รู้ทัน “กระดูกพรุน” โรคสุดฮิตวัยสูงอายุ

Bone & Muscle / Health

รับมือกับโรคกระดูกพรุนหนึ่งในโรคที่ผู้สูงอายุมักพบเจอ 

โรคกระดูกพรุน “อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว” 

เมื่อกระดูก อวัยวะที่แข็งแรงที่สุดในร่างกายกลับเปราะบางลง อันตรายและความเสี่ยงต่างๆ จึงตามมา

ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากที่สุดคือ “ผู้สูงอายุ” เนื่องจากมีแคลเซียมที่สะสมอยู่ในกระดูกไม่เพียงพอหรือสูญสลายไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้กระดูกนั้นเปราะบางและแตกหักง่ายกว่าคนทั่วไป ซึ่งความน่ากลัวของโรคนี้คือ โรคนี้จะไม่มีการแสดงอาการจนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ทำให้กระดูกหัก เนื่องจากหลายคนมักจะไม่ทราบว่ากระดูกของตนเองนั้นมีความเปราะบางหรือแข็งแรงมากน้อยเพียงใด

โดยโรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมวลกระดูกของผู้หญิงที่มีน้อยกว่า อีกทั้งเมื่อหมดประจำเดือน ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง ก็จะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น และถึงแม้ว่าโรคนี้จะพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่โดยส่วนมากแล้วมักเกิดกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป 

ผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุนจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษและบางครั้งอาจมีอาการข้างเคียง เช่น 

  • เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้าลง 
  • มีอาการหลังค่อม หลังโก่ง
  • ปวดหลัง 
  • เจ็บปวดเมื่อต้องเคลื่อนไหว

ซึ่งโรคและอาการข้างเคียงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้อาจเกิดอันตรายจากภาวะที่กระดูกแตกหักง่ายกว่าปกตินั่นเอง 

และนอกเหนือจากอายุที่มากขึ้นรวมถึงมีอาการขาดแคลเซียมก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน เช่น 

  • พันธุกรรม 
  • การใช้ยารักษาโรคบางชนิด 
  • การรับคาเฟอีนมากเกินไป 
  • การสูบบุหรี่และดื่มสุราอยู่เป็นประจำ 
  • ทานโซเดียมมากเกินไป
  • การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน 
  • ภาวะขาดวิตามินดี เป็นต้น

ซึ่งการป้องกันและรับมือกับ “โรคกระดูกพรุน” นั้นสามารถทำได้โดยการ ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกและกล้ามเนื้อ ทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ เน้นแคลเซียมและวิตามินดี งดการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ทานยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น และสิ่งที่สำคัญมากๆ นั่นคือจะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง