ปัญหาปัสสาวะกับผู้หญิง…เรื่องจริงในห้องตรวจ

Health / Urinary

ปัสสาวะบ่อยแทบจะทุกชั่วโมง
กลั้นปัสสาวะได้ไม่นาน
กังวลเรื่องการเข้าห้องน้ำระหว่างการเดินทาง

หากคุณก็เป็นคนหนึ่งที่เคยมีความกังวลหรือมีอาการเหล่านี้แล้วละก็ คงอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่าอาการแบบนี้เป็นอะไรกันแน่ อันตรายหรือไม่ แล้วทำอย่างไรจึงจะหาย ลองติดตามจากเรื่องเล่าของ “พลอย” กันค่ะ

พลอย…ครีเอทีฟสาววัย 37 ปี ที่เพิ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นหัวหน้างานได้ไม่นาน ในขณะที่ชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงานของพลอยกำลังไปได้ดีนั้น พลอยก็เริ่มพบกับปัญหาที่คอยรบกวนจิตใจหลังจากทำงานในตำแหน่งมาได้ระยะหนึ่ง นั่นคือ พลอยเริ่มมีอาการปัสสาวะบ่อยและกลั้นปัสสาวะได้ไม่นาน ซึ่งสร้างปัญหาใหักับพลอยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเวลาที่ต้องออกไปพบลูกค้าหรือไปพรีเซ็นต์งาน พลอยต้องคอยวิ่งหาห้องน้ำอยู่เสมอ ไม่ว่าจะไปเที่ยวกับเพื่อนหรือไปออกงานที่ต่างจังหวัด พลอยต้องขอขับรถไปเองทุกครั้ง ไม่กล้าเดินทางร่วมกับคนอื่น เนื่องจากเธอต้องแวะปั๊มน้ำมันเพื่อเข้าห้องน้ำไปตลอดทาง 

พลอยพยายามหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับอาการที่เป็น แต่นั่นยิ่งทำให้พลอยกังวลมากกว่าเดิม เพราะหลายข้อมูลบอกว่าพลอยอาจเสี่ยงเป็นโรคติดเชื้อหรือเป็นมะเร็งได้ ด้วยความกังวลทำให้พลอยตัดสินใจเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการของเธอที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

เรื่องเล่าวันพบหมอยูโร 

หมอ: สวัสดีค่ะ มาพบหมอวันนี้ มีอาการอะไรมาคะ

พลอย: คือ…ปัสสาวะบ่อยค่ะ แทบจะทุกชั่วโมงเลย เป็นมา 2-3 เดือนแล้ว กลัวจะเป็นมะเร็งค่ะ

หมอ: แล้วมีอาการผิดปกติอย่างอื่นด้วยไหมคะ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้หรือกลั้นได้ไม่นาน มีอาการปัสสาวะแสบขัด หรือว่าปัสสาวะเป็นเลือดบ้างหรือไม่คะ

พลอย: มีค่ะ เวลาปวดปัสสาวะต้องรีบไปเข้าห้องน้ำเลยค่ะ ไม่อย่างนั้นเหมือนจะกลั้นไม่อยู่ บางครั้งแค่ปิดประตูห้องน้ำก็แทบจะไม่ทันแล้วค่ะ แต่อาการอย่างอื่นก็ไม่มีนะคะ

เข้าใกล้ ‘มะเร็ง’ แค่ไหน หรือแค่ทักทาย ‘โอเอบี’

พลอย: หมอคะ ก่อนหน้านี้พลอยหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมีคนทักว่าอาการแบบที่พลอยเป็นอาจจะเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นไปได้ไหมคะหมอ

หมอ: คนไข้สูบบุหรี่ไหมคะ

พลอย: พลอยไม่สูบบุหรี่ค่ะ

หมอ: แล้วเคยฉายแสงรักษามะเร็งบริเวณท้องน้อยหรือเชิงกราน หรือว่าเคยได้รับยาคีโมหรือเปล่าคะ

พลอย: ไม่เคยเลยค่ะ

หมอ: คนไข้ทำงานที่เกี่ยวกับการฟอกหนัง การย้อมผ้า สารระเหยหรือน้ำมัน หรือไม่คะ

พลอย: ไม่ค่ะ พลอยทำงานเป็นครีเอทีฟค่ะ

หมอ: แล้วคนไข้ทานยาแก้ปวดเรื้อรังบ้างไหมคะ

พลอย: ไม่ค่ะ นานๆ จะทานครั้งหนึ่ง ทานเฉพาะตอนมีอาการปวดค่ะ

หมอ: ถ้าอย่างนั้นโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งก็น้อยค่ะ เพราะจากประวัติที่หมอซักคือปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และคนไข้ส่วนใหญ่ก็มักจะมาด้วยเรื่องปัสสาวะเป็นเลือดค่ะ 

พลอย: ค่อยยังชั่วหน่อยค่ะ กลัวเป็นมะเร็งมากๆ เลย งั้นพลอยเป็นอะไรคะ

ใช่ ‘โอเอบี’ ไหม? ถ้าปัสสาวะบ่อยไป แถมกลั้นไม่อยู่

พลอย: หมอคะ ถ้าไม่ใช่มะเร็งแล้วพลอยเป็นอะไรคะ

หมอ: จากผลตรวจปัสสาวะวันนี้ก็ปกตินะคะ ไม่มีลักษณะที่แสดงว่าติดเชื้อ จากอาการที่เล่ามาที่ปัสสาวะบ่อย กลั้นได้ไม่นาน คุณพลอยน่าจะเป็นโรคที่เรียกว่า ‘กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือ โอเอบี’ (Overactive Bladder:  OAB) น่ะค่ะ

พลอย: มันอันตรายไหมคะหมอ

หมอ: ไม่อันตรายค่ะ แต่ก็จะรบกวนชีวิตประจำวันได้

พลอย: มันเกิดจากอะไรคะ เกี่ยวกับชอบอั้นปัสสาวะนานๆ ไหมคะ

หมอ: ก็มีส่วนนะคะ จริงๆ คนเรากลั้นปัสสาวะได้นะคะแต่ไม่ควรจะนานเกินไป เช่น ถ้าปวดเต็มที่แล้วก็ไม่ควรกลั้นต่อนานเกินครึ่งชั่วโมง เพราะเวลาเรากลั้นปัสสาวะ “มากเกินไป” กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะจะขาดเลือด เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดโอเอบีตามมาได้ นอกจากนั้นก็ในผู้หญิงก็มักจะเจอได้เยอะกว่าผู้ชาย อายุที่มากขึ้น ความเครียดวิตกกังวล ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ค่ะ

พลอย: จริงด้วยค่ะ ช่วง 2-3 เดือนมานี้พลอยเครียดกับงานเยอะ แล้วก็เครียดเพราะเรื่องโควิดด้วยค่ะ

หมอ: ใช่ค่ะ หมอก็มีคนไข้หลายคนที่เป็นโรคนี้ในช่วงที่โควิดระบาดหนักๆ เพราะความเครียด ต้องพักผ่อนบ้างนะคะ ทำใจให้สบายๆ เดี๋ยวมันก็ผ่านไปค่ะ 

ทำอย่างไรเมื่อเข้าใกล้ ‘โอเอบี’  

พลอย: แล้วโรคนี้รักษาหายไหมคะ

หมอ: โรคนี้สามารถรักษาได้ค่ะ ในหลายๆ คนสามารถหายได้เลยค่ะ บางคนถ้าไม่หายแต่ก็จะมีอาการที่ดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตอยู่กับมันได้ค่ะ วิธีการรักษาก็เริ่มจากต้องพยายามเลี่ยงเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม 

พลอย: โห…พลอยกินกาแฟทุกวันเลยค่ะ ติดมาก ถ้าไม่กินทำงานไม่ได้เลยค่ะ

หมอ: หมอเข้าใจค่ะ ที่จริงไม่ถึงกับต้องงดก็ได้นะคะ ลองเริ่มจากลดปริมาณดูก่อนถ้าไม่ดีขึ้นก็ค่อยว่ากัน แล้วหมอก็อยากให้คุณพลอยฝึกกลั้นปัสสาวะนะคะ พยายามเบี่ยงเบนความสนใจออกจากห้องน้ำ รวมถึงความรู้สึกปวดปัสสาวะหรือกลัวปัสสาวะเล็ด หาอะไรทำให้ลืมๆ ไปเลยค่ะ ทำงาน อ่านหนังสือ เพราะกลไกการทำงานของสมองนั้น ยิ่งเราให้ความสนใจกับมันมากเราก็จะยิ่งปวดปัสสาวะบ่อยค่ะ พอปวดปัสสาวะถ้าทำอะไรอยู่ก็ให้หยุดก่อน นั่งพักแล้วขมิบท่อปัสสาวะแรงๆ ย้ำๆ ซ้ำๆ เพื่อกลั้นไว้ พอความรู้สึกปวดทุเลาลงก็ดูว่ายังปวดอยู่ไหม ถ้าหายปวดก็ทำอย่างอื่นต่อกลั้นปัสสาวะต่อ แต่ถ้ายังปวดก็ค่อยเดินไปเข้าห้องน้ำนะคะ ถ้าเราดื่มน้ำปกติ ในการปัสสาวะแต่ละครั้งก็ควรจะห่างกันประมาณ 3-4 ชั่วโมงค่ะ

พลอย: ได้ค่ะ พลอยจะลองดูค่ะ ตอนนี้คือพลอยไม่กล้ากินน้ำเลยค่ะ เพราะพอกินน้ำก็จะรู้สึกปวดทันทีแล้วปัสสาวะออกมาตลอดเลย

หมอ: อันนี้ไม่ถูกนะคะ เพราะถ้าเรากินน้ำน้อยปัสสาวะเราจะเข้มข้นมาก ก็จะระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะยิ่งทำให้เราปัสสาวะบ่อยมากขึ้น ถ้าเหงื่อออกไม่เยอะก็กินน้ำวันละ 2 ลิตรนะคะ ถ้าเหงื่อออกมากก็ต้องเพิ่มปริมาณน้ำมากขึ้นค่ะ

โอเอบี…(ปรับ)ไม่ไหว แล้วค่อยไปต่อ(ด้วยยา)

พลอย: อ้าวเหรอคะ พลอยเข้าใจผิดมาตลอดเลยค่ะ แล้วพลอยต้องกินยาอะไรไหมคะหมอ

หมอ: ขึ้นอยู่กับคุณพลอยเลยค่ะ ถ้าคิดว่ายังไหวก็อาจใช้วิธีปรับพฤติกรรมอย่างที่สอนไปก่อนได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหว หมอก็จะให้ยาไปกินเพื่อช่วยอีกทางด้วยค่ะ เพราะยาที่รักษาในกลุ่มนี้ผลข้างเคียงคือทำให้ปากแห้งและท้องผูกได้ค่ะ

พลอย: งั้นพลอยขอลองกินยาด้วยเลยดีกว่าค่ะ เพราะไม่ไหวแล้วมันกระทบกับชีวิตประจำวันค่อนข้างเยอะค่ะ

หมอ: ได้ค่ะ งั้นเดี๋ยวหมอสั่งยาให้นะคะ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่ายาในกลุ่มนี้มีหลายตัวมาก คนไข้แต่ละคนก็ตอบสนองกับยาแต่ละตัวไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็อาจจะต้องเปลี่ยนยาเพื่อหาตัวที่ใช่ไปเรื่อยๆ ก่อนนะคะ และยาจะออกฤทธิ์เต็มที่ที่ 3 เดือน เพราะฉะนั้นในช่วงแรกอาจแค่รู้สึกดีขึ้นแต่ยังไม่หายซะทีเดียวนะคะ ยังต้องปรับพฤติกรรมอย่างที่แนะนำไปแล้วร่วมด้วยค่ะ

พลอย: ได้ค่ะ แล้วต้องกลับมาพบคุณหมออีกครั้งไหมคะ

หมอ: ค่ะ หมอขอนัดมาดูอาการที่ 1 เดือนก่อนนะคะ ถ้าอาการดีขึ้นหมอก็จะให้กินยาตัวเดิมต่อ แต่ถ้าทานยาตัวนี้แล้วไม่ดีขึ้น หมอจะได้เปลี่ยนตัวยาให้ค่ะ

พลอย: ได้ค่ะ ขอบคุณคุณหมอมากนะคะ

หมอ: ยินดีค่ะ

หมอเชื่อว่าคนวัยทำงานที่ต้องรับมือกับภาวะความเครียดและความกดดันท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตท่ามกลางความเร่งรีบในทุกวันนี้มีส่วนทำให้คนวัยทำงานมักจะทานน้ำน้อยเกินไป และเมื่อปวดปัสสาวะก็มักจะกลั้นปัสสาวะโดยไม่จำเป็น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้หลายคนมีอาการของโรค ‘กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือ โอเอบี’ อย่างที่กล่าวไปแล้ว หากใครที่มีอาการเช่นเดียวกับคุณพลอย ก็ลองปรับพฤติกรรมในการเข้าห้องน้ำดูก่อน ถ้าลองทำแล้วไม่ดีขึ้นก็ควรจะไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง