รู้ทัน ‘ภาวะรังว่างเปล่า’ ลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้า 

Care / Family Care / Self Care

ครั้งหนึ่งกอร์ดอน แรมซีย์ เชฟชื่อดังชาวออสเตรเลียที่หลายคนจำติดตากับภาพลักษณ์เชฟจอมดุดัน ได้เผยกับพิธีกรเจมส์ คอร์เดน ในรายการ Late Late Show ว่าตัวเองนั้นต้องรับมือกับความเศร้าแบบสุดๆ เมื่อลูกชายวัย 18 ปีย้ายออกจากบ้านเพื่อไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย เขาเหงาและคิดถึงลูกมากๆ จนถึงกับเข้าไปนั่งในห้องนอนของลูก และหยิบเสื้อผ้าของลูกมาใส่!

เชฟแรมซีย์ไม่ใช่คนเดียวที่เสียอาการแบบนี้ค่ะ เพราะนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่จำนวนมากทั่วโลก เราเรียกว่า ‘ภาวะรังว่างเปล่า’ หรือ ‘Empty Nest Syndrome’ ซึ่งหมายถึงความรู้สึกโหวงเหวงว่างเปล่าเศร้าสร้อยของพ่อแม่ เมื่อถึงวันที่ลูกน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่และย้ายออกจากบ้านไป เปรียบเหมือนรังของนกที่ว่างลงเมื่อลูกนกเติบใหญ่จนบินออกจากรังกันไปหมดนั่นเอง

ความรู้สึกเศร้าจากภาวะรังว่างเปล่าอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และไม่ได้เป็นอันตรายอะไร แต่กับบางคนที่ปรับใจไม่ทัน และปล่อยให้ความรู้สึกค้างคา ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตใจและคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้เหมือนกัน มีการศึกษากลุ่มตัวอย่างในต่างประเทศพบว่า ภาวะรังว่างเปล่าอาจนำไปสู่โรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าได้ 

กลุ่มอาการที่พบบ่อย…อย่าปล่อยให้เป็นนาน

  • สูญเสียเป้าหมายในชีวิต

พ่อแม่บางคนตั้งเป้าหมายหลักของชีวิตไว้ที่ลูกน้อยตั้งแต่วันแรกที่ลูกเกิดมา ทุกๆ วันเต็มไปด้วยภาระหน้าที่ที่วนเวียนอยู่กับลูก แต่เมื่อวันหนึ่งลูกไม่ได้เป็นเด็กน้อยให้คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ อีกต่อไป พ่อแม่ก็อาจเสียศูนย์และสูญเสียเป้าหมายในชีวิต มันไม่ใช่แค่ความเศร้าเท่านั้น แต่เป็นความรู้สึกเคว้งคว้างว่างเปล่า ไปต่อไม่ถูก ไม่รู้จะไปทางไหนดี

  • รู้สึกไร้คุณค่า

แม่จำนวนไม่น้อย ทุ่มเทชีวิตและเวลาให้ลูกแบบเต็มร้อย ยอมลาออกจากงานเพื่อรับบทบาทแม่เต็มเวลา คอยเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิดมานานหลายสิบปี เมื่อลูกแยกย้ายออกไป บทบาทที่สำคัญที่สุดของแม่ได้หายไป อารมณ์เหมือนถูกเชิญให้ออกจากงาน จนอาจรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่มีความสำคัญ หมดความนับถือในตัวเอง 

  • อารมณ์แปรปรวน

เมื่อภาวะรังว่างเปล่าจู่โจม พ่อแม่อาจเจอกับความแปรปรวนของอารมณ์หลากหลายสลับไปมา ไม่ว่าจะดีใจที่ลูกโตเป็นผู้ใหญ่ เสียใจที่ลูกไม่ได้อยู่ใกล้ วิตกกังวลเป็นห่วงลูกสารพัด หงุดหงิดที่ทำอะไรไม่ได้ โกรธตัวเองที่รู้สึกไม่ดี หรือกลัวในสิ่งที่ยังมองไม่เห็น เป็นความรู้สึกซับซ้อนที่ยากจะเข้าใจ แต่เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นได้ค่ะ

  • หงุดหงิดง่ายเมื่อไม่ได้ดังใจ

ตอนลูกเป็นเด็กน้อย พ่อแม่เป็นคนควบคุมดูแลทุกอย่างในชีวิตให้ลูก แต่เมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่ จัดการชีวิตของตัวเองได้เองแล้ว ลูกไม่ได้ต้องการให้พ่อแม่ควบคุมอย่างใกล้ชิดอีกต่อไป ตรงจุดนี้ถ้าพ่อแม่ปรับตัวไม่ทันก็อาจเกิดความหงุดหงิดได้ง่ายๆ กับทุกการตัดสินใจของลูก โดยลืมไปว่าลูกก็โหยหาอิสระและต้องการเรียนรู้ผิดถูกด้วยตัวเองเหมือนกัน

  • ตั้งเป้าหมายของตัวเราเอง

เมื่อลูกแยกไปใช้ชีวิตของตัวเอง ถึงเวลาที่พ่อแม่ควรหันมาโฟกัสกับเป้าหมายของตัวเองบ้าง ถ้ายังไม่มีก็ต้องหาให้เจอ อาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างเช่นการหันมาดูแลตัวเอง รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน หมั่นออกกำลังกาย เล่นกีฬา หางานอดิเรกทำ หรือเลือกทำสิ่งที่ทำให้มีความสุข

  • วางแผนปล่อยมือทีละนิด

ไม่ต้องรอให้ลูกโบยบินออกไปก่อนแล้วค่อยมานั่งทำใจ แต่พ่อแม่ควรเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า เริ่มจากฝึกให้ลูกจัดการเรื่องของตัวเองด้วยตัวเอง (เลือกให้เหมาะสมกับวัย) โดยพ่อแม่เฝ้ามองอยู่ห่างๆ ปล่อยให้ลูกลองผิดลองถูกและแก้ปัญหา รวมทั้งต้องกำหนดช่วงเวลาที่ทั้งลูกและพ่อแม่ได้มีเวลาเป็นอิสระ เพื่อใช้เวลาไปกับสิ่งที่แต่ละคนสนใจและมีความสุข อย่าผูกติดความสุขไว้กับลูกตลอดเวลา 

  • หาตัวช่วยเสริมกำลังใจ

ขอคำแนะนำและกำลังใจจากมิตรสหายหรือคนที่เราวางใจบ้างก็ได้ โดยเฉพาะคนที่เข้าใจสถานการณ์แบบเดียวกัน เช่น คนที่ผ่านประสบการณ์ภาวะรังว่างเปล่ามาก่อน หรืออาจไม่จำเป็นต้องพูดคุยเรื่องปัญหา แต่เป็นบทสนทนาที่ทำให้เราสบายใจ ได้ทำกิจกรรมที่มีความสุขสนุกสนานด้วยกัน ทำให้ใจไม่ต้องจดจ่ออยู่กับความทุกข์ 

  • เข้าใจและให้เวลาตัวเอง

ต้องเข้าใจและยอมรับก่อนว่า การเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เราเคยชินย่อมต้องใช้เวลาในการปรับตัว เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกทุกข์ เศร้า เหงา กังวล ไม่จำเป็นต้องฝืนเก็บความรู้สึกไว้ข้างใน แต่คอยเตือนตัวเองให้รู้ทันอารมณ์ต่างๆ และอดทนรอเวลาอย่างมีความหวัง ด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะต้องดีขึ้น 

ความเศร้าของพ่อแม่แท้จริงแล้วก็มาจากความรักความผูกพันที่มีต่อลูกอย่างมากนั่นเอง ยิ่งผูกพันมาก ก็ยิ่งเศร้ามากเป็นธรรมดาค่ะ จากสถิติในหลายประเทศพบว่า คนที่เผชิญกับภาวะรังว่างเปล่าเป็นส่วนใหญ่คือ แม่ ซึ่งมักจะรับบทบาทหลักในการดูแลลูก (อาจจะเป็นเพราะค่านิยมของสังคม หรือเป็นการตกลงกันในครอบครัว) 

ที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษก็คือ การเผชิญกับภาวะรังว่างเปล่าของแม่ที่เข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน แค่ต้องรับมือกับอาการของวัยทองก็แย่แล้วนะคะ ไม่ว่าจะเป็นอาการหงุดหงิดง่าย เหนื่อยล้า ซึมเศร้า ปวดศีรษะ ร้อนวูบวาบ หรือนอนไม่หลับ และถ้าต้องมาเจอกับภาวะรังว่างเปล่าซ้อนไปอีกก็ยิ่งหนักหน่วงเข้าไปใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำอย่างใกล้ชิด รวมถึงคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวควรใส่ใจให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ค่ะ

อ่านเพิ่มเติม: วัยก่อนหมดประจำเดือน สาวหลัก 4 ควรรู้ 

ภาวะรังว่างเปล่าของคนตะวันตกกับคนไทยอาจจะแตกต่างกันอยู่บ้างนะคะ เพราะในวัฒนธรรมตะวันตกนั้นลูกๆ จะแยกบ้านไปใช้ชีวิตของตัวเองกันเร็ว แต่ในวัฒนธรรมไทยยังมีการอาศัยอยู่ร่วมบ้านเดียวกันกับพ่อแม่แม้จะโตแล้ว แต่จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาใช้วิถีชีวิตแบบเมืองในลักษณะครอบครัวเดี่ยวกันมากขึ้น รวมถึงการย้ายไปเรียนหรือไปทำงานในต่างถิ่นเพื่อโอกาสทางการเรียนหรือการทำงานมากขึ้น ทำให้พ่อแม่มีโอกาสเผชิญกับภาวะรังว่างเปล่าได้มากขึ้นเช่นกันค่ะ 

แต่ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวรูปแบบไหน ก็อย่าลืมใส่ใจดูแลความรู้สึกของกันและกันไว้เสมอนะคะ แม้ลูกนกอาจจะต้องโบยบินออกจากรังไปตามทางของตัวเอง แต่รังจะไม่ว่างเปล่าตลอดไป เพราะลูกนกยังบินกลับมาหารังที่อบอุ่นจากพ่อแม่นกได้เสมอค่ะ 

อ้างอิง:
verywellfamily.com 
yahoo.com
fortune.com
bbc.com

บทความที่เกี่ยวข้อง