ชลภัทร คงศรีเจริญ ขับเคลื่อนความหลากหลาย
เพื่ออยู่ร่วมอย่างเท่าเทียม

ไม่กี่ปีมานี้ ประเด็นเรื่อง ‘ความหลากหลาย’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของเพศสภาพได้ส่งผลกระทบต่อคน ตั้งแต่ระดับปัจเจก ครอบครัว องค์กร ไปจนถึงสังคมในวงกว้าง แม้เราจะเห็นได้ว่าสิทธิต่างๆ ของประชาชนกลุ่ม LGBTQ+ ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ทว่าในด้านแรงงาน คนในกลุ่มดังกล่าวยังคงต้องพบกับความท้าทายมากมาย เป็นต้นว่าการถูกเลือกปฏิบัติและถูกจำกัดโอกาสในรูปแบบต่างๆ ในสถานที่ทำงาน วันนี้เราเลยชวน เฟียต-ชลภัทร คงศรีเจริญ พนักงานวิเคราะห์และวางแผน ส่วนกลยุทธ์การตลาดและบริหารผลิตภัณฑ์ Café Amazon มาคุยถึงประเด็นดังกล่าว ตั้งแต่การที่เธอเป็นคนในกลุ่ม LGBTQ+ ที่มีส่วนขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายภายในองค์กรที่เธอทำงานอยู่ ตลอดจนนโยบายขององค์กรที่ส่งเสริมและให้ความสำคัญกับคุณค่าของกลุ่มคนทุกเพศเพื่อผลักดันให้เกิดเป็นกลยุทธ์ในการสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นภายในสถานที่ทำงาน ตลอดจนมุมมองต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศของบ้านเราในปัจจุบัน 

‘โอกาส’ เพื่อการผลิบานและเติบโต 

เมื่อราวๆ 5 ปีก่อน เฟียตเริ่มต้นการทำงานด้านมาร์เก็ตติ้งในตำแหน่ง Marketing Intern ให้กับนิตยสาร Vogue Thailand เวลานั้นเธอรู้ตัวแล้วว่าตัวเองชอบงานในสายดังกล่าว จึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทสาขา Marketing Management ที่ University of Southampton ในอังกฤษ ก่อนจะกลับมาสานฝันกับงานด้านการตลาดในหลายๆ บริษัทชั้นนำของไทย ตั้งแต่บริษัท The Mall Group, บิวตี้แบรนด์อย่าง LESASHA กระทั่งได้มาเริ่มบทบาทพนักงานวิเคราะห์และวางแผน ส่วนกลยุทธ์การตลาดและบริหารผลิตภัณฑ์ของ Café Amazon ร้านกาแฟของคนไทยที่บริหารภายใต้ PTT Oil and Retail Business หรือ OR (บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)) นอกจากงานหลักอย่างการดูแลเรื่องการออกแบบ สื่อประชาสัมพันธ์ และแบรนดิ้งของแบรนด์แล้ว อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของเธอคือ การประชาสัมพันธ์เรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศภายในองค์กรที่เธอทำงานอยู่ 

“การสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศในองค์กรที่เฟียตร่วมงานด้วยเป็นการเปิดโอกาสที่ยอมรับทุกความแตกต่างและสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศในองค์กรอย่างเป็นกลาง ไม่แบ่งแยก และไม่เลือกปฏิบัติ โดยพิจารณาตามคุณสมบัติเฉพาะของตัวบุคคลให้เหมาะสมกับงานอย่างแท้จริง นอกจากนี้องค์กรยังมีแคมเปญ ‘OR = โอกาส’ ซึ่งแคมเปญดังกล่าวมีเป้าหมายใหญ่คือการสร้างโอกาส เพราะเราเชื่อว่า ‘โอกาส’ ไม่ได้ถูกสร้างมาจากคนเพียงคนเดียว แต่เกิดจากการร่วมสร้างไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่เคมีตรงกัน คู่ค้า หรือพนักงานที่คอยเติมเต็มโอกาสให้กันและกัน

ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นได้ว่าในแต่ละสาขาของ Café Amazon จะมีบุคคลข้ามเพศทำงานอยู่เยอะมากๆ ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน บาริสต้าหรือตัวเฟียตเอง เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นการสะท้อนทัศนคติของเราว่า เราไม่เคยปิดกั้นเรื่องเพศแม้แต่น้อย แต่เราจะมองถึงความสามารถและการปฏิบัติหน้าที่ของคนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด” 

เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม

นอกจากเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศแล้ว องค์กรยังส่งเสริมเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมกันด้านอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือ ‘Café Amazon for Chance’ โครงการพัฒนาศักยภาพ ฝึกทักษะอาชีพ และส่งเสริมอาชีพการเป็นบาริสต้าให้กับคนหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ ผู้พิการทางการได้ยิน, บุคคลออทิสติก, ทหารผ่านศึกและครอบครัว ไปจนถึงผู้สูงวัย กับปลายทางคือการสร้างงานที่มั่นคง ส่งเสริมคุณภาพชีวิต สร้างความเท่าเทียมในการดำรงชีวิตให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่เดินไปพร้อมชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2017 จนถึงตอนนี้ก็มีอายุได้ราว 5 ปีแล้ว ซึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญของโครงการคือ การสร้างโอกาสและรายได้เพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนในคนกลุ่มต่างๆ ในการสนับสนุนพวกเขา โครงการจะฝึกทักษะอาชีพ รวมไปถึงสร้างสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานให้เอื้ออำนวยต่อบุคลากรแต่ละกลุ่ม งานนี้นอกจากจะต้องอาศัยความละเอียดและความใส่ใจแล้ว เรายังนำเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ๆ เข้ามาใช้ออกแบบสถานที่และกระบวนการทำงานเพื่อให้คนกลุ่มต่างๆ สามารถรักษาประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน รวมถึงคุณภาพการบริการให้ได้ในแบบมาตรฐานของร้าน 

“สำหรับสาขาที่มีพนักงานเป็นผู้พิการทางการได้ยิน เราจะมีป้ายภาษามือตั้งให้กับลูกค้าว่าสั่งเมนูไหนต้องทำสัญลักษณ์มืออย่างไรเพื่อให้สื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ หรือในสาขาที่พนักงานเป็นผู้สูงวัย ภายในร้านจะมีการปรับเปลี่ยนเลย์เอาท์และสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น การออกแบบชั้นวางของที่เอื้อต่อการใช้งานในผู้สูงอายุ นี่คือ Support Design ของแต่ละสาขาที่ถูกนำมาประยุกต์เพื่อให้พนักงานซึ่งเป็นกลุ่มคนหลากหลายสามารถทำงานสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในอนาคต มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจมีแผนที่จะขยายไปยังกลุ่มอื่นๆ ด้วย

“ในเวลานี้ นอกจากประเทศไทยแล้ว โครงการนี้ยังได้ขยายไปยังประเทศข้างเคียงอย่างกัมพูชา ซึ่งที่นั่นมีพนักงานชาวกัมพูชาที่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน รวมถึงล่าสุด เรามีการขยายรูปแบบของสาขาให้เป็นคอนเซ็ปต์สโตร์ที่จะเน้นความเป็นชุมชน โดยจะนำเอาวัตถุดิบของชุมชนนั้นๆ มาสร้างเป็นเมนูเฉพาะ โดยเปิดสาขาแรกที่จังหวัดอยุธยา เมนูที่ถูกคิดค้นขึ้นจึงนำเอาสายไหมอยุธยามาทำเป็นเมนูที่มีเฉพาะในสาขานี้เท่านั้นเพื่อสนับสนุนสิ่งที่ชุมชนมี รวมถึงไปสร้างเป็นแลนด์มาร์กด้วยการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในชุมชน อย่างที่เฟียตบอก เราเติบโตมาได้ด้วยสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าเราจะอยู่ไหนก็ตาม เราจะนำสิ่งเหล่านี้ติดตัวไปด้วยเสมอ

โอบกอดความต่างอย่างเข้าใจ

“เฟียตคิดว่ามุมมองที่เปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายเกิดขึ้นได้จากปลูกฝังและขัดเกลา เฟียตขอยกตัวอย่างหนึ่งที่เคยเจอมา ตอนนั้นเฟียตยังเรียนอยู่ที่คณะสังคมสงเคราะห์ ธรรมศาสตร์ และมีโอกาสลงชุมชนเพื่อไปทำกิจกรรม ในระหว่างนั้นจะมีน้องๆ กลุ่มหนึ่งที่แซวเพื่อนของเฟียตซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศว่า “พี่เป็นกะเทย เป็นตุ๊ดเหรอคะ” นั่นเป็นคำพูดที่เขาถูกสอนมาในสังคม เพื่อนเฟียตคนนี้ใจเย็นมากๆ และก้มลงอธิบายกับน้องๆ ว่า “เรียกตุ๊ดไม่น่ารักเลยนะ เรียกอย่างอื่นไหม ลองเรียกพี่ว่าผู้หญิงข้ามเพศดูไหมคะ” ซึ่งน้องๆ เขาฟังนะคะและน่ารักมาก เขาตอบกลับมาว่า “ได้ค่ะ พี่ผู้หญิงข้ามเพศ” จากเหตุการณ์นั้นจึงทำให้เฟียตเชื่อว่าการขัดเกลาทางสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถาบันที่เล็กแต่แข็งแรงที่สุดอย่างครอบครัว รวมถึงการสอนผ่านระบบการศึกษาด้วย 

“ดังนั้น ในฟากของสังคม เฟียตอยากให้เราสร้างค่านิยมใหม่ว่า คุณค่าของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรามีสีผิว ชาติพันธุ์ หรือเพศสภาพแบบไหน แต่อยู่ที่คนคนนั้นสร้างคุณค่าต่อตัวเองและสังคมอย่างไร พวกเขาเคารพตัวเองและคนอื่นอย่างไร ซึ่งหากมีคนได้อ่านข้อความเล็กๆ เหล่านี้ เฟียตอยากให้ทัศนคติของ ‘การมองคนว่าเป็นคน’ ค่อยๆ กระจายต่อไปเรื่อยๆ นี่อาจจะไม่ได้เกิดและสำเร็จในรุ่นของพวกเราได้ในทันทีทันใด เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลาทั้งการสร้างและทำความเข้าใจ แต่หากเราเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ตอนนี้ ในอนาคต ความคิดที่ว่าจะเป็นสิ่งที่ค่อยๆ หยั่งรากลึกอยู่ในสังคม ซึ่งเราเริ่มเห็นใจที่เปิดกว้างของทั้งคนและสังคมมากขึ้นเยอะเลยในประเทศของเรา 

“ส่วนคนในกลุ่ม LGBTQ+ เองก็ต้องพยายามด้วยเหมือนกัน แทนที่จะนั่งจมอยู่กับความน้อยเนื้อต่ำใจว่าเราเกิดมาเป็นแบบนี้ เฟียตคิดว่าเราสามารถเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ อาจจะเป็นสิ่งที่เราถนัดหรือในสายงานของเราก่อน เช่น หากคุณอยากเป็นบล็อกเกอร์ เวลานี้มีบล็อกเกอร์ที่เป็น LGBTQ+ เยอะมาก และทุกคนสามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองด้วยมุมมองบวก แนวทางที่สร้างสรรค์ และเป็นแบบอย่างที่ดี ดังนั้น คุณเองก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ทุกคนเป็นต้นแบบในสายงานของตัวเองได้หมด เฟียตจึงอยากให้ทุกคนผลักดันตัวเองให้ไปได้ไกลที่สุดในสายงานและศักยภาพของเราจะไปถึง เพื่อเป็นพลังใจให้ตัวเองและเป็นบทเรียนหนึ่งให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ว่า ความหลากหลายมีอยู่ในโลกใบนี้ และนั่นไม่ใช่ข้อจำกัดให้ใครสักคนลดคุณค่าในตัวเองออกไป”

เพราะชีวิตที่เลือกเอง ฉันจึงมีความสุขได้ในแบบที่เป็น

“เอาจริงๆ เฟียตต้องพูดก่อนว่าประสบการณ์การทำงาน 4-5 ปี เฟียตเป็นคนโชคดีมากคนหนึ่ง แต่แน่นอนว่าต้องมีคนโชคไม่ดีที่อาจเจอความยากลำบากหรืออุปสรรคทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตเพราะเป็นกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งเฟียตมองว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เราพบเจอแต่เรื่องราวดีๆ ได้ เช่น การเลือกสถานที่เรียนหรือสถานที่ทำงาน เฟียตจะเลือกด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ว่าสถานที่นั้นตอบโจทย์ในสิ่งที่เราต้องการไหม ทั้งด้านการเรียนรู้และการส่งเสริมความสามารถ ที่นั่นมีสภาพแวดล้อมอย่างไร จะวิเคราะห์และประเมินก่อนเพื่อให้ตัวเองไปอยู่ในสังคมที่เหมาะสมกับเรา เป็นสถานที่ที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยทางกายและทางใจเสมอ เพราะเราอยากมีความสุขกับชีวิตโดยที่ไม่มีปมด้อยหรือแผลในใจ 

“สิ่งหนึ่งที่น่ายินดีมากๆ คือปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมีองค์กรที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศเพิ่มมากขึ้นเยอะ เป็นองค์กรที่ไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่จะสนับสนุนและส่งเสริมคนในองค์กรเพื่อให้เขาก้าวหน้าทั้งทางอาชีพและในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง ขณะเดียวกัน สังคมไทยในช่วง 10-20 ปีมานี้ เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนไปข้างหน้ามากพอสมควร คนเปลี่ยนมายด์เซ็ตกันแล้วในยุคนี้ และพวกเขาสอนลูกๆ ด้วยมุมมองและความคิดที่เปิดกว้าง รวมทั้งให้เกียรติคนอื่น เฟียตเชื่อว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เด็กในรุ่นถัดไปจะเติบโตมาพร้อมกับการยอมรับความแตกต่างเหล่านี้อย่างเข้าอกเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน เพราะว่าบรรยากาศในช่วงเวลาที่พวกเขาเติบโตมาเป็นแบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน (ยิ้ม)”

จุดเริ่มต้นลงมือทำจึงสำคัญยิ่ง 

“การมีโอกาสได้อยู่ในแคมเปญ ‘OR = โอกาส’ ที่ทำให้เฟียตได้เป็นเสมือนลำโพงเล็กๆ ที่สามารถบอกกับคนในสังคมว่า องค์กรที่พร้อมที่จะสนับสนุน ส่งเสริม และปฏิบัติต่อคนอย่างเท่าเทียมมีอยู่จริง ซึ่งองค์กรมีทัศนคติแบบที่มีใจเปิดรับและเปิดกว้างไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาใดๆ ในการทำงานแม้แต่น้อย แต่คนในองค์กรสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดีและมีความสุขในแบบตัวเองไปพร้อมๆ กันด้วย 

“การทำงานที่เกี่ยวข้องกับคน สังคม และชุมชน การได้เห็นการให้โอกาสจนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ขึ้นจากบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ทำให้เฟียตรู้สึกอิ่มเอมใจมากนะคะ เพราะทุกๆ ครั้งที่ได้ทำงาน เช่น ในบางพาร์ทที่จะต้องไปถ่ายงานน้องบาริสต้าซึ่งเป็นผู้พิการทางการได้ยิน เฟียตจะได้พลังงานดีๆ กลับมาเสมอ การได้สัมผัสกับความตั้งใจ ความอุตสาหะ และความเบิกบาน ยิ่งในวันที่ท้อหรือเหนื่อยจากงาน พลังงานดีๆ ที่พวกเขาส่งต่อมา เป็นเสมือนเชื้อไฟที่ทำให้เฟียตมีกำลังใจที่จะสานต่องานตรงนี้ต่อไปเพื่อส่งต่อพลังดีๆ ให้แก่กันไปเรื่อยๆ การเริ่มต้นสิ่งที่ดีจากตัวเราและแผ่ขยายไปสู่คนรอบข้างได้ของเฟียตอาจยังเป็นจุดเล็กๆ ในวันนี้ แต่เฟียตเชื่อว่าถ้าเราไม่เริ่มต้น ความเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็นคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และหากเราทำด้วยความตั้งใจดี สิ่งดีๆ จะผลิดอกออกผล แผ่ขยายกิ่งก้านออกไปเป็นต้นไม้ใหญ่ ปกคลุมให้สังคมเราเป็นสังคมที่ดีต่อไปได้ในอนาคตค่ะ (ยิ้ม)”

ภาพ: มณีนุช บุญเรือง
ขอบคุณสถานที่: Café Amazon (Vibhavadi 11)

Share :
go to top