยเขาจริงๆ ต้องพยายามให้เขาเติบโตขึ้นได้จริงๆ แล้วก็ไม่หวังอะไรจากเขา ในฐานะเจ้านายลูกน้อง ผมสัมผัสได้ว่าเขาปรารถนาดีกับผมมาก มีอะไรจะบอกกันตรงๆ ให้โอกาสเสมอ และเป็นคนที่คอยดูแล แม้ในวันที่ผมเหลิงมากๆ หรือประสบความสำเร็จมากๆ เขาเปรียบเสมือนโค้ชของทีมฟุตบอล โดยมีเราเป็นผู้เล่น ผมรู้สึกอย่างนั้น แม้กระทั่งตอนนี้ เวลาทำงาน ผมมักจะคิดว่าถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น คุณซิกเว่จะทำอย่างไร แล้วผมก็จะทำแบบนั้น”
ปัจจัย 4 ของชีวิต
“ผมเคยถามพี่ประภาส ชลศรานนท์ สัก 3 ปีที่แล้ว หลังจากแกอายุ 55-56 ว่า “เป้าหมายในชีวิตพี่คืออะไรครับ” พี่เขาตอบว่า “เป้าหมายคือการลดเป้าหมาย” ซึ่งผมคิดว่าเจ๋งมากเลย และนี่คงเป็นจังหวะชีวิตแบบเดียวกัน ซึ่งมันเป็นสมการง่ายๆ นะว่า ถ้าเรามีความคาดหวังสูงแล้วไม่ได้ตามที่คาดหวัง เราก็จะทุกข์ ซึ่งมีสองทางก็คือต้องได้ตามความคาดหวังหรือว่าลดความคาดหวังลง ผมรู้ตัวเองเลยว่าเป็นมนุษย์ introvert พอไปอยู่นอกบ้านแล้วหมดแรงง่าย ก็จะชอบอยู่บ้านมากกว่า บริหารจัดการชีวิตด้วยความเรียบง่าย จะมีความสุขกับสิ่งธรรมดาๆ – จริงๆ อาจจะไม่ใช่การลดเป้าหมายให้เหลือน้อยที่สุด แต่เป็นการจัดลำดับความสำคัญให้กับชีวิตมากกว่า
ปกติผมจะเรียงลำดับความสำคัญไว้ 4 อย่าง อย่างแรกคือ ร่างกาย ผมอยากเห็นตัวเองในวัย 70-80 แล้วยังแข็งแรงและไปเที่ยวได้ ไม่ต้องนั่งรถเข็น คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เจ้านายเก่าผมเคยบอกว่า เราเข้าใจผิดเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะคนเราสามารถเกิด แก่ แล้วตายได้เลย ไม่ต้องผ่านจุดเจ็บก็ได้ถ้าดูแลรักษาสุขภาพให้ดี ผมว่าเป็นคำสอนที่ดี ก็เลยอยากดูแลเรื่องร่างกายให้แข็งแรง ตอนเช้าต้องวิ่ง ตอนเย็นต้องเดิน ต้องชกมวยบ้าง สุขภาพต้องมาก่อน
ลำดับที่สองคือ ครอบครัว ผมจะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านกับภรรยา ลูกๆ และคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งลูกสาวเป็นสิ่งที่ทำให้ผมสามารถลุกขึ้นมาตั้งแต่ตี 5 มาปลุกเขาได้ เขียนเพจได้ (เพจ: เขียนไว้ให้เธอ) เรียกว่าเป็น meaning of life ของผมเลย สามจะเป็นเรื่อง ความสุข ณ ปัจจุบันขณะ ความสุขของบ่ายวันนี้ เที่ยงนี้ทานอะไรดี เดี๋ยวดูซีรี่ส์ดีกว่า เขียนบทความดีๆ สักชิ้นแล้วกัน หาความสุขจุกจิกแต่ละวัน ด้วยชีวิตที่ผ่านมา ผมรู้ว่าความสุขก็อยู่แถวๆ นี้แหละ
และอย่างสุดท้ายที่เพิ่งค้นพบได้ไม่นานก็คือ ความรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์ เพราะว่าถ้าไม่มีความรู้สึกนี้ ชีวิตผมคงจะเฉามากเลยนะ ผมอยากทำอะไรบางอย่างที่รู้สึกว่าสร้างประโยชน์ มีคุณค่า เป็นสิ่งที่จะทำให้เราตื่นเต้น รวมๆ อาจจะเรียกว่า ‘อิคิไก’ ก็ได้ เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย ไม่ว่าจะทำงานหนักหรือเบา ในการทำงานนั้นจะต้องมี meaning of life ดังนั้น ผมพยายามจะหล่อเลี้ยงตัวเองกับ 4 ข้อนี้เพื่อให้ชีวิตสมดุลไปได้จนถึงปลายทางชีวิต”
–
ขอบคุณภาพจาก: คุณธนา เธียรอัจฉริยะ