อาหารไม่ย่อย…อย่าปล่อยให้เรื้อรัง สุขภาพอาจพังได้

Digestive / Health

หลายคนคงเคยมีอาการท้องอืดหลังกินอาหาร หรือรู้สึกอิ่มเร็วกว่าปกติทั้งๆ ที่มีอาหารจานโปรดแสนอร่อยอยู่ตรงหน้า นี่อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าร่างกายกำลังมีภาวะ “อาหารไม่ย่อย” 

อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) เกิดจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะทางเดินอาหารส่วนบน ซึ่งทำให้หลังจากกินอาหารแล้วมักจะมีอาการจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอไม่ออก ปวดท้อง หรือรู้สึกอึดอัดไม่สบายช่วงท้องส่วนบน รู้สึกเหมือนยังมีอาหารค้างอยู่ในท้องตลอดเวลาแม้จะกินอาหารมาหลายชั่วโมงแล้ว ในบางคนอาจมีอาการแสบร้อนกลางอกร่วมด้วย (แต่ไม่ได้เป็นอาการเด่น) 

อาหารไม่ย่อยเป็นเพียงกลุ่มอาการ แต่ไม่ใช่โรค

เมื่อมีอาการอาหารไม่ย่อย เราต้องหาสาเหตุให้เจอว่ามาจากอะไร และมีความสัมพันธ์กับโรคใดๆ หรือไม่ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาหารไม่ย่อยมักสัมพันธ์กับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยสาเหตุที่พบบ่อยมาจาก

  • อาหารที่กินเข้าไป โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอด ของผัด หรือแกงกะทิ อาหารมันๆ เหล่านี้ทำให้กระเพาะมีการบีบตัวช้า ย่อยอาหารได้ช้า นอกจากนี้อาหารที่มีรสเผ็ดจัดและมีความเป็นกรดสูงก็ทำให้กระเพาะย่อยอาหารช้าลง รวมทั้งอาหารที่มีแก๊สเยอะอย่างพืชตระกูลถั่ว
     
  • พฤติกรรมการกิน การกินอาหารไม่ตรงเวลา กินดึก รีบกิน เคี้ยวไม่ละเอียด กินแล้วนั่งๆ นอนๆ ไม่ลุกเดิน ล้วนเป็นพฤติกรรมที่มีผลเสียต่อการย่อยอาหาร ทำให้อาหารหมักค้างอยู่ในกระเพาะนานจนเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารและทำให้เรามีอาการแน่นท้อง แก๊สในกระเพาะอาหารนี้เป็นตัวการที่ทำให้หูรูดหลอดอาหารขยายออก จนทำให้อาหารหรือของเหลวในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหารด้านบน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาเรามีอาการอาหารไม่ย่อยแล้วจึงรู้สึกอึดอัดแน่นท้องไปหมด และอาจเกิดโรคกรดไหลย้อนตามมา
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต การสูบบุหรี่จัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ผลข้างเคียงจากการกินยาบางชนิด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้งความเครียดวิตกกังวล ล้วนมีผลเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร ทำให้การหลั่งกรดที่จำเป็นต่อการย่อยน้อยลง 

Work from Home ต้องระวังอาหารไม่ย่อย

เพราะการอยู่บ้านเป็นเวลานานๆ นั่งทำงานหน้าจอนานๆ อาจทำให้เราไม่ระวังตัว ลืมดูแลสุขภาพ เช่น กินอาหารแล้วนอนเลย หรือนั่งอยู่ในท่าเดิมนานเกินไป ไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ออกกำลังกาย ประกอบกับความเครียดวิตกกังวลทั้งเรื่องงานและสถานการณ์รอบตัว ทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อยขึ้นมาหากปล่อยไว้นานโรคอื่นๆ อาจจะตามมาเยือนโดยไม่รู้ตัว 

ภาวะอาหารไม่ย่อยอาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว 

นานๆ เป็นที เมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วก็หายได้ แต่หากมีอาการเรื้อรังหรือมีอาการต่อเนื่องเป็นเวลานานก็ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต (กินไม่ได้นอนไม่หลับ สุขภาพย่ำแย่ กระทบการเรียนและการงาน) นี่อาจเป็นร่องรอยของโรคในระบบทางเดินอาหารที่ต้องการการรักษาที่เฉพาะเจาะจงอย่างจริงจังก่อนจะสายเกินไป เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร นิ่วในถุงน้ำดี ตับอ่อนอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร การอุดตันของลำไส้ ลำไส้ขาดเลือด การติดเชื้อในลำไส้ โรคเซลิแอคหรือโรคแพ้กลูเตน (Celiac disease) หรือภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้า เป็นต้น

วิธีการตรวจรักษาโดยทั่วไป

แพทย์จะทำการซักประวัติเพื่อสอบถามอาการ พฤติกรรมการใช้ชีวิต อายุ-น้ำหนัก-ส่วนสูง ประวัติความเจ็บป่วยและการรักษา ประวัติของคนในครอบครัวที่เคยเป็นมะเร็ง ร่วมกับการใช้เครื่องมือฟังเสียงในช่องท้อง การตรวจเลือด หรือตรวจอุจจาระ เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดของอาการอาหารไม่ย่อยให้เจอ

สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้น หลังจากผ่านการตรวจรักษาและให้ยาที่เหมาะสมแล้วแพทย์อาจตรวจด้วย วิธีส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน รวมทั้งผู้ที่มีสัญญาณเตือนของมะเร็งกระเพาะอาหาร และผู้ที่เริ่มมีอาการอาหารไม่ย่อยครั้งแรกเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป 

อาหารไม่ย่อยเป็นอาการที่ระบุโรคได้ยาก อาจหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ยากและเป็นอาการที่ปรากฏร่วมในหลายโรค เช่น โรคกรดไหลย้อนและลำไส้แปรปรวน ซึ่งทั้งสองโรคนี้มีวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงแตกต่างกันไปในรายละเอียด การตรวจวินิจฉัยสาเหตุให้แน่ชัดมากที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อการรักษาที่แม่นยำถูกทาง

อาหารไม่ย่อยแบบธรรมดารักษาเองได้ 

เริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน

  • กินอาหารให้ตรงเวลา เคี้ยวอาหารให้ละเอียด กินอาหารให้พอดีในแต่ละมื้อ เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ครบ 5 หมู่ ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง 
  • หลังกินอาหารควรเดินออกกำลัง (แบบช้าๆ) จะช่วยให้กระเพาะอาหารและลำไส้มีการเคลื่อนไหว ส่งผลดีต่อการย่อย แต่ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมหลังกินอาหารทันที 
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเครียด หากิจกรรมมาช่วยผ่อนคลายจิตใจ
  • หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ ส่งผลดีต่อร่างกายทุกส่วนไม่ใช่แค่การย่อยอาหารเท่านั้น
  • ไม่เข้านอนทันทีหลังกินอาหาร ควรรอให้ร่างกายย่อยอาหารประมาณ 2-3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย 

อายุมากก็ยิ่งย่อยยาก เพราะร่างกายมีความเสื่อมลงไปตามวัย รวมทั้งการทำงานของระบบย่อยอาหารด้วย ผู้สูงอายุจึงควรปรับอาหารให้เหมาะสมตามวัย คือลดปริมาณอาหารต่อมื้อให้น้อยลง แต่อาจเพิ่มมื้อให้บ่อยขึ้นเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ

การซื้อยามากินเองจากเภสัชกรที่มีคุณภาพ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยในเบื้องต้น เช่น ยาลดกรดต่างๆ หรือยาช่วยย่อยอาหาร แต่หากทำทั้งหมดที่ว่ามาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ทันที

แหล่งข้อมูล: 
med.mahidol.ac.th
familydoctor.org/
www.niddk.nih.gov
www.healthline.comwww.bumrungrad.com

บทความที่เกี่ยวข้อง