ปวด (ฉี่) เกินต้าน! รับมืออย่างไรเมื่อกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน

Health / Urinary

โรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือ ‘โอเอบี’ (OAB ย่อมาจาก Overactive Bladder) เป็นโรคที่แม้จะไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ก็สร้างความทรมานอย่างหนักหน่วงให้กับผู้ป่วยได้ เพราะอาการปวดปัสสาวะบ่อยเกินไปและอั้นไม่ไหวนั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะยามตื่นหรือยามหลับก็ปวดเกินต้าน จะทำอะไรก็สะดุดติดขัด เพราะต้องคอยเข้าห้องน้ำบ่อยๆ (แม้แต่ตอนนอนก็ต้องลุกมาเข้าห้องน้ำ) เกิดความเครียดกังวล รวมถึงความอับอายหากเกิดปัสสาวะเล็ดราดในที่สาธารณะ จนผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่กล้าเดินทางไปไหน 

อาการของโรค

การที่เรากลั้นปัสสาวะไม่อยู่เป็นครั้งคราวไม่ได้แปลว่าเราจะป่วยเป็นโรคโอเอบีเสมอไป เราอาจกลั้นไม่ไหวเพราะหัวเราะมากเกินไปหรืออั้นปัสสาวะนานเกินไป ซึ่งเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวแล้วก็หายไป แต่เมื่อใดก็ตามที่การปวดปัสสาวะเริ่มกลายเป็นปัญหาเรื้อรังดังต่อไปนี้ ให้สงสัยว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน:

  • ปวดปัสสาวะอย่างมาก โดยฉับพลันทันที ควบคุมไม่ได้ อั้นไม่ไหว จนปัสสาวะเล็ดราดอยู่เป็นประจำ
  • มีการปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติแบบเห็นได้ชัด มากกว่าแปดครั้งภายใน 1 วัน (24 ชั่วโมง)
  • ปวดปัสสาวะมากแต่มีน้ำปัสสาวะออกมาน้อย (และไม่ได้เกิดจากอั้นนานเกินไป)
  • ปัสสาวะบ่อยแม้ว่าจะนอนหลับไปแล้วก็ยังปวดจนทนไม่ไหว

เมื่อสงสัยว่ากำลังมีปัญหากระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากการสอบถามอาการและประวัติการเจ็บป่วย และตรวจร่างกายในเบื้องต้น จากนั้นอาจมีการตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาการอักเสบติดเชื้อ หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคโอเอบีแน่นอนก็ต้องมีการตรวจด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อหารูปแบบการปัสสาวะของผู้ป่วยและหาสาเหตุของปัญหา เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม (ซึ่งจะแตกต่างไปในแต่ละคน) เช่น การตรวจอัลตราซาวน์กระเพาะปัสสาวะเพื่อวัดปริมาณปัสสาวะที่ค้างอยู่หลังการปัสสาวะ หรือการจดบันทึกการปัสสาวะ เพื่อดูจำนวนครั้งและปริมาณปัสสาวะแต่ละครั้งร่วมกับบันทึกการดื่มน้ำ เป็นต้น

สาเหตุของโรค

สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ คือมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ระบบประสาทที่ส่งสัญญาณมายังกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อยกว่าปกติทั้งๆ ที่มีปริมาณปัสสาวะอยู่น้อย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการควบคุมกระเพาะปัสสาวะด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาวะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง มีการผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกรานมา มีเส้นประสาทถูกทำลาย หรืออาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป หรืออยู่ในภาวะหลังหมดประจำเดือน หรืออาจจะเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดด้วยก็ได้ 

แนวทางการรักษา

โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องและพิจารณาการรักษาได้เหมาะสม ผู้ป่วยก็มีโอกาสหายขาดได้ แนวทางการรักษาอาจใช้หลายวิธีร่วมกัน มีดังต่อไปนี้

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

เป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้ยาหรือเครื่องมือใดๆ แต่หันมาปรับพฤติกรรมเพื่อรับมือ เช่น 

  • ปรับช่วงเวลาการกินน้ำให้สอดคล้องกับกิจวัตรประจำวัน โดยเฉพาะในช่วงเวลา 2-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน ก่อนเดินทาง หรือก่อนกิจธุระสำคัญของเราที่ไม่สามารถไปเข้าห้องน้ำได้ 
  • ดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ งดเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นปัสสาวะ เช่น น้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ รวมทั้งงดอาหารรสชาติจัด
  • ฝึกการกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นทีละนิด ยืดความห่างในการปัสสาวะให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยอาจฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยการขมิบร่วมด้วย 
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน  ซึ่งมีผลต่อการกลั้นปัสสาวะ
  1. กินยาลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ

ยาที่ใช้รักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กลั้นปัสสาวะได้นานขึ้น แต่การใช้ยามีผลข้างเคียงต่อร่างกายดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ควรใช้ยาควบคู่กับการปรับพฤติกรรมร่วมด้วย และไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องในระยะยาวเพราะอาจดื้อยาได้ 

  1. ฉีดยาโบทูลินุมท็อกซิน

ยาโบทูลินุมท็อกซิน หรือยาโบท็อกซ์ที่นิยมกันมากในแวดวงเสริมความงาม เมื่อฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและปวดปัสสาวะน้อยลงได้ เป็นวิธีที่จะใช้ก็ต่อเมื่อวิธีกินยาไม่ได้ผล 

  1. กระตุ้นเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้า

เป็นการปรับสมดุลระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าขนาดต่ำกระตุ้นให้เส้นประสาทกลับมาทำงานปกติ มีทั้งแบบชั่วคราวคือการฝังเข็มหรือแผ่นแปะ หรือแบบถาวรคือการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไว้ในร่างกาย เป็นวิธีที่ให้ผลข้างเคียงน้อย แต่ราคาค่อนข้างสูง

  1. ผ่าตัดขยายกระเพาะปัสสาวะ

ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก และรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาให้ทำการผ่าตัดขยายกระเพาะปัสสาวะ เพื่อเพิ่มความจุในการเก็บน้ำปัสสาวะ และลดความดันในกระเพาะปัสสาวะ แต่วิธีผ่าตัดก็มีผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวังเพราะอาจเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ 

ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งมีศูนย์หรือคลินิกที่ดูแลเรื่องโรคทางเดินปัสสาวะโดยเฉพาะ เพราะปัญหาเรื่องปัสสาวะนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และไม่ใช่เรื่องน่าอาย อย่าปล่อยไว้จนมีภาวะรุนแรง หรือปล่อยให้ชีวิตต้องทนทุกข์ทรมานกับการอั้นจนไม่เป็นอันทำอะไร 

ที่มา:
www.si.mahidol.ac.th
www.healthline.com
www.rajavithi.go.th
www.bumrungrad.com

บทความที่เกี่ยวข้อง