เรื่องของท่อช่วยหายใจกับ COVID-19…ที่มาของการพัฒนา
ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อ COVID-19 ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้จากละอองฝอยเสมหะของผู้ติดเชื้อ ในความเป็นจริงเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าใครมีเชื้อโควิดอยู่ในร่างกาย ทำให้การแพร่ระบาดและการติดเชื้อเป็นไปได้ง่าย จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน ทำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เมื่อติดเชื้อโควิดมามักมีอาการหนักและไม่สามารถหายใจเองได้ ซึ่งตามมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดออกซิเจน อีกทั้งช่วยลดแรงที่ต้องหายใจด้วยตนเองขณะรอรับการรักษา
การใส่ท่อช่วยหายใจที่ปลอดภัยต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่ากล้องวิดีโอลาริงซ์โกสโคป (Video laryngoscope) เวลาใช้งานจะมีกล้องถ่ายทอดสัญญาณดูได้จากมอนิเตอร์เหมือนกำลังเล่นเกมอยู่ ซึ่งหน้าของเราจะอยู่ห่างจากคนไข้แล้วมองมอนิเตอร์ ทำให้ไม่ต้องก้มหน้าเข้าใกล้คนไข้เหมือนในสมัยก่อนทำให้เวลาใส่ท่อช่วยหายใจจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น
ช่วงแรกที่มีการระบาดของโควิดผมทำงานร่วมกับ รศ.นพ.ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยวิจัยเมลิออยโดสิส โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ช่วยกันระดมทุนได้เงินมาประมาณ 1 แสนบาท วัตถุประสงค์เพื่อนำมาช่วยโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ปี 2563
ทำให้ผมคิดถึงประสบการณ์จากคนไข้สมัยที่จบเป็นแพทย์ใหม่ๆ (พ.ศ. 2543) ตอนที่กำลังใส่ท่อช่วยหายใจ เคยโดนคนไข้ไอครั้งหนึ่งปรากฏว่าทั้งเลือดและน้ำลายเต็มแมสเลย เดิมทีผมและทีมทำงานคิดจะทำกล่องอะครีลิค เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ละอองฝอยฟุ้งกระจายใส่บุคลากรทางการแพทย์ในขณะที่ใส่ท่อช่วยหายใจ แต่มีข้อจำกัดว่าเวลาใส่ท่อช่วยหายใจก็ยังต้องก้มหน้าเข้าไปใกล้ๆ อยู่ดี มันเลยไม่เวิร์ค…ก็เลยคิดว่าทำตัววิดีโอลาริงซ์โกสโคปไปเลยไม่ดีกว่าหรือ
ตอนนั้นเลยไปดูคลิปในยูทูปที่มีการดัดแปลงอุปกรณ์ง่ายๆ ด้วยการถอดหลอดไฟออกและสอดกล้องงูเข้าไปแทนที่ แต่การใช้งานยังดูไม่คล่องตัว และทุกโรงพยาบาลก็ยังไม่พร้อมจะมีรุ่นที่ถอดหลอดไฟออกแล้วใส่กล้องสอดเข้าไป จึงกลับมาคิดกันใหม่ว่าจะทำอย่างไรดี รวมถึงเรื่องงานพิมพ์ 3 มิติ ที่จะทำให้เป็นช่องและใส่กล้องเข้าไปได้เลย แต่งานพิมพ์ 3 มิติต้องเขียนแบบใหม่และนำไฟล์แบบลงคอมพิวเตอร์ เรื่องโปรแกรมพิมพ์ 3 มิตินี้จึงพักไปก่อน
ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจนเป็นโครงการเพื่อมนุษยชาติ
สุดท้ายตกลงกันว่าจะลองไปคุยกับช่างเชื่อมดู เพราะเห็นว่าเป็นงานโลหะชนิดหนึ่ง จึงให้ช่างลองทำต้นแบบที่ทำจากสเตนเลสเกรด 304 ซึ่งเป็นเกรดสำหรับอุปกรณ์ทำอาหารและสามารถประยุกต์ทำอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ ซึ่งช่างเชื่อมทำต้นแบบมาให้คิดราคา 900 บาทเท่านั้น ก็ค่อนข้างถูกนะ เมื่อนำมาทดลองใช้งานจริงก็ถือว่าใช้งานได้ จึงนำเงินบริจาคไปซื้อกล้องงูมาใส่ ราคาประมาณ 6-700 บาท พอใช้งานไปได้ระยะหนึ่งก็ได้ประสานงานกับหมอดมยา (วิสัญญีแพทย์) โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์และโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ ให้ทดลองใช้ เขาบอกใช้งานได้ระดับหนึ่งแต่อยากได้รุ่นที่ดีกว่านี้ เนื่องจากเวลาใช้กล้องจะหักไปหักมา สักพักก็พัง ทีมงานมีความต้องการกล้องแบบสอดเข้าไปได้โดยไม่หัก… ทำให้เกิดเวอร์ชั่น 2 ตามมาเพื่อรองรับกรณีที่ใส่ท่อช่วยหายใจยากๆ
หลังจากนั้นผมมีโอกาสได้พูดคุยถึงโครงการนี้กับผู้อำนวยการโรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ ณ ตอนนั้น คือนายแพทย์เศวต ศรีศิริ (ปัจจุบันท่านลาออกจากราชการแล้ว) ท่านเห็นด้วยและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ท่านบอกว่า “ทำเพื่อช่วยโรงพยาบาลในประเทศไทยแล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็ทำช่วยโรงพยาบาลประเทศเพื่อนบ้านด้วยดีมั้ย” ประเทศเพื่อนบ้านขาดแคลนมากกว่า มีงบประมาณน้อยกว่า นั่นคือ ลาวและกัมพูชา ซึ่งอยู่ใกล้กับจ.อุบลราชธานี ทำให้ผมคิดเรื่องทำบุญเพื่อมนุษยชาติมากกว่า
ณ ขณะนั้นมีนโยบาย “อาชีวะสร้างชาติ” ของท่านณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผมได้มีโอกาสไปคุยกับคุณนิยม แสงวงศ์ อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี ท่านก็ยินดีช่วยเหลือและเป็นการขานรับนโยบาย “อาชีวะสร้างชาติ” จึงช่วยพัฒนาและจัดทำให้ 1,000 ชิ้น โดยไม่คิดมูลค่า
ผมมองว่าเรื่องนี้ไม่เฉพาะวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานีที่ทำได้ เพราะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ยากเย็นอะไร จึงมีความเป็นไปได้ที่โรงพยาบาลทั่วประเทศสามารถใช้วิดีโอลาริงซ์โกสโคปในการใส่ท่อช่วยหายใจ และคงหมดยุคที่ต้องเอาหน้าไปจ่อปากคนไข้แล้วก็รับเสมหะ ถึงแม้จะมีหน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ (Face Shield) หรือมีแว่นตา แต่ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันอะไรมาก เอาแบบอยู่ไกลๆ กันมากเท่าไหร่ยิ่งดี
เมื่อโครงการได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี ทำให้ฟรีจำนวน 1,000 ชิ้น ผมก็บอกบุญกับญาติพี่น้องเพื่อซื้อกล้องงูได้เงินมาหลายแสนบาท ทำให้สามารถทำแจกจ่ายไปได้ 200 กว่าชุดในเฟสที่ 1 เมื่อปีพ.ศ. 2563
“สาธารณสุขพอเพียง” พัฒนาอุปกรณ์ภายในประเทศที่นำมาใช้และทดแทนได้ สู่โรงพยาบาลชุมชน
ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าเทคโนโลยี แต่ละครั้งมีการสั่งซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ โดยวิดีโอลาริงซ์โกสโคปตัวท็อปราคาสูงถึง 3-5 แสนบาท แต่อย่าลืมว่าประเทศของเรามีงบประมาณจำกัด เวลาสอนนักศึกษาแพทย์ผมมักพูดถึง “สาธารณสุขพอเพียง” อะไรที่สามารถทำเองได้ ก็อยากให้ภาครัฐสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตอุปกรณ์ใช้เอง เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ถึงแม้การซื้อหรือนำเข้าจะได้ของที่ดีกว่าเพราะราคา 3-5 แสนบาท แต่อุปกรณ์ที่เราทำเองราคาประมาณ 1,700 บาท ก็สามารถใช้งานทดแทนกันได้ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานต้องดูเรื่องงบประมาณและความพอเพียงด้วย
ต้นปีพ.ศ. 2564 ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องๆ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดอุบลราชธานี น้องๆ สนใจอยากช่วยบริจาคซื้อเครื่องมือแพทย์ เฟสที่ 2 จึงตามมา เราได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ ได้เงินมาอีก 1 แสนกว่าบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อกล้องงู ส่วนอุปกรณ์สเตนเลสนั้นทางวิทยาลัยเทคนิคอุบลฯ ปรับปรุงให้ใช้ง่าย คงทนขึ้นกว่าเดิมและทำส่งมาเพิ่มให้อีก
จากการประชาสัมพันธ์เฟสที่ 2 ออกไป พบว่าโรงพยาบาลชุมชนในเขตสุขภาพที่ 10 ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร มุกดาหาร มีความต้องการมากถึง 151 ชุด นอกจากนี้ท่านสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีได้ประสานงานกับ สปป.ลาว (โซนลาวใต้ คือแขวงจำปาศักดิ์และแขวงสาละวัน) ทางนั้นมีความต้องการ 20-30 ชุด
ในส่วนของเด็กเล็ก เราก็พัฒนาเครื่องมือสำหรับใช้กับเด็กทารกแรกเกิด แต่มีความจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เช่น เด็กน้ำหนัก 800 กรัม หรือ 1,000 กรัม ตัวเล็กนิดเดียว ซึ่งขณะนี้ทำไปเป็นเวอร์ชั่นที่ 4 แล้ว รอพัฒนาทำให้ดีขึ้นเป็นเวอร์ชั่น 4.2 และ 4.3 เป็นลำดับถัดไป
สำหรับโครงการนี้ยังมีโรงพยาบาลขนาดเล็กทั่วประเทศและประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีเครื่องมีนี้ไว้ใช้ในยามวิกฤติ ผู้ใดที่อยากสนับสนุนเพื่อการพัฒนาอุปกรณ์และนำไปแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลที่ยังขาดแคลน สามารถร่วมสมทบทุนได้ตามรายละเอียดด้านล่างครับ
ความคาดหวังที่มีต่อโครงการนี้
ในเรื่องของการใช้งาน ส่วนตัวผมไม่มีปัญหาอะไร แต่เรื่องการยอมรับของคนใช้งานก็มีระดับหนึ่ง เราต้องเข้าใจก่อนว่า อุปกรณ์ที่เราพัฒนาขึ้นมานั้น เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ มันแค่พอใช้และทดแทนได้ ด้วยงบประมาณที่มีจำกัดของประเทศไทยจึงไม่สามารถซื้อหรือนำเข้าอุปกรณ์มาแจกจ่ายให้กับทุกโรงพยาบาลได้
มุมมองของผม คือการยอมรับของคนใช้งาน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้คนที่เกี่ยวข้องทุกคนช่วยกันแนะนำให้ได้รับการยอมรับจากโรงพยาบาลชุมชนมากกว่านี้ ผมเคยส่งอุปกรณ์ชุดนี้ไปให้อาจารย์วิสัญญีแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นรุ่นพี่ผมเอง เขาบอกว่าใช้งานได้ดีพอสมควร แต่เขาไม่สามารถผลักดันเชิงนโยบายในระดับราชวิทยาลัยและระดับแพทยสภาได้
ผมมองว่าถ้ามีคนใช้กันเป็นจำนวนมาก ในอนาคตอาจมีการพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้แพทย์จบใหม่ถูกสอนการใช้อุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจผ่านวิดีโอลาลิงซ์โกสโคป เพราะถ้าจบออกมา ใช้เป็น และมีทัศนคติที่ดีกับเครื่องมือ…ก็น่าจะดีกว่า และเครื่องมือจะถูกพิสูจน์ตัวเองว่าใช้ได้ดีจริง สุดท้ายโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งก็จะมีใช้ เนื่องจากตัวเทคโนโลยีไม่ได้พิสดารอะไร แต่เป็นการทำระหว่างแผนกช่างเชื่อมร่วมกับการซื้อกล้องงูที่ราคาไม่แพงมาใช้งาน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย ส่วนมากคนที่สอดท่อช่วยหายใจก็คือ “หมอจบใหม่” อย่างตัวผม ครั้งสุดท้ายที่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจก็คือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพราะน้องใส่ไม่ได้ ผมอยู่ใกล้ๆ จึงต้องช่วยน้องใส่ท่อช่วยหายใจ หมอจบใหม่เป็นคนที่น่าสงสาร ไม่มีปาก ไม่มีเสียง มีแต่ความเสี่ยง ถ้าเป็นทหารก็ระดับพลทหาร (ทหารเกณฑ์) จะไปพูดอะไรได้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้อาวุธดีๆ ให้น้องๆ ไปใช้ทุกโรงพยาบาลชุมชนที่สามารถทำได้
Expert Advice:
ต่อมลูกหมากโต…ในมุมของศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จังหวัดอุบลราชธานีเองก็มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่จะพบคนไข้ต่อมลูกหมากโตมากขึ้น รวมถึงมะเร็งต่อมลูกหมากและนิ่วในระบบปัสสาวะ จากสถิติคนไข้ของผม คนอายุ 60 ปีจะพบต่อมลูกหมากโตประมาณครึ่งหนึ่ง แต่คนอายุ 80 ปีขึ้นไปพบมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และต่อมลูกหมากโตนั้นเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะกินยาหรือการผ่าตัด สุดท้ายก็ไม่จบ ผมจะอธิบายคนไข้แบบง่ายๆ ว่า ต่อมลูกหมากโตเป็นโรคคนแก่ ถ้าไม่อยากเป็นโรคก็ต้องหยุดแก่หรือกลับมาเป็นหนุ่มให้ได้ ต่อให้ผ่าตัดขูดลูกหมากก็ยังมีเนื้อตกค้างอยู่ เปรียบเสมือนลูกแตงโม เราใช้ช้อนตักเนื้อแดงออกก็ยังมีเนื้อสีแดงติดเปลือกอยู่ ถึงแม้จะรักษาต่อมลูกหมากโตแล้ว แต่ระยะเวลา 5 ปี 10 ปีก็กลับมาเป็นใหม่ นี่คือข้อจำกัดของโรค
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการแพทย์และมียาดีขึ้นเรื่อยๆ มีคนจำนวนมากที่กินยาแล้ว สามารถยื้อระยะเวลาการผ่าตัดออกไปได้ 5-10 ปี ต่อมลูกหมากโตเป็นเรื่องความเสื่อม คนที่มีอาการของต่อมลูกหมากโตอาจจะมีขนาดต่อมลูกหมากเล็กกว่าคนที่ไม่ได้มีอาการก็ได้ เพราะว่าขนาดของต่อมลูกหมากไม่สัมพันธ์กับอาการของคนไข้ คนไข้ต่อมลูกหมากโตมักมาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะลำบาก ต้องรอนาน ต้องเบ่ง และมีบางคนมาด้วยอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นไม่อยู่ ซึ่งมักกระทบกับคุณภาพชีวิตของคนไข้ในการใช้ชีวิตประจำวัน
ในการดูแลรักษาเบื้องต้นสามารถใช้วิธีปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ก่อนจะกินยาหรือผ่าตัด โดยปกติแล้วอาการของคนไข้ที่มามักจะสัมพันธ์กับพฤติกรรมการในการใช้ชีวิต เช่น ปริมาณน้ำที่ดื่มแต่ละวัน หรือการได้รับสารที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ (กาแฟ แอลกอฮอล์) ซึ่งถ้ามีอาการก็ควรจะหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ สำหรับปริมาณน้ำดื่มนั้นตามทฤษฎีแล้วคนเราควรดื่มน้ำวันละ 2-3 ลิตรต่อวัน แต่คนเราไม่ควรปัสสาวะเกิน 8 ครั้งต่อวัน หรือระยะเวลา 3 ชั่วโมงต่อครั้ง หากปัสสาวะบ่อยมากเกินไปควรปรับปริมาณน้ำดื่มให้เหมาะสม
–
ประวัติ: นพ.วัฒนชัย อึ้งเจริญวัฒนา
ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
- จบจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2543
- วุฒิบัตรศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา พ.ศ. 2550
- ตำแหน่งนายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ 14 ปี
- อดีต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
- ปัจจุบัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ และหัวหน้ากลุ่มงานอาชีวเวชกรรม รวมถึงการช่วยงานที่ “โรงพยาบาล ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ” 12 ปี