‘โรคไต’ ภัยร้ายไม่หายขาด รู้จักโรคไตให้ดี เพราะเป็นแล้วทำใจลำบาก!

Health / Others

โรคไต (Kidney Disease) เป็นหนึ่งในปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทย จากรายงานของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า ปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) ประชากรชาวไทยป่วยเป็นโรคไตชนิดเรื้อรังมากถึง 8 พันล้านคน โดยคิดเป็น 17.6% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกถึงปีละ 7,800 ราย ในขณะที่การผ่าตัดเปลี่ยนไตสามารถทำสำเร็จได้เพียงปีละ 500 ราย เท่านั้น

ในเมื่อเราแต่ละคนล้วนมีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคไตสูงขนาดนี้ ถึงเวลาหรือยังที่เราต้องทำความรู้จักโรคภัยไข้เจ็บชนิดนี้ให้ดีขึ้น?

ชีวิตนี้ ขาดไตไม่ได้!

ตามปกติแล้ว เราเกิดมาพร้อมไต 2 ข้าง ที่อยู่บริเวณเอว และตั้งขนานกับกระดูกสันหลัง โดยไตมีหน้าที่สำคัญมากมาย คือ 

– ขับของเสียออกจากร่างกายด้วยการผลิตปัสสาวะให้มีส่วนประกอบและปริมาณที่เหมาะสม

– รักษาสมดุลระหว่างน้ำและแร่ธาตุต่างๆ ในกระแสเลือด

– กระตุ้นการทำงานของวิตามินดีที่มีหน้าที่ควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย

– สร้างฮอร์โมนอีริโทรพอยอิทิน (Erythropoietin) ที่กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง

– กระตุ้นการหลั่งสารเอนไซม์เรนิน (Renin) ที่ช่วยควบคุมความดันโลหิต

ไตเป็นอวัยวะที่เมื่อเสื่อมสภาพหรือถูกทำลายแล้ว จะไม่สามารถฟื้นฟูได้อีก และภาวะไตวายอาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติหรือเสียชีวิตได้

ต้นตอ ‘โรคไต’

หลายคนมักเข้าใจว่า ‘การกินเค็ม’ เป็นสาเหตุหลักของโรคไต แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เฉพาะอาหารที่มีรสเค็มจัดเท่านั้นที่ส่งผลเสียต่อไต แต่ยังมีอาหารหวานจัดและเผ็ดจัดอีกด้วย นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคไตด้วย คือ 

– พันธุกรรม

– การรับประทานเค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด

– ความดันโลหิตสูง: หากมีความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ไตเสื่อมได้

– เบาหวาน: หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะมีความเสี่ยงต่อภาวะไตวายเรื้อรัง

– การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายล้มเหลว เช่น หัวใจ ตับ จะส่งผลให้ไตได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ 

– อาการแพ้อย่างรุนแรง ส่งผลให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายล้มเหลวและส่งผลต่อการทำงานของไต

– การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด

– การได้รับสารพิษ

– การใช้ยาบางชนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพร็อกเซน (Naproxen)

– โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ลิ่มเลือดอุดตันในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต นิ่วในไต หรือโรคมะเร็งที่มีก้อนเนื้อขวางทางเดินปัสสาวะ ทำให้ไตไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้

พบแพทย์เพื่อวินิจฉัย ‘โรคไตวาย’

ข่าวร้ายก็คือ ผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายในระยะเริ่มแรก มักไม่มีอาการผิดปกติอะไรเลย แต่อาการต่างๆ จะแสดงออกมาเมื่อไตได้รับความเสียหายมากแล้ว เช่น อาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ปัสสาวะลดลง ปัสสาวะมีกลิ่นหรือสีผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ตัวบวม ปวดหลัง ปวดบั้นเอว หายใจติดขัด ฯลฯ

หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวที่บ่งชี้ถึงภาวะไตวาย แพทย์อาจสั่งการให้มีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีดังต่อไปนี้ เพื่อระบุให้แน่ใจว่าผู้ป่วยเป็นโรคไตวายหรือไม่ และหากมีภาวะไตวาย ผู้ป่วยมีอาการอยู่ในระยะไหน

– ตรวจปัสสาวะ: เพื่อหาปริมาณโปรตีนหรือเม็ดเลือดขาว/เม็ดเลือดแดง ที่ออกมากับปัสสาวะ

– ตรวจเลือด: เพื่อดูปริมาณของเสียที่ตกค้างในเลือด

– เอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรืออัลตราซาวนด์: เพื่อให้แพทย์ได้ใช้ภาพในการตรวจสอบความผิดปกติของไตและระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะให้ผลการวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้น

– การตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อไต (Biopsy): เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและระยะของโรค 

การรักษา

โรคไตบางชนิดสามารถรักษาได้ แต่จะเป็นการรักษาเพื่อหยุดอาการไม่พึงประสงค์ หรือช่วยให้อาการดังกล่าวไม่รุนแรงขึ้น ส่วนโรคไตวายเรื้อรังนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

การเลือกรักษาโรคไตด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับต้นเหตุที่ก่อให้เกิดโรคไต หากไตของผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถกำจัดของเสียออกได้แล้ว แพทย์จะใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้

(1) การฟอกไต (Dialysis)

– การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis): เป็นการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าไตเทียมนำเลือดออกมาฟอกให้สะอาดก่อนหมุนเวียนกลับเข้าไปในร่างกาย ผู้ป่วยจะต้องฟอกไตประมาณสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 3-4 ชั่วโมง เป็นการรักษาที่ต้องทำขึ้นในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีบริการดังกล่าวเท่านั้น

– การฟอกไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis): เป็นการฟอกไตโดยใช้เนื้อเยื่อบริเวณช่องท้องมากรองของเสียออกจากเลือดแทนไตร่วมกับน้ำยาฟอกไต โดยแพทย์จะต้องผ่าตัดเพื่อใส่ท่อเข้าไปในบริเวณช่องท้องก่อน ผู้ป่วยสามารถใช้วิธีนี้ฟอกไตได้ด้วยตนเองที่บ้าน แต่อาจต้องทำวันละ 3-4 ครั้ง และเมื่อครบกำหนดเวลาจะต้องระบายของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากช่องท้อง

*อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะสามารถใช้การฟอกไตวิธีไหนได้นั้น ต้องให้แพทย์เป็นผู้ร่วมวินิจฉัยและตัดสิน เนื่องจากวิธีการฟอกไตบางอย่างอาจไม่เหมาะกับสภาพร่างกายของผู้ป่วย และการฟอกไตยังมีผลข้างเคียงหลายอย่าง

เมื่อรับการฟอกไต ผู้ป่วยควรควบคุมพฤติกรรมการบริโภค ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารที่มีสารฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม และควรดื่มน้ำให้พอดีต่อความต้องการของร่างกาย

 (2) การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant)

เป็นวิธีเดียวที่สามารถรักษาโรคไตให้หายได้ โดยสามารถนำไตมาปลูกถ่ายได้ทั้งจากผู้ที่เสียชีวิตหรือยังมีชีวิตอยู่ แต่ไตที่ได้รับบริจาคจะต้องเข้ากันกับร่างกายของผู้ป่วย และหลังจากการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนไตอยู่ในระดับที่สูงมาก แต่ปัญหาคือปริมาณไตที่ได้รับบริจาคมีน้อยกว่าผู้รอรับบริจาคมาก 

เมื่อโรคไตส่วนมากไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซ้ำวิธีการประคับประคองอาการยังยุ่งยาก ใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก จึงอาจเป็นเรื่องดีกว่าที่เราควรเริ่มดูแลไตของเราตั้งแต่วันนี้ 

ที่มา:
www.webmd.com
www.pobpad.com
www.pharmacy.mahidol.ac.th
www.thaihealth.or.th

บทความที่เกี่ยวข้อง