4 เทคโนโลยีที่ใช้รักษาออฟฟิศซินโดรม…ต่างกันอย่างไร

Bone & Muscle / Health

หลายคนทำงานที่มีลักษณะของงานที่ต้องอยู่ในอากัปกริยาเดิมเป็นเวลานาน มักจะมีอาการปวดเมื่อยในบริเวณต่างๆ เช่น บริเวณคอ บ่า ไหล่ หรือหลังที่เรื้อรังมาเป็นเวลานาน โดยส่วนมากมักจะทานยาหรือนวดเฉพาะจุด เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่าในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการปวดเรื้อรังจากออฟฟิศซินโดรมอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละเทคโนโลยีนั้นมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นหลักในการทำงาน ประสิทธิภาพ หรือข้อควรระวังในการใช้ที่ควรรู้ก่อนเลือกใช้แนวทางเหล่านี้ในการรักษา

ทำความรู้จัก ‘ออฟฟิศซินโดรม’

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ที่เราเรียกกันคือ กลุ่มอาการปวดร่างกาย (myofascial pain syndrome) รวมถึงอาการชาที่มักเกิดกับคนในวัยทำงาน ที่มีการใช้งานกล้ามเนื้อหรืออวัยวะส่วนนั้นๆ ซ้ำเดิมและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน สามารถเกิดขึ้นได้หลายบริเวณในร่างกาย เช่น บ่า คอ ศีรษะ สะบัก แขน ข้อมือ หลัง หรือสะโพก โดยอาการที่เกิดขึ้นมักมีความหลากหลายตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงเรื้อรัง จนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันรวมถึงมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้ ในปัจจุบันออฟฟิศซินโดรมถือเป็นกลุ่มอาการที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ และพบมากขึ้นในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่าเดิม อีกทั้งยังมีแนวโน้มของความรุนแรงและเรื้อรังที่มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งอาการออฟฟิศซินโดรมนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ 2 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมโดยทั่วไปนั้น คือ

  • ความไม่เหมาะสมของ ‘ท่าทาง’ ในการทำงาน จนก่อให้เกิดการใช้งานกล้ามเนื้อที่ผิดวิธี ซึ่งเป็นสาเหตุต่อมาของความปวดเรื้อรัง เช่น การนั่งทำงานใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รวมถึงแท็บเล็ต ในท่าทางห่อไหล่ ยื่นคาง โน้มคอไปด้านหน้า หลังโก่งงอ ไม่พิงพนักพิง นั่งเอียงตัว ทำให้เกิดการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณบ่า คอ สะบัก หน้าอก หรือกล้ามเนื้อหลังบางมัดโดยไม่จำเป็น
  • ความไม่เหมาะสมของ ‘ระยะเวลา’ ในการใช้งาน การใช้งานกล้ามเนื้อนานๆ โดยไม่มีการพักหรือปรับเปลี่ยนท่าทาง จะทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ เกิดความเมื่อยล้าและตึงสะสมจนกลายเป็นความปวดเรื้อรังได้ รวมถึงลักษณะท่าทางในบางท่าอาจส่งผลทำให้เส้นประสาทบางเส้นถูกเบียดหรือถูกกดทับจนเกิดการขาดเลือดและอักเสบได้หากมีการใช้งานเป็นระยะเวลานานมากเกินไป เช่น เส้นประสาทบริเวณ ข้อมือ ข้อศอก เป็นต้น

ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ โภชนาการที่ไม่ดี ขาดการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ขาดการออกไปสัมผัสสิ่งแวดล้อมภายนอกอื่นๆ นอกเหนือจากที่ทำงานเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อความยืดหยุ่น ความแข็งแรง และความคงทนต่อกล้ามเนื้อด้วยเช่นกัน

4 เทคโนโลยีในการรักษาออฟฟิศซินโดรม

การรักษาออฟฟิศซินโดรมนั้นทำได้มากมายหลายวิธี ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้งานกล้ามเนื้อหรืออวัยวะนั้นๆ ให้ถูกวิธี เช่น การจัดท่าทางการทำงานให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ (ergonomics) การยืดกล้ามเนื้อระหว่างการทำงานบ่อยๆ การใช้ยาเพื่อลดอาการปวดหรืออาการอักเสบ ยาฉีดเฉพาะจุด การปักเข็มเพื่อคลายกล้ามเนื้อ (dry needling) หรือการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ แต่หากเลือกใช้วิธีการต่างๆ ข้างต้นมาแล้วยังไม่ดีขึ้น การเลือกใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดหรือเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการรักษาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาออฟฟิศซินโดรมอยู่ 4 แบบด้วยกันดังนี้

Ultrasound Diathermy 

เป็นการรักษาด้วยการให้ความร้อนลึกโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งใช้หลักของการเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานความร้อนจนเกิดการสั่นสะเทือนผ่านผลึกควอตซ์หรือเซรามิก (reverse piezoelectric effect) ทำให้เกิดความร้อนที่บริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไปจากผิวหนัง เช่น กล้ามเนื้อหรือเอ็น โดยความร้อนที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เนื้อเยื่อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพิ่มการไหลเวียนเลือด ลดอาการปวด ลดการอักเสบ เพิ่มความเร็วของการนำกระแสประสาท นอกจากนี้ยังผลจากคุณสมบัติอื่นๆ นอกเหนือจากความร้อน เช่น เพิ่มการกระตุ้นการสร้างพลังงาน ช่วยลดบวม เพิ่มการซึมผ่านของผนังเซลล์และหลอดเลือด และกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ

ข้อห้ามใช้: 

  • บริเวณการอักเสบหรือบาดเจ็บแบบฉับพลัน
  • ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกง่าย
  • บริเวณที่มีการไหลเวียนบกพร่อง เช่น เส้นเลือดอุดตัน
  • บริเวณที่มีก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง
  • ผู้ป่วยที่สื่อสารบกพร่อง หรือการรับความรู้สึกผิดปกติ
  • บริเวณสมอง ลูกตา อวัยวะสืบพันธุ์ 
  • บริเวณมดลูกเวลามีประจำเดือน
  • ในเด็กที่กระดูกบริเวณแผ่นปิดกระดูกส่วนปลายยังไม่เชื่อมกัน

Shock Wave Therapy

เป็นการรักษาโดยใช้คลื่นกระแทกพลังงานสูง ซึ่งคลื่นกระแทกจะไปช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด กระตุ้นการสร้างพลังงานในระดับเซลล์ กระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ สลายแคลเซียมที่ผิดปกติในเนื้อเยื่อ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและช่วยลดอาการปวด 

Shock Wave แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะของการปล่อยคลื่นกระแทก คือ 

  1. Radial Shock Wave (คลื่นกระแทกจะแผ่กระจายออก ทำให้ลงลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อได้น้อยกว่า) 
  2. Focused Shock Wave (คลื่นกระแทกจะไม่แผ่กระจาย ทำให้สามารถลงไปในเนื้อเยื่อได้ลึกกว่า)

โดยส่วนใหญ่มักเลือกใช้ Shock Wave Therapy ในการรักษากลุ่มที่มีปัญหากล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบเรื้อรัง เช่น กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม เอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบเรื้อรัง ข้อไหล่ติดแข็ง จุดเกาะเอ็นบริเวณข้อศอกอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นการซ่อมแซมของกระดูกที่หักได้ด้วย

ข้อห้ามใช้:

  • บริเวณการอักเสบหรือบาดเจ็บแบบฉับพลัน
  • บริเวณที่เป็นแผลเปิด
  • บริเวณท้องหรือหลังในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกง่าย
  • บริเวณที่มีการไหลเวียนบกพร่อง เช่น เส้นเลือดอุดตัน
  • บริเวณที่มีก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง
  • ผู้ป่วยที่สื่อสารบกพร่อง หรือการรับความรู้สึกผิดปกติ
  • ในเด็กที่กระดูกบริเวณแผ่นปิดกระดูกส่วนปลายยังไม่เชื่อมกัน

High Intensity LASER Therapy 

เป็นการรักษาโดยการใช้ LASER (Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation) พลังงานสูงที่มีความยาวคลื่นจำเพาะต่อการรักษา โดยมีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างพลังงานในระดับเซลล์ ซึ่งมีผลให้การซ่อมแซมทำได้รวดเร็วขึ้น เพิ่มการขยายตัวของเลือด เพิ่มการไหลเวียนของเลือดและน้ำเหลือง ทำให้การอักเสบหายเร็วขึ้น ช่วยคลายกล้ามเนื้อ นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติช่วยลดปวดด้วย สามารถเลือกใช้ high intensity LASER ในการรักษาหลากหลายอย่าง เช่น myofascial pain syndrome, การบาดเจ็บและการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่างๆ และกลุ่มโรคหรืออาการปวดจากหมอนรองกระดูกอักเสบหรือเคลื่อน

ข้อห้ามใช้: 

  • บริเวณดวงตา
  • บริเวณต่อมไร้ท่อต่างๆ เช่น ต่อมไทรอยด์
  • บริเวณที่มีก้อนเนื้องอกหรือมะเร็ง
  • บริเวณท้องหรือหลังในหญิงตั้งครรภ์
  • บริเวณที่มีการติดเชื้อ
  • ผู้ป่วยที่สื่อสารบกพร่อง หรือการรับความรู้สึกผิดปกติ
  • ในเด็กที่กระดูกบริเวณแผ่นปิดกระดูกส่วนปลายยังไม่เชื่อมกัน

Peripheral Magnetic Stimulation

เป็นวิธีการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูง เพื่อรักษาอาการปวดได้ทั้งปวดฉับพลันและปวดเรื้อรัง โดยใช้หลักการของการกระตุ้นโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ตัวเส้นประสาท รากประสาท และไขสันหลังได้โดยตรง จึงสามารถลดอาการปวดและชาได้ ช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมของระบบประสาท นอกจากนั้นยังกระตุ้นการหดตัวคลายตัวของกล้ามเนื้อ เพิ่มการไหลเวียนเลือดมาเลี้ยงอวัยวะนั้นๆ ลดอาการบวมอักเสบของเนื้อเยื่อ และช่วยการซ่อมแซมเนื้อเยื่อให้รวดเร็วขึ้น การรักษาด้วยวิธีนี้ถือว่าค่อนข้างใหม่ ข้อดีคือลดปวดได้เร็ว ใช้เวลาในการรักษาต่อจุดไม่นานและไม่บ่อย

ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้:

  • การกระตุ้นในผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์ที่มีแบตเตอรี่ในร่างกาย เช่น pacemaker อาจส่งผลให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วขึ้น
  • ไม่กระตุ้นบริเวณหน้าท้องและบั้นเอวในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์
  • ไม่กระตุ้นบริเวณศีรษะ
  • ไม่กระตุ้นในบริเวณร่างกายที่มีโลหะ เช่น เหล็กดามกระดูก เนื่องจากจะทำให้เกิดความร้อนสูง
  • ผู้ป่วยที่มีคลิปหนีบเส้นเลือดโป่งพองในสมอง
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติลมชัก 

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ออฟฟิศซินโดรม ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมความไม่เหมาะสมของท่าทางและระยะเวลาในการใช้งานของกล้ามเนื้อที่ต่อเนื่องยาวนาน อันทำให้เกิดความเมื่อยล้า ตึงสะสม จนเกิดเป็นความปวดเรื้อรัง ดังนั้นการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งสำคัญ การวางลักษณะท่าทางในการทำงานให้เหมาะสม รวมถึงมีการพักหรือยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสเกิดอาการปวดเรื้อรังจนกลายเป็นออฟฟิศซินโดรมได้ แต่หากต้องมีการรักษาด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ จะเห็นว่าทุกเทคโนโลยีมีทั้งข้อดี ข้อควรระวัง และข้อห้ามใช้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรศึกษาข้อมูลให้ดี รวมถึงเลือกทำการรักษาโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีนั้นๆ เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษาที่ดี  

บทความที่เกี่ยวข้อง