ปัญหานอนไม่หลับส่งผลต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด

Health

ปัญหานอนไม่หลับเป็นปัญหาการนอนหลับที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่รู้ตัว ซึ่งปัญหาการนอนไม่หลับนี้ก็มักเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด อาหารที่รับประทาน ความเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รวมไปถึงปัญหาสภาพจิตใจที่ไม่ปกติจากความเครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรืออาจเกิดจากความตื่นเต้นก็ได้เช่นเดียวกัน 

โดยปัญหานอนไม่หลับนี้จะส่งเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้มากกว่าที่คิด แต่เมื่อเราประสบกับปัญหาการนอนหลับไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม ขอแนะนำให้พบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างตรงจุด รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้ปัญหานอนไม่หลับสามารถคลี่คลายได้เป็นอย่างดีและทำให้สุขภาพร่างกายและจิตใจของเรากลับมาสดใส แข็งแรง และห่างไกลจากปัญหาการนอนไม่หลับนี้ได้ในที่สุด

สาเหตุสำคัญของปัญหานอนไม่หลับ

ปัญหาการนอนหลับสามารถแบ่งย่อยออกมาได้หลากหลายประเภท แต่จากผลสำรวจด้านสุขภาพได้เปิดเผยว่าประชากรโลกกว่า 10-30% มักมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยที่สาเหตุของการนอนไม่หลับ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบได้แก่การหลับยาก (Initial Insomnia) การหลับแล้วตื่นแต่ไม่สามารถหลับตามที่ร่างกายต้องการได้อีก (Maintenance Insomnia) การตื่นเร็วและหลับต่อไม่ได้ (Terminal Insomnia) และหลากหลายแบบรวมกัน โดยปัญหานอนไม่หลับนี้มีสาเหตุสำคัญที่เกิดขึ้นจากสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น

ด้านร่างกาย

  • มีความเจ็บปวดทางกายจากโรคร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคกรดไหลย้อน โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคขากระตุกขณะหลับ โรคขาอยู่ไม่สุข และต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  • มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว 
  • การเข้าสู่วัยทองของผู้หญิง
  • การเข้าสู่วัยชราในกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น

ด้านจิตใจ

  • มีภาวะเครียด กดดัน วิตกกังวลที่ไม่สามารถจัดการได้
  • มีภาวะซึมเศร้า
  • มีอาการตื่นเต้นที่มากจนเกินไป เป็นต้น

ด้านปัจจัยอื่น ๆ 

  • มีการรับประทานคาเฟอีนที่มากจนเกินไป และไม่สามารถขจัดออกจากร่างกายได้หมด
  • มีพฤติกรรมการใช้งานที่ผิดปกติ อย่างเช่น มีการทำงานล่วงเวลาเป็นประจำ หรือมักมีการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่อาจกระตุ้นการทำงานของสมอง จนเกิดปัญหานอนไม่หลับ
  • มีการรับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการนอนหลับ เช่น ยากระตุ้น ยาแก้ซึมเศร้า คอร์ติโคสเตียรอยด์ และยาลดความดันโลหิตบางชนิด
  • สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการนอนหลับ เป็นต้น

ปัญหานอนไม่หลับส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง?

ปัญหานอนไม่หลับอาจดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่แท้จริงแล้วปัญหาการนอนไม่หลับส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของตัวเราเองแล้ว อาการนอนไม่หลับของเราอาจส่งผลต่อปัญหาการนอนหลับของผู้อื่นได้อีกด้วย ซึ่งปัญหานอนไม่หลับนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หลากหลายประการดังต่อไปนี้

ความสามารถในการทำกิจกรรมลดลง

ปัญหานอนไม่หลับส่งผลให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า อิดโรย ไม่มีแรงในการทำกิจกรรมที่เข้ามาในแต่ละวัน เนื่องจากในขณะนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะรับการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้อย่างเต็มที่ แต่หากเกิดปัญหาการนอนไม่หลับหรือในช่วงเวลาที่พักผ่อนไม่เพียงพอแบบนี้ อาจส่งผลให้เราไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป

เมื่อปัญหานอนไม่หลับเข้าจู่โจมร่างกายจะส่งผลเสียให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า อิดโรย และไม่มีแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันแล้ว ยังส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เคยปกติสุขกลับเปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นคนสดใสร่าเริงก็อาจกลายเป็นคนเซื่องซึม ทำอะไรได้ช้าลงอย่างเห็นได้ชัด หรือในเวลากลางวันที่เราควรจะสดใสและใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ก็กลับเซื่องซึม แต่ในเวลากลางคืนกลับสดใส ตื่นตัว อย่างผิดปกติ ซึ่งปัญหานอนไม่หลับจนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปนี้อาจส่งผลต่อหน้าที่การงานที่เรารับผิดชอบอยู่อีกด้วย

การทำงานของระบบภายในผิดปกติ

เมื่อร่างกายเผชิญกับปัญหาการนอนไม่หลับเป็นระยะเวลาหนึ่งและไม่สามารถแก้ไขให้กลับไปเป็นปกติได้ จะส่งผลให้การทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานอย่างผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เนื่องจากกระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานผิดปกติ และยังส่งผลให้ร่างกายของเราไม่สามารถขับถ่ายได้เป็นเวลา เนื่องจากปัญหานอนไม่หลับที่เกิดขึ้นนั่นเอง

ร่างกายเสื่อมสภาพลง เสี่ยงต่อโรคร้ายอื่น ๆ ได้

หากร่างกายต้องพบกับปัญหานอนไม่หลับเป็นระยะเวลานาน นอกจากร่างกายจะอ่อนเพลียมากกว่าปกติแล้ว ยังส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของเราต่ำลงจนนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ โรคภูมิแพ้เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ตกลง มีอาการติดเชื้อโรคได้ง่าย โรคอ้วน โรคความดันโลหิต ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะไขมัน LDL-C สูง ซึ่งโรคร้ายต่าง ๆ เหล่านี้อาจทำไปสู่การทำงานที่ผิดปกติของระบบหลอดเลือดหัวใจและสมอง จนในบางครั้งที่ไม่ได้รับการรักษาปัญหาการนอนหลับ ผู้ป่วยบางรายอาจถึงแก่ชีวิตได้อีกด้วย

ไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่สุขภาพจิตใจก็แย่ลง

นอกจากปัญหานอนไม่หลับจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจของเราได้อย่างไม่คาดคิด หากร่างกายของเราได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลให้อารมณ์แปรปรวนง่ายกว่าปกติ มีความเครียด วิตกกังวล เกิดความกดดันขึ้นในจิตใจ จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพทางใจอย่างโรคเครียดและโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย 

นอกจากปัญหานอนไม่หลับจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของเราแล้ว ยังส่งผลถึงปัญหาการนอนหลับของผู้ที่นอนหลับข้าง ๆ เรา เนื่องจากถูกรบกวนในช่วงเวลาพักผ่อน จากที่ในช่วงแรกอาจจะมีแค่เราที่พบกับปัญหาการนอนไม่หลับเพียงคนเดียว กลายเป็นผู้อื่นก็อาจจะเข้าสู่ปัญหานอนไม่หลับในเวลาต่อมาได้อีกเช่นกัน ซึ่งปัญหานอนไม่หลับสามารถพบได้บ่อยในกลุ่มของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากสมองของผู้หญิงจะมีระบบความคิดที่ซับซ้อนมากกว่า บวกกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ นอกจากนี้ปัญหาการนอนหลับยังสามารถพบได้ในกลุ่มของวัยหมดประจำเดือน และกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่จำกัดว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงอีกด้วย

ปัญหานอนไม่หลับแบบไหนถึงควรไปพบแพทย์

เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาการนอนหลับเป็นระยะเวลานานมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ หรือกินเวลายาวนานกว่า 3 เดือนขึ้นไปแบบนี้ เราขอแนะนำให้ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแก้ไขปัญหาโรคนอนไม่หลับที่อาจเรื้อรังจนกระทบกับกิจวัตรประจำวันรวมไปถึงการทำงานและการใช้ชีวิตในทันที ก่อนที่ปัญหานอนไม่หลับจะลุกลามและส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ จนนำไปสู่โรคร้ายต่าง ๆ ที่เราอาจไม่คาดคิดได้อีกด้วย

บอกลาปัญหานอนไม่หลับด้วยเคล็ดลับดี ๆ

สำหรับผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับและต้องการจัดการปัญหาการนอนหลับในขั้นพื้นฐานนี้ บอกเลยว่าไม่ยากอย่างที่คิด หากรู้จักกับสาเหตุของปัญหาการนอนไม่หลับที่แท้จริงของเรา รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการจะช่วยให้เราสามารถบอกลาปัญหานอนไม่หลับได้อย่างดี ซึ่งเรามีวิธีแก้นอนไม่หลับดี ๆ มาฝากเพื่อแก้ปัญหาการนอนดังต่อไปนี้

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

เคล็ดลับดี ๆ ข้อแรกที่เราอยากแนะนำนั่นก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากที่เคยรับชมซีรีส์หรือใช้งานโทรศัพท์ หรือแล็ปท็อปก่อนนอนเป็นเวลานาน ๆ สู่การจำกัดการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ในช่วงเวลาก่อนเข้านอน เพื่อให้สมองของเราพักจากการพบเจอแสงสีฟ้าที่กระตุ้นให้สมองตื่นตัวได้ผ่อนคลายลง และค่อย ๆ หลับไปในที่สุด ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจไม่เห็นผลในเวลาสั้น ๆ แต่หากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นประจำอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เราห่างไกลจากปัญหานอนไม่หลับได้อย่างแน่นอน

หลีกเลี่ยงการรับประทานคาเฟอีน

คาเฟอีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่จะต้องทำงานหนักในช่วงเวลาที่ยาวนานมากยิ่งขึ้น หลาย ๆ คนจึงเลือกดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน ซึ่งช่วยให้สมองตื่นตัวได้ดี และมีแรงทำงานได้ แต่หากเรารับประทานคาเฟอีนที่มากจนเกินไป และร่างกายไม่สามารถจัดการกับคาเฟอีนได้หมดสิ้น จะส่งผลให้เกิดอาการ ‘คาเฟอีนเกินขนาด (Caffeine Overdose)’ ส่งผลให้ใจสั่น ตื่นเต้น สมองมีการทำงานอยู่ตลอดเวลา และก่อให้เกิดปัญหานอนไม่หลับได้ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการรับประทานคาเฟอีน หรือเลือกรับประทานให้น้อยที่สุด เพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคตนั่นเอง

รับประทานอาหารให้อยู่ท้องเพื่อให้หลับสบาย

ในบางครั้งที่ปัญหานอนไม่หลับมักพ่วงมาด้วยความหิวที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การรับประทานอาหารในช่วงเวลาก่อนเข้านอนจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่ช่วยให้ร่างกายของเราได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และช่วยให้สมองหยุดสั่งการ การทำงานของน้ำย่อยในกระเพาะได้ แต่เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างแท้จริงเราควรรับประทานมื้อใหญ่ก่อนเข้านอนในระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ระบบย่อยอาหารสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่หากเกิดหิวขึ้นมาจริง ๆ ก่อนช่วงเวลาเข้านอน ควรเลือกรับประทานเป็นนมอุ่น ๆ สักแก้ว หรือน้ำเต้าหู้แทนอาหารมื้อหนัก เพื่อให้ร่างกายเกิดความอุ่นสบายและสามารถย่อยอาหารได้อย่างปกติอีกด้วย

ทำสมาธิให้ตั้งมั่น จัดการความเครียดให้อยู่หมัด

ช่วงเวลาก่อนนอนเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้อยู่กับตัวเองมากที่สุด จึงทำให้บางครั้งเราอาจจะคิดหรือจินตนาการถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ส่งผลให้สมองยังคงทำงานหนัก และร่างกายยังเกิดความเครียดอันนำไปสู่ปัญหาการนอนหลับได้ ทางที่ดีเพื่อหลีกหนีจากปัญหานอนไม่หลับนี้เราควรตั้งสมาธิให้มั่งคง ทำจิตใจให้สงบ หรือทำสมาธิฝึกลมหายใจเพื่อผ่อนคลายความเครียด รวมไปถึงกล้ามเนื้อต่าง ๆ ให้เบาลง เพื่อเข้าสู่การนอนหลับได้อย่างสบายและรวดเร็ว แต่หากไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาสุขภาพจิตใจในเวลาต่อไปนั่นเอง

จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการนอน

การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการนอนจะช่วยให้เราห่างไกลจากปัญหานอนไม่หลับได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยเราสามารถเริ่มจากการจัดที่นอนให้มีความนุ่มพอดี ไม่แข็งจนเกินไป หมอนที่ใช้มีการรองรับสรีระร่างกายได้อย่างดี บรรยากาศภายในห้องมีความเหมาะสม ไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป แต่ก็ไม่หนาวเย็นจนเกินจะช่วยให้เราสามารถเข้าสู่การนอนได้อย่างง่าย นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงแสงไฟต่าง ๆ ภายในห้องที่หากมีความสว่างที่มากเกินไป อาจส่งผลให้สมองตื่นตัวจนนอนไม่หลับได้ ซึ่งปัญหาการนอนหลับนี้สามารถแก้ไขด้วยเลือกใช้ผ้าปิดตา หรือที่อุดหูเพื่อป้องกันเสียงรบกวนได้อีกด้วย

เข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

หากเราได้ลองแก้ปัญหาการนอนไม่หลับด้วยตนเองแล้วแต่ยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินสาเหตุของปัญหานอนไม่หลับที่เกิดขึ้นกับเราและทำการแก้ไขโดยเร็วที่สุดนั่นเอง
เพราะการนอนไม่ใช่เพียงแค่ความสบายในแต่ละวัน แต่ปัญหาการนอนหลับยังส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของเรามากกว่าที่คิด หากเรารู้ถึงสาเหตุของปัญหาการนอนไม่หลับได้อย่างรวดเร็ว และจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เพียงเท่านี้ก็สามารถบอกลาปัญหานอนไม่หลับที่กวนใจ และเข้าสู่วันใหม่ได้อย่างสดใส สดชื่น และจิตใจเบิกบานได้นั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง