เพราะชื่อที่ใกล้เคียงกัน ทำให้หลายคนมักสับสนระหว่าง โพรไบโอติกส์ (Probiotics) และ พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) เวลาพลิกฉลากข้างผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ แล้วเจอสองคำนี้ เป็นต้องนั่งงงอยู่นานทุกที! เพราะฉะนั้นวันนี้ เรามาไขข้อสงสัยด้วยข้อมูลเบื้องต้นกัน
โพรไบโอติกส์ = จุลินทรีย์ชนิดดี
จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่พบได้ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ดิน น้ำ พืช สัตว์ หรือแม้แต่ในร่างกายของคนเราเองก็ตาม จุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์มีทั้งจุลินทรีย์ชนิดดีที่เป็นประโยชน์และชนิดที่เป็นโทษ ซึ่งจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายก็คือโพรไบโอติกส์นั่นเอง
โพรไบโอติกส์ที่ว่าดี ดียังไง?
โพรไบโอติกส์ในปริมาณที่เหมาะสมมีบทบาทช่วยให้ระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามปกติแล้วร่างกายของเราจะมีโพรไบโอติกส์ที่ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว แต่ในหลายครั้ง เราจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์เข้าไปเพิ่มเติมด้วย เพราะร่างกายอาจสูญเสียโพรไบโอติกส์ไปจากการย่อยอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ หรืออาจมาจากสาเหตุอื่น เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ การใช้ยาบางชนิด เป็นต้น ทำให้จุลินทรีย์ชนิดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายทำงานได้ดีขึ้น และส่งผลเสียต่อสุขภาพจนอาจเกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องผูก ท้องเสีย อาการภูมิแพ้ หรืออาจก่อให้เกิดโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) และโรคที่มีการอักเสบของทางเดินอาหารเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease)
นอกจากนั้น โพรไบโอติกส์ อย่าง แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) บางสายพันธุ์ ยังช่วยป้องกันหรือรักษาการติดเชื้อราในช่องคลอด การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรืออาการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น แผลร้อนใน เริมริมฝีปาก เป็นต้น
โพรไบโอติกส์แบบธรรมชาติหรืออาหารเสริม อันไหนดีกว่ากัน?
อาหารที่ผ่านการหมักคืออาหารที่มักพบโพรไบโอติกส์ เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโซะ ถั่วเหลืองหมัก (Tempeh) กะหล่ำปลีดอง (Sauerkraut) ขนมปังเปรี้ยว (Sourdough bread) แตงกวาดอง และชีสบางชนิด โดยกระบวนการหมักอาหารตามธรรมชาตินี้จะก่อให้เกิดจุลินทรีย์ชนิดดีเป็นจำนวนมาก
หากเรารับประทานอาหารที่ผ่านการหมักเหล่านี้เป็นประจำในปริมาณที่เหมาะสม ก็ไม่มีความจำเป็นต้องบริโภคอาหารเสริมที่มีโพรไบโอติกส์ เพราะจริงๆ แล้ว อาหารเสริมประเภทโพรไบโอติกส์มักเป็นอาหารที่แพทย์แนะนำสำหรับผู้ป่วยบางรายเพื่อรักษาอาการเฉพาะบางอย่างเท่านั้น และยังไม่สมควรบริโภคเป็นประจำทุกวันอีกด้วย
Note:
อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะไม่ใช่อาหารที่ผ่านกระบวนการหมักทุกชนิดจะอุดมไปด้วยโพรไบโอติกส์เสมอไป อย่างน้อยก็ไม่ใช่เบียร์และไวน์แน่ๆ! เพราะอาหารและเครื่องดื่มที่ผ่านกรรมวิธีบางอย่าง เช่น การบรรจุขวด การอบด้วยความร้อน จะสูญเสียโพรไบโอติกส์ไประหว่างกระบวนการผลิต
พรีไบโอติกส์ = อาหารของโพรไบโอติกส์
รู้จักโพรไบโอติกส์แล้ว ทีนี้ก็ถึงคิวของพรีไบโอติกส์กันบ้าง
พรีไบโอติกส์เป็นใยอาหารที่ไม่ถูกย่อยหรือดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร แต่กลับเป็นอาหารชั้นดีของโพรไบโอติกส์ ที่ช่วยให้โพรไบโอติกส์เพิ่มปริมาณและทำงานได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนั้น พรีไบโอติกส์ยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ดีขึ้น และอาจยังมีส่วนช่วยป้องกันโรคบางชนิดได้อีกด้วย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งลำไส้ โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นต้น
พรีไบโอติกส์จึงไม่ได้จำเป็นต่อโพรไบโอติกส์เท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อร่างกายด้วย
รับประทานพรีไบโอติกส์อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด?
พรีไบโอติกส์มักพบได้ในผักผลไม้ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีคาร์โบรไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrate) หรือ คาร์โบรไฮเดรตที่ไม่ผ่านกรรมวิธีหรือการขัดสี และผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยแป้งต้านทานการย่อย (Resistant Starch) หรือแป้งที่ไม่ถูกย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ทำให้สามารถผ่านเข้าไปยังลำไส้ใหญ่ และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ผักผลไม้ในประเภทนี้ เช่น กระเทียม หัวหอม ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต แอปเปิล กล้วย มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผักผลไม้เหล่านี้อาจมีพรีไบโอติกส์ลดลงเมื่อผ่านกระบวนการทำอาหารด้วยความร้อน นักโภชนาการจึงแนะนำให้บริโภคผักผลไม้แบบดิบเพื่อรักษาคุณค่าทางอาหารไว้
ทีนี้เราก็รู้แล้วว่าร่างกายของเราต้องการทั้งโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์เพื่อรักษาสมดุลลำไส้ ระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุมกัน แต่นอกเหนือจากการเลือกบริโภคอาหารที่มีโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์แล้ว ก็อย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะการรักษาสมดุลชีวิตที่ดีก็มีส่วนช่วยรักษาสมดุลของโพรไบโอติกในร่างกายได้เช่นกัน
ที่มา:
health.harvard.edu
healthline.com
pobpad.com/probiotics
pobpad.com/prebiotics