‘ไมเกรน’ จ๋า…ขอลาก่อน

เคยมีอาการแบบนี้กันบ้างไหม? ปวดหัวตุบๆ ตรงขมับ แล้วเคยสงสัยกันไหมว่าอาการปวดหัวแบบนี้เป็นไมเกรนหรือไม่ โดยปกติแล้วการปวดหัวแบบไมเกรนจะมีเกณฑ์หรือมาตรฐานการวินิจฉัยจากสมาพันธ์โรคปวดศีรษะโลกอยู่แล้ว ดังนั้นหากเช็คอาการของตนเองแล้วตรงตามเกณฑ์เหล่านี้ก็มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะเป็นไมเกรนอย่างแน่นอน เช่น มีอาการปวดหัวในลักษณะแบบตุบๆ ปวดหัวแบบข้างเดียวหรือย้ายข้างได้ เวลาที่เคลื่อนไหวหรือกระเทือนจะทำให้มีอาการปวดหัวมากขึ้นได้ แล้วบางทีอาจจะมีอาการร่วม เช่น คลื่นไส้อาเจียน ตาสู้แสงไม่ได้ ก็มักจะเข้ากับเกณฑ์ของการเป็นไมเกรนเช่นกัน หากอาการปวดหัวที่เป็นนั้นมีอาการเหมือนหรือคล้ายกับอาการดังกล่าวข้างต้นแล้วละก็ไปติดตามเรื่องราวของไมเกรนกันเลยดีกว่า

รู้ได้อย่างไร…สิ่งไหนกระตุ้นไมเกรน

โดยปกติแล้วไมเกรนมักจะมีปัจจัยในการกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ความร้อน ความหิว ความอ้วน การนอนหลับไม่เพียงพอ ความเครียด หรือแม้กระทั่งการที่อากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจัยในการกระตุ้นเหล่านี้ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันเลย ดังนั้นหากใครที่เป็นไมเกรนก็ควรจะมีการจดบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนของตนเองไว้ เพื่อที่จะสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดไมเกรนจากสิ่งเร้าเหล่านี้ได้ในอนาคต

ทำอย่างไรดี? มีรอบเดือนทีไรเป็นไมเกรนทุกที

‘ไมเกรน’ นั้นชอบความคงที่ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ในช่วงที่ผู้หญิงมีรอบเดือนนั้นจะเกิดการแกว่งของฮอร์โมนซึ่งทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทําให้สมองไวต่อการกระตุ้นมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงนี้ก็อาจจะทำให้เกิดไมเกรนขึ้นในช่วงนี้ได้ การที่จะรู้ว่าอาการของไมเกรนที่เป็นนั้นสัมพันธ์กับการมีประจำเดือนหรือไม่ ก็ต้องทำการบันทึกว่ามันสัมพันธ์กันจริงๆ อย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป เพื่อให้แน่ใจว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ส่วนการรักษาไมเกรนที่เกิดในช่วงรอบเดือนนั้นรักษาไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก ง่ายในบางคนที่รอบเดือนมาสม่ำเสมอ หากรู้ว่าจะมีรอบเดือน ไมเกรนจะมาก็ให้ทานยาแก้ปวดดักเอาไว้ก่อน ถ้าเป็นกลุ่มยาแก้ปวดทั่วไปก็กินก่อนสัก 3-5 วัน (บางคนแนะนำ 7 วัน) ต่อเนื่องจนหมดระยะปวดหัวหรือหมดระยะมีประจำเดือน แต่หากใครเป็นไมเกรนมากๆ เป็นบ่อยๆ เป็นนอกช่วงรอบเดือนด้วย ก็ต้องทานยาป้องกันกันทั้งเดือน เพราะได้ป้องกันนอกรอบเดือนด้วย สำหรับยาป้องกันไมเกรนนั้น ในปัจจุบันก็มีอยู่หลายตัว เราสามารถทานยาป้องกันไมเกรนได้ ซึ่งปกติควรจะทานอยู่ประมาณ 3-6 เดือน เพื่อลดอาการไมเกรนให้ดีขึ้น แม้ว่าอาจจะไม่ได้หายขาด แต่ถ้ามีอาการต่ำกว่า 4 วันต่อเดือน ก็ถือว่าใช้ได้

แพทย์ทางเลือกในการรักษาไมเกรน

หากมีอาการไมเกรนแล้วเลือกที่จะซื้อยาจากร้านขายยาก็ควรเลือกปรึกษากับร้านที่มีเภสัชกรอยู่ประจำร้านยา เนื่องจากเภสัชกรมีองค์ความรู้อยู่แล้วในระดับหนึ่งก็จะสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องได้ ยกเว้นในกรณีที่มีอาการปวดหัวหนักมากควรไปพบแพทย์เฉพาะทางจะดีกว่า ส่วนการเลือกรักษาโดยใช้แพทย์ทางเลือก อย่างเช่น การฝังเข็มหรือการนวดแผนโบราณนั้นก็มีข้อมูลในไมเกรนเช่นกัน เพียงแต่การตอบสนองในการรักษาไมเกรนของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะการรักษาไมเกรนแบบใช้ยานั้จะมีการตอบสนองประมาณ 50-60% เท่านั้น ดังนั้นหากจะเลือกรักษาโดยใช้แพทย์ทางเลือกก็ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาของแต่ละบุคคล เช่น คนที่เป็นไมเกรนแล้วมีออฟฟิศซินโดรมร่วมด้วย การเลือกใช้วิธีการนวดแผนโบราณร่วมด้วยก็เป็นทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากอาการปวดกล้ามเนื้อของออฟฟิศซินโดรมก็กระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ ดังนั้นการลดอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดอาการของออฟฟิศซินโดรมได้ ก็จะช่วยให้ไมเกรนทุเลาลงได้ด้วยเช่นกัน

’ไมเกรน’ ทำอย่างไรให้หายขาด

จริงๆแล้วไมเกรนก็คล้ายกับโรคภูมิแพ้ จะเห็นได้ว่าผู้ที่เป็นภูมิแพ้นั้นบางคนอาจจะแทบไม่มีอาการอะไรเลย ถ้าไม่โดนปัจจัยใดๆ มากระตุ้น ในขณะที่บางคนจะมีอาการของภูมิแพ้ตลอดเวลา หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มากระตุ้นอาการ ไมเกรนเองก็เช่น การจะรักษาให้หายขาดแบบไม่เกิดขึ้นอีกเลยนั้น แม้จะไม่สามารถทำได้ 100% แต่ก็สามารถบรรเทาและลดอาการลงได้มากเลยทีเดียว หากผู้ที่เป็นไมเกรนนั้นได้รับการดูแลรักษาที่ดี หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าหรือปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ได้ดี โอกาสในการเกิดของไมเกรนก็จะลดน้อยลงมากเลยทีเดียว 

สัญญาณอันตรายจากอาการปวดหัว

อาการปวดหัวในความคิดของใครหลายคนเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้และมักไม่มีอันตราย เพียงทานยาและพักผ่อนก็หายได้ แต่อาการปวดหัวบางกรณีก็เป็นสัญญาณเตือนอันตราย (Alarming Sign) ของโรคร้ายแรงต่างๆ อย่างที่คาดไม่ถึงได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ทุกคนควรจำให้ขึ้นใจ เพราะหากเกิดอาการดังกล่าวควรพบแพทย์จะดีที่สุด

สุดท้ายแล้วการทานยาอาจจะไม่ใช่ทางออกทั้งหมดของการรักษาไมเกรน หากอยากป้องกันไมเกรนโดยไม่อยากพึ่งยาก็ต้องพึ่งการปรับพฤติกรรมของตัวเอง เช่น ควรออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละประมาณ 30 นาที พบว่าหลังจากออกกําลังกาย 2 เดือนจะสามารถช่วยป้องกันไมเกรนได้ การลดความอ้วนสำหรับคนที่ BMI เกิน การลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการปรับพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยลดอาการเกิดไมเกรนได้ และควรระมัดระวังปริมาณการได้รับคาเฟอีน เช่น การทานกาแฟ ไม่ควรเกิน 2 แก้ว (ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมขึ้นอยู่กับชนิดกาแฟ) ต่อวัน และไม่ควรเกิน 3 วันต่อสัปดาห์ เพราะนอกจากจะทำให้ติดกาแฟแล้วก็ยังทำให้เป็นไมเกรนเรื้อรังได้อีกด้วย นอกจากนี้การนอนต้องนอนให้ดีมีคุณภาพ ไม่กรน รวมถึงการ keep daily schedule คือทำทุกสิ่งให้เป็นกิจวัตรและตรงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการกินข้าวตรงเวลา ออกกําลังกายตรงเวลา นอนตรงเวลา ขับถ่ายตรงเวลาก็จะช่วยได้ เนื่องจากไมเกรนเป็นโรคที่ไม่ชอบอะไรที่แปรผันหรือเปลี่ยนไปมา ที่สำคัญควรจะต้องอารมณ์ดีด้วย ลดความเครียดลง หากปรับพฤติกรรมเหล่านี้ได้โอกาสที่จะเป็นไมเกรนก็จะลดลงด้วยเช่นกัน

Share :
go to top