ลำไส้…ทำไมแปรปรวน? เช็คด่วน! ปวดท้องแบบนี้ เป็นลำไส้แปรปรวนหรือเปล่า

Digestive / Health

โรคลำไส้แปรปรวน หรือ IBS (Irritable Bowel Syndrome) อาจไม่ใช่โรคที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก แต่เชื่อไหมว่า หลายคนเคยมีอาการของโรคนี้ หรือบางคนอาจป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวนเรื้อรังมานานหลายปีโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้!

สัญญาณบอกว่า ‘ลำไส้’ กำลัง ‘แปรปรวน’
อาการหลักของโรคลำไส้แปรปรวนคือ อาการปวดเกร็งบริเวณท้องน้อยหรือใต้สะดือ โดยมักมีอาการปวดท้องร่วมกับอาการท้องผูกหรือท้องเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการปวดท้องร่วมกับอาการท้องผูกและท้องเสียสลับกัน ส่วนใหญ่แล้ว อาการปวดมักบรรเทาลงหลังจากถ่ายอุจจาระ นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจยังมีอาการท้องอืด แน่นท้อง เรอบ่อย และมักมีลมออกมามากเวลาถ่ายอุจจาระ

ทำไมลำไส้ถึงแปรปรวน
สาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวนยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า สภาพจิตใจที่อยู่ในภาวะเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ตื่นเต้น หรือโกรธ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ลำไส้บีบตัวหรือเคลื่อนตัวมากผิดปกติ โดยเฉพาะ ‘ความเครียด’ ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหาร อย่าง Dr. Douglas A. Drossman จาก สถาบันโรคทางเดินอาหารดรอสแมน (Drossman Gastroenterology) เคยกล่าวไว้ว่า “ความเครียดมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับโรคลำไส้แปรปรวนเป็นอย่างมาก”

นอกจากนั้น ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่ทำให้แบคทีเรียในลำไส้เจริญเติบโตได้ดี จนอาจก่อให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวน คือ อาหารประเภทเนื้อแดง ไข่ อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะเป็นจำนวนมาก เช่น นม ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียม

ดูแลรักษา ‘ลำไส้แปรปรวน’ ด้วยตัวเอง
ข่าวดีก็คือ ลำไส้แปรปรวน ไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่อาจก่อให้เกิดความรำคาญและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ เราจึงควรดูแลตัวเองให้ห่างจากโรคนี้ โดยสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและใช้ชีวิต คือ

1. หลีกเลี่ยงหรือลดอาหารดังต่อไปนี้

  • เนื้อสัตว์และไข่ที่เป็นโปรตีนย่อยยาก เปลี่ยน เป็นอาหารประเภทโปรตีนย่อยง่าย เช่น เต้าหู้ ถั่วเหลือง และปลา
  • ของทอด ของมัน และขนมที่มีส่วนผสมของนม เนย ในปริมาณมาก
  • อาหารจำพวกแป้งขัดขาว ข้าวขัดสี เปลี่ยน เป็นข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์โฮลวีต ถั่ว (ในปริมาณที่พอเหมาะ) งา
  • อาหารรสจัด เช่น รสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ที่ก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำเย็นจัด เปลี่ยน เป็นน้ำเปล่าในอุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่น วันละ 6-8 แก้ว

2. เน้นการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) หรือจุลินทรีย์ชนิดดีสูง เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโซะ เพื่อสร้างสมดุลให้กับลำไส้

3. หากปรับเปลี่ยนประเภทอาหารแล้วยังคงมีอาการอยู่ ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารจาก 3 มื้อใหญ่/วัน เป็นมื้อขนาดเล็ก 4-5 มื้อ/วัน และกินผักผลไม้ที่มีกากใยสูงมากขึ้

4. ลดความตึงเครียดด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ

5. หากมีอาการมาก อาจใช้ยารักษาตามอาการร่วมด้วย เช่น ยาแก้ปวด ยาระบาย (สำหรับอาการท้องผูก) และยาหยุดถ่าย (สำหรับอาการท้องเสีย)

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ เวลาขับถ่ายมีเลือดปน น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ มีภาวะโลหิตจาง คลื่นไส้อาเจียน หรือคลำเจอก้อนในท้อง อาการปวดท้องดังกล่าวอาจไม่ได้มาจากโรคลำไส้แปรปรวนเพียงอย่างเดียว แนะนำให้รีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดจะดีที่สุด

ที่มา:
ccit.go.th
siphhospital.com
rama.mahidol.ac.th

บทความที่เกี่ยวข้อง