คุณรู้จักอาการ ‘ชา’ ดีพอหรือยัง?

Health / Others

หากคุณมีอาการปวดแสบปวดร้อน ชาตามปลายนิ้วมือนิ้วเท้า เหมือนคนเอาน้ำร้อนมาราด ชาและเจ็บแปร๊บๆ เหมือนเข็มทิ่ม รู้สึกเหมือนมีแมลงมาไต่ เป็นมานานแล้วก็ยังไม่หาย หากอาการเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคุณแต่ยังหาทางแก้ไขไม่ได้ พล.ต.นพ. สามารถ นิธินันทน์ อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา จะมาช่วยคลายความสงสัยเกี่ยวกับอาการต่างๆ เหล่านี้ให้ค่ะ

ทำความรู้จัก 3 สาเหตุหลักของอาการ ‘ชา’

โรคชาที่เกิดขึ้นจากปลายประสาทมีอาการได้หลายแบบ

  1. ชาปลายมือและปลายเท้าสองข้าง เหมือนสวมถุงมือถุงเท้า เช่น โรคเบาหวาน 
  2. ชาตามเส้นประสาทแขนและขา เช่น ชานิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางมือขวา มักเกิดจากผังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทมือ 
  3. ชาตามเส้นประสาทไขสันหลัง พบได้ในคนสูงอายุที่มีกระดูกคอหรือกระดูกหลังเสื่อม เกิดหินปูนแล้วไปกดเส้นประสาทไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการชาร้าวไปตามเส้นประสาทไขสันหลัง เช่น กระดูกหลังบริเวณเอวเสื่อมกดทับเส้นประสาทขา ทำให้เดินแล้วมีอาการปวดร้าวจากหลังไปถึงฝ่าเท้า เมื่อนั่งพักแล้วอาการดีขึ้น

สาเหตุที่เกิดอาการชาได้ง่ายแต่คนมักมองข้ามก็คือ ‘เบาหวาน’ นั่นเอง ซึ่งหากมีอาการชานานแล้ว ต้องทำการตรวจเลือดเพื่อหาระดับน้ำตาลและน้ำตาลสะสม

อาการ ‘ชา’ กับวิตามิน

ในกรณีที่มีอาการชามานานแล้ว ส่วนใหญ่มักจะเคยได้รับยาวิตามินบี 1-6-12 มาทานแล้ว แต่หากว่าทานมานานก็ยังไม่หาย แสดงว่าโรคที่เป็นไม่ได้เกิดจากการขาดวิตามินบี 1 และวิตามิน บี 6  ส่วนวิตามินบี 12 เองนั้นมักไม่ค่อยเสถียรเพราะย่อยสลายได้ง่าย แต่หากสงสัยว่าอาการชาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการขาดวิตามินบี 12 ก็สามารถทำการตรวจเลือดเพื่อดูว่าอาการชาที่เกิดขึ้น เกิดจากการขาดวิตามินบี 12 อย่างที่สงสัยหรือไม่

3 ข้อสงสัยของอาการ ‘ชา’

  1. ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่มีอาการชามานานมักจะกังวลว่ามีโอกาสเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือไม่ ที่จริงแล้วอาการชาดังกล่าวข้างต้นไม่ใช่อาการของอัมพฤกษ์ อัมพาตแต่ประการใด แต่หากมีอาการ ชาครึ่งซีก ตั้งแต่ หัว จรดเท้า ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ควรรีบไปพบแพทย์
  2. อาการชาที่เกิดขึ้น หากไม่รุนแรงคนส่วนใหญ่มักไม่ไปพบแพทย์ แต่จะหาซื้อยารับประทานเสียมากว่า แต่พอปล่อยให้เกิดอาการชาเป็นเวลานานๆ จะเริ่มมีคำถามว่าจะส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าการปล่อยให้เกิดอาการชาเป็นระยะเวลานานๆ นั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่มากก็น้อย ยกตัวอย่างเช่น การเดินเตะขาโต๊ะหรือขาเก้าอี้เกิดแผลโดยไม่รู้ตัว จนอาจทำให้เป็นแผลเรื้อรังได้
  3. อีกคำถามที่ผู้มีอาการชามักจะสงสัยคือ การฝังเข็มรักษาอาการชาได้หรือไม่ หมออธิบายแบบนี้ว่า อาการชาที่เกิดขึ้นควรหาสาเหตุให้พบและรักษาที่ต้นตอของสาเหตุนั้น แต่หากเป็นอาการชาในโรคปลายประสาทและมีอาการเจ็บแปร๊บๆ การฝังเข็มก็สามารถลดอาการดังกล่าวได้

อาการชาที่เกิดขึ้นอันดับแรกควรหาสาเหตุให้พบเสียก่อน เพื่อจะได้รับการรักษาที่ตรงกับสาเหตุนั้นๆ หรือรักษาตามอาการซึ่งก็มีได้หลายวิธี เช่น อาการเหน็บชาปลายมือและปลายเท้าจากโรคเบาหวาน ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวก แป้ง ขนมหวาน ผลไม้หวาน หากเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทแขน อาจต้องหลีกเลี่ยงการก้ม เงย หมุน บิด ดัด คอ แต่หากอาการชานั้นเป็นโรคชามือจากพังผืดข้อมือกดทับเส้นประสาทมือ ก็ควรหลีกเลี่ยงงานบ้าน ซักผ้า ทำกับข้าว เป็นต้น แต่หากมีอาการ ‘ชาครึ่งซีก ตั้งแต่หัวจรดเท้า ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง’ ควรรีบไปพบแพทย์ หากปล่อยไว้นานอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตได้

บทความที่เกี่ยวข้อง