ทุกวันนี้ ความเจ็บป่วยทางใจมีมากมายหลายรูปแบบ เราจึงควรเรียนรู้ทำความรู้จักโรคภัย รวมทั้งคอยสังเกตตัวเองและคนรอบข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคทางใจเหล่านั้นสร้างความเสียหายแก่สุขภาพและชีวิต หนึ่งในภาวะความเจ็บป่วยทางจิตใจที่หลายคนเป็นกันมาก โดยเฉพาะคนในวัยทำงาน คือ ภาวะหมดไฟ หรือที่เรียกกันว่า burnout แต่เชื่อไหมว่า หลายคนไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเบิร์นเอาท์ทำให้ไม่ได้เยียวยาตัวเองให้ถูกจุด เพราะฉะนั้นเรามาทำความรู้จักภาวะหมดไฟที่ว่ากันดีกว่าค่ะ
ภาวะหมดไฟ หรือ burnout คืออะไร?
ภาวะหมดไฟคือ ภาวะเหนื่อยล้าทางอารมณ์ จิตใจ และร่างกาย ที่เกิดจากการสะสมความเหนื่อยล้าที่เกิดกับร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เป็นเวลาต่อเนื่องกันยาวนาน เมื่อคุณเกิดอาการเบิร์นเอาท์คุณมักจะรู้สึกหมดไฟ ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไร แม้แต่กิจกรรมที่คุณเคยชอบทำ คุณอาจเลิกสนใจสิ่งสำคัญต่างๆ ในชีวิต มองโลกในแง่ร้าย และรู้สึกสิ้นหวัง
ส่วนมากแล้ว ภาวะหมดไฟมักเกิดกับคนที่ทำงานหนักและสะสมความเหนื่อยล้า ความเครียด ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน แต่ในอีกกรณีหนึ่งที่พบได้บ่อยไม่แพ้กัน คือ การสะสมความเหนื่อยล้า ความเครียด และความกดดันจากภาระความรับผิดชอบในชีวิต เช่น ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในครอบครัว (caregiver) เป็นเวลานาน หรืออาจเป็น แซนด์วิชเจเนอเรชัน (Sandwich Generation) ที่ต้องรับบทบาทดูแลทั้งพ่อแม่ที่สูงอายุและลูกหลานที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เต็มที่
สัญญาณของภาวะหมดไฟ
ถ้าคุณกำลังสงสัยว่าตัวเองอยู่ในภาวะหมดไฟหรือเปล่า ลองดูเช็กลิสต์ทางด้านล่างนี้ค่ะ โดยผู้ที่เกิดภาวะหมดไฟมักมีอาการแสดงให้เห็นทั้งทางกาย อารมณ์ และมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม
อาการทางกาย
- ปวดหัว
- ปวดท้องหรือมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพลำไส้
- รู้สึกเหนื่อยล้าเป็นประจำ
- ป่วยบ่อย
- มีพฤติกรรมการกินอาหารและนอนหลับที่เปลี่ยนไปจากเดิม
อาการทางอารมณ์
- รู้สึกหดหู่สิ้นหวัง ว่างเปล่า วิตกกังวล
- มองโลกในแง่ร้าย
- รู้สึกล้มเหลวในชีวิตและไม่มั่นใจในตัวเอง
- รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว
- มีความพอใจต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิตลดลง
- ขาดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆ
พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
- มีความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันลดลง
- ทำงานหนักเกินไปเพราะกลัวความล้มเหลว โดยบางรายอาจทำงานหนักจนถึงขั้นไม่ใส่ใจสุขภาพและความสุขของตัวเอง
- มักแยกตัวออกจากสังคม เพราะรู้สึกเป็นภาระที่ต้องเข้าสังคมกับคนรอบข้าง หรือโกรธง่ายเมื่อมีคนวิจารณ์ตัวคุณ
- มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่เปลี่ยนไป เช่น มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ทะเลาะกับเพื่อนและคู่ชีวิตบ่อยครั้ง ไม่ใส่ใจครอบครัวและคนรอบข้าง เป็นต้น
- ชอบผัดวันประกันพรุ่ง
- ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มักระเบิดอารมณ์ออกมาบ่อยๆ
- อาจมีพฤติกรรมยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์
สาเหตุและวิธีการเยียวยาภาวะหมดไฟ
อย่างที่เราบอกไปข้างต้นว่าสาเหตุของภาวะหมดไฟนั้นเกิดจากการสะสมความเหนื่อยล้าทั้งทางกาย ใจ และอารมณ์ ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน แต่ความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นของแต่ละคนนั้นก็อาจมีสาเหตุแตกต่างกันไป เราจึงต้องมาดูกันที่รายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อที่จะแก้ปัญหาและเยียวยาภาวะหมดไฟได้อย่างถูกจุด
สาเหตุการจากการทำงาน
การทำงานที่เหนื่อยและหนักจนทำให้คุณรู้สึกหมดไฟนั้น อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- ไม่สามารถควบคุมการทำงานได้ เพราะทำงานเป็นทีม เป็นต้น
- ตกอยู่ในความกดดันเพราะเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานคาดหวังในการทำงานของคุณมากเกินไป
- ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดี เช่น สถานที่ทำงานเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ระบบการทำงานที่ไม่ยุติธรรม ฯลฯ
- มีการสื่อสารที่ล้มเหลวในองค์กร จนบางครั้งเกิดความสับสนในขอบเขตการทำงานของแต่ละคน
- รู้สึกไม่ได้รับการชื่นชมหรือยอมรับ แม้จะทำผลงานดีแค่ไหนก็ตาม
- งานหนักจนไม่สามารถจัดการเวลาเพื่อพักผ่อนและใช้ชีวิตส่วนตัวได้
หนทางแก้และเยียวยา: ถ้าสาเหตุที่แท้จริงของภาวะหมดไฟของคุณมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานอย่างที่กล่าวมาข้างต้น อันดับแรก คุณควรเปิดใจเพื่อคุยและปรึกษากับหัวหน้างานของคุณ พยายามอธิบายถึงปัญหาที่คุณมองเห็น และร่วมกันหาวิธีแก้ไข วิธีนี้สำคัญมากนะคะ เพราะการสื่อสารในองค์กรที่ดีจะช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้นได้
สาเหตุจากอุปนิสัยและรูปแบบการใช้ชีวิต
นอกจากเรื่องภาระความรับผิดชอบที่คุณต้องดูแลคนในครอบครัวแล้ว ก็ยังอาจมีสาเหตุอื่นๆ ดังนี้
- ขาดความสัมพันธ์ใกล้ชิด ขาดคนคอยให้กำลังใจและสนับสนุน
- ให้ความสำคัญกับงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน นอนหลับ และเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง
- เป็น perfectionist จึงพยายามทำทุกอย่างให้ออกมาสมบูรณ์แบบ
หนทางแก้และเยียวยา: ถ้าคุณเป็นคนที่แบกรับทุกภาระความรับผิดชอบของครอบครัวไว้ เราแนะนำให้เปิดใจคุยกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ว่าพวกเขาจะสามารถช่วยแบ่งเบาคุณได้อย่างไรบ้าง หรือมีวิธีไหนที่จะช่วยให้คุณมีเวลาเป็นของตัวเองได้มากขึ้น เพราะอย่าลืมนะคะว่า แม้แต่ผู้ดูแลก็ต้องการการเทคแคร์เหมือนกัน
ที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าภาวะหมดไฟของคุณจะเกิดจากความเป็นเพอร์เฟคชันนิสต์หรือปัจจัยอื่นๆ ก็ตาม แต่เมื่อไรที่คุณรู้ตัวว่า เริ่มไม่ใส่ใจสุขภาพ คนรอบข้าง และความสุขของตัวเอง อย่าลืมหันมามองความหมายของชีวิตให้ดีอีกครั้ง แล้วคุณจะรู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตไม่ใช่ความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือเงินทอง แต่เป็นสุขภาพกาย-ใจที่แข็งแรงสมบูรณ์และความสัมพันธ์อันดีกับครอบครัวและเพื่อนฝูง
อย่าลืมนะคะว่ามีเรื่องที่คุณต้องให้ความสำคัญอยู่ 4 เรื่องหลักๆ เพื่อที่จะมีสุขภาพกาย-ใจที่ดี นั่นคือ กิน-นอน-ออกกำลังกาย และเรื่องสุดท้ายที่ขาดไปไม่ได้คือ หาเวลาสานสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและเพื่อนสนิท เพราะช่วงเวลาดีๆ ที่คุณได้เก็บเกี่ยวร่วมกันจะสร้างเสียงหัวเราะที่สามารถเยียวยาความป่วยไข้ทางใจได้อย่างดี
–