ทำบุญอย่างไรไม่ให้กลายเป็นบาป

Care / Social Care

เพราะคนไทยใจดีมีน้ำใจ ชอบทำบุญทำทานและช่วยเหลือคนอื่น แต่หลายคนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือทำไปโดยไม่ระวัง สิ่งที่ทำจึงอาจส่งผลเสียมากกว่าดี นอกจากไม่มีประโยชน์กับผู้รับแล้วยังทำระบบนิเวศพังอีกด้วย

วันนี้ hhc Thailand เลยรวบรวม Do’s & Don’ts ที่ควรรู้ไว้ ก่อนลงมือทำบุญหรือช่วยเหลือใคร เช็กให้แน่ใจ จะได้ชัวร์ว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์จริงๆ

การปล่อยนกปล่อยปลาเป็นการทำบุญตามความเชื่อที่คนนิยมกันมานาน แต่มันอาจจะไม่ใช่การทำสิ่งดีๆ อย่างที่หลายคนคิด เพราะแทนที่จะช่วยเหลือสัตว์ อาจกลายเป็นทำร้ายสัตว์ เข้าข่ายทำบาปมากกว่า และส่งผลเสียต่อระบบนิเวศด้วย

DO:  

✅ เลือกแหล่งน้ำให้เหมาะ เพราะปลาแต่ละชนิดมีลักษณะการดำรงชีวิตต่างกัน 

  • ปลาไหล ควรปล่อยในแหล่งน้ำเล็กๆ ที่มีกระแสน้ำไม่แรง เพราะธรรมชาติของปลาไหลจะชอบแหล่งน้ำเฉอะแฉะ และชอบขุดรูเพื่อหาที่อยู่อาศัย ถ้าปล่อยในแหล่งน้ำใหญ่ มีโอกาสรอดชีวิตยาก 
  • ปลาสวายและปลาบึก ควรปล่อยในแหล่งน้ำที่มีความลึกและไหลแรงมากพอ เพราะเป็นปลาขนาดใหญ่ที่ต้องใช้พื้นที่กว้าง
  • ปลาช่อน ปลาดุกดุกนา ปลาหมอไทย ควรปล่อยแหล่งน้ำที่มีน้ำไหลไม่แรงมาก และมีกอหญ้าอยู่ริมตลิ่ง  
  • ปลาตะเพียน ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาสร้อยขาว ปลากาดำ ปลาซ่า  ควรปล่อยในแหล่งน้ำไหล ไม่ใช่น้ำนิ่ง เพราะเป็นปลาที่ต้องการออกซิเจนสูง 

✅ เลือกช่วงเวลาให้เหมาะ เพราะปลาแต่ละชนิดมีช่วงอุณหภูมิที่เหมาะกับการเติบโตต่างกัน บางฤดูกาลอาจมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำที่ไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของปลา ถ้าปล่อยไป จะทำให้ปลาปรับตัวไม่ทัน รวมถึงอุณหภูมิของน้ำระหว่างช่วงกลางวันและกลางคืนก็ไม่เท่ากัน

✅ เลือกปลาสายพันธุ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพราะมีการดำรงชีวิตที่เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้น และไม่ไปคุกคามสายพันธุ์อื่น ปลาสายพันธุ์ไทยที่เป็นมิตรกับเพื่อนปลา ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาสร้อยขาว ปลากาดำ และปลาซ่า เป็นต้น  

DON’T: 

❌ ปล่อยปลาสายพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) ปลาต่างถิ่นถึงแม้จะหน้าตาน่าเอ็นดู แต่ถ้าปล่อยลงแหล่งน้ำไป อาจกลายเป็นวายร้ายไปคุกคามสัตว์น้ำประจำถิ่นจนสูญพันธุ์ กระทบระบบนิเวศทั้งหมด และถ้าหลุดรอดเข้าไปในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรก็จะทำให้เกิดความเสียหายหนัก ปลาต่างถิ่นที่พบบ่อยและควรระวัง ได้แก่ ปลาดุกอัฟริกัน ปลาดุกลูกผสม (บิ๊กอุย) ปลาหางนกยูง ปลากดเกราะดำ ปลากดเกราะลาย ปลาทับทิม ปลานิล ปลาหมอสีคางดำ รวมถึง กุ้งเครย์ฟิช เต่าญี่ปุ่น (เต่าแก้มแดง) และตะพาบไต้หวัน ด้วย

❌ ปล่อยปลาที่เป็นโรคหรือมาจากแหล่งปนเปื้อน ปลาป่วยอย่าสงสารด้วยการไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะอาจแพร่เชื้อโรคไปยังปลาและสัตว์น้ำในวงกว้าง โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต และถ้าเป็นปลาที่มาจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมีหรือสารพิษ อาจทำให้สารเหล่านั้นแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำอื่นๆ ด้วย

❌ ปล่อยปลาครั้งละมากๆ เรามักจะเห็นคนไปปล่อยปลาเป็นร้อยเป็นพันตัวตามท่าน้ำหน้าวัด แบบปล่อยทีเดียวรวดลงไปในแหล่งน้ำแหล่งเดียว ถึงแม้จะเลือกสภาพแวดล้อมและสายพันธุ์ที่เหมาะสมแล้วก็ตาม แต่จำนวนที่มากเกินไปก็อาจทำให้ปลาปรับตัวลำบาก แย่งอาหารกัน และคุกคามสัตว์น้ำในท้องถิ่นนั้น 

❌ หยุดซื้อนกมาปล่อยเพื่อสะเดาะเคราะห์ เพราะมันคือการสนับสนุนธุรกิจบาป ที่พ่อค้าแม่ค้าตามวัดหรือสถานที่ศักสิทธิ์จับนกมาขังไว้ พอขายแล้วก็วนไปจับใหม่ เคราะห์ร้ายตกเป็นของนกน้อย ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติของนก โดยเฉพาะ ‘นกกระติ๊ดขี้หมู’ ซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองบัญชีรายชื่อ ปี 2546 ลำดับที่ 62 การจับนกมาปล่อย นอกจากจะเป็นบาปมากกว่าบุญแล้ว ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2535 มาตรา 19, 20 เเละ 47 และมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การให้ความช่วยเหลือสัตว์เร่ร่อน เช่น หมาและแมวจรจัด หรือให้อาหารนกตามที่สาธารณะ แม้จะมาจากความเมตตาและเจตนาดี แต่ถ้าไม่มีการจัดการที่ดี อาจกลายเป็นความเมตตาที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น

DON’T:

❌ ให้อาหารหมาจรจัดในพื้นที่สาธารณะ ทำให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยในชุมชนบริเวณนั้น เช่น หมามาป้วนเปี้ยนใกล้ๆ และไล่กัดผู้คนที่เดินผ่าน หรือเป็นพาหะของโรคต่างๆ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า และโรคพยาธิ ส่วนเศษอาหารที่เหลือจากการให้อาหารสัตว์ ก็ทำให้พื้นที่สกปรก ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ดึงดูดหนูหรือแมลงสาบให้เข้ามา

DO:

✅ จัดหาจุดให้อาหารที่ไม่รบกวนการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น จุดที่ห่างไกลจากบ้านเรือน หรือบริเวณที่จัดไว้เพื่อดูแลสัตว์เร่ร่อนโดยเฉพาะ

✅ พูดคุยและสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน ทำข้อตกลงให้ชัดเจนและมีการทำงานร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อป้องกันความขัดแย้ง หรือช่วยกันจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครในชุมชนเพื่อช่วยกันดูแลสัตว์เร่ร่อน ทั้งในเรื่องของการให้อาหาร การทำหมัน และการดูแลสุขภาพ

✅ ควรเก็บกวาดทำความสะอาดทุกครั้งหลังให้อาหาร ไม่ให้เหลือเศษอาหารสกปรกตกค้าง ป้องกันปัญหาสุขอนามัยและการแพร่กระจายของโรค

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมใหญ่ มักก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แต่ในช่วงเวลาที่ผู้คนเผชิญกับความยากลำบาก เรายังได้เห็นน้ำใจของคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือกันอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะการบริจาคสิ่งของ แต่การบริจาคนั้นอาจกลายเป็นการเพิ่มทุกข์ มากกว่าบรรเทาทุกข์ ถ้าทำไม่ถูกวิธี 

DON’T:   

❌ บริจาคของหมดอายุ ต้องตรวจสอบวันหมดอายุอย่างละเอียดก่อน ไม่ควรบริจาคยา สิ่งของ หรืออาหารที่ใกล้หมดอายุหรือหมดอายุแล้ว เลือกที่มีอายุการใช้งานยาวนาน มีบรรจุภัณฑ์ทนทานแข็งแรง ไม่แตกหักง่าย และยังไม่เสียหายชำรุด

❌ บริจาคเสื้อผ้าที่ใช้งานไม่ได้ ก่อนบริจาคเสื้อผ้ามือสองต้องซักให้สะอาดพร้อมใช้ และเช็กให้แน่ใจว่าไม่เก่าเกินไปจนใช้งานไม่ได้ หรือไม่เหมาะสมกับผู้รับ เช่น บริจาคตุ๊กตาให้ผู้กำลังประสบภัยน้ำท่วม ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ต้องกลายเป็นขยะและเป็นปัญหาในการจัดการ

❌ บริจาคอาหารที่เก็บรักษายาก ควรบริจาคอาหารที่สามารถเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้อง โดยไม่เสี่ยงต่อการเน่าเสียง่าย เช่น อาหารแห้ง หรืออาหารกระป๋อง

DO: 

✅ บริจาคอาหารที่กินง่ายใช้สะดวก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าหรือเตาแก๊สได้ อาจจะเป็นอาหารกระป๋องที่เปิดฝาง่าย อาหารสำเร็จรูปแบบฉีกซองพร้อมกินทันที เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวสวยพร้อมทาน (เก็บอุณหภูมิห้องได้นาน 18 เดือน โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น) หรืออาหารที่เพียงแค่เติมน้ำก็กินได้เลย และควรเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น อาหารโปรตีนสูงอย่างถั่วหรือปลากระป๋อง ผลไม้อบแห้ง หรือนมกล่องยูเอชที 

✅ บริจาคสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มสะอาด ยาสามัญประจำบ้าน ผ้าอนามัย ผ้าอ้อม แปรงสีฟัน เครื่องกันหนาว อุปกรณ์สำหรับเด็กและผู้สูงอายุ เครื่องนอน ไฟฉายและถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง ถุงขยะ รองเท้าบูทหรือรองเท้าแตะ 

อย่าลืมกลุ่มเปราะบาง ที่มีความต้องการเฉพาะด้วย ได้แก่ ทารก เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย ควรตรวจสอบความต้องการของคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เช่น นมผงสำหรับเด็กทารก อาหารสูตรครบถ้วนสำหรับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ผ้าอนามัยสำหรับสตรี หรือผ้าอ้อมสำเร็จรูป เป็นต้น

✅ เลือกอาหารให้เหมาะกับวัฒนธรรมและความเชื่อ ควรคำนึงถึงวัฒนธรรมและหลักศาสนาของผู้รับ เช่น ในชุมชนมุสลิม อาหารที่บริจาคต้องเป็นอาหารฮาลาล 

✅ สอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งของหรืออาหารที่บริจาคตรงกับความต้องการของผู้รับในพื้นที่นั้นๆ และสามารถจัดการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจบริจาคเงินให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อจัดซื้อสิ่งของได้โดยตรง ก่อนโอนต้องตรวจเช็กเลขบัญชีให้แน่ใจว่าไม่ใช่มิจฉาชีพ

และนี่ก็คือ Do’s & Don’ts พื้นฐานที่ควรรู้ไว้ ขอให้การทำบุญทำทานเกิดผลดีอย่างยั่งยืนต่อทุกฝ่าย ทั้งผู้ให้ ผู้รับ รวมถึงระบบนิเวศน์ที่เราอยู่ร่วมกัน ขอบคุณความใจดีมีน้ำใจของผู้ให้ทุกท่าน ที่ร่วมกันทำให้สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม มาช่วยเหลือกันและกัน และช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้สมดุลและยั่งยืนไปพร้อมๆ กันค่ะ

อ้างอิง:

fisheries.go.th
seub.or.th/
isranews.org 
thecitizen.plus

บทความที่เกี่ยวข้อง