สำรวจความคิด ชีวิต และอาหารของเชฟก้อง ก้องวุฒิ ชัยวงศ์ขจร

Human / Self-Inspiration

เรารู้จัก ‘ก้อง – ก้องวุฒิ ชัยวงศ์ขจร’ ในฐานะของเชฟมือดีที่ผ่านประสบการณ์ด้านอาหารมาอย่างยาวนาน เขารู้ตัวว่าสนุกกับการทำอาหารตั้งแต่ตอนเรียนไฮสกูลที่แคนาดา กระทั่งกลับมาศึกษาต่อปริญญาตรีในคณะการโรงแรม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีการสอนทำอาหารอยู่ในหลักสูตรนั้นด้วย หลังจากนั้นไม่นาน ก้องต่อยอดความรู้ระดับ Grand Diploma จาก Le Cordon Bleu Dusit Bangkok ก่อนจะเดินหน้าทำงานในฐานะพ่อครัวอย่างเต็มตัวในร้านอาหารชื่อดังของบ้านเราอยู่หลายแห่ง แถมเคยพิชิตเชฟกระทะเหล็กประเภทอาหารญี่ปุ่นได้สำเร็จ จนเมื่อ 5 ก่อน เขาได้ก่อตั้ง ‘Locus Native Food Lab’ ร้าน Chef’s Table หนึ่งเดียวในเชียงรายที่หยิบเอาองค์ประกอบของอาหารเหนือตามฤดูกาลมาแยกย่อย ต่อยอด และจัดเรียงขึ้นใหม่ในแบบ Fine Dining โดยยังคงเสน่ห์และความอร่อยตามวิถีดั้งเดิมแบบชาวล้านนา 

การพูดคุยกับก้องในวันนี้ นอกจากจะได้อัพเดทความเป็นไปในเรื่องงานครัวของเขา ไม่ว่าจะเป็นการโยกย้ายร้าน Locus มายังจุดหมายแห่งใหม่ใกล้กับสิงห์ปาร์ค เชียงราย รวมถึงเมนูล่าสุดประจำปี 2565 ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหลักการและวิธีคิดของการวางอาหารแบบ ‘ไคเซกิ’ ของเกียวโตแล้ว เรายังลัดเลาะเข้าไปยังอีกโลกหนึ่งของผู้ชายชื่อก้องวุฒิในฐานะของผู้เล่าขานเรื่องราวภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่มีปลายทางคือการเติบโตไปพร้อมๆ กับผู้คนและชุมชน ตลอดจนบทบาทของการเป็นสามี รวมถึงคุณพ่อของลูกสาวตัวน้อยอย่างน้องหอมจันทร์ด้วย

‘Locus Native Food Lab’ สถานบันดาลใจ 

จนถึงตอนนี้ ก็เข้าสู่ปีที่ 5 ปีแล้วที่ Locus หรือ โล-กุษ ก่อตั้งขึ้น หากย้อนกลับไปในเวลานั้น ก้องทำงานเป็นมาสเตอร์เชฟที่ห้องอาหารญี่ปุ่น Ren ในโรงแรมดาราเทวีที่เชียงใหม่ จนได้เจอภรรยาและตัดสินใจลาออกมาแต่งงาน แพลนแรกของเขาคือการกลับไปกรุงเทพฯ และทำเรื่องที่อยากจะทำ แต่บังเอิญว่าถูกเชฟแบล็ก – ภานุภน บุลสุวรรณ แห่ง Blackitch Artisan Kitchen และเชฟหนุ่ม – วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ แห่งซาหมวย & Sons ชักชวนให้ไปทำเวิร์กช็อปเรื่องไร่หมุนเวียนที่บ้านห้วยหินลาด อันเป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอในจังหวัดเชียงรายเสียก่อน และที่นั่นเองที่เปลี่ยนทั้งโลกและชีวิตของเขาไปตลอดกาล เพราะความเรียบง่ายในการใช้ชีวิตของผู้คนที่ต้องการเพียงเสื้อผ้าและที่อยู่อาศัย โดยอีกสองปัจจัยอย่างยาและอาหารนั้นมีอยู่อย่างเหลือเฟือภายในผืนป่า

“ผมเป็นคนกรุงเทพฯ คิดว่าตัวเองทำงานมาและรู้อะไรมาเยอะ แต่พอได้เจอพวกเขา กลายเป็นว่าตัวผมนี่แหละที่ไม่รู้อะไรเลยจริงๆ ที่นั่นสอนอะไรผมเยอะมาก จากที่เคยรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวไม่เคยพอ เมื่อได้เห็นชุมชนในป่าจริงๆ เขาไม่เห็นมีอะไรในสายตาเรา แต่เขา ‘พอ’ ซึ่งทำให้ผมกลับมานั่งคิดว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าสิ่งต่างๆ มีไม่พอนะ แต่ตัวเราต่างหากที่อาจจะต้องการมากเกินไป พอได้เห็นตรงนั้นเลยเกิดความชัดเจนขึ้นหลายอย่าง ประกอบกับที่ผมอยากลงหลักปักฐานและไม่อยากเลี้ยงลูกที่กรุงเทพฯ ผมจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่เชียงรายและทำ Locus Native Food Lab ขึ้นในเวลานั้น 

สิ่งที่ตลกคือผมเคยเขียนฟอร์มร้านอาหารตั้งแต่สมัยเด็กๆ ผมว่ามี 10 ปีได้ก่อนที่ร้านนี้จะเกิดขึ้นว่า ถ้าผมจะทำร้านอาหาร ร้านของผมจะเป็นแบบไหน พอกลับไปอ่านก็พบว่า Locus เป็นแนวทางแบบเดียวกัน ที่นี่จึงเป็นการพูดถึงสิ่งที่ผมคิดต่อตัวผมเองว่าผมมีหน้าที่อะไรกับโลกใบนี้ นั่นคือการสร้างบางอย่างที่เป็นคุณ สร้างความสุขทางรูปและรส ขณะเดียวกันก็ยังสามารถทิ้งรอยเท้า แนวทาง และให้สถานที่ที่ผมสร้างเป็นแรงบันดาลให้กับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ในจังหวัด ในประเทศ ด้วยความตระหนักรู้ว่าชีวิตไม่ใช่สิ่งจีรัง แบบที่วันหนึ่งการดับสูญไปถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้น ก่อนตาย ตัวผมจะสามารถทำอะไรไว้ให้โลกใบนี้ได้บ้าง” 

เมนูอาหารจากแนวคิด ‘ไคเซกิ’

นอกจากการปลุกปั้น Locus เพื่อส่งแรงบันดาลใจให้คนออกไปหาสิ่งใกล้ตัวมาก่อให้เกิดประโยชน์ การคิดเมนูอาหารใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งความสุขของก้อง ซึ่งหากใครที่ติดตามการนำเสนออาหารของเขาจะพบว่า เมนูของที่นี่จะเปลี่ยนไปตลอดเวลาแบบที่ไม่ทำซ้ำ เขามักทิ้งสิ่งเก่าเพื่อสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเสมอ 

“อาจเพราะตัวผมเองเป็นคนชอบค้นหาสิ่งใหม่ ชอบที่จะตั้งคำถามกับทุกสิ่ง ผมจะมีคำถามตลอดเวลากับทุกอย่าง แล้วหน้าที่ผมคือการไปหาคำตอบ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ผมได้เจอสิ่งที่น่าสนใจ ผมจะใช้อาหารเป็นเครื่องมือในการสื่อสารสิ่งเหล่านั้นออกมา” และหน่อเนื้อใหม่ที่ก้องกำลังจะสร้างสรรค์ขึ้นคือเมนูอาหารที่ได้เขาแรงบันดาลใจมาจากหลักการและวิธีคิดของการวางอาหารแบบไคเซกิ อาหารอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองเกียวโตที่มีความพิถีพิถันในคัดเลือกวัตถุดิบตามฤดูกาล มีการปรุงแต่งและใช้กรรมวิธีในการปรุง ไปจนถึงการนำเสนออาหารเพื่อขับเน้นรสชาติแท้ๆ ของวัตถุดิบนั้นๆ ออกมา 

“เราวางไว้ว่าถ้าเป็นไปได้อยากทำตลอดทั้งปีหน้า ซึ่งการใช้หลักการไคเซกิไม่ได้แปลว่าผมจะทำอาหารญี่ปุ่นนะครับ แต่จะมีวิธีคิดในลักษณะเดียวกัน โดยจะทำอาหารที่เราถนัดนั่นคืออาหารเหนือประยุกต์ และเมื่อคิดจะทำทั้งที ผมเลยผูกเรื่องวัฒนธรรมการนับเดือนของทางเหนือไว้ด้วย ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีเรื่องของประเพณีต่างๆ ที่คนอาจจะไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยิน เราจะยกประเพณีเหล่านั้นมาเล่าให้ฟัง โดยจะมีหนังสือที่ผมจะทำควบคู่กันไปออกมาด้วย ผมอยากนำอาหารมาเป็นตัวสื่อสารเพื่อบอกเล่าวัฒนธรรมและเรื่องราวล้านนาให้คนได้ยินได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในวงกว้างครับ”

ครูต้นแบบ

“ในสายงานของผม ผมมีอาจารย์ที่นับถือมากๆ คือ เชฟพฤกษ์ (พฤกษ์ สัมพันธวรบุตร) ผมเป็นลูกศิษย์แกโดยตรงตั้งแต่ตอนที่เรียน Le Cordon Bleu ถามว่าทำไมผมถึงยกให้เชฟเป็นครูแบบที่สามารถพูดชื่อแกขึ้นมาได้อย่างทันทีและเป็นคนเดียวเลย เพราะว่าเราทั้งคู่มีโอกาสได้ร่วมงานกันหลายครั้ง ซึ่งในหลายครั้งนั้นมีเหตุการณ์ที่ผมไม่สามารถรับมือได้ แต่มีเชฟพฤกษ์นี่แหละที่เป็นตัวอย่างที่ดีทั้งในบทบาทของเชฟ เพื่อนร่วมงาน ผู้นำ ผู้แก้ไขปัญหา และผู้รับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น แบบที่ผมเองไม่เคยคิดว่า เราสามารถทำอย่างนี้ได้ด้วยเหรอ 

มีครั้งหนึ่ง ผมกับเชฟทำงานด้วยกันและวันนั้นผมไม่สบายมากแบบที่ต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะมีอาการอาหารเป็นพิษเฉียบพลัน แล้วผมเป็นคนดื้อมาก วันนั้นผมไม่ยอมไปโรงพยาบาล แต่ขอนอนพักแป๊บเดียว แล้วจะลุกมาลุยจนงานเสร็จ จากนั้นค่อยไปโรงพยาบาลทีเดียว นั่นเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาของผมแบบที่คนเหนือเรียกว่า ‘อดเอา’ อดเอาให้หายแล้วค่อยว่ากัน แต่สิ่งที่เชฟพฤกษ์ทำคือการเดินมาบอกผมว่า “ถ้าก้องไม่ไปโรงพยาบาล ไม่ไปให้หมอตรวจ ผมจะแคนเซิลงานนี้เลย” นั่นทำให้ผมต้องจัดการตัวเองในแบบที่ควรจะเป็น หรือการทำงานด้วยกันในโปรเจ็กต์ Le Tour d’Angkhang ช่วงปี 2553 ที่จัดโดยมูลนิธิโครงการหลวง ตอนนั้นสถานที่จัดคือสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งด้วยสถานที่ที่ทำให้เราต้องแก้ปัญหาหน้างานตลอด ต้องใช้ทักษะการจัดการเยอะมาก เพราะมีอาหารหลายที่หลายเมนู ในครัวไม่พร้อม พื้นที่ค่อนข้างกันดาร ด้วยผมในเวลานั้นเป็นผู้ติดตาม ผมได้เฝ้าดูสิ่งที่เชฟทำ ซึ่งทุกอย่างออกมาอย่างดี ปัญหาหน้างานถูกแก้ไขได้หมดและเหมาะสม ได้เห็นเลยว่าเชฟอ่านเกมขาดหมด สำหรับผม นี่คืออาจารย์ นี่คือวิธีของคนที่ผมนับถือว่าเป็นครูรับมือกับปัญหา แบบที่รู้ว่าจังหวะไหนต้องอะลุ้มอล่วย จังหวะไหนต้องลุย จังหวะไหนต้องใช้ความเด็ดขาด นี่คือคนที่ผมมองเป็นแบบอย่าง เป็นคนที่ผมรู้สึกยกย่องและนับถือครับ”

วิกฤติพลิกชีวิต

คำว่า ‘วิกฤต’ ในภาษาจีน ประกอบขึ้นจากตัวอักษร 2 ตัว หนึ่ง คือ ‘อันตราย’ และสองคือ ‘โอกาส’ ไม่ต่างไปจากชีวิตของก้องที่จุดเปลี่ยนในชีวิตของเขามีทั้งสองสิ่งนี้ผสมรวมอยู่ในนั้น “จุดเปลี่ยนในชีวิตผมมีอยู่ 4 ครั้งใหญ่ๆ ครั้งแรกคือวันที่ผมสวมแหวนแต่งงานให้กับภรรยา ครั้งที่ 2 คือวันที่ผมเห็นหน้าลูกเป็นครั้งแรก ทั้งสองจุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนและเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับผม ถ้าเทียบกับสมัยก่อน ผมเป็นอีกคนหนึ่งเลย ด้วยความเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น มีความคึกคะนองแบบสุดๆ ผมดื่มเหล้าน่ากลัว ทำทุกอย่างที่เขาไม่ให้ทำ แต่เมื่อผมโตแล้ว ผมก็โตเลยและเข้าใจว่าหมดเวลาที่เราจะลงไปดูหลุมข้างล่างแล้ว ตอนนี้เป็นเวลาที่ต้องเดินต่อ ทำหน้าที่สามี พ่อ และพี่ให้น้องๆ ที่ร้าน เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผมรู้ตัวว่าสุดท้ายแล้ว ชีวิตของเราไม่ได้อยู่แค่เพื่อตัวเอง แต่ยังมีอีกหลายชีวิตที่ผมต้องดูแล สำหรับผม แค่มีหน้าที่ทั้งสามอย่าง ผมก็ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว” 

จนปี 2562 จุดเปลี่ยนสำคัญของก้องเกิดขึ้นอีกครั้ง เขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ครั้งใหญ่ที่จังหวัดตาก ขณะเดินทางจากกรุงเทพฯ กลับมายังเชียงราย “ครั้งนั้น พวกเราไปด้วยกันแบบยกครัวเลย เด็กๆ ในร้านบาดเจ็บ ส่วนผมอาการหนักที่สุด มีเลือดออกในสมอง ใบหน้าซีกขวายุบเข้าไป เบ้าตาผมหาย ลูกตาผมเข้าไปอยู่ในกะโหลกเลย ปอดอักเสบ มือ-ซี่โครง-สะโพกหัก เอ็นขาด เรียกว่าเละเลยครับ แต่ไม่ตาย คุณพ่อนั่งเครื่องมาลงลำปางแล้วเรียก เฮลิคอปเตอร์พยาบาลมารับผมไปส่งที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ผมอยู่ห้องไอซียู 2 อาทิตย์ และต้องพักฟื้นอยู่อีกเป็นเดือน เวลานั้นวิกฤตมากเพราะเป็นจุดที่เอนไปทางตายมากกว่าเป็น แต่ก็รอดมาได้ จนมาต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ผมรถคว่ำอีกครั้ง รถพังเละเทะ แต่โชคดีที่ตัวผมบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

หลังจาก 2 เหตุการณ์หลัง ร่างกายของผมไม่แข็งแรงเหมือนเก่า แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ เสาที่มีรอยร้าวคงไม่แข็งแรงเท่ากับเสาใหม่อยู่แล้ว มันเป็นวิถีธรรมชาติ แต่จิตใจของผมเปลี่ยนไปมาก เหมือนกับเหล็กที่โดนเผาและตีจนแกร่งขึ้น จะพูดว่าผมเป็นคนแข็งแกร่งทางจิตใจและอารมณ์ก็คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็แข็งแรงขึ้นนะครับเพราะผมเข้าใจกลไกและวิถีของชีวิตและสิ่งต่างๆ มากขึ้น รวมถึงการตระหนักรู้ว่าชีวิตคนเราถูกจำกัดโดยมิติหนึ่งที่เรียกว่า ‘เวลา’ สำหรับบางคน เขาอาจมองเข็มนาฬิกาที่วิ่งอยู่แบบไม่ได้สนใจอะไร แต่สำหรับผม เวลาเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและพูดยากอยู่เหมือนกัน อุบัติเหตุทั้งสองครั้งทำให้ผมคิดตลอดว่า แล้วเราจะใช้เวลาอย่างไรให้มีคุณค่า ถ้าเป็นภาษาพระจะเรียกว่ามีมรณสติ ซึ่งไม่ใช่การคิดว่าตัวเองจะตายนะ แต่คิดว่าเราใช้เวลากับอะไร ทำอะไร และการกระทำนั้นคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปเพื่อสร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมาไหม เพราะฉะนั้นการใช้เวลาที่คุ้มค่ามากที่สุดสำหรับผม คือการใช้เวลาเพื่อให้เกิดคุณ เกิดผลดี เป็นความดีต่อตนเองและผู้อื่นครับ” 

สร้าง ‘พะลัง’ เพื่อส่ง ‘พลัง’

หนึ่งในการใช้เวลาเพื่อส่งต่อสิ่งที่ดีน่าจะรวม ‘พะลัง’ ร้านน้ำผักเพื่อสุขภาพแห่งนี้อยู่ในนั้นด้วย “จุดเริ่มต้นจริงๆ ของที่นี่คือผมเห็นห้องแถวบนถนนสิงหไคลที่ติดกับร้านกาแฟ Couple Cups ซึ่งเป็นร้านประจำของผมปล่อยเช่าพอดี ผมชอบบรรยากาศที่นี่มากเลยขอเข้าไปเช่าก่อน แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ประจวบเหมาะกับที่ผมกับภรรยาทำน้ำผักดื่มกันอยู่แล้ว รู้สึกว่าไหนๆ เราเช่าที่ตรงนี้ก็ทำร้านน้ำผักดูไหม เลยนำไอเดียไปปรึกษาอาจารย์หมอที่เป็นนักโภชนาการ แกแนะนำว่าหากจะดื่มให้ได้ประโยชน์จะต้องใช้เครื่อง Hydraulic Press Juicer แต่ก็มีราคาสูงพอสมควร ผมรู้สึกว่าของดีแบบนี้ ถ้าซื้อมาทั้งทีเราก็อยากให้คนอื่นได้ประโยชน์ไปด้วย ทำแบบไม่ต้องขายแพง ให้ร้านพออยู่ได้ สร้างงานให้คนในพื้นที่ได้ พอเป็นร้านที่มีเจตนาดีเป็นที่ตั้ง ผมเลยตัดเรื่องพาณิชย์ทิ้งไป เอาเป็นว่าพะลังจะเป็นที่ที่เราทำดีให้กับโลกนี้แล้วกัน ร้านนี้มีหุ้นส่วนทั้งหมด 3 คน นอกจากผมแล้ว จะมีคุณแอน-พชิรารัชต์ กิตติศรัญเกียรติ อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รักษาตัวเองหายด้วยวิธีการดื่มน้ำผัก และครอบครัวเกษตรกรจากไร่ออร์แกนิก Farm to Table ผมงงเหมือนกันว่ามีผู้ป่วย มีแม่ลูกอ่อน มีเกษตรกร ที่กล้าบ้าบิ่นมาลงทุนกับสิ่งที่จะไม่ได้เงินคืน แถมพร้อมลงเงินกับโปรเจ็กต์นี้ทันที แบบที่ผมต้องถามออกมาว่า นี่มันอะไรกันเนี่ย (หัวเราะ) แต่อย่างที่บอกทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากสิ่งเดียวคือเจตนาดี ถ้าเราอยากสร้างสุขภาวะทางสังคมที่ดี ก็คงไม่มีวิธีอื่นนอกจากเราต้องสร้างขึ้นมา”

‘พะลัง’ เป็นคำบาลีที่แปลว่า ‘สุขภาพ’ เป็นชื่อที่ก้องและภรรยาตั้งใจนำไปตั้งเป็นชื่อลูกหากพวกเขาได้ลูกชาย กลายมาเป็นชื่อที่ใช้เรียกร้านน้ำผักแห่งนี้ที่หุ้นส่วนทั้งสามใส่ใจตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางเพื่อให้น้ำผักทุกขวดสะอาด ปลอดภัย และคงไว้ซึ่งคุณประโยชน์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย วัตถุดิบทั้งหมดจึงเป็นผลผลิตออร์แกนิก 100% จากเกษตรกรทั่วประเทศ สกัดด้วยเครื่อง Hydraulic Press Juicer เพื่อคงวิตามินและสารอาหารไว้อย่างครบถ้วน ส่วนน้ำที่ใช้ภายในร้านไม่ว่าจะกับเครื่องดื่มหรือการใช้งานอื่นๆ จะใช้น้ำ RO (Reverse Osmosis) จากเครื่องกรองน้ำที่สามารถดื่มได้ รวมถึงการสเตอริไลซ์อุปกรณ์ทุกชนิดภายในร้านด้วยรังสียูวีเพื่อให้ทุกอย่างถูกสุขอนามัยจริงๆ

“ถามว่าทำไมต้องทำขนาดนี้ เพราะลูกผม ภรรยาผม และตัวผมดื่มเอง เราอยากให้ประโยชน์และความปลอดภัยแบบเดียวกันนี้ไปสู่คนอื่นๆ ด้วย ผมเห็นมาเยอะมากกับร้านสุขภาพที่ไม่สุขภาพจริง ผักหมดก็เอาผักที่ไหนก็ได้มาใช้ สำหรับที่นี่ ถ้าผักหมด เราจะไม่ขาย จะปิดร้านเลย รวมถึงที่นี่จะมี free shelf ให้เกษตรกรสามารถนำผลผลิตมาวางจำหน่ายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย นี่พวกผมทำที่นี่มาปีหนึ่งไม่เคยได้กำไรเลยนะ (หัวเราะ) ผมว่าคำถามสำคัญคือเราทำอะไรอยู่ ถ้าสิ่งที่พยายามทำคือการมอบสุขภาพที่ดีให้กับคน กับสังคม เราก็เอาตรงนั้นเป็นสรณะ กำไรมีหลายรูปแบบมากไม่ใช่แค่พาณิชย์เพียงอย่างเดียว ผมมักใช้คำพูดติดตลกว่า “ผมจะอยู่อย่างนี้จนร้านเจ๊ง” เพราะไม่ช้าก็เร็วที่นี่คงเจ๊งแน่ แต่ระหว่างที่ร้านยังมีชีวิตอยู่ การได้ทำเรื่องที่ดี แค่นั้นก็น่าจะพอแล้ว”

‘เคารพกัน’ ประคองรักให้ยืนยง 

“สิ่งสำคัญของชีวิตคู่คือการเคารพซึ่งกันและกัน คนที่ไม่ซื่อสัตย์หรือทำไม่ดีกับคู่ตัวเองคือคนที่ลืมครั้งแรกที่เจอคนที่ตัวเองรัก วันที่เราไปจีบเขา เราไม่เห็นพูดอย่างนี้เลย สำหรับผม การทำไม่ดีกับแฟน สามี หรือภรรยา เพราะเราไม่มีความเคารพให้แก่กัน ไม่ว่าคนเราจะรักหรือเกลียดกัน สิ่งหนึ่งที่ต้องมีให้กันคือการเคารพกัน คนเกลียดกันก็เคารพกันได้ ถ้าคนเราไม่มีความเคารพกันแล้ว เราไม่ต่างอะไรจากเดรัจฉาน ในเมื่อเราไม่ใช่ เราจึงควรจะมีสิ่งนี้ โดยเฉพาะกับคนที่เราเลือกเป็นคู่ชีวิต 

ที่พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าผมไม่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับภรรยาเลยนะ มีทุกวัน เพียงแต่ผมจะเริ่มเปิดความขัดแย้งด้วยการคุยและคำถามที่ว่า ‘แล้วเธอคิดอย่างไรล่ะ?’ สิ่งที่ตามมาหลังจากคำถามนี้คือการรับฟัง ประเมินด้วยตรรกะและเหตุผลทั้งหลาย แล้วจึงตอบกลับไป เมื่อเหตุผลและตรรกะของผมดีและเขาเห็นด้วย ความขัดแย้งนั้นจะคลี่คลายเป็นความเข้าใจ ซึ่งนั่นก็มีพื้นฐานมาจากการเคารพกันนี่แหละ แต่ก่อนเรื่องเอาชนะกัน ไม่ใช่ผมไม่เคยทำ เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่ผมมาหยุดอยู่ตรงที่ว่าถ้าเราชนะแล้วเราได้อะไร เราเถียงชนะเขา เขาโกรธเรา แล้วภรรยา คนที่เรารักและรักเราโกรธ ไม่คุยด้วย เป็นสิ่งที่เราอยากได้เหรอ ผมว่าชัยชนะจริงๆ คือเราสองคนยิ้มให้กัน ชนะไปด้วยกัน ตอนแต่งงาน ผู้ใหญ่ในพิธีบอกผมสองคนว่า หลังจากสวมแหวนให้กัน จงจำไว้ว่าต่อจากนี้จะไม่มีคำว่า ‘ฉัน’ หรือ ‘เธอ’ แล้ว เพราะ ‘เรา’ รวมกันแล้ว”

ลูกไม่ใช่ตัวเรา

“สำหรับหอมจันทร์ (ลูกสาว) ผมไม่หวังและไม่อยากได้อะไรเลยนะ เพราะว่าลูกไม่ใช่ตัวผม ผมไม่สามารถอยากได้อะไรแทนเขา นี่เป็นชีวิตของเขา แต่ผมมีหน้าที่สองอย่าง อย่างแรกคือการจัดการสิ่งแวดล้อม ผมเล่นกีต้าร์ให้ลูกฟัง ผมอยากให้เขาแวดล้อมไปด้วยดนตรีและศิลปะ รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่จับต้องได้อย่างเช่นบ้านและโรงเรียน ผมพยายามจัดการสภาพแวดล้อมที่เราเห็นว่าจะช่วยส่งเสริมให้เขาได้เป็นตัวเองมากที่สุด และสองคือการสอนเขาให้รู้จักกาลเทศะ อะไรควรและไม่ควรในเวลาไหน ส่วนชีวิตของเขา ผมไม่เกี่ยว ผมไม่มีสิทธิ์ไปนั่งพูดว่าเขาต้องมีความคิด ต้องมีความสุข ต้องประสบความสำเร็จ แบบนั้นผมว่าจะเหนื่อยกันทั้งคู่ ผมคงเหนื่อยที่จะลากเขาไปทาง เขาเองก็จะเหนื่อยที่จะลากตัวเองออกมาจากตัวผม โดยที่เขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยากเป็นอะไร ผมจะปล่อยให้เขาเป็นตัวเอง รู้จักตัวเองอย่างเต็มที่ แล้วใช้เวลาทั้งชีวิตรับรู้ความเป็นไปของเขาเพื่อที่จะอยู่ในสังคมได้ด้วยตัวเอง”

ดนตรีคือยาและความรัก

“นอกจากอาหาร ก็คงเป็นดนตรีนี่แหละที่เป็นอีกสิ่งที่ผมรัก ดนตรีสำหรับผมเหมือนยาที่ช่วยทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น แต่จะให้ทานเป็นประจำเหมือนอาหารคงไม่ได้ เพราะฉะนั้น หากมีมากเกินไปก็ไม่สนุก แต่ไม่มีเลยก็เหงา เพราะฉะน้ัน ผมจึงทำความรู้จักกับดนตรีในแบบที่เขายังให้คุณกับเรา ให้ผมมีความสุขและสนุกในช่วงเวลาหนึ่งและในปริมาณหนึ่ง ผมเคยเรียนดนตรีที่ Berkley แต่ไม่เลือกเรียนต่อเพราะรู้สึกว่าไม่สนุกแล้วที่ต้องมาบังคับตัวเองให้เล่น 8 ชั่วโมงต่อวัน ผมถามตัวเองว่าดนตรีคือความสุขไม่ใช่เหรอ แต่นี่ไม่มีความสุขแล้ว ผมเลิกเลย ทุกวันนี้ ถามว่าผมสามารถเรียนดนตรีให้เก่งกว่านี้ได้ไหม ได้นะ แต่ผมรู้สึกว่าการมีดนตรีในชีวิตประมาณนี้คือความพอดีพอใจของผมแล้ว ผมว่าผมรักเขามากจนไม่อยากให้ดนตรีเป็นอย่างอื่น ไม่ได้อยากเล่นเก่งกว่าใคร ผมเล่นเวลาอยู่กับลูก หรือเวลาที่งานเข้ามาในหัวผมจนล้นไปแล้ว ผมจะให้เขามาช่วยให้ตัวเองผ่อนคลายจากเรื่องงานไปบ้างเท่านั้นเอง” 

ความสำเร็จแบบอนัตกาล  

“ผมคิดว่าความสำเร็จถูกขยายให้กว้างและลึกขึ้นตามอายุของผม ตอนเด็กๆ ที่ทำงาน ผมไล่ตามความสำเร็จแบบระยะสั้น ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพชัดขึ้นก็เหมือนกับการ accomplish mission หนึ่ง ซึ่งมิชชั่นนั้นสั้นเหลือเกิน เช่น ต้องทำสิ่งนี้ให้กรอบ ต้องทำสิ่งนี้ให้นุ่ม ต้องทำสิ่งนี้ให้ออกมาแล้วอร่อยนะ แต่เมื่อโตขึ้น ความคาดหวังในเรื่องความสำเร็จของผมยาวขึ้น เช่นว่า ณ เวลานี้ งานของผมไม่ใช่เรื่องของการทำอาหารที่ดีและอร่อยเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่คือการโฟกัสไปที่เรื่องของคนในสัดส่วนที่มากขึ้นด้วย ทุกวันนี้ผมออกไอเดียเรื่องอาหารและสอนน้องๆ ในร้านเรื่องหลักการและพื้นฐานของจริยธรรมที่ถูกต้องในสายอาชีพหรือจรรยาบรรณเบื้องต้น ซึ่งคำว่า ‘เบื้องต้น’ อาจจะฟังดูว่าเป็นเรื่องพื้นฐาน อย่างอาหารตกพื้นอย่าเสิร์ฟ อะไรทำนองนั้น แต่ในความเป็นจริง มันลึกกว่านั้นเยอะเลย เช่นว่า เราจะไม่เล่นทางลัด ไม่ข้ามขั้นตอน หรือรายละเอียดที่ยุ่งยากไม่ว่าเรื่องใดๆ ต่อให้ลูกค้าจะมองไม่เห็นก็ตาม เพราะนั่นคือข้อแตกต่างของคนที่ได้เรื่องกับคนไม่ได้เรื่อง และผมจะสอนน้องๆ จนกลายเป็นนิสัย เป็นกมลสันดาน ให้พวกเขารักในจริยธรรมและจรรยาบรรณ ผมพยายามสอนเรื่องนี้มากๆ ส่วนเขารับได้ขนาดไหน จะมีผลลัพธ์ในแบบลึกหรือตื้นแค่ไหน ก็อยู่ที่ตัวพวกเขาเองด้วยนะ เพราะว่าแต่ละคนล้วนแล้วแต่เป็นปัจเจกบุคคลที่มีความคิด ความเห็น ความชอบแตกต่างกัน ผมไม่สามารถสอนให้เขามาเป็นเหมือนผม 100% ซึ่งหากผมสามารถสอนหรือถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ผมมีให้ใครสักคน โดยพวกเขาสามารถนำไปดำรงชีวิต ประกอบวิชาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ สามารถส่งผ่านความรู้ต่อกันเป็นทอดๆ หรือสามารถใช้ชีวิตได้ดีกว่าผมเลยยิ่งดี นี่จะเป็นความสำเร็จแบบอนันตกาล และเป็นความสำเร็จที่ผมอยากจะเห็นครับ”



ภาพ: จารุเกียรติ หน่อสุวรรณ

บทความที่เกี่ยวข้อง