8 วิธีพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ตามหลักปรัชญา Kaizen

Care / Self Care

ถ้าไปถามบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการงานหรือองค์กรที่ยืนหยัดผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานได้อย่างสมศักดิ์ศรี เราน่าจะพบว่า หนึ่งในหลักการที่พวกเขายึดถือ คือ การพัฒนาตนเองอยู่เสมอ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ปรัชญาไคเซ็น (Kaizen) 

หัวใจหลักของไคเซ็นคือ ความคิดที่ว่าเราสามารถปรับปรุงพัฒนาให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้นได้เสมอ แม้บางสิ่งที่ว่านั้นจะดีอยู่แล้วก็ตาม เพราะถ้าเราไม่หยุดพัฒนา สิ่งต่างๆ ก็จะดีขึ้นได้มากกว่าที่เคยเป็น ปรัชญาไคเซ็นสามารถจำแนกแจกแจงออกมาได้หลายข้อ โดยวันนี้ hhc Thailand อาสาทำหน้าที่สรุปแบบเน้นๆ ให้คุณนำเอาปรัชญาไคเซ็นไปปรับใช้กับชีวิตและการงานด้วยกันทั้งหมด 8 ข้อ ดังต่อไปนี้ 

1. อย่ายึดติดกับสูตรสำเร็จ

แม้ว่าคุณจะเคยประสบความสำเร็จในการทำงานด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงลิ่ว แต่… คุณก็ไม่ควรยึดติดอยู่กับวิธีเดิมๆ นั้นตลอดไป เพราะหากลองหาวิธีใหม่ๆ สิ่งที่เคยประสบความสำเร็จอย่างสวยงามก็อาจสวยงามมากยิ่งขึ้นอีก เช่นเดียวกับวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ควรสนับสนุนให้พนักงานทำในแบบที่ทำๆ กันมา แต่ควรให้อิสระพนักงานพัฒนาวิธีทำงานใหม่ๆ อยู่เสมอ และไม่ควรยึดติดกับความคิดที่ว่า “ทำตามที่หัวหน้าบอกนั่นแหละ ปลอดภัยที่สุด!” 

2. มองปัญหาให้เป็นโอกาส

โอกาสที่ว่าคือ โอกาสในการลับสมองฝึกความคิดเพื่อแก้ปัญหา โอกาสในการพัฒนาสมรรถภาพการทำงาน โอกาสในการเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง (หลังจากคุณได้ผ่านปัญหาเหล่านั้นมาแล้ว)​ และโอกาสในการแสดงความสามารถของคุณให้องค์กรได้เห็นว่าแม้จะเป็นปัญหาที่ยากเย็นเพียงใด คุณก็สามารถเอาชนะมันได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเติบโตทางตำแหน่งหน้าที่ในที่สุด

3. เผชิญหน้าความยากลำบากเพื่อเสริมสร้างปัญญา

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า คุณควรจะมีทั้ง “ความรู้” (ความรู้ในงานที่ทำและความรู้รอบตัว) และ “ปัญญา” โดยปัญญานั้นหมายถึง ความสามารถในการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ และนำเอาประสบการณ์ความรู้ที่มีไปปรับใช้เพื่อแก้ไขสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ได้อย่างยอดเยี่ยม ปัญญาไม่ใช่ความรู้และไม่สามารถเรียนรู้ได้เหมือนกับที่เราอ่านจากหนังสือหรือบทเรียนในห้องเรียน แต่หนึ่งวิธีที่จะพัฒนาปัญญาให้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ คือ การเผชิญหน้ากับปัญหาและความยากลำบากอย่างไม่ท้อถอย… เพราะฉะนั้น คราวหน้าหากคุณเจอเรื่องยากๆ ในชีวิต ให้คิดเสียว่านี่คือโอกาสในการลับปัญญาของตัวคุณเอง

4. หยุดคิดหาข้อแก้ตัว แต่คิดหาทางทำให้ ‘เป็นไปได้’

หลายคนเมื่อเจอกับโจทย์ยากๆ ก็มักจะถอดใจบอกว่า “ฉันทำไม่ได้หรอก” แล้วก็พยายามหาเหตุผลร้อยแปดมาสนับสนุนว่าทำไมตัวเองถึงทำไม่ได้ แต่สำหรับคนที่ยึดถือปรัชญาไคเซ็น เขาจะไม่หาข้อแก้ตัว แต่จะพยายามคิดหาทางทำให้สิ่งที่ดูไม่น่าเป็นไปได้ ‘เป็นไปได้’ ขึ้นมา 

5. อย่าใช้เงินแก้ปัญหา / อย่าหลงทางกับเทคโนโลยี

องค์กรบางแห่งนิยมทุ่มทุนจ้างพนักงานในระดับหัวหน้าที่มีชื่อเสียงหรือไม่ก็นามสกุลดัง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว มีอีกหลายคนที่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดังอะไร แต่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเป็นเท่าตัว แถม… ค่าตัวก็สมเหตุสมผลอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นการเสียเงินซื้อตัวพนักงานที่เงินเดือนสูงลิ่วมาไว้ในองค์กร ก็ไม่ได้หมายความว่าจะคุ้มค่าเสมอไป นอกจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรหรือรายบุคคล ไคเซ็นแนะนำให้เราลงทุนกับการหาความรู้และฝึกความคิดลับสมองอยู่เสมอ มากกว่าจะไปลงเงินกับเทคโนโลยี เพราะถึงแม้เครื่องไม้เครื่องมือจะครบครันแค่ไหน แต่ถ้าสมองคุณไม่แล่น ก็จบกัน

6. ลงมือทำ ลงมือทำ และ…ลงมือทำ

เมื่อคุณมีไอเดียสำหรับการแก้ปัญหาหรือว่าวิธีการทำงานใหม่ๆ ไคเซ็นแนะนำให้คุณลงมือทำทันที เพราะเมื่อลงมือทำ คุณจะได้เรียนรู้ ทดลอง และสังเกตเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น จากนั้น คุณก็จะได้นำเอาฟีดแบ็กที่ได้รับมาปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดียิ่งขึ้นไปอีก อย่ามัวเสียเวลากับการนั่งวางแผนนานเกินไป ลงมือทำแล้วค่อยปรับเปลี่ยนยุทธวิธีไปตามการเรียนรู้จะได้ผลดีกว่า

7. ทำผิด ต้องรีบแก้ไข

เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะต้องเคยทำอะไรผิดพลาดหรือพบเจอกับความล้มเหลว โดยเฉพาะหากคุณกำลังริเริ่มอะไรใหม่ๆ การเผชิญหน้ากับความผิดพลาดถือเป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญคือ เมื่อพบเจอความผิดพลาดหรือล้มเหลว อย่าเสียเวลาโอดครวญ สิ้นหวัง ท้อแท้ หรือแม้แต่โพสต์เฟซบุ๊กขอความเห็นใจ แต่คุณควรรีบแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นทันที และนำบทเรียนจากข้อผิดพลาดมาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น… จำเอาไว้ว่า ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสู่ความสำเร็จ แต่การที่คุณจะเดินไปถึงเส้นชัยแห่งความสำเร็จได้ คุณก็ต้องรู้จักล้มแล้วลุกขึ้นเสียก่อน

8. ‘สนุก’ กับการพัฒนาตัวเอง

ในวิธีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอตามหลักปรัชญาไคเซ็นทั้งหมดที่ว่ามา ข้อที่สำคัญที่สุดอาจเป็นข้อนี้ นั่นคือ คุณต้องมองการพัฒนาตนเองให้เป็นเรื่องสนุก ท้าทาย และเป็นเป้าหมายที่คุณกระตือรือร้นที่จะทำ ไม่ใช่ภาระหน้าที่ที่จำเป็นต้องทำ เพราะเมื่อไรก็ตามที่คุณหมดสนุกกับการพัฒนาตนเอง เมื่อนั้นทุกอย่างก็จะยากเย็นและกลายเป็นเรื่องทุกข์ทรมานทันที

ทั้งหมดคือวิธีพัฒนาตนเองอยู่เสมอตามหลักปรัชญาไคเซ็นที่เราสรุปมาให้คุณในครั้งนี้ แต่ไม่ต้องแปลกใจหากคุณจะค้นพบว่าวิธีการดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอยู่เรื่อยๆ เพราะอย่าลืมว่าหัวใจของไคเซ็นคือการไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนา ไม่เว้นแม้แต่วิธีการพัฒนาของไคเซ็นเอง

แปลและเรียบเรียงจาก: spica.com

บทความที่เกี่ยวข้อง