พิชิตอาการหลับไม่สนิท รวม 8 สาเหตุ วิธีแก้ไขอาการตื่นกลางดึกไว้ที่นี่

Health

หลับไม่สนิท ไม่ใช่ปัญหาที่ทุกคนจะมองข้ามได้อีกต่อไป! เพราะนอกจากอาการนอนหลับไม่สนิทจะทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดและรำคาญใจแล้ว การนอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อยยังส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวทำให้เราป่วยง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันตก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย กลายเป็นคนหลง ๆ ลืม ๆ  และมีอารมณ์แปรปรวนจนทำให้เสียบุคลิกภาพ และไม่น่าคบหานั่นเอง

..แล้วแบบนี้เราจะสามารถรับมือกับอาการนอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อยได้อย่างไร..? 

วันนี้เราได้รวบรวมสาเหตุที่สำคัญของการนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ และวิธีรับมือกับปัญหาการนอนหลับไม่สนิทให้ทุกคนแล้ว มาดูแลสุขภาพและติดตามข้อมูลดี ๆ ในบทความฉบับนี้กันได้เลย!

สังเกตให้ดี! “อาการหลับไม่สนิทที่อันตรายต่อสุขภาพ”

ก่อนที่เราจะไปรู้ถึงสาเหตุสำคัญของการนอนหลับแบบไม่สนิทนั้น เราจะพาทุกคนไปเช็กตัวเองก่อนว่า อาการนอนแบบหลับ ๆ ตื่น ๆ ของทุกคนนั้นมีอันตรายและส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ โดยอาการนอนหลับแบบไม่สนิทที่เริ่มมีอันตรายและควรเข้าพบแพทย์ คือผู้ที่มีอาการดังนี้ 

  • มีอาการนอนหลับไม่สนิทร่วมกับการนอนหลับยาก ใช้เวลามากกว่า 20 นาทีเพื่อให้ตนเองหลับ
  • ตื่นกลางดึกบ่อยและถี่ มักตื่นในทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง 
  • เมื่อตื่นกลางดึกบ่อย ๆ แล้วมักจะหลับต่อได้ยาก
  • นอนไม่หลับและหลับ ๆ ตื่น ๆ เกิน 3 วันต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือน
  • รู้สึกว่าการหลับ ๆ ตื่น ๆ เริ่มส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง ป่วยง่าย เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวน มีอาการหลง ๆ ลืม ๆ การตัดสินใจแย่ลง สมาธิสั้น และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

8 สาเหตุสำคัญของการนอนหลับไม่สนิท

ดูแลสุขภาพการนอนได้ง่ายๆด้วยการสังเกตตัวเองจากการนอนที่มีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือตื่นกลางดึกอยู่บ่อยครั้งนั้นมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้

1. ความเครียด

ความเครียดและความวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ ทั้งจากการทำงานหรือเรื่องราวที่ได้พบเจอในชีวิตประจำวันเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เรานอนไม่หลับหรือมีอาการนอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อยหลาย ๆ ครั้ง ดังนั้นผู้ที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีความเครียดและเริ่มมีอาการหลับไม่สนิทจึงควรหากิจกรรมเพื่อบรรเทาความเครียด มองหากิจกรรมบรรเทาสมอง ฝึกสมาธิ และลด ละ เลี่ยงพฤติกรรมที่จะส่งผลให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลนั่นเอง

2. ปัญหาจากสภาพแวดล้อม

อีกหนึ่งปัจจัยที่เรียกได้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนตื่นบ่อย ๆ ในตอนกลางคืนก็คือ ‘สภาพแวดล้อม’ ภายในห้องนอน เพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้เรานอนหลับไม่ลึก ตื่นบ่อยหรืออยู่ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นในตอนกลางคืน ด้วยเหตุนี้เราจึงควรจัดการกับสภาพแวดล้อมภายในห้องนอนให้เหมาะสมที่สุดต่อการนอนหลับพักผ่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนอน และทำให้เรานอนหลับสนิทได้อย่างสบายตลอดทั้งคืน 

โดยสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ทำให้มีอาการนอนหลับไม่สนิทมีดังนี้

  • มีแสงไฟเล็ดลอดเข้ามารบกวน
  • อุณหภูมิในห้องเย็นหรือร้อนเกินไป
  • อากาศภายในห้องไม่ไหลเวียน 
  • มีความชื้นภายในห้องมากเกินไป
  • มีฝุ่นและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นอับ กลิ่นเหม็นชื้น
  • มีสัตว์เลี้ยงภายในห้อง 
  • มีเสียงรบกวน เช่น เสียงการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า เสียงหายใจของคู่นอน เสียงรบกวนจากภายนอก เป็นต้น 
  • เตียงนอนไม่สบายตัว แข็งหรือนิ่มเกินไป

3. การปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน

การที่เราต้องลุกขึ้นมาเพื่อปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย ๆ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เรานอนหลับไม่สนิท  และไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการปัสสาวะบ่อยนี้อาจเกิดจากการดื่มน้ำมากเกินไปก่อนเข้านอน และอายุที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ถึงอาการของโรคต่าง ๆ อีกด้วย 

โดยทั่วไปแล้วจำนวนรอบของการปัสสาวะตอนกลางคืนของคนปกติจะอยู่ที่ 1-2 ครั้ง และใน1 วันควรมีการปัสสาวะไม่เกิน 8 ครั้ง ถ้าจำนวนครั้งในการปัสสาวะมากกว่านี้อาจเข้าข่ายว่าคุณมีการปัสสาวะบ่อยเกินไป ซึ่งอาจจะเป็นอาการของโรคต่าง ๆ ได้ เช่น

  • มีปัญหาของระบบทางเดินปัสสาวะโดยตรง
  • มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ 
  • มีเนื้องอกที่ต่อมลูกหมาก
  • มีเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ 
  • หูรูดกระเพาะปัสสาวะทำงานไม่ดี 
  • เป็นโรคเบาหวาน 
  • เป็นโรคไต เช่น ไตวาย เป็นต้น

4. โรคนอนไม่หลับ

สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหากับภาวะของโรคนอนไม่หลับนั้นมักจะมีอาการนอนหลับไม่สนิท หลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นปัญหาหลัก ซึ่งอาการของโรคนอนไม่หลับจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ 

  1. นอนหลับยาก
  2. นอนหลับไม่ทน หรือการตื่นกลางดึกบ่อย ๆ 
  3. นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือการได้นอนหลับแต่ไม่ได้หลับลึก รู้สึกเหมือนไม่ได้นอนอย่างเต็มอิ่ม 

ผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับอาจมีอาการเพียงข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีอาการจากหลาย ๆ ข้อรวมกันก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่มีอาการของโรคนี้มักจะรู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนแรง ไม่กระปรี้กระเปร่า ปวดหัวง่าย ไม่มีสมาธิ และง่วงซึมในระหว่างวัน 

โดยการรักษาโรคนอนไม่หลับเพื่อบอกลาอาการหลับไม่สนิทนั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและพฤติกรรมของแต่ละบุคคล ดังนั้นหากมีอาการนอนหลับยาก หลับไม่ทน และหลับ ๆ ตื่น ๆ ทุกคนควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและหาทางแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมอย่างทันท่วงที

5. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 

การนอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อยอาจเกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ เนื่องจากการหยุดหายใจในขณะหลับอยู่บ่อย ๆ จะทำให้เราหายใจไม่สะดวก หายใจติดขัด หรือมีการสำลัก ส่งผลให้เรานอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดทั้งคืน โดยผู้ที่มีอาการหลับไม่สนิทเพราะภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมักจะมีอาการเหล่านี้ร่วมกับการหลับ ๆ ตื่น ๆ 

  • กรนเสียงดังผิดปกติ 
  • รู้สึกเจ็บคอเมื่อตื่นนอน 
  • รู้สึกปากแห้งเมื่อตื่นนอน 
  • รู้สึกกระสับกระส่ายในขณะนอนหลับ
  • มีอาการชักในขณะนอนหลับ
  • ปวดหัวบ่อย ๆ เวลาตื่นนอน

6. อาการของโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นอยู่

รู้หรือไม่ว่าปัญหาสุขภาพและอาการของโรคต่าง ๆ ที่เราเป็นอยู่ก็ทำให้เรามีอาการนอนหลับไม่สนิทได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะโรคที่ส่งผลให้เรามีอาการต่าง ๆ เหล่านี้

  • อาการคัน
  • อาการหายใจไม่สะดวก
  • อาการไอ
  • อาการปวดข้อ ปวดกระดูก หรือกล้ามเนื้อ 
  • อาการท้องผูก แน่นท้อง 
  • อาการอาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน 
  • อาการปวดหัวและปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นต้น

ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังมีปัญหาสุขภาพจึงควรเข้ารับการรักษา ทานยาตามแพทย์สั่ง เพื่อรักษาอาการ และลดปัญหาการนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ในตอนกลางคืน

7. พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

หนึ่งในสาเหตุสำคัญของอาการหลับไม่สนิทที่หลายคนมักจะมองข้ามไป คือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวเราเอง บางครั้งเราอาจจะมีพฤติกรรมและการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับโดยไม่รู้ตัว ทั้งพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเครียด และพฤติกรรมอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เรามีอาการหลับ ๆ ตื่นตลอดทั้งคืน ดังนี้

  • เล่นโทรศัพท์มือถือก่อนนอน
  • สูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายหนักเกินไป 
  • ดื่มหรือรับประทานอาหารที่มีคาเฟอีน
  • ทานอาหารมื้อหนัก ๆ ก่อนนอน
  • ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน

8. ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด

ยาบางชนิดที่ออกฤทธิ์โดยส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางหรือสมองอาจส่งผลกระทบต่อการนอนหลับของเรา ทำให้นอนหลับยาก และมีอาการนอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อย ๆ ในตอนกลางคืนได้ ซึ่งยาที่ออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง เช่น 

  • ยารักษาโรคพาร์กินสัน 
  • ยาไทรอยด์ 
  • ยาแก้ชัก 
  • ยารักษาโรคซึมเศร้า 
  • ยาสเตียรอยด์ 
  • ยารักษาภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น

นอกจากนี้ยาที่ใช้ในการรักษาความผิดปกติของการหายใจก็อาจส่งผลต่อการนอนหลับได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ยารักษาโรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ และโรคถุงลมโป่งพองเรื้อรัง รวมไปถึงยาโรคหัวใจบางชนิด และยาโรคข้ออักเสบที่มีแอสไพรินเป็นส่วนผสม เนื่องจากอาจทำให้มีอาการปวดท้องตอนกลางคืนจากการระคายเคืองของกระเพาะอาหารและเป็นกรดไหลย้อน ทำให้ผู้ใช้อาจมีการสะดุ้งตื่นกลางดึกอยู่บ่อย ๆ ได้นั่นเอง

วิธีแก้ปัญหาอาการนอนหลับไม่สนิท

เมื่อรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เราหลับไม่สนิทเรียบร้อยแล้ว เรามาดูกันดีกว่าว่าหากเรามีอาการนอนหลับไม่สนิทและตื่นบ่อย ๆ ในตอนกลางคืนเราควรจะแก้ไขและรับมือกับอาการนี้อย่างไร 

วิธีแก้ไขปัญหาของผู้ที่มีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ ในตอนกลางคืนนั้นไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับของเรา โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้

  • ฝึกนอนให้เป็นเวลา โดยการเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิม
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อ่านหนังสือเบาสมอง นั่งสมาธิ เขียนไดอารี่ประจำวัน เป็นต้น
  • จัดการกับสภาพแวดล้อมภายในห้องนอนให้เหมาะสมต่อการนอนหลับมากที่สุด ทั้งแสง เสียง อุณหภูมิ 
  • หากไม่สามารถจัดการกับสภาพแวดล้อมในห้องนอนได้ ควรใช้หน้ากากปิดตาเพื่อป้องกันแสง หรือที่อุดหูเพื่อป้องกันเสียงรบกวน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเว้นระยะห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 5 ชั่วโมง
  • รับประทานอาหารให้เหมาะสม ครบถ้วน และมีประโยชน์ต่อร่างกาย
  • ปิดโทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด หรือตั้งเป็นโหมดห้ามรบกวนก่อนเข้านอน
  • เลี่ยงการนอนกลางวันเพื่อลดปัญหาอาการนอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อย ๆ หากมีอาการง่วงระหว่างวันมาก ๆ อาจกำหนดเวลางีบไม่เกิน 20 นาทีในช่วงเที่ยง (อย่านอนตอนบ่าย-เย็น)
  • อย่าทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกจากการนอนบนเตียงนอน
  • ไม่ควรเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือ Notebook บนเตียงนอน
  • เลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
  • อย่าทำสิ่งต่าง ๆ ที่ส่งผลให้มีความเครียดเพิ่มขึ้น 
  • อย่าทำกิจกรรมกระตุ้นสมอง เช่น ฟังเพลงดัง ๆ ดูภาพยนตร์สยองขวัญ การเล่นเกม 
  • งดการออกกำลังกายหนัก ๆ ในช่วงก่อนเข้านอน 
  • งดการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ หรือทานอาหารในปริมาณมากก่อนเข้านอน
  • เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โกโก้ รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลมบางชนิด
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน
  • งดการสูบบุหรี่

ด้วยวิธีง่าย ๆ เหล่านี้จะช่วยให้ทุกคนสามารถดูแลสุขภาพและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับให้กับทุกคนได้อย่างแน่นอน และหากใครที่ปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วยังมีอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับไม่สนิท ควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการวินิจฉัยอาการและเข้ารักษาอาการนอนหลับไม่สนิทในลำดับต่อไป 

———————————–

นอกจากเรื่องราวของปัญหาการนอนหลับไม่สนิท ทั้งอาการหลับแบบไม่สนิทที่อันตรายต่อสุขภาพ สาเหตุของอาการนอนหลับไม่สนิท และวิธีแก้ไขปัญหาการนอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อยในตอนกลางคืน เรายังมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอให้ทุกท่านได้เข้ามาติดตาม มองหาบทความที่น่าสนใจอื่น ๆ แล้วเข้าไปอ่านกันได้เลย! 

บทความที่เกี่ยวข้อง