ภาวะปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (Nocturia)

Health / Urinary

‘ปัสสาวะ’ คือของเสียในรูปของเหลวที่ร่างกายขับถ่ายออกมาจากสารอาหารที่เราได้รับในแต่ละวัน ผ่านกระบวนการทำงานของไตซึ่งมีหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากเลือด ในร่างกายมนุษย์จะผลิตน้ำปัสสาวะประมาณวันละ 1 ลิตรครึ่ง และมีจำนวนการปัสสาวะราว 5-6 ครั้งต่อวัน โดยไม่ควรลุกมาปัสสาวะกลางคืนหลังนอนหลับไปแล้ว แต่หากเกิดภาวะปัสสาวะบ่อย ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อร่างกายของเรา 

โดยทั่วไปแล้ว ร่างกายของเราไม่เพียงแต่จะผลิตปัสสาวะออกมาในปริมาณไม่มากในช่วงเวลากลางคืน แต่ในร่างกายของผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวัยเด็กหรือคนสูงวัย จะมีความสามารถในการกลั้นปัสสาวะขณะหลับได้โดยไม่รู้สึกปวดและไม่เกิดภาวะปัสสาวะราด จึงทำให้การหลับทำได้อย่างต่อเนื่อง 6-8 ชั่วโมง โดยไม่มีสิ่งใดมารบกวน 

ในทางการแพทย์จะดูความผิดปกติของการปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืนโดยนับเป็นจำนวนครั้ง นั่นคือนับจากการนอนหลับไปแล้วและมีการตื่นมาเข้าห้องน้ำ หากมีจำนวนตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปถือว่าผิดปกติ โดยจะไม่นับการปัสสาวะก่อนเข้านอนและหลังตื่นนอนตอนเช้า ความผิดปกติดังกล่าวสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งอาจพบมากในผู้ชายสูงวัย และยังเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้ 

1. กระเพาะปัสสาวะมีขนาดเล็กหรือสามารถบรรจุน้ำปัสสาวะได้น้อยลง จึงทำให้เกิดภาวะปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยสาเหตุเกิดได้จากการ

  • การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (UTI) หรือในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งทำให้รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ รวมทั้งทำให้ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน 
  • กระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวไว (Overactive Bladder – OAB) ซึ่งเกิดจากการรับรู้ของกระเพาะปัสสาวะที่เร็วกว่าปกติ ทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อย 
  • กลุ่มคนไข้โรคต่อมลูกหมากโตที่ทำให้เกิดการอุดกั้นปลายท่อปัสสาวะ ส่งผลให้พื้นที่ในการบรรจุปัสสาวะน้อยลงและเกิดภาวะปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน 

2. ร่างกายผลิตน้ำปัสสาวะในปริมาณมากผิดปกติจากการดื่มน้ำ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนมาก รวมถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ การอยู่ภายในห้องหรือพื้นที่ที่มีอากาศเย็น ตลอดจนเป็นสัญญาณของโรคหัวใจและโรคไต เป็นต้น 

3. ผู้ที่มีปัญหาด้านการนอนหลับ หลายๆ คนอาจเข้าใจผิดว่าการตื่นมาเข้าห้องน้ำในเวลากลางคืนเกิดจากอาการปวดปัสสาวะ แต่ในความจริง ยังสามารถเกิดจากความผิดปกติของการนอนหลับได้เช่นเดียวกัน สำหรับในกรณีนี้จะพบในคนไข้ที่หลับยาก คนไข้ที่มีความผิดปกติในส่วนทางเดินหายใจที่ตีบตันระหว่างที่นอนหลับ หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) ซึ่งเกิดจากภาวะทางเดินหายใจส่วนต้นในช่องคอมีการยุบตัวระหว่างการหลับ ก่อให้เกิดความดันในช่องอกเพิ่มขึ้น เลือดดำจะไหลกลับเข้าหัวใจมากกว่าปกติ จนร่างกายเกิดการเข้าใจผิดว่ามีปริมาตรน้ำในร่างกายมากเกินไป ขณะที่แท้จริงแล้ว ยังมีปริมาณเท่าเดิม ซึ่งการรับรู้ที่ผิดปกตินี้จะกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเคมีที่มีผลต่อการทำงานของไต นั่นคือลดการดูดกลับของสารน้ำและเกลือโซเดียมจากท่อไต ผลลัพธ์คือทำให้มีปัสสาวะออกมาเป็นจำนวนมากและเป็นหนึ่งในสาเหตุของการปัสสาวะบ่อยครั้งในเวลากลางคืนนั่นเอง

สำหรับผลกระทบโดยตรงที่เห็นได้ชัดเจนคือ ร่างกายจะขาดการพักผ่อน ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย สมองไม่ปลอดโปร่ง ไม่มีเรี่ยวแรงในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต และอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ข้อแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาดังกล่าว ได้แก่ 

1. ลดการดื่มน้ำและเครื่องดื่มต่างๆ ก่อนเข้านอนประมาณ 2-4 ชั่วโมง

2. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และอาหารที่มีปริมาณเกลือสูง

3. จัดสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการนอนหลับ เช่น มีแสงสว่างน้อย ไม่มีเสียงรบกวน มีอุณหภูมิภายในห้องที่พอเหมาะ ไม่เย็นจนเกินไป เนื่องจากความเย็นจะเป็นตัวกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะได้ 

4. สำหรับคนไข้ที่จำเป็นต้องกินกลุ่มยาขับปัสสาวะ อาทิ คนไข้กลุ่มโรคความดัน หัวใจ และไต ควรปรับเวลาไปเป็นช่วงเช้าหรือเที่ยง โดยหลีกเลี่ยงการกินยาดังกล่าวหลังอาหารเย็น

5. ลดปริมาณน้ำปัสสาวะโดยเข้าห้องน้ำประมาณ 1-2 ครั้งก่อนเข้านอน  

1. มีการปัสสาวะกลางดึกมากกว่า 2 ครั้งต่อคืน จนส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับและการดำเนินชีวิต 

2. การพบปัสสาวะที่มีเลือดปน ปัสสาวะมีสีขุ่น สีแดง หรือสีน้ำตาลเข้ม

3. มีอาการเจ็บขัดขณะปัสสาวะ

4. ปัสสาวะขัด ลำบาก จะต้องใช้เวลาเบ่งจึงจะออก  

5. พบอาการเจ็บปวดหรือปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย รวมถึงคลำพบก้อนที่ท้องน้อย

6. พบปัญหาเกี่ยวกับการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

7. การมีไข้ร่วมด้วยกับอาการดังที่กล่าวมา 

สำหรับผู้ที่มีภาวะปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน หากมีการปรับพฤติกรรมตามคำแนะนำแล้ว แต่อาการต่างๆ ไม่ดีขึ้น ไม่ควรละเลยความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะหากปล่อยไว้เนิ่นนาน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงควรไปพบแพทย์เมื่อพบความผิดปกตินี้เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง การได้รับคำวินิฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาที่เหมาะสมจะทำให้อาการทุเลาลงและกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ต่อไป

อ้างอิง: 
นพ.ศุภชัย สถิตมั่งคั่ง
ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

บทความที่เกี่ยวข้อง