ปวดท้องเป็นๆ หายๆ อาจเป็นเพราะแบคทีเรียร้ายในกระเพาะอาหาร

Digestive / Health

เชื่อว่าในที่นี้ แทบทุกคนน่าจะเคยผ่านการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหารกันมาบ้างแล้ว คงจะพอนึกภาพออกว่า เวลามีอาการนั้นก่อให้เกิดความรำคาญและทุกข์ทรมานเพียงใด โรคกระเพาะอาหารถึงแม้จะฟังดูไม่น่ากลัว แต่ก็อาจมีอันตรายจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่นการตกเลือดในกระเพาะอาหารหรือกระเพาะทะลุ อีกทั้งยังอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารอีกด้วย โดยบริเวณที่พบนั้นอาจเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric Ulcer) หรือแผลบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal Ulcer) และด้วยสาเหตุของการเกิดโรคที่คล้ายกันนี้ จึงมักจะเรียกรวมๆ กันว่า “โรคแผลในกระเพาะอาหาร” (Peptic Ulcer) 

ปวดแบบไหนถึงเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า แผลในกระเพาะอาหารเกิดจากการที่กรดในกระเพาะอาหารหลั่งมากเกินไป หรือการเกิดผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาแก้ปวดกระดูก หรือแม้กระทั่งการดื่มสุราเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่า 60% ของสาเหตุในการเกิดแผลในกระเพาะอาหารเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (H. Pylori) ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

การเกิดแผลในกระเพาะอาหารมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องบริเวณยอดอกหรือลิ้นปี่ รวมถึงมีอาการจุก เสียด แน่น เจ็บแสบหรือร้อน และอาการที่เกิดมักจะสัมพันธ์กับการกินหรือชนิดของอาหาร ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดท้องตอนกลางคืน หรืออาจจะมีอาการโรคแทรกซ้อน เช่น อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น

ทำความรู้จัก “เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (H. Pylori)” แบคทีเรียร้ายในกระเพาะอาหาร

เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (H. Pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทนต่อความเป็นกรดสูง จึงสามารถอาศัยอยู่ในชั้นเคลือบภายในกระเพาะอาหารได้ และยังสามารถสร้างสารพิษไปทำลายเซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาวิจัยจากสมาคมแพทย์และองค์การอนามัยโลกพบว่า เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen Group1) ทำให้ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งของกระเพาะอาหารมากกว่าคนปกติ 3-6 เท่า หากผู้ป่วยมีอาการของโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัดอาจต้องทำกาตรวจว่ามีการติดเชื้อ H. Pylori หรือไม่ 

หากผู้ป่วยมีความจำเป็นที่ต้องทำการส่องกล้องในการรักษาแล้วนั้น แพทย์มักนิยมใช้ Rapid Urease Test ในการตรวจเชื้อ H. Pylori ซึ่งเป็นการตรวจหาเอนไซม์ urease ที่ถูกผลิตโดยเชื้อ H. Pylori โดยใช้ท่อที่ต่อกล้องสอดลงไปในทางเดินอาหารและตัดชิ้นเนื้อจากกระเพาะอาหารขึ้นมาทดสอบเพื่อตรวจหาเชื้อ การเปลี่ยนสีของกระดาษกรองจากสีเหลืองเป็นสีแดงของแผ่นทดสอบ แสดงให้เห็นว่าชิ้นเนื้อนั้นมีเชื้อ H. Pylori ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ทำให้การวิเคราะห์ผลนั้นง่าย สะดวก และรวดเร็ว เพียง 1 ชั่วโมงก็ทราบผล ทั้งยังเป็นการตรวจที่จำเพาะเจาะจงต่อเชื้อ H. Pylori อีกด้วย แต่หากผู้ป่วยไม่มีความจำเป็นต้องทำการตรวจรักษาด้วยการส่องกล้อง แพทย์อาจเลือกใช้วิธีการอื่น เช่น การตรวจสอบจากลมหายใจ หรือการตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ ได้เช่นกัน

ทำอย่างไรหากติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (H. Pylori)

หากพบว่าโรคแผลในกระเพาะอาหารเกิดจากการติดเชื้อ H. Pylori แล้วนั้น ผู้ป่วยต้องรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ นาน 1-2 สัปดาห์ร่วมกับยายับยั้งการหลั่งกรดนาน 6-8 สัปดาห์ เพื่อช่วยกำจัดเชื้อ H. Pylori รวมถึงรักษาแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดขึ้นอีกด้วย หลังจากผู้ป่วยหยุดยาแล้ว 4 สัปดาห์ แพทย์จะนัดให้ผู้ป่วยกลับมาตรวจหาเชื้อ H. Pylori อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรรับประทานยาให้ครบตามจำนวนวันที่แพทย์สั่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการดื้อยาปฏิชีวนะซึ่งอาจทำให้มีผลต่อการรักษาได้ 

บทความที่เกี่ยวข้อง