Bye Bye Plastic Bags สองสาวน้อยปลุกพลังเปลี่ยนโลก ลดขยะพลาสติก

Care / Social Care

เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะมีสถานที่ในดวงใจที่มีธรรมชาติบริสุทธิ์สวยงามจนคุณรักและผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศที่คุณเดินทางไปเยี่ยมเยียนบ่อยครั้ง แต่… เมื่อเวลาผ่านไป คุณกลับพบว่าสถานที่ที่คุณผูกพันเหล่านั้นมีขยะพลาสติกเพิ่มจำนวนมากเรื่อยๆ จนคุณอดคิดไม่ได้ว่าอยากจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องธรรมชาติที่คุณรักให้กลับมาสวยงามดังเดิม

เพียงแต่… คุณอาจมีคำถามว่า แล้วเราจะสามารถปกป้องที่ที่เรารักได้อย่างไร? หรือจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี?

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าวและมีคำถามอย่างที่เราว่ามา เราแนะนำให้เริ่มต้นจากการอ่านเรื่องราวดีๆ ของ Bye Bye Plastic Bags (BBPB) ที่เรานำมาฝากในครั้งนี้กันค่ะ

BBPB เป็นองค์กรขนาดเล็กไม่แสวงหาผลกำไรจากบาหลี อินโดนีเซีย ที่มีเป้าหมายหลักคือรณรงค์ให้ชาวบาหลีเลิกใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic bags) โดยนอกจากวิธีการทำงานของพวกเขาจะสามารถเป็นแนวทางให้ใครก็ตามที่อยากรณรงค์การลด-ละ-เลิก ใช้ single-use plastic ได้นำไปใช้ด้วยแล้ว เราก็ยังเชื่อว่าเรื่องราวของ BBPB น่าจะสร้างแรงบันดาลใจชั้นเยี่ยมให้หลายคนลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย เพราะเชื่อไหมว่า BBPB ขับเคลื่อนด้วยทีมงานทั้งหมดที่เป็นเยาวชน และก่อตั้งโดยเด็กสาวอายุแค่ 12 และ 10 ปี เท่านั้น!

หลายปีก่อน Melati และ Isabel Wijsen สองพี่น้องชาวอินโดนีเซียวัย 12 และ 10 ปี ได้เรียนรู้เรื่องราวของบุคคลสำคัญของโลกอย่าง เนลสัน แมนเดลา และ มหาตมา คานธี ในห้องเรียน ทำให้พวกเธอได้รับแรงบันดาลใจและกลับมาบ้านพร้อมคำถามว่า “ถึงจะเป็นเด็กที่อาศัยอยู่ที่เกาะบาหลี แต่เราจะทำอะไรได้บ้างที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น”

ระหว่างที่ค้นหาคำตอบนั้น สองสาวก็ทำการรีเสิร์ชและพบว่า อินโดนีเซีย ประเทศบ้านเกิดของพวกเธอเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากเป็นอันดับสองของโลก ในขณะที่ในเวลาเดียวกันนั้น หลายประเทศเกือบทั่วโลกที่เล็งเห็นถึงมหันตภัยของขยะพลาสติกได้ออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ไปแล้วเรียบร้อย

นี่เองคือจุดเริ่มต้นของ Bye Bye Plastic Bags ในปี 2013 ที่ก่อตั้งขึ้นโดยเด็กหญิงตัวเล็กๆ แต่ใจใหญ่สองคน

การทำงานของ BBPB เพื่อรณรงค์ให้เกาะบาหลีปลอดจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง วางอยู่บน 3 แนวทางหลัก คือ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมลพิษของขยะพลาสติก จัดกิจกรรมเก็บขยะ และเข้าหาผู้มีอำนาจในการออกกฎหมาย

เริ่มจากข้อแรก การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภัยของขยะพลาสติกนั้นเป็นสิ่งที่สองสาวจาก BBPB มองว่าสำคัญที่สุด เพราะพวกเธอเชื่อว่าการที่คนเราจะเห็นความจำเป็นของการลงมือทำอะไรสักอย่าง พวกเขาก็ต้องเข้าใจถึงความสำคัญของปัญหาเสียก่อน พวกเธอเลือกเริ่มต้นให้ความรู้เกี่ยวกับขยะพลาสติกกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ด้วยการนำเสนอหน้าชั้นเรียนในโรงเรียนต่างๆ รวมทั้งจัดทำแผ่นพับสำหรับให้ข้อมูลความรู้เพื่อเผยแพร่เกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกที่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อย่างที่หลายคนคิดกัน

นอกจากนั้น BBPB ก็ยังจัดกิจกรรมเก็บขยะตามชายหาดเป็นประจำเรื่อยมา และในปี 2017 ก็มีโครงการ One Island One Voice ที่นอกจากจะขยายกิจกรรมเก็บขยะประจำปีไปในสถานที่ต่างๆ ของบาหลีกว่า 430 แห่ง มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 60,000 คน และสามารถเก็บขยะได้มากกว่า 155 ตันแล้ว One Island One Voice ก็ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมให้องค์กรและผู้ประกอบการต่างๆ ในบาหลีได้มาแบ่งปันข้อมูลความรู้และแนวทางที่จะช่วยให้พวกเขารักษาสิ่งแวดล้อมของบาหลีไว้ได้

สุดท้าย เพราะเป้าหมายสูงสุดอันหนึ่งของ BBPB คือการแบน single-use plastic ดังนั้นแนวทางการทำงานที่ขาดไปไม่ได้อีกเหมือนกัน คือ การเข้าหาผู้ที่มีอำนาจในการออกกฎหมาย โดยพวกเธอใช้วิธีต่างๆ เรียกความสนใจจากภาครัฐให้หันมามองปัญหาพลาสติก และ… หลังจากมุ่งมั่นรณรงค์มา 6 ปี การทำงานของ BBPB ก็เป็นผล

ในวันที่ 23 มิถุนายน 2019 ที่นับเป็นเวลา 6 ปีหลังจาก BBPB ก่อตั้งขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดบาหลีได้ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบ single-use ที่รวมถึงหลอดพลาสติกและกล่องโฟมบนเกาะบาหลี และให้ผู้ประกอบการหาวัสดุแบบยั่งยืนอื่นๆ มาใช้ทดแทนพลาสติก โดยหากไม่ปฏิบัติตามอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการทางธุรกิจได้

แน่นอนว่านโยบายข้อปฏิบัติดังกล่าวคือความสำเร็จอันสวยงามของ BBPB แต่… เรากลับมองว่านั่นไม่ใช่ความสำเร็จที่สวยงามที่สุดของพวกเขา เพราะเรื่องราวของ Melati และ Isabel รวมทั้งทีมงาน BBPB ที่ล้วนเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ หลายคนในหลายประเทศ จนเด็กๆ ต่างเชื้อชาติต่างศาสนาที่ได้รับรู้เรื่องราวของ BBPB เกิดคำถามขึ้นมาบ้างว่า “แล้วพวกเราจะทำอย่างที่ BBPB ทำได้อย่างไร”​

ในปี 2019 Melati ในวัย 18 ปี เดินทางไปพบเยาวชนนักเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนในเกือบทั่วโลก เพื่อที่จะให้การต่อสู้กับพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งดำเนินต่อไปในวงกว้าง เรื่องราวการเดินทางครั้งนั้นของเธอถูกถ่ายทอดมาเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Bigger Than Us (2021) ที่ได้ไปฉายที่ Cannes Film Festival ในปี 2021 และการเดินทางครั้งนั้นก็ยังได้ผลลัพธ์เป็น BBPB ทุกวันนี้ที่ไม่ได้ต่อสู้กับพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเพียงแค่ในอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ BBPB ยังมีหัวหน้าของแต่ละประทศอีกราว 60 คน ในเมืองและประเทศต่างๆ เช่น กรีซ อียิปต์ ลอนดอน เซี่ยงไฮ้ อินเดีย ญี่ปุ่น รวมถึงไทย และอีกหลายประเทศ โดยทั้งหมดร่วมกันทำงานเพื่อต่อสู้กับขยะพลาสติกที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร อยู่ในวัยผู้ใหญ่ กลางคน หรือว่าเข้าสู่วัยชรา เราหวังว่าเรื่องราวที่น่ารักของเด็กๆ จาก Bye Bye Plastic Bags จะสร้างแรงบันดาลใจให้คุณทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ถึงขั้นสร้างความเคลื่อนไหวอย่าง BBPB แต่อย่างน้อยๆ การช่วยลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งและการแยกขยะเพื่อกำจัดอย่างถูกต้องในครัวเรือน ก็สามารถช่วยลดขยะพลาสติกได้แล้ว

อย่าลืมนะคะว่า สิ่งที่เราทำนี่ก็ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเราเองเพียงอย่างเดียว แต่เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของเด็กรุ่นใหม่ที่พวกเขาล้วนอยากอาศัยอยู่กับธรรมชาติที่สวยงามด้วยเช่นกัน

ที่มา:
byebyeplasticbags.org
rusticpathways.com
unesco.org
wikipedia.org

บทความที่เกี่ยวข้อง