‘ฉี่ไม่ออก ฉี่ไม่พุ่ง ฉี่บ่อย’ เรื่องของฉี่…ที่ผู้ชายต้องรู้ 

Health / Urinary

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการเหมือนฉี่ไม่ออกแต่รู้สึกปวดฉี่บ่อย ต้องรอนานกว่าจะฉี่ออก พอฉี่ออกก็เหมือนฉี่ไม่พุ่ง ตอนกลางคืนต้องตื่นมาฉี่หลายครั้งต่อคืน ส่งผลให้มีปัญหาในการนอนจนพักผ่อนไม่พอ และเป็นสาเหตุให้คนข้างกายนอนไม่หลับไปด้วย คุณเริ่มรู้สึกว่าคุณภาพชีวิตช่วงนี้ไม่ค่อยดีเลยใช่หรือไม่ หากคุณตอบว่าใช่ ต้องไม่พลาดบทความนี้ที่ ร.อ. เดชาพล บูรณพิทักษ์สันติ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ มาช่วยไขข้อข้องใจ เพื่อไขปัญหาเรื่องราวเหล่านี้ให้กับคุณ

‘ฉี่ไม่ออก ฉี่ไม่พุ่ง ฉี่บ่อย’ เป็นอะไรกันแน่?!

อาการปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง บ่อยขึ้น แสบขัด ส่วนมากมักเป็นอาการของคนที่มีภาวะต่อมลูกหมากโต แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น การติดเชื้อหรือมีนิ่ว ก็มักมีการปัสสาวะเป็นเลือดร่วมด้วย ซึ่งกลุ่มอาการดังกล่าวพบได้ในภาวะอื่นๆ ด้วย เช่น นิ่วในท่อไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือมะเร็งในระบบปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งแยกจากกันได้ยากกับภาวะต่อมลูกหมากโต บางครั้งต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจอัลตราซาวด์ร่วมด้วย ภาวะต่อมลูกหมากโตนั้นเกิดขึ้นได้ในผู้ชายสูงอายุ โดยสถิติเมื่อผู้ชายอายุ 80 ปี จะพบภาวะต่อมลูกหมากโตได้ 80 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่บางคนอาจมีภาวะต่อมลูกหมากโตตั้งแต่อายุ 50 ปีได้เช่นกัน และเนื่องจากภาวะต่อมลูกหมากโตไม่มีสาเหตุการเกิดที่ชัดเจนจึงทำให้ไม่สามารถป้องกันได้

ทำอย่างไรหากเป็น ‘ต่อมลูกหมากโต’

หากภาวะต่อมลูกหมากโตที่เกิดขึ้นนั้นมีอาการไม่มาก การปรับพฤติกรรม เช่น ลดการดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้ร่างกายสร้างปัสสาวะมาก อย่างน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือแอลกอฮอล์ ก็ช่วยบรรเทาอาการได้ แต่หากอาการเริ่มมีมากขึ้น อาจต้องได้รับการรักษาด้วยยาซึ่งมีอยู่หลายชนิดตามอาการของผู้ป่วย แต่หากการใช้ยาไม่ได้ผลและมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด อันได้แก่ ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีการติดเชื้อ เป็นๆ หายๆ เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือภาวะไตเสื่อมจากการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะอย่างเรื้อรัง แพทย์ก็จะแนะนำการผ่าตัดให้กับผู้ป่วย 

เรื่องควรรู้…กับการผ่าตัด ‘ต่อมลูกหมากโต’

การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยวิธีการส่องกล้องนั้นเป็นการรักษาแบบมาตรฐานซึ่งมีในทุกโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถรับบริการได้ในทุกสิทธิ์การรักษา ไม่ว่าจะเป็นบัตรจ่ายตรงกรมบัญชีกลาง ผู้ประกันตน และสิทธิ์บัตรทอง (สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ UC) ปัจจุบันนี้เรานิยมทำการรักษาด้วยวิธีส่องกล้องเป็นหลัก เพราะทำให้คนไข้ฟื้นตัวเร็วกว่า โดยใช้เวลานอนโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วันเท่านั้น และสามารถมีกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ 1 เดือนหลังผ่าตัด ควรงดการออกกำลังกายและการมีเพศสัมพันธ์ แต่อย่างไรก็ดีแม้จะผ่านการผ่าตัดไปแล้วต่อมลูกหมากก็ยังอาจกลับมาโตได้อีกในระยะเวลา 3-5 ปี 

‘ต่อมลูกหมากโต’ ต้องใส่สายสวนปัสสาวะหรือไม่

สำหรับการใส่สายสวนปัสสาวะนั้น แพทย์จะทำการใส่สายสวนก็ต่อเมื่อการโตของต่อมลูกหมากนั้นมีขนาดโตมากจนกระทั่งอุดกั้นการไหลของน้ำปัสสาวะ ซึ่งเป็นเหตุให้คนไข้มีความทุกข์ทรมานเนื่องจากปัสสาวะไม่ออก กรณีนี้จึงจำเป็นต้องมีการใส่สายสวนปัสสาวะ ซึ่งการใส่สายสวนปัสสาวะนั้นจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นการประกอบกิจวัตรประจำวัน การทำงาน หรือการเดินทาง และในบางครั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใส่สาย เช่น สายหลุดหรือเกิดการติดเชื้อได้ เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

การที่ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติในร่างกายไม่ใช่เรื่องน่าอาย และการหาข้อมูลด้วยการพูดคุยกับคนใกล้ตัวหรือจากสื่อต่างๆ นั้นเป็นเรื่องปกติที่พบได้ แต่ในท้ายสุดหากอาการไม่ดีขึ้นจริงๆ แนะนำให้มาพบแพทย์จะดีกว่า เพราะโรคบางอย่างการตรวจพบได้เร็วจะให้ผลการรักษาได้ดีกว่ารอให้มีอาการมากขึ้นหรือเกิดอาการเรื้อรัง ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง