ฉลอง ลอยสมุทร นักสร้างสรรค์ผู้ชุบชีวิตขยะจากทะเลสู่งานศิลป์รักษ์โลก

Human

โกตุ๊ก – ฉลอง ลอยสมุทร เติบโตมาในครอบครัวช่างไม้ โรงบ่มเพาะแห่งแรกที่หล่อหลอมให้เขามีทักษะในงานเชิงช่างและงานสร้างสรรค์ซึ่งใกล้เคียงกับศิลปะที่เขาสนใจและกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน แต่กว่าจะมาเป็นโกตุ๊กอย่างทุกวันนี้ เขาผ่านประสบการณ์ทำงานมาหลายอย่าง ตั้งแต่ผู้รับเหมา งานโรงแรม ช่างภาพ เปิดร้านอาหาร เป็นครูสอนเล่นเซิร์ฟ เปิดโรงเรียนสอนเซิร์ฟ เป็นนักเซิร์ฟสเก็ต ปัจจุบันเขาคือเจ้าของลานเซิร์ฟสเก็ต คาเฟ่ และอาร์ตแกลเลอรี่ชื่อว่า ‘รื่นรมย์’ ที่ตั้งอยู่ ณ บ้านเกิดที่หาดกะตะ จังหวัดภูเก็ต ตลอดจนเป็นผู้นำในการเก็บเศษไม้และขยะไร้ค่าจากทะเลมาแปลงเป็นงานศิลปะที่สวยงามและมีรูปแบบเฉพาะตัว อันเป็นภารกิจที่ทำให้โกตุ๊กไม่เพียงแต่จะถูกพูดถึงในฐานะนักอนุรักษ์ธรรมชาติและท้องทะเล อีกทั้งสร้างความตื่นตัวให้คนในพื้นที่หันมาสนใจสภาพแวดล้อมรอบๆ บ้านตัวเองเท่านั้น แต่สิ่งที่เขาทำตลอดหลายปีมานี้ยังทำให้โกตุ๊กได้รับรางวัล ‘ผู้เสียสละเพื่อสังคม’ จากการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมาด้วย ในวันที่เราได้คุยกัน โกตุ๊กนั่งแกะสลักเศษไม้ที่เพิ่งเก็บมาได้สร้างเป็นชิ้นงานศิลปะที่เขารัก พลางเล่าเรื่องราวชีวิตที่มีทั้งช่วงดีและร้าย ไปจนถึงการแสดงความรักของเขาที่มีต่อบ้านผ่านภารกิจจิตสาธารณะในการฟื้นคืนสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัยให้กับหาดกะตะและทะเลอันดามัน 

หัวหน้าเผ่าเซิร์ฟสเก็ตแห่งหาดกะตะ

เป็นที่ทราบกันดีว่าภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีคลื่นมรสุมจากทะเลอันดามัน โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมของทุกปี ที่นี่จึงเหมาะกับการแบกกระดานโต้คลื่นไปเซิร์ฟในหลายๆ หาดที่มีคลื่นลมแรงมากพอ ทั้งหาดป่าตอง หาดกะหลิม หาดสุรินทร์ หาดในทอน รวมถึงหาดกะตะสถานที่ที่โกตุ๊กเรียกว่าบ้าน ชายวัย 55 คนนี้ที่รู้จักกันดีในหมู่นักโต้คลื่น เล่าให้เราฟังว่าตัวเขาเกิดมากับทะเล ถือบอร์ดไปหัดเล่นเซิร์ฟตั้งแต่วัยรุ่น พอเล่นจนชำนาญจึงเปิดโรงเรียนสอนเซิร์ฟชื่อ ‘Surf Step Camp’ จนถึงเวลานี้เขายังสอนและชอบถือกระดาษโต้คลื่นลงทะเลในฤดูเล่นเซิร์ฟอยู่เสมอ แต่นอกเหนือจากการกิจกรรมบนกระดานโต้คลื่นแล้ว อีกกีฬาเอ๊กซ์ตรีมที่เขาชอบทำยังรวมไปถึงการไถเซิร์ฟสเก็ต กีฬาสุดฮิตในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วย   

“ปัจจุบันผมยังชอบทำกิจกรรมทั้งสองอยู่เสมอ เรื่องเล่นเซิร์ฟผมหัดมาตั้งแต่เด็กจนตอนนี้ก็ยังเล่นอยู่ ส่วนเซิร์ฟสเก็ตเป็นกิจกรรมที่เข้ามาทีหลัง เริ่มจากเพื่อนมาชวนเล่น เป็นสเก็ตสตรีทธรรมดาๆ นี่แหละ แรกๆ ผมเล่นเอาสนุก แต่มาเริ่มมาจริงจังตอนเกิดวิกฤตโควิดเมื่อ 3 ปีก่อน ตอนนั้นภูเก็ตประกาศปิดเมืองเพราะโรคระบาด เราไปไหนไม่ได้เลย 3 เดือน จึงมีเวลาได้ทำตามความฝันที่อยากมีคาเฟ่และลานสเก็ต ซึ่งเป็นกิจกรรมอยู่ในกระแสพอดี ผมเลยเป็นเจ้าแรกๆ ที่ได้เปิดลานเซิร์ฟสเก็ตและคาเฟ่ที่ชื่อ ‘รื่นรมย์’ ในภูเก็ต 

“การฝึกเซิร์ฟสเก็ตแบบจริงๆ จังๆ ทำให้ผมได้เจอกับกลุ่มเด็กเก่งๆ ที่มีความคิดดีๆ และสร้างสรรค์ ซึ่งพวกเขาตกงานกันเป็นแถบๆ ในช่วงโควิด พอเราเปิดร้าน เด็กเหล่านี้เลยเข้ามาใช้บริการ เข้ามาเที่ยว ได้รู้แบ็คกราวด์ของแต่ละคนว่าทำอะไรกันบ้าง จนกลายมาเป็นกลุ่มเพื่อน พี่ น้องที่สนิท ลานสเก็ตที่เปิดเลยกลายเป็นชุมชนเล็กๆ ที่เป็นที่รวมตัวของเด็กที่มีความรู้ความสามารถเยอะเลย พวกเราเลยมีโอกาสแลกเปลี่ยนทั้งประสบการณ์ชีวิต สิ่งที่พวกเราทำ รวมถึงได้เรียนรู้การใช้ชีวิตของกันและกัน” 

หลังจากลานสเก็ตและคาเฟ่ที่พักเบรกไปชั่วคราวจากความนิยมที่ลดลงไปของเซิร์ฟสเก็ตเมื่อปีก่อน หลังสงกรานต์ 2566 ที่ผ่านมาก็ได้กลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง แต่คราวนี้โกตุ๊กวางแผนที่จะเพิ่มกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ให้เด็กๆ ที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมได้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มฟังก์ชั่นให้รื่นรมย์เป็นพื้นที่แสดงศิลปะ โดยโฟกัสไปที่กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่ยังขาดเวทีและพื้นที่แสดงออกควบคู่กันไปด้วย 

“อย่างที่บอกว่าลานสเก็ตเป็นที่รวมตัวของเด็กเก่งๆ  ผมจึงแพลนว่าจะเพิ่มกิจกรรมทางศิลปะรูปแบบต่างๆ เข้ามาในรื่นรมย์ โดยจะเป็นในลักษณะของเวิร์กช็อปจากกลุ่มน้องๆ ที่ผมรู้จัก มีทั้งผ้ามัดย้อม งานกราฟิก กราฟิตี้ เราจะผลัดเปลี่ยนกิจกรรมให้หลากหลายเพื่อให้เด็กๆ มีโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และแสดงออกผ่านงานสร้างสรรค์เหล่านี้ ในส่วนของผม ผมจะไปเก็บขยะแล้วชวนพวกเขามาทำเป็นงานศิลปะด้วยกัน โดยจะสอดแทรกในเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าไปด้วย นอกจากนี้ผมจะเพิ่มพื้นที่อาร์ตแกลเลอรี่เพื่อให้ศิลปินรุ่นใหม่ที่ไม่มีพื้นที่แสดงความสามารถได้มาจัดแสดงผลงานของพวกเขาได้” 

สื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านขยะจากทะเล

หลังจากที่โกตุ๊กเล่าให้เราฟังถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ในเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เขาทำอยู่ เราเลยถามย้อนไปที่จุดเริ่มต้นว่ามีที่มาที่ไปจากไหน

“เรื่องเก็บขยะ ถ้านับจริงๆ น่าจะ 10 ปีได้แล้ว ด้วยความที่ตัวผมเป็นคนชอบทำกิจกรรมเอ้าท์ดอร์ ชอบออกกำลังกาย ทั้งวิ่ง ทั้งเล่นกระดานโต้คลื่นตอนเช้าๆ ซึ่งผมมักจะเห็นขยะเกลื่อนทั้งบนหาดและในทะเล ตอนแรกผมคิดเพียงแค่ว่าทำไมขยะเยอะจัง อยากจะทำอย่างไรก็ได้ให้หาดกะตะซึ่งเป็นบ้านของผมสะอาด แค่นั้นเลย”

ทุกๆ วันหลังเสร็จจากกิจกรรมในตอนเช้า โกตุ๊กจะใช้เวลาราวๆ 1 ชั่วโมงในการเก็บขยะ ทั้งขยะที่เขาหอบขึ้นมาจากทะเลพร้อมกระดานโต้คลื่น รวมทั้งขยะบนชายหาด ซึ่งนอกจากขยะพลาสติกและขยะทั่วๆ ไปแล้ว สิ่งที่เขาพบมากคือเศษไม้และท่อนไม้ต่างๆ ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าไร้ค่า แต่เพราะความรักในไม้ รวมทั้งการเกิดมาในตระกูลช่างไม้ เขาจึงเก็บเศษไม้เหล่านั้นมารวบรวมไว้แล้วมาดูว่าเศษไม้เหล่านี้สามารถนำมาทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้บ้าง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแปรขยะไร้ค่าให้กลายเป็นผลงานศิลปะขึ้น 

“ผมไม่ได้เรียนมาทางศิลปะเลยครับ แต่เป็นคนชอบงานศิลปะและชอบทำ ถามว่าความชอบศิลปะของผมมาจากไหน ก็คงมาจากคุณพ่อที่เป็นช่างไม้ ท่านเป็นคนสร้างบ้านไม้โบราณที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่หลังในตำบลกะรน ผมไม่ได้เก่งเท่าพ่อนะ แต่คงได้ทักษะเรื่องงานเชิงช่างจากพ่ออยู่บ้าง พอโตขึ้น ผมมีโอกาสฝึกฝนทักษะจากงานต่างๆ ทั้งการทำงานในห้องจัดเลี้ยงที่โรงแรมซึ่งทำให้ผมมีประสบการณ์เรื่องงานตกแต่ง ไปจนถึงการเป็นช่างภาพที่ได้ที่เริ่มทำคู่กันไปตอนทำงานโรงแรม นี่คงเป็นประสบการณ์ที่หล่อหลอมให้ผมชอบความสวยงาม งานศิลป์ และพอจะทำงานศิลปะได้บ้าง ผมเริ่มจากการดูงานของคนอื่น แล้วใช้ทักษะจากงานไม้ที่เคยช่วยคุณพ่อมาต่อยอดขยะที่เก็บมาแล้วทำเป็นชิ้นงานขึ้นจนงานเริ่มมีเอกลักษณ์เป็นของเราเอง”  

ประติมากรรมรูปปลาหลากหลายชนิด ถ้วยรางวัล ตลอดจนของตกแต่งอื่นๆ ที่มีมากกว่า 1,000 ชิ้น โกตุ๊กแกะสลักขึ้นจากไม้ที่เก็บมาได้ ซึ่งกว่าจะได้งานออกมา เขาต้องใช้เวลาไม่น้อยเลย และเมื่อชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์ เขามักจะนำงานชิ้นนั้นๆ มาโพสต์ขายในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยไม่รับเป็นเงินสด แต่ขอให้ซื้อด้วยอุปกรณ์การเก็บขยะ ทั้งถุงมือ หน้ากากอนามัย ไม้คีบขยะเพื่อแจกจ่ายให้กับเหล่าอาสาสมัครและบุคคลทั่วไปที่สนใจมาเก็บขยะบริเวณชายหาดร่วมกัน นอกจากนี้ เขายังสร้างสรรค์ผลงานจากขยะที่เก็บมาได้เพื่อการกุศลอีกด้วย อย่างล่าสุดในงาน Hua Hin Surf Festival เทศกาลโต้คลื่นและดนตรีที่เพิ่งจัดขึ้นที่หัวหิน เขาเสนอตัวเข้าไปทำถ้วยรางวัลจากขยะ เพราะต้องการสนับสนุนผู้จัดการแข่งขัน รวมทั้งเป็นกระบอกเสียงเรื่องการดูแลและรักษาธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน 

“นอกจากจะลงมือทำเองแล้ว บางครั้งผมยังชวนคนที่สนใจว่าอยากมาเก็บขยะด้วยกันไหม โดยแลกกับการสอนเล่นเซิร์ฟให้ฟรี เพราะผมอยากสอดแทรกเรื่องเหล่านี้ให้กับคนมากกว่าไปเชิญชวนมาเก็บขยะแบบโต้งๆ ปรากฏว่าผมได้แนวร่วมเยอะขึ้นมาก สิ่งที่ผมดีใจมากที่สุดคือการได้เห็นเด็กๆ รวมถึงนักกีฬาเซิร์ฟเวลาเดินขึ้นมาจากน้ำ พวกเขาเก็บขยะติดมือขึ้นมาแบบอัติโนมัติเลย แล้วพวกเขาทำกันเองโดยที่ไม่มีผมด้วยนะ (ยิ้ม) มีคำคำหนึ่งที่ผมพูดมาตลอดคือ ‘บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ก้มลงไปเก็บขยะที่ไหนในโลกสักหนึ่งชิ้นแล้ว บุคคลนั้นจะไม่ทิ้งขยะลงบนโลกนี้อีกเลย’ เพราะในวันที่เขาเป็นคนเก็บ เขาจะไม่ทิ้งอีกต่อไป เพราะเขารู้ว่ามันจะสกปรก เขาจะทิ้งเป็นที่เป็นทาง ซึ่งหลายปีมานี้ผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ชัดเจนขึ้นเยอะ” 

ถึงแม้ในเวลานี้ ขยะในบริเวณรอบๆ บ้านของเขาจะยังไม่หมดไป แต่โกตุ๊กเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำ อย่างน้อยๆ จะช่วยเตือนใจและสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาเก็บขยะและดูแลสถานที่ที่เป็นบ้านของพวกเขามากขึ้น 

สุขให้ง่าย ทุกข์ให้ยาก 

“ไม่ใช่เรื่องแปลกเวลาที่ใครทำอะไรเพื่อประโยชน์สาธารณะมักจะถูกตั้งคำถาม เจอแรงเสียดทานจากภายนอก ทั้งจากคำพูดหรือการแสดงออก เช่นว่า เรื่องเก็บขยะที่ผมทำอยู่จนถึงตอนนี้ ทำก็เพื่อเอาหน้า ไม่ได้ทำเพราะอยากทำจริงๆ หรอก หรือหลายคนอาจมองว่า โกตุ๊กจะทำอะไรก็ได้ อยากขี่ฮาร์ลี่ย์ อยากเป็นนักไตรกีฬา อยากมีลานสเก็ตหลังบ้าน อยากมีร้านกาแฟเท่ๆ หรือตอนผมเป็นพนักงานเสิร์ฟในโรงแรม เวลาเดียวกันนั้น ผมฝันอยากเป็นช่างภาพ ผมก็ได้ทำทั้งหมด ที่ทำได้คงเพราะโกตุ๊กมีสตางค์สิ แต่กว่าผมจะทำแต่ละอย่างสำเร็จ ผมไม่ได้พูดแล้วจะทำได้ทันที แต่คนมาเห็นในวันที่ผมทำมันได้แล้วต่างหาก เช่นเดียวกันกับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เส้นทางของมันไม่ได้ง่าย ผมต้องลงมือทำและฝ่าฟันมาเหมือนกันกว่าจะมีวันนี้ เวลาเจออุปสรรคระหว่างทางแบบนั้น ผมจะปล่อยวางและมุ่งมั่นทำต่อไป และที่ผมทำได้มาจนถึงวันนี้ส่วนสำคัญคงเพราะผมโชคดีที่มีคนคอยซัพพอร์ตในทุกๆ ช่วงของชีวิต โดยเฉพาะภรรยาและครอบครัวที่สนับสนุนผมเสมอ ผมจึงสามารถตามเก็บฝันเล็กๆ และสิ่งที่อยากทำได้ทีละอย่าง และทุกอย่างที่ทำ ผมไม่ได้ทำเพื่อชัยชนะ ไม่ได้ทะเยอทยาน แต่ใช้ความสนุกและความสุขในการขับเคลื่อนฝันของผม

“การใช้ชีวิตมาถึงตอนนี้ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ผมรู้สึกว่าตัวเองปล่อยวางได้มากขึ้น ช่างมันกับอะไรต่อมิอะไรง่ายขึ้น คิดเพียงแค่ว่าตราบใดสิ่งที่เราทำไม่ได้ไปทำความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ได้เบียดเบียนใคร เป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์กับเรา ส่งผลดีต่อส่วนรวม ผมจะไม่นำความคิดและการกระทำที่จะมากระทบใจเรามาคิดให้เสียเวลา พอไม่เอาเรื่องพวกนี้มาทำให้รกสมอง เวลาส่วนใหญ่ของผมเลยหมดไปกับการเล่นกีฬาให้เหนื่อย ให้สนุก ให้มีความสุข เดี๋ยวเดียวก็ลืมเรื่องทุกข์ไปแล้ว ตอนนี้ผมเกษียณแล้ว ใช้ชีวิตและทำอะไรโดยมีความสุขเป็นที่ตั้ง ปัญหาที่พบ มักจะเป็นปัญหาที่เรามีความสุขที่จะเข้าไปแก้ไข นั่นเลยทำให้แก้ง่ายมาก หรือถ้ามองแล้วว่าทางเดินนี้จะพาไปเจอปัญหา ผมเลือกที่จะไม่เดินเข้าไปเจอปัญหานั้น ไม่ใช่หนีปัญหานะครับ แต่ใช้เส้นทางอื่นที่ไปเจอจุดหมายเดียวกันของเรา

“ความสุขในวัยนี้ของผมจึงเรียบง่ายมาก ผมมีความสุขกับงานทุกชนิดที่ได้ทำอยู่ มีความสุขกับการเล่นสเก็ต เล่นเซิร์ฟ การทำให้บ้านผมสะอาด มีพื้นที่แสดงศิลปะที่ผมรัก ผมสุขที่ได้เก็บขยะและสร้างศิลปะของผมเองจากขยะ ยิ่งไปกว่านั้นคือการได้ถ่ายทอดและปลูกฝังความคิดเชิงอนุรักษ์ให้กับเด็กๆ ชีวิตตอนนี้ถือว่าลงตัวแล้วนะ (ยิ้ม)” 

ภาพ: ธวัชชัย แสงมณี
เพิ่มเติม: รื่นรมย์

บทความที่เกี่ยวข้อง