ใครที่เกาะติดทุกเทรนด์แฟชั่นแบบไม่ยอมให้ตัวเอง ‘เอาท์’ ต้องฟังทางนี้แล้วค่ะ เพราะวันนี้ เรามีเทรนด์ใหม่ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงมาฝาก แต่เทรนด์นี้จะแปลกนิดนึงตรงที่ว่า การจะทำตัวให้ ‘อิน’ คุณต้องทำให้ตรงกันข้ามกับเทรนด์ที่เราจะเล่ากันต่อไปนี้นะคะ เพราะถ้าคุณไหลไปตามเทรนด์แฟชั่นที่ว่านี้เมื่อไร คุณจะถูกมองว่าไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแบบที่ ‘ไม่คูล’ ทันที!
เทรนด์แฟชั่นที่ว่านี้ก็คือ Fast Fashion หรือ แฟชั่นสายด่วน
ทำความรู้จัก Fast Fashion เทรนด์ที่เราไม่ควรตาม
ฟาสต์แฟชั่นไม่ใช่สไตล์การแต่งตัวแบบใดแบบหนึ่ง แต่หมายถึงกระแสแฟชั่นแบบมาไวไปไว คือฮิตระเบิดระเบ้ออยู่แป๊บนึงเหมือนไฟไหม้ฟาง จากนั้นก็แผ่วความนิยม ก่อนจะมีฟาสต์แฟชั่นอันใหม่เข้ามาแทนที่
ในอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น บรรดาแบรนด์ต่างๆ จะออกแบบ ผลิต และวางจำหน่ายสินค้ากันอย่างรวดเร็ว โดยคุณภาพสินค้าก็อยู่ในระดับที่ไม่ดีนักไปจนถึงระดับที่เรียกว่าแย่ เพราะฟาสต์แฟชั่นเน้นการผลิตที่ใช้ต้นทุนต่ำ เพื่อให้ได้สินค้าออกมามากๆ จะได้นำไปวางจำหน่ายในราคาที่ชนชั้นกลางเอื้อมถึง และเน้นรายได้จากปริมาณการขายจำนวนมาก
จากลักษณะเหล่านี้ของฟาสต์แฟชั่น แน่นอนว่าแบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ย่อมได้เงินกลับไปเป็นกอบเป็นกำ และได้บ่อยๆ ด้วย เพราะเดี๋ยวๆ ก็เปลี่ยนคอลเล็กชันอีกแล้ว ส่วนผู้บริโภคที่อยากจะวิ่งตามทุกเทรนด์แฟชั่นให้ทันก็จะซื้อๆๆ จนสุดท้ายไม่เพียงกระเป๋าฉีกเท่านั้น แต่ยังมีเสื้อผ้าเต็มตู้ที่พอมาเปิดดูก็เกาหัวแกรกๆ ว่าจะใส่ไปไหนได้หมด โดยเฉพาะเสื้อผ้าตามแฟชั่นจัดๆ ที่ส่วนมากมักใส่ได้แค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น (เพราะตกเทรนด์แล้ว) ที่สำคัญ สิ่งแวดล้อมบนโลกนี้ก็ต้องมารับกรรมไปเต็มๆ จากกระบวนการผลิตของฟาสต์แฟชั่น
บอกเล่าความหมายของ Fast Fashion มาเท่านี้ หลายคนคงพอรู้แล้วว่า แบรนด์เครื่องแต่งกายไหนบ้างที่จัดว่าเป็น Fast Fashion … คำว่า Fast Fashion เป็นคำที่ The New York Times บัญญัติขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990s เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าแบรนด์หนึ่ง (ที่เรารู้จักกันดีเพราะมีหลายสาขาในไทย) ตั้งเป้าว่าจะต้องใช้เวลาแค่ 15 วัน ในการออกแบบเสื้อผ้า ผลิต และวางจำหน่ายในร้าน ซึ่งพวกเขาก็ทำได้ตามตั้งใจ และหลายๆ แบรนด์ทุกวันนี้ก็เดินรอยตาม Fast Fashion นี้
ไล่ตามแฟชั่นอย่างบ้าคลั่ง โลกถึงได้เดือดคลั่งไปด้วย
หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าพฤติกรรมการช็อปแล้วช็อปอีก หรือคติประจำใจว่า “ของมันต้องมี” และ “ชอบก็จัด ประหยัดทำไม” ไม่เพียงทำให้เงินทองของเรารั่วไหลออกไปทุกเดือนๆ เท่านั้น แต่การสนับสนุนฟาสต์แฟชั่นยังส่งผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
มาดูกันนะคะว่า ฟาสต์แฟชั่นทำร้ายโลกของเราอย่างไรบ้าง แต่สรุปสั้นๆ ให้ตกใจกันก่อนก็คือ อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรน้ำมากเป็นอันดับสองของอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหมด และยังปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาถึง 10% ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกภาคอุตสาหกรรมปล่อยออกมาทั้งหมด ซึ่งนับว่ามากกว่าเอาอุตสาหกรรมการบินนานาชาติและการเดินเรือขนส่งสินค้ามารวมกันเสียอีก!
– ใช้น้ำมหาศาล ทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อน –
สาเหตุที่อุตสาหกรรมแฟชั่นใช้น้ำมากถึงขนาดนั้นก็เพราะ ในการผลิตเสื้อผ้าฝ้าย (cotton) หนึ่งตัว เราต้องใช้น้ำมากถึง 2,700 ลิตร เลยทีเดียว และสำหรับกางเกงยีนส์หนึ่งตัว ก็ต้องใช้น้ำในการผลิตมากถึง 7,570 ลิตร!
ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะในกระบวนการย้อมผ้า ยังมีสารเคมีที่เป็นพิษจำนวนมากถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่นเดียวกันกับกระบวนการฟอกหนังในอุตสาหกรรมเครื่องหนังที่เป็นหนึ่งในกระบวนการที่สร้างมลพิษมากที่สุด เพราะใช้สารเคมีอันตรายจำนวนมาก เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ น้ำมันดิน และสีที่ใช้ในการย้อมหนัง เป็นต้น ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ก็มักเล็ดลอดลงไปปนเปื้อนในแม่น้ำลำคลองและมหาสมุทร
– สิ้นเปลืองพลังงาน สร้างมลพิษทางอากาศ –
ในกระบวนการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ (synthetic fibre) ซึ่งก็คือพลาสติก ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก และระหว่างการผลิตยังก่อให้เกิดอนุภาคที่สามารถระเหยในอากาศได้ เช่น สารพิษอย่างไฮโดรเจนคลอไรด์ ส่วนในการปลูกฝ้าย ก็มีการใช้ยาฆ่าแมลงที่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและเสี่ยงต่อการปนเปื้อนลงในสิ่งแวดล้อม
– สร้างขยะจำนวนมหาศาล –
จากสถิติล่าสุดในปี 2023 โดย TheRoungup.org พบว่า มีเสื้อผ้ามากถึง ‘หนึ่งแสนล้าน’ ตัน ถูกผลิตขึ้นในแต่ละปี โดยทุกปี เสื้อผ้ามากถึง 92 ล้านตัน ไปจบชีวิตลงที่บ่อขยะ โดยถ้าใครเห็นตัวเลขอันน่าตกใจนี้แล้วยังนึกไม่ออกว่ามันจะเยอะแค่ไหน เราแนะนำให้ลองไปชมนิทรรศการ Fast Fashion ช็อปล้างโลก ที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่มิวเซียมสยาม (จนถึง 3 ธ.ค. 2566 – หรือลองกูเกิ้ลรูปของนิทรรศการดู) เพราะนอกจากจะมีข้อมูลการให้ความรู้เรื่อง Fast Fashion แล้ว ภายในงานยังมีผลงานศิลปะของ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ที่นำเอาเสื้อผ้ามือสองที่ใช้งานไม่ได้แล้วจำนวนสิบกว่าตัน มาถมลงไปเต็มพื้นที่บนโถงบันไดของอาคารทั้งสามชั้น จนดูเหมือนคลื่นยักษ์ที่กำลังถาโถมเข้ามาหาเรา ซึ่งเสื้อผ้าเหล่านี้เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของขยะเสื้อผ้าทั้งหมดบนโลกเท่านั้น
– สร้างไมโครพลาสติกจำนวนมาก –
ในขณะที่เสื้อผ้าที่ทำจากฝ้ายใช้ทรัพยากรน้ำอย่างสิ้นเปลือง เส้นใยสังเคราะห์ อย่าง โพลีเอสเตอร์ ไนลอน และอะคริลิก ก็มีข้อเสียตรงที่ ทุกครั้งที่เรานำไปซักในเครื่องซักผ้า แรงเหวี่ยงของเครื่องจะทำให้เส้นใยแตกตัวไมโครพลาสติก/นาโนพลาสติก ออกมาเป็นจำนวนมาก และไมโครพลาสติก/นาโนพลาสติกเหล่านี้ก็จะถูกทิ้งลงแหล่งน้ำธรรมชาติ จนไปจบลงในมหาสมุทรในที่สุด แต่ละปีมีไมโครไฟเบอร์จากอุตสาหกรรมแฟชั่นถูกทิ้งลงมหาสมุทรมากถึง 500,000 ตัน หรือ คิดเป็น 9% ของจำนวนไมโครพลาสติกทั้งหมดที่ปนเปื้อนในมหาสมุทร ซึ่งไมโครพลาสติกเหล่านี้ก็จะถูกสัตว์น้ำกินเป็นอาหารโดยไม่ได้ตั้งใจ และบางส่วนในแหล่งน้ำก็ปนเปื้อนลงในดินที่ใช้เพาะปลูกผักผลไม้ ทำให้ไมโครพลาสติกจะวนกลับมาหาพวกเราในที่สุด
เซย์ No กับ Fast Fashion / เซย์ Yes กับ Slow Fashion
เดาว่าใครที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ อาจเริ่มตะขิดตะขวงใจว่า ใจคอเราจะรักษ์โลกจนไม่ให้ออกไปช็อปปิ้งกันเลยเหรอ? อย่าเข้าใจผิดนะคะ เรารู้ดีว่าเสื้อผ้าคือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และการแต่งตัวสวยๆ งามๆ ตามแฟชั่นบ้างก็เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของคนเรา เพราะฉะนั้นเราไม่ได้บอกให้คุณหยุดช็อป แต่ควร ‘ช็อปอย่างมีสติ’ อย่าวิ่งตาม Fast Fashion แต่ควรเดินตามเทรนด์ Slow Fashion ต่างหาก
เรามีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ของ Slow Fashion มาฝากค่ะ
– ช็อปอย่างมีสติ –
เคล็ดลับการช็อปอย่างมีสติคือ คิดให้ถี่ถ้วนว่าเสื้อผ้ากระเป๋ารองเท้าที่เรากำลังจะ CF (Confirm) หรือว่าหยิบใส่ตะกร้านั้น เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้จริงๆ หรือเปล่า หรือว่าถ้าจะซื้อเป็นรางวัลให้ตัวเอง ลองนึกดูให้ดีก่อนว่า ปีนี้ตบรางวัลให้ตัวเองไปกี่ชิ้นแล้ว และมีวิธีอื่นที่คุ้มค่ากว่านี้ไหมที่จะให้รางวัลตัวเอง เช่น อาจเก็บเงินไว้เดินทางท่องเที่ยวดีกว่าไหม? นอกจากนั้น อีกสองเรื่องที่เราอยากแนะนำคือ พยายามอย่าซื้อเสื้อผ้าทางออนไลน์ (ถ้าคืนไม่ได้) แม้ว่าราคาจะเย้ายวนแค่ไหน เพราะหลายครั้งซื้อมาแล้วไม่ตรงปก สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ และก่อนออกไปช็อป ลองเปิดดูตู้เสื้อผ้าอีกครั้งว่าเรามีเสื้อผ้าอะไรอยู่แล้วบ้าง เพราะบางทีคุณอาจพบว่า อืม…เราก็มีเสื้อสวยๆ อยู่หลายตัวที่ไม่ค่อยได้ใส่นะ หรือบางตัวอาจลืมไปแล้วก็ยังมี
– ใส่ให้คุ้ม –
ก่อนหน้านี้ hhc Thailand เคยเห็นคลิปสั้นๆ ทาง Instagram ของ คุณเชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงสาวสวยตลอดกาลและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Little Big Green องค์กรที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเธอออกมาให้แรงบันดาลใจในการแต่งตัวสไตล์ #คุ้มยัง ว่าเธอเองก็มีเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า แว่นตากันแดด หลายชิ้นที่ใช้งานมาแล้วเป็นสิบปีและทุกวันนี้ก็ยังใช้งานได้ดีอยู่ เราเห็นคลิปนี้แล้วบอกได้เลยว่า การแต่งตัวให้ดูดีไม่จำเป็นต้องใช้เสื้อผ้าใหม่หัวจรดเท้าหรือว่าของราคาแพงเลย แต่การดูแลตัวเองให้สุขภาพกายใจแข็งแรงคือสิ่งที่สำคัญมากกว่า เพราะถ้าเราดูดี ใส่อะไรก็ออกมาดี จริงไหมคะ
– ช็อปของมือสอง ต่ออายุเสื้อผ้า –
เสื้อผ้ามือสองมักมีราคาย่อมเยากว่ามือหนึ่ง และยังนับเป็นการรับช่วงเครื่องแต่งกายที่คนอื่นไม่ใช้งานแล้ว มาใช้ต่อได้อย่างคุ้มค่า และสำหรับเครื่องแต่งกายที่เรามีอยู่แล้ว หากมีการชำรุด ขาด กระดุมหลุด ซิปแตก นิดๆ หน่อยๆ อย่าเพิ่งรีบแจ้นไปซื้อของใหม่ ลองนำไปซ่อมก่อน ประหยัดทั้งเงิน ประหยัดทั้งทรัพยากร
– ปรับตัดแต่งของเก่าให้เป็นของใหม่ –
ใครที่มีไอเดียครีเอทีฟและฝีไม้ลายมือทางงานฝีมืออยู่สักหน่อย อาจลองเอาเสื้อผ้าเก่าๆ ที่เริ่มเบื่อแล้ว มาออกแบบและปรับแต่งเสียใหม่ ก็อาจจะได้ของใหม่ที่ไม่ซ้ำใครไว้ใช้งานต่อ
– เก็บรักษาดูแลเครื่องแต่งกายอย่างทะนุถนอม –
วิธีแรกคือ ซักผ้าด้วยมือค่ะ จากประสบการณ์ตรงของเราบอกได้เลยว่า เหนื่อยหน่อย แต่เสื้อผ้าที่เรารักจะอยู่กับเราได้นานมากๆ แถมหน้าตาก็ยังเหมือนใหม่ด้วย ส่วนรองเท้าและกระเป๋า ควรเก็บใส่กล่องหรือใส่ตู้ให้เป็นที่เป็นทาง จะช่วยยืดอายุได้ดีกว่าวางไว้ทิ้งๆ ขว้างๆ และเมื่อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เหล่านี้ของเรายังคงดูเหมือนใหม่ ใช้งานได้เป็นสิบปี เราก็ไม่ต้องเสียสตางค์ซื้อเสื้อผ้ากันบ่อยๆ แล้วค่ะ
สุดท้าย บอกกันไว้นิดนึงเผื่อใครหลายคนอาจเข้าใจผิด เราไม่ได้ห้ามว่าไม่ให้ช็อปเสื้อผ้าจากแบรนด์ที่จัดเป็น Fast Fashion นะคะ ช็อปได้ (เราเองก็ช็อป เพราะราคาย่อมเยาและหลายชิ้นถ้าดูแลให้ดีก็ใช้งานได้นาน) แต่ช็อปอย่างมีสติ ซื้อเท่าที่จำเป็น อย่าตกเป็นเหยื่อการตลาดที่เอารูปภาพสวยๆ มายั่วยวนเรา และจำไว้ว่า ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงจะทำให้เราสวยจากภายในจนไม่ต้องพึ่งเสื้อผ้าตามเทรนด์ แค่นี้ เราก็ไม่ตกเป็นหนึ่งในกระบวนการ Fast Fashion ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว
–