ใครที่ก้าวเข้าสู่ “หลักสี่” มาโดยที่ไม่เคยดูแลเอาใจใส่สุขภาพร่างกายของตัวเองมาก่อนเลย บอกได้เลยว่าถ้าไม่เริ่มต้นดูแลตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตตั้งแต่ตอนนี้ อาจไม่ทันการณ์ เพราะเมื่อเข้าสู่วัย 40 ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย ระบบต่างๆ ภายในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคภัยหลายต่อหลายชนิด จะมีโรคอะไรบ้างและควรดูแลตัวเองอย่างไรเราไปดูกันเลย
โรคหัวใจ/หลอดเลือด ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน
เมื่อเข้าสู่วัย 40 ร่างกายจะเริ่มผลิตฮอร์โมนเพศน้อยลง สำหรับ ผู้ชาย การลดลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อเมทาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) หรือ ภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายที่ผิดปกติไป ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ไขมันสูง และเบาหวาน ส่วน ผู้หญิง การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่มีหน้าที่เพิ่มไขมันดี (HDL) ลดไขมันเลว (LDL) และทำความสะอาดหลอดเลือด ก็จะทำให้ไขมันดีลดน้อยลง ไขมันเลวเพิ่มขึ้น จนอาจนำไปสู่ภาวะอ้วน คอเลสเตอรอลสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดเช่นกัน
ยิ่งเมื่อการลดลงของฮอร์โมนเพศที่ช่วยควบคุมระบบเผาผลาญอาหารและระดับไขมันในร่างกาย ถูกรวมเข้ากับวิถีชีวิตคนเมืองที่เคร่งเครียดและบริโภคแต่อาหารฟาสต์ฟู้ดที่ไขมันสูง น้ำตาลสูง แต่กากใยอาหารต่ำ รวมทั้งยังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปและสูบบุหรี่ด้วยแล้ว ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการหัวใจวายและหลอดเลือดในสมองตีบ/แตก (Stroke) อันเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน
ดูแลตัวเอง: เพราะในวัย 40+ ฮอร์โมนเพศที่เคยช่วยดูแลระบบเผาผลาญอาหารและระดับไขมันเริ่มอ่อนกำลัง เราจึงควรยกระดับการดูแลสุขภาพตัวเองให้มากขึ้น ซึ่งก็คือวิธีง่ายๆ ที่เรารู้กันดีอยู่แล้วคือ
- เลิกสูบบุหรี่
- ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย กากใยสูง
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมง
- ทำกิจกรรมสันทนาการผ่อนคลายความเครียด
โรคข้ออักเสบ (Arthritis)
ปัจจัยที่ทำให้อายุ 40 มาพร้อมกับความเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบ คือ เมื่อเข้าสู่วัยนี้ เส้นเอ็น (Tendon/Ligament) ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายจะสูญเสียความยืดหยุ่นไปอย่างมาก เช่นเดียวกับกระดูกอ่อนข้อต่อ (Cartilage) ที่มีหน้าที่ช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นไม่ติดขัดก็จะเริ่มเสื่อมสภาพ
โรคข้ออักเสบอาจไม่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ ข้อติด ไม่สามารถขยับข้อต่อได้เต็มที่ หากโรคข้ออักเสบเกิดขึ้นกับข้อต่อขนาดเล็กอย่างนิ้วมือ อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียแรงบีบมือ ส่งผลต่อการหยิบจับสิ่งของ หรือหากเกิดกับข้อต่อขนาดใหญ่อย่างหัวเข่า ก็อาจทำให้สูญเสียกระดูกอ่อนในบริเวณนั้น เกิดเป็นโรคยอดฮิตในวัย 50+ คือ โรคข้อเข่าเสื่อม
ดูแลตัวเอง: นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบ คือ พันธุกรรม ภาวะอ้วน/น้ำหนักเกินมาตรฐาน การสูบบุหรี่ และการอยู่ในอิริยาบถที่ถ่ายน้ำหนักตัวไปลงที่ข้อต่อส่วนนั้นๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะฉะนั้นเพื่อป้องกันโรคข้ออักเสบไม่ให้เกิดขึ้นรุนแรงและรวดเร็วนัก คุณควร…
- เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะสารอาหารที่ช่วยบำรุงข้อต่อและบรรเทาอาการข้ออักเสบ เช่น โอเมก้า 3 ที่พบมากในปลาทะเล
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเลือกการออกกำลังกายที่ช่วยถนอมข้อต่อ เช่น เดิน ว่ายน้ำ
โรคทางสายตา
กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายจะหย่อนยานลงไปตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่กล้ามเนื้อยึดเลนส์ตา (Ciliary muscles) ที่ทำหน้าที่คอยยืดหรือหดเลนส์ตาเพื่อปรับระยะโฟกัสของเลนส์ตาเมื่อเพ่งมองไปยังวัตถุที่อยู่ในระยะใกล้และไกล
เมื่อกล้ามเนื้อยึดเลนส์ตาเสื่อมสภาพก็จะไม่สามารถหดตัวได้ดีเท่าที่เคยเป็น ทำให้เลนส์ตาไม่สามารถโฟกัสวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ หรือที่เรียกว่า ภาวะสายตายาวตามอายุ (Presbyopia) ซึ่งมักเกิดกับผู้ที่อายุ 40 ขึ้นไป
พร้อมๆ กับกล้ามเนื้อเลนส์ตาที่หย่อนยานลง โปรตีนในเลนส์ตาจะเสื่อมสภาพตามอายุที่มากขึ้นเช่นกัน เลนส์ตาที่เคยใสไม่มีสี จึงขุ่นมัวลงเรื่อยๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมองเห็นไม่ชัด สายตาเปลี่ยนบ่อย เห็นไม่ชัดในที่แสงจ้า และอาจสูญเสียการมองเห็นในที่สุด ซึ่งก็คือโรคต้อกระจก (Cataract) นั่นเอง
ดูแลตัวเอง: ทั้งภาวะสายตายาวและโรคต้อกระจกเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ไม่สามารถป้องกันได้ (สายตายาวแก้ไขได้ด้วยการสวมแว่นสายตา ส่วนผู้ที่เป็นโรคต้อกระจก สามารถเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเพื่อให้กลับมามองเห็นได้เหมือนเดิม) อย่างไรก็ดี เมื่ออายุเข้าวัย 40 แล้ว ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาปีละครั้ง และเพิ่มเป็นปีละสองครั้งเมื่ออายุ 65 ขึ้นไป
นอกจากทั้งสามโรคที่กล่าวมา ยังมีโรคอื่นๆ ที่จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อเราเข้าสู่วัย 40 ไม่ว่าจะเป็น โรคกระดูกพรุน (โดยเฉพาะผู้หญิง) โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ (โดยเฉพาะผู้ชาย) เป็นต้น เพราะฉะนั้นหนุ่มๆ สาวๆ (ใหญ่) ที่เข้าสู่หลักสี่แล้ว อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีกว่าเดิม หลักง่ายๆ คือ กินอาหารที่มีประโยชน์ รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกาย และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
–
ที่มา:
businessinsider.com
healthline.com
alexanderorthopaedics.com
health.clevelandclinic.org
my.clevelandclinic.org
mayoclinic.org
pobpad.com