จัดไปอย่าให้เสีย! ตู้เย็นเป็นระเบียบ ลดอาหารบูดเน่า ลดค่าไฟได้ด้วย  

Care

อีกหนึ่งเคล็ดลับคู่ครัวที่ทุกคนคู่ควร คือการจัดตู้เย็นให้สะอาดเป็นระเบียบ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มสุขอนามัยที่ดีเพื่อสุขภาพดีของทุกคนแล้ว ยังช่วยลดค่าไฟที่นับวันจะพุ่งแรงแข่งกับสภาพอากาศที่ร้อนขึ้ นทุกปีด้วย

การจัดตู้เย็นช่วยลดค่าไฟได้อย่างไร? ข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวงยกตัวอย่างไว้ว่า ตู้เย็นขนาดประมาณ 7.9 คิวบิกฟุต กำลังไฟฟ้า 179 วัตต์ ที่มีการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ถ้ามีปริมาณของแช่จำนวนมาก มีการเปิดปิดประตูตู้เย็นบ่อยๆ และอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน อาจมีค่าไฟเพิ่มมากถึง 76.03 หน่วยต่อเดือน หรือคิดเป็นค่าไฟ 0.30 – 0.40 บาทต่อชั่วโมง (คิดจากค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอัตรา 3.9 บาทต่อหน่วย) ด้วยเหตุนี้เอง ถ้าเราจัดระเบียบภายในตู้เย็นให้ดี เปิดปิดตู้เย็นน้อยลง ก็อาจช่วยลดค่าไฟได้ไม่มากก็น้อยค่ะ

หลังจากที่จัดระเบียบภายในครัวกันไปแล้ว วันนี้เรามาเจาะลึกเคล็ดลับการจัดตู้เย็นกันค่ะ

ความปลอดภัยมาอันดับหนึ่ง

เพราะตู้เย็นคือแหล่งสะสมอาหารของทุกคนในบ้าน แต่ระวังตู้เย็นจะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ถ้าปล่อยให้มีคราบอาหารหมักหมมหรือปล่อยให้อาหารบูดเน่าคาตู้เย็น คำแนะนำเพื่อทำให้ตู้เย็นปลอดภัยจากเชื้อโรคมีดังนี้ค่ะ

  • ไม่แช่ของในตู้เย็นมากเกินไป เพราะทำให้อากาศเย็นไหลเวียนรอบอาหารไม่ทั่วถึง ทำให้ประสิทธิภาพในการถนอมอาหารลดลง
  • ถ้ามีคราบอาหารหกในตู้เย็น โดยเฉพาะน้ำที่หยดจากเนื้อสัตว์ดิบ ให้รีบเช็ดทำความสะอาดทันที เพื่อลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย Listeria ซึ่งสามารถเติบโตได้ที่อุณหภูมิห้องเย็น และป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคไปยังอาหารชนิดอื่นๆ ที่แช่ในตู้เย็นด้วย
  • ไม่ควรแช่อาหารไว้นานเกินไป อย่าลืมว่าความเย็นในตู้เย็นนั้นไม่ได้ฆ่าเชื้อโรค เพียงแค่ช่วยชะลอการแบ่งตัวของเชื้อโรคให้ช้าลง ทำให้การบูดเน่าเช้าลง แต่ถ้าปล่อยไว้นานเกินไปก็อาจบูดเน่าได้เช่นกัน 
  • หมั่นตรวจเช็กเป็นประจำว่ามีอาหารที่เลยวันหมดอายุหรือมีอาหารเน่าเสียหรือไม่ อย่าเก็บไว้เพราะเสียดาย เพราะความเสียหายไม่คุ้มกัน
  • เพื่อลดการปนเปื้อนควรเก็บอาหารแช่เย็นไว้ในภาชนะปิดสนิท และเก็บเนื้อสัตว์ดิบแยกจากอาหารชนิดอื่น 
  • หลังจ่ายตลาด ให้รีบแช่เย็นอาหารที่เน่าเสียง่ายภายใน 1-2 ชั่วโมง เช่น เนื้อสัตว์ นม ผักสด ผลไม้ เพราะแบคทีเรียสามารถเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในอุณหภูมิห้อง

วิธีทำความสะอาดตู้เย็นที่ทำตามได้ไม่ยาก

  • ก่อนอื่นต้องเคลียร์ของออกจากตู้เย็นให้โล่งก่อน ถือโอกาสคัดทิ้งของที่หมดอายุ หรืออาหารบูดเสียออกไป (อ่านวิธีแยกขยะเศษอาหารและขยะทั่วไป ได้ที่นี่ แยกขยะง่ายๆ เริ่มได้ที่บ้าน)
  • ถอดลิ้นชักและชั้นวางต่างๆ ในตู้เย็นออกทั้งหมด ล้างลิ้นชักและชั้นวางต่างๆ ด้วยน้ำยาทำความสะอาด ผึ่งให้แห้ง หรือเช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาด
  • ภายในตู้เย็นให้เช็ดด้วยผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำยาทำความสะอาด จากนั้นให้เช็ดด้วยน้ำสะอาดเพื่อล้างน้ำยาออก แล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาดอีกครั้ง 
  • ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดอ่อนๆ ที่ไม่มีกลิ่นแรงและไม่มีสารอันตราย เช่น น้ำยาล้างจาน หรืออาจใช้สูตรเบกกิ้งโซดา 2 ช้อนโต๊ะกับน้ำ 1 ลิตร 
  • เช็ดด้านนอกตู้เย็นด้วยผ้าชุบน้ำสบู่อ่อนๆ โดยเฉพาะบริเวณที่จับประตู ที่อาจมีซอกหลืบเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค เช็ดด้วยผ้าชุบน้ำอีกครั้ง จากนั้นก็เช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาด 
  • วัตถุดิบที่ยังใช้ได้หรืออาหารที่ใช้ต่อ ถ้าเก็บในภาชนะปิดสนิทให้ทำความสะอาดภาชนะด้วยน้ำยาทำความสะอาด แล้วเช็ดให้แห้งก่อนเก็บเข้าไปใหม่ 

ทำทุกวัน 

✅ เช็ดคราบอาหารที่หกในตู้เย็นทันที รีบเช็ดก่อนกลายเป็นคราบแห้งติดแน่น
✅ เช็ดปากขวดก่อนเก็บทุกครั้ง เช่น ขวดแยม ขวดน้ำสลัด ขวดซอสมะเขือเทศ
✅ ตรวจดูของเน่าเสีย ทิ้งอาหารและเครื่องดื่มที่หมดอายุ

ทำทุกสัปดาห์ 

✅ เช็ดที่จับประตูและภายนอกตู้เย็น

ทำทุกเดือน 

✅ เช็ดล้างภายในตู้เย็นแบบเคลียร์ของออกทั้งหมด

รวมเทคนิคจัดระเบียบตู้เย็น

  • จัดหมวดหมู่อยู่ด้วยกัน ของประเภทเดียวกันไว้ด้วยกัน ช่วยให้หาของเจอง่าย ไม่ซื้อของมาซ้ำเกินความจำเป็น 
  • ของสุกอยู่บน ของดิบอยู่ล่าง เก็บอาหารที่ปรุงสุกให้อยู่ชั้นสูงกว่าอาหารดิบเพื่อป้องกันการปนเปื้อน 
  • ของเก่าหยิบง่าย ของใหม่อยู่หลัง อาหารที่กินเหลือหรือของที่มีวันหมดอายุเร็วกว่า ควรจัดวางให้เห็นง่าย หยิบง่าย ช่วยให้ไม่ถูกลืมจนหมดอายุไปโดยเปล่าประโยชน์ 
  • ทำฉลากติดไว้ ช่วยให้ไม่ลืม เทคนิคง่ายๆ เพื่อช่วยจำว่าอาหารชิ้นนั้นอยู่ในตู้เย็นนานแค่ไหนแล้ว คือการติดป้ายบอกวันที่ที่เริ่มเก็บใส่ตู้เย็น อาจใช้ปากกาเขียนบนภาชนะ หรือถ้ามีหลายชิ้นก็อาจหากล่องใส่ขนาดย่อมๆ เอาไว้ใส่ของที่ใกล้หมดอายุ หรือของที่อยู่ในตู้เย็นมาหลายวันรวมกัน แล้วเลือกหยิบวัตถุดิบจากกล่องนี้มาใช้ก่อน ช่วยลดการปล่อยให้อาหารตกค้างในตู้เย็นหรือต้องทิ้งให้เสียดาย
  • ไม่ควรเก็บนมกับไข่ที่ประตูตู้เย็น เพราะการเปิดปิดตู้เย็นทำให้บริเวณประตูกลายเป็นส่วนที่อุ่นที่สุดของตู้เย็น จึงไม่เหมาะกับการเก็บผลิตภัณฑ์นม เช่น นมสดพาสเจอไรซ์ ชีส โยเกิร์ต รวมทั้งไข่สด ซึ่งจะมีอายุการใช้งานยืนยาวกว่าถ้าอยู่ในความเย็นที่คงที่ สิ่งที่เหมาะกับประตูตู้เย็น คือของที่หยิบใช้บ่อย และไม่เสียง่าย เช่น ขนม ขวดแยม น้ำดื่ม น้ำผลไม้ และเนย เป็นต้น
  • ไม่แช่ของเยอะเกินไป นอกจากจะช่วยเรื่องการกระจายความเย็นภายในตู้เย็นแล้ว ยังช่วยให้เราหาของเจอง่าย ทำให้ไม่เปิดประตูตู้เย็นบ่อยเกินไป หรือเปิดค้างนานเกินไปซึ่งจะทำให้อุณหภูมิในตู้เย็นเพิ่มขึ้น ตู้เย็นทำงานหนักขึ้น และกินไฟมากขึ้น เทพีแห่งการจัดบ้านอย่างมาริเอะ คนโดะ บอกไว้ว่า ควรเหลือที่ว่างในตู้เย็นไว้ 30 เปอร์เซ็นต์เสมอค่ะ

เคล็ดลับตู้เย็นประหยัดไฟ

  • ยิ่งดาวมากยิ่งประหยัดไฟฟ้า ควรเลือกตู้เย็นที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ที่มีดาวมากที่สุด (รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นด้วย) เพราะยิ่งมีดาวมากยิ่งแสดงว่ามีอัตราการประหยัดพลังงานมาก ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • หมั่นละลายน้ำแข็งในช่องแช่แข็ง เพราะยิ่งมีน้ำแข็งเกาะอยู่เยอะมาก ตู้เย็นจะยิ่งใช้พลังงานมากและกินไฟมากขึ้น
  • ไม่แช่ของร้อนในตู้เย็น ควรรอให้อุณหภูมิลดลงก่อน เพื่อไม่ให้ตู้เย็นทำงานหนักจนเกินไป และกินไฟโดยไม่จำเป็น
  • เปิดปิดอย่างมีสติ ควรเปิดใช้ตู้เย็นตามความจำเป็น ไม่เปิดทิ้งค้างไว้นานๆ และปิดตู้เย็นให้สนิททุกครั้งหลังใช้งาน
  • หาที่ตั้งให้เหมาะสม ควรตั้งตู้เย็นให้ห่างจากกำแพงไม่ต่ำกว่า 15 เซนติเมตร เพื่อให้ระบายอากาศได้ดี  และไม่ตั้งใกล้กับอุปกรณ์ทำความร้อน หรือในที่ที่มีแสงแดดส่อง

และนี่ก็คือเคล็ดลับการจัดตู้เย็นที่ทำตามได้ไม่ยาก แม้ว่าแต่ละบ้านจะมีขนาดของตู้เย็น รูปแบบของตู้เย็น หรือไลฟ์สไตล์ของสมาชิกในบ้านแตกต่างกันไป แต่หัวใจสำคัญที่ทำตามได้เหมือนกันทุกบ้าน ก็คือการรักษาความสะอาดเป็นประจำ ระวังการปนเปื้อนระหว่างของสดกับของสุก เก็บของให้ใช้งานง่าย หยิบใช้ง่าย และเลือกใช้วัตถุดิบที่ใกล้หมดอายุก่อนเสมอเพื่อลดการปล่อยให้เน่าเสียและกลายเป็นขยะ นอกจากทั้งหมดนี้จะดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยประหยัดเงินจากการซื้อของมาซ้ำและจากค่าไฟที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นด้วยค่ะ 

อ้างอิง:
mea.or.th 
pea.co.th 
fda.moph.go.th 
energy.go.th
healthline.comcdc.gov

บทความที่เกี่ยวข้อง