‘ลูกท้องผูก’ ปัญหาที่ต้องแก้ของคุณพ่อคุณแม่ 

Digestive / Health

“แงๆ แม่จ๋า หนูอึแล้วเจ็บก้น!” อาการท้องผูกในเด็กเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย แม้ไม่ได้เป็นโรคที่มีอันตรายรุนแรง และส่วนใหญ่ก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่อาการท้องผูกก็อาจสร้างความทรมานให้กับเด็กๆ ได้มิใช่น้อย และในบางรายที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังก็อาจส่งผลเสียต่อเนื่องทั้งทางกายและใจ ถ้าไม่รีบแก้ไขให้ถูกจุดอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตได้

ท้องผูกแบบไหนที่ควรรีบแก้ไข

อาการท้องผูกคือเวลาที่อุจจาระแห้ง แข็ง และถ่ายยาก บางครั้งบางคราวเราอาจมีอาการท้องผูกเกิดขึ้นได้ แต่หากสังเกตพบอาการต่อไปนี้เมื่อไหร่ ควรรีบแก้ไข ก่อนจะสายเกินไป

  • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่าสามครั้งต่อสัปดาห์
  • มีความเจ็บปวดหรือแสบร้อนขณะถ่ายอุจจาระ
  • ลักษณะอุจจาระแข็งเป็นเม็ดเล็กๆ หรือเป็นก้อนใหญ่ 
  • ต้องใช้แรงเบ่งมาก และเบ่งนาน
  • อาจมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ เนื่องจากขอบทวารหนักฉีก

อาการเหล่านี้แม้กระทั่งผู้ใหญ่ยังเจ็บปวดทรมาน ยิ่งเป็นเด็กเล็กๆ ยิ่งน่าสงสาร ถ้าสังเกตว่าเด็กมักร้องไห้โยเยทุกครั้งที่ขับถ่าย ผู้ปกครองควรตรวจสอบภาวะท้องผูก และรีบหาสาเหตุเพื่อแก้ไข

สาเหตุท้องผูก 

อาการท้องผูกอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่แล้วมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล ตัวอย่างเช่น 

  • กินอาหารที่มีกากใยน้อย ไม่ค่อยกินผักผลไม้
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไปในแต่ละวัน
  • ไม่ได้ฝึกขับถ่ายให้เหมาะสม ทำให้ไม่ได้ถ่ายอุจจาระทุกวัน
  • เด็กบางคนชอบอั้นอุจจาระไว้ไม่ยอมถ่าย เพราะติดเล่นจนเพลิน หรือบางคนไม่ชอบเข้าห้องน้ำที่โรงเรียนเพราะไม่สะอาด
  • สำหรับวัยทารก อาจเกิดอาการท้องผูกได้ในช่วงเริ่มเปลี่ยนไปกินอาหารชนิดอื่นที่นอกเหนือจากนม 
  • เผชิญความเปลี่ยนแปลงที่ต่างจากชีวิตประจำวัน หรือสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดก็อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ 
  • กินยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้ท้องผูก

ปรับพฤติกรรม ช่วยป้องกันท้องผูก

ปรับพฤติกรรมการขับถ่าย

  • ฝึกลูกให้นั่งขับถ่ายทุกวัน จัดเวลาอย่างน้อยวันละสองครั้ง (โดยเฉพาะหลังอาหาร) เพื่อสร้างนิสัยการขับถ่ายให้เกิดขึ้นเป็นนิสัย 
  • พ่อแม่ควรช่วยให้ช่วงเวลาขับถ่ายมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สนุกสนาน ไม่เคร่งเครียด ไม่บังคับ เพื่อให้ลูกเกิดทัศนคติที่ดีต่อการขับถ่าย (ปลดทุกข์อย่างเป็นสุข!)

ปรับพฤติกรรมการกิน

  • ดูแลให้ลูกดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ไม่ต่ำกว่าวันละ 3-4 แก้วต่อวัน 
  • อาหารทุกมื้อควรมีกากใย มีผักหรือผลไม้เพียงพอ รวมถึงธัญพืช และอาหารอื่นๆ ในสัดส่วนที่สมดุลตามวัย
  • กินอาหารฟาสต์ฟู้ดได้บ้าง แต่อย่ามากจนเกินไป เพราะอาหารประเภทนี้มักจะมีไฟเบอร์น้อย และย่อยยาก
  • เด็กๆ ไม่ควรดื่มชากาแฟหรือแม้กระทั่งน้ำอัดลม เพราะล้วนส่งผลต่อระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปทำให้แบคทีเรียดีในลำไส้ลดลง
  • กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ย่อยง่าย อาหารประเภทนมเปรี้ยว โยเกิร์ต หรืออาหารที่มีแบคทีเรียชนิดดี จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารและลำไส้แข็งแรง เพราะแบคทีเรียชนิดดีมีส่วนช่วยในการย่อยสารอาหาร และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดการท้องผูก หรือท้องเสียได้

สำหรับเด็กเล็กๆ ที่ยังดูแลตัวเองไม่ค่อยได้ ความใส่ใจของผู้ปกครองมีส่วนสำคัญมากต่อการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุท้องผูกที่พบได้น้อย เกิดจากความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท หรือต่อมไร้ท่อ หากปรับการเลี้ยงดูและพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วลูกยังไม่หายท้องผูก ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป

ที่มา: 
chulalongkornhospital.go.th
www.healthline.com 

บทความที่เกี่ยวข้อง