ภาวะมลพิษทางอากาศ ประกอบไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ ตะกั่ว ไนโตรเจนไดออกไซด์ โอโซน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นตัวชี้วัดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจ้า PM 2.5 ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้เป็นตัวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมากเสียจนเราอาจคาดไม่ถึง ในปี 2560 มีข้อมูลพบว่าประชากรจำนวน 4.9 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 คิดเป็น 60% ของการเสียชีวิตเลยทีเดียว (GBD 2017 Risk Factor Collaborators, 2018) ดังนั้นเราคงต้องกลับมาใส่ใจเรื่องปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดจาก PM 2.5 กันให้มากขึ้นกว่าเดิม
รู้หรือไม่ PM 2.5 ส่งผลต่อสมองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
Particulate Matter 2.5 หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 ไมโครมิเตอร์หรือเล็กกว่า ซึ่งอนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้สามารถผ่านการกรองของขนจมูกเข้าไปสู่ชั้นในสุดของปอดได้ ทำให้ให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด หรือมะเร็งปอด ไม่เพียงเท่านี้ PM 2.5 ยังส่งผลต่อสมองอีกด้วย
ในปัจจุบันเริ่มมีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า การสัมผัสกับ PM 2.5 อาจส่งผลเสียต่อสมองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้ตระหนักถึงกันมากนักในเรื่องนี้ เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและมะเร็งเท่านั้น แต่…อย่างที่เรารู้กันว่า ‘สมอง’ มีความสำคัญต่อร่างกายไม่น้อยไปกว่าอวัยวะอื่นใด เช่นนี้แล้วเรามาดูกันว่าฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อสมองของเราอย่างไรกันบ้าง
- ความบกพร่องทางสติปัญญา (Cognitive Impairment): มีการศึกษาพบว่า PM 2.5 ทำให้สมรรถนะการทำงานของสมองด้านความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Function) ลดลงโดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเด็ก ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความจำ ด้านความสนใจและจดจ่อ รวมถึงมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่ลดลง
- ภาวะการอักเสบในสมอง: ฝุ่นละออง PM 2.5 ทำให้เกิดภาวะการอักเสบในสมองได้ เชื่อกันว่าการอักเสบส่งผลต่อการเกิดความผิดปกติทางระบบประสาทต่างๆ รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งอีกด้วย
- ผลกระทบด้านพัฒนาการ: การได้รับ PM 2.5 ในช่วงก่อนคลอดและในช่วงวัยเด็กมีความเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางด้านระบบประสาทที่บกพร่องในเด็ก ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง และอาจเกิดโรคสมาธิสั้น (ADHD) และโรคออทิสติกได้ด้วย
- โรคทางสุขภาพจิต: มีบางการศึกษาเสนอความเชื่อมโยงกันระหว่างการสัมผัส PM 2.5 กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นๆ
- โรคหลอดเลือดสมอง: การสัมผัสกับ PM 2.5 ในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากอนุภาคของฝุ่น PM 2.5 อาจทำให้เกิดการอักเสบและทำลายหลอดเลือดในสมองได้นั่นเอง
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ PM 2.5 ส่งผลคุกคามต่อสุขภาพสมองของเราเท่านั้น ยังมีอีกหลายงานวิจัยที่กำลังศึกษาถึงผลกระทบในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การหันกลับมาดูแลตัวเอง ป้องกันและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ PM 2.5 คงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่ควรละเลยอีกต่อไป
ดูแลสมองโดยการป้องกัน PM 2.5
ในเมื่อเรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาสถานการณ์ของ PM 2.5 ที่กำลังเผชิญในขณะนี้ให้หมดไปได้ เราคงทำได้เพียงหลีกเลี่ยงหรือลดการสัมผัสกับ PM 2.5 ให้ได้มากที่สุด เพื่อการดูแลและป้องกันสุขภาพสมองของเราจากภาวะมลพิษทางอากาศ hhc Thailand มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้
- ตรวจสอบระดับคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นประจำ เช่น แอป Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษหรือแอปอื่นๆ บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อวางแผนในการทำกิจกรรมที่ต้องอยู่กลางแจ้งให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเช้าและเย็นซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาที่มีมลพิษสูงสุดของวัน
- จำกัดกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมากๆ กลางแจ้งในวันที่มีมลพิษสูง เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน เนื่องจากการใช้กำลังมากจะส่งผลให้อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายสามารถรับปริมาณ PM 2.5 ได้มากกว่าสภาวะปกติ
- สวมหน้ากากป้องกัน PM 2.5 หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกในช่วงวันที่มีมลพิษสูง ควรสวมหน้ากากที่กระชับและพอดีกับใบหน้าที่ออกแบบมาเพื่อกรองอนุภาค PM 2.5 ได้ เช่น หน้ากาก N95 หรือ N99
- สร้างสภาพแวดล้อมภายในอาคารหรือที่พักอาศัยให้สะอาดและมีการระบายอากาศที่ดี โดยการไม่สูบบุหรี่และจุดธูปเทียนภายในอาคาร การปิดหน้าต่างและประตูในวันที่อากาศมีมลพิษสูงและใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรอง HEPA เพื่อกำจัดอนุภาค PM 2.5 ออกจากอากาศภายในอาคาร
- ปลูกต้นไม้ช่วยลดมลพิษ การปลูกต้นไม้สามารถช่วยดูดซับมลพิษรวมถึง PM 2.5 และช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นได้ แต่หากคุณมีพื้นที่ไม่มากพอที่จะปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ การเลือกปลูกไม้ประดับที่ช่วยดูดสารพิษในอากาศได้ดีก็เป็นทางเลือกที่ดี เช่น พลูด่าง เศรษฐีเรือนใน วาสนาอธิษฐาน เป็นต้น
หากเราทุกคนตระหนักถึงภัยคุกคามจากภาวะมลพิษทางกาอากาศรวมถึง PM 2.5 การป้องกันและหลีกเลี่ยงคงไม่เพียงพอ เราคงต้องช่วยกันลดการปลดปล่อยมลพิษต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโรคทางสมอง ทางเดินหายใจ หรือโรคมะเร็ง ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นที่ต้องการทั้งนั้น เริ่มต้นดูแล ใส่ใจตัวเองและสิ่งแวดล้อมในวันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีกันนะคะ
–
อ้างอิง:
www.chula.ac.th
www.frontiersin.org