รศ.ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร นักชีววิทยาหญ้าทะเล ผู้พิทักษ์ระบบนิเวศทางทะเล 

Human / Social-Inspiration

คลิปความยาว 9.03 นาที ตอน ‘ป่าชายเลน’ ถังเก็บก๊าซเรือนกระจกยักษ์ ลดภาวะโลกรวน ภายใต้โครงการน่านแซนด์บอกซ์ คือการเจอกันครั้งแรกของเราในฐานะคนดูและ รศ.ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร หรืออาจารย์นก กระทั่งเราไปค้นพบสิ่งที่เธอทำมากขึ้นจากสารคดีสั้นอย่าง ‘ป่า-ฝั่ง-เมือง’ โดย วีรยา วิชยประเสริฐกุล สารคดีที่สะท้อนให้เห็นความสวยงามและการทำงานของกลุ่มคนเล็กๆ ในประเทศไทย 3 กลุ่ม ตั้งแต่คนในเมือง คนที่อยู่ชายฝั่ง และคนในป่า โดยมีอาจารย์นกคนนี้และคณะเป็นตัวแทนของกลุ่มคนชายฝั่งที่งานของพวกเขาช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน นั่นยิ่งทำให้เราสนใจผู้หญิงคนนี้มากขึ้นไปอีก 

วันนี้ถือเป็นโอกาสดีของเราที่ได้เจอและชวนอาจารย์นกมาพูดคุยแบบจริงๆ จังๆ ตั้งแต่เรื่องราวของหญ้าทะเลที่เธอสนใจมาตั้งแต่อายุ 17 จนได้ต่อยอดไปสู่การเรียนด้านชีววิทยาและหญ้าทะเลแบบเจาะลึก บทบาทของอาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักวิจัยของสถานวิจัยสมุทรศาสตร์ชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Coastal Oceanography and Climate Change Research Center (COCC)) งานของนักชีววิทยาหญ้าทะเล รวมถึงเป้าหมายของชีวิตที่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์ไปกับการดูแล อนุรักษ์ และเชื่อมโยงโลกทางวิทยาศาสตร์กับมนุษย์เพื่อภารกิจรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของเธอ และนี่คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นทั้งหมดระหว่างเรากับผู้หญิงคนนี้

อาจารย์นกเรียนจบจากสาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อที่ Stockholm University ในสวีเดน ในช่วงเวลา 5 ปีที่นั่นกับชาวสแกนดิเนเวียนทำให้เธอได้เรียนรู้และเข้าใจคำว่า ‘ความยั่งยืน’ และ ‘ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม’ (Environmental Responsibility) ก่อนจะกลับมาสานต่อและถ่ายทอดสิ่งที่เธอเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในฐานะอาจารย์ นักวิจัย และนักชีววิทยาหญ้าทะเลที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในเดือนมีนาคม 2567 ที่จะถึงนี้เป็นเดือนครบรอบ 10 ปีของการเป็นอาจารย์ที่นี่ของเธอแล้ว 

“จริงๆ ความสนใจเรื่องชีววิทยาและความสนใจที่นำไปสู่การทำงานกับหญ้าทะเลต้องเท้าความไปไกลพอสมควร ตั้งแต่การได้มีชีวิตอยู่ร่วมกับหญ้าทะเลมาตั้งแต่เด็ก ได้หาความรู้จากการอ่านหนังสือว่าแนวหญ้าทะเลเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตเยอะมากๆ และเป็นพืชดอกกลุ่มเดียวเลยที่ใช้ชีวิตทั้งวงชีพอยู่ในทะเล ดังนั้น จึงถือว่าเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ค่อนข้างพิเศษ จนเราเริ่มมีคำถามมากมายแบบเนิร์ดๆ ในตอนนั้น เช่นว่า แล้วเหล่าหญ้าทะเลปรับตัวอย่างไรกัน ทำไมบางกลุ่มถึงอยู่ตรงนี้ได้ บางกลุ่มถึงอยู่ตรงนั้นไม่ได้นะ แถมการได้เป็นนักเรียนทุน พสวท. (โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ที่ทำให้ตัวเองมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งฝึกงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมไปถึงการออกไปเห็นแนวหญ้าทะเลด้วยยิ่งทำให้เนิร์ดอย่างเรามีโอกาสได้สืบค้นมากขึ้นจากมุมมองทางชีววิทยาไปอีกว่า นอกจากที่เป็นพืชดอกกลุ่มเดียวในทะเลแล้ว หญ้าทะเลยังเป็นรอยต่อที่สำคัญทางวิวัฒนาการด้วย เรารู้สึกว่าคำตอบที่ได้ทั้งตื่นตาตื่นใจ น่าตื่นเต้น และเก๋มากเลย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการไปเรียนในระดับอุดมศึกษาและการทำงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน 

“หลังจากเรียบจบและกลับมาจากสวีเดน เรายิ่งมองภาพกว้างขึ้นไปอีกว่าสิ่งที่เราสนใจและกำลังทำงานอยู่ทุกวันนี้ ส่งผลต่อสังคม ต่อสุขภาพของโลก เป็นเหมือนป่าใต้ทะเล เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตและสัตว์น้ำทั้งหลายเลยนะ ซึ่งหลายๆ ชนิดเราใช้เป็นอาหาร ขณะที่อีกหลายๆ ชนิดมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ โดยเชื่อมโยงอยู่กับความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น ระบบนิเวศของหญ้าทะเลจึงมีบทบาทคล้ายๆ กับป่าชายเลนที่จะช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่ง ช่วยลดความรุนแรงของภัยพิบัติได้ อีกทั้งยังเชื่อมโยงอยู่กับความอยู่ดีกินดีของชุมชนชายฝั่ง ยิ่งในปัจจุบันที่มีการพูดกันมากถึงบทบาทของหญ้าทะเลในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ซึ่งเชื่อมโยงอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยแล้ว เราจึงจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าถ้าหญ้าทะเลหายไปจะส่งผลกระทบมากมายแค่ไหนต่อระบบนิเวศเอง รวมถึงมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย” 

“นอกจากเรื่องหญ้าทะเลแล้ว อีกเรื่องที่สนใจคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเราทำงานอยู่ภายใต้ศูนย์วิจัยสมุทรศาสตร์ชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย ซึ่งศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้เป็นการรวมตัวกันของอาจารย์ใน มอ. หลายๆ คณะที่จะมาทำงานร่วมกันในเรื่องหัวข้อดังกล่าวซึ่งไม่ได้มีเพียงนักชีววิทยา แต่จะมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักธรณีฟิสิกส์ นักสมุทรศาสตร์เคมี นอกจากการเป็นนักชีววิทยาหญ้าทะเลของเราแล้ว ในอีกมุมหนึ่ง เรายังขยายขอบเขตการทำงานและการวิจัยมาอยู่ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย เพราะจริงๆ นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันนี้ เรารู้สึกว่าการรับมือจะทำได้ดี เราจะต้องเข้าใจก่อนประมาณหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบนิเวศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บ้านเรายังไม่มีข้อมูลและยังไม่ได้เข้าใจเรื่องดังกล่าวมากขนาดนั้น พอข้อมูลที่มีมาก่อนหน้านี้ไม่ได้มากและไม่ชัดเจน จึงทำให้การตั้งรับทำได้ยาก 

“เราเห็นหญ้าทะเลมาตั้งแต่เด็กๆ เราอยากให้ทรัพยากรอยู่กับเราไปอีกนานๆ ทีนี้ถ้าเกิดมีความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาด้วย เราคิดว่าเป็นเรื่องน่ากังวลอยู่เหมือนกัน นี่เป็นส่วนหนึ่งที่สนใจนอกจากส่วนที่เป็นเรื่องของชีววิทยาอย่างเดียว ซึ่งมันก็จะเชื่อมโยงอยู่กับงานในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดความรู้ เพราะว่าการที่เราออกไปคุยกับผู้คนข้างนอก เราไม่ได้คุยแค่เรื่องของชีววิทยาเพียงอย่างเดียว แต่ยังพยายามสร้างความตระหนักรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปด้วย” 

“ด้วยความที่ช่วงแรกๆ ที่เข้ามาศึกษาสองประเด็นดังกล่าว เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่มากและด้วยความที่อินมาก แถมยังเข้าถึงข้อมูลได้ด้วย เราเลยสื่อสารว่านี่เป็นเรื่องเร่งด่วนนะ ต้องรีบจัดการนะ โดยคิดว่าถ้าเราสื่อสารออกไปแล้วถ้าคนรู้เยอะๆ เขาน่าจะเห็นความสำคัญเหมือนกับเราและลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง แต่เราได้เรียนรู้และปรับกันมาเยอะพอสมควร จนรู้สึกว่าเราลืมให้ในเรื่องของจุดประสงค์ เป้าหมาย ความหวัง และความเป็นไปได้ โดยเฉพาะเด็กๆ อย่างนิสิตนักศึกษาที่เขาควรยังมีความหวัง ความฝัน ความเชื่อในอะไรดีๆ อยู่ หรือแม้กระทั่งตัวเราเองที่ยังเชื่อว่า ถ้าเราลุกขึ้นมาทำอะไรพร้อมๆ กันทั้งหมด จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริงๆ หรือแม้กระทั่งกับชุมชนชายฝั่งเอง ซึ่งตื่นตัวมากในการฟื้นฟูทรัพยากร ไม่รู้ว่าโลกสวยไหมนะคะ แต่ลึกๆ เรายังรู้สึกว่าคนส่วนใหญ่ตอนนี้มีความตั้งใจ เต็มใจที่อยากจะทำอะไรดีๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียนรู้จากการที่เราพยายามทำงานมาทั้งหมด ทั้งในด้านของการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราเลยมองว่า การสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่าท้ายที่สุดแล้ว ลำพังตัวของเราเอง เราไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยตัวเองหรือแม้กระทั่งทีมวิจัยที่ทำงานร่วมกันทั้งทีมก็ยังแก้ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ใหญ่เกินกว่าตัวเราหรือคณะทำงานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน 

“นอกจากนี้ ทั้งระบบนิเวศ หญ้าทะเล ป่าชายเลน ปะการัง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเรามากกว่าที่คิดจริงๆ เราไม่แน่ใจว่าที่กรุงเทพฯ มีไหม แต่ที่ต่างประเทศ เวลาที่เดินตามถนนแล้วเจอช่องระบายน้ำ เราจะเห็นป้ายที่เขียนว่า ‘The sea starts here.’ ซึ่งมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทะเลใกล้กับเรามากกว่าที่เราคิดนะคะ กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนบกจะส่งผลต่อทะเลเกือบจะทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะ การพัฒนาชายฝั่ง หรือแม้กระทั่งการพัฒนาเกษตร ซึ่งการมีวิถีชีวิตหรือใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเลือกบริโภคของกินและของใช้ที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม การปลูกผักกินเอง การปฏิเสธถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อ  หรือการเป็นตัวอย่างให้คนใกล้ตัวหันมาลงมือทำสิ่งเล็กๆ ที่ช่วยโลกไปด้วยกัน เราคิดว่าจะช่วยส่งผลกระทบในด้านบวกทั้งนั้น ส่วนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าสาเหตุหลักคือคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ดังนั้น เวลานี้สิ่งที่เราทำได้คงเป็นเรื่องของการปรับวิถีชีวิตที่จะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ลงด้วยวิถีและวิธีที่เราพอจะทำได้ เช่น การใช้ขนส่งมวลชน หรือวิถีชีวิตที่มีการพูดถึงและปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันอย่าง ‘Minimalism’ ที่เป็นการใช้ของและมีข้าวของให้น้อย มองถึงการใช้ประโยชน์เป็นหลัก คิดก่อนที่จะใช้ทรัพยากร ซึ่งถ้าเราฝึกตัวเองให้ใช้ชีวิตรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้ สุดท้ายเราคิดว่าจะส่งผลบวกต่อทั้งหญ้าทะเล ป่าไม้ และทุกสิ่งในโลกนี้ 

“แม้สุดท้ายงานของเราจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เราก็พยายามจะบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเราไม่อยากตื่นขึ้นมาแต่ละวันแล้วรู้สึกว่าโลกนี้จะจบแล้วนะ จะทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่เรามีความคิดที่ทำให้เราดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีจุดหมายและมีความสุขด้วย”

“5 ปีของการอยู่ที่สวีเดน เปลี่ยนพฤติกรรม ความคิด หรือข้อดีของพวกเขาที่เราหยิบกลับมาใช้กับตัวเองและการทำงานด้านไหนบ้างเหรอ จริงๆ น่าจะมีอยู่ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกคือว่าเราพบว่าสังคมที่นั่นเป็นสังคมที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสูงมาก ดังนั้น การได้ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น เลยเป็นเวลา 4-5 ปีที่เราได้ซึมซับวิถีและวิธีคิดแบบนั้นเข้ามาในตัวและให้ความสำคัญมากๆ กับเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานสอนที่ถ้าเป็นไปได้เราอยากถ่ายทอดแนวคิดนี้ให้กับเด็กๆ 

“อีกเรื่องคงเป็นเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพราะที่นั่นจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนในเรื่องนี้ เช่น เรื่อง Parental Leave (การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร) ที่ถ้าบ้านเรา ผู้หญิงจะลาได้ 3 เดือน แล้วจบแค่นี้ ส่วนผู้ชายจะลาไปช่วยได้ 15 วัน ที่เหลือต้องลาจากวันหยุดตัวเองเพื่อที่จะไปช่วยภรรยา แต่ที่สวีเดนจะได้หนึ่งปี แล้วหนึ่งปีนั้นจะเป็นพ่อหรือแม่ก็ได้ ซึ่งเราเคยเห็นมานะ จะมีที่คุณแม่ลาแค่ 3 เดือน ที่เหลือ 9 เดือนจะเป็นคุณพ่อทั้งหมดเลย เราจะได้เห็นผู้ชายเข็นรถเด็กเต็มถนนไปหมดโดยที่คุณแม่ไม่ได้อยู่ด้วย บางครั้งเราต้องไปเห็นชีวิตข้างนอกบ้างและอะไรที่เราไม่เคยเห็นในบ้านเราก็จะได้เห็นว่าจริงๆ มันหลักคิดแบบนี้อยู่จริงในโลกนี้นะ 

“สุดท้ายคงเป็นเรื่องการบาล๊านซ์ของชีวิต ซึ่งที่สวีเดนคือดีมาก ที่บ้านเราอาจจะชื่นชมการทำเกิน ทำเยอะ ทำยาว อยู่ดึก อะไรแบบนั้น แต่ที่นั่นคนที่จะได้รับการชื่นชมคือคนที่สามารถจัดระเบียบชีวิตได้ดีโดยที่มีชีวิตในด้านอื่นๆ อยู่ในนั้นด้วย สมัยแรกเราอยู่นาน อยู่ยาวแบบนั้นแหละ แต่สายตาที่ได้รับจะไม่ใช่สายตาของความชื่นชม จะเป็นสายตาอีกแบบประมาณว่า เธอไม่มีชีวิตด้านอื่นเหรอ ซึ่งสุดท้าย ความมหัศจรรย์คือว่าเขาสามารถทำงานได้ดีเท่าๆ หรือว่าดีกว่าเราด้วยซ้ำ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า มันเกิดขึ้นได้จริงๆ นะการแบ่งแยกชีวิต การให้ความสำคัญกับด้านอื่นๆ ขณะที่ชีวิตการทำงานยังประสบความสำเร็จได้นะ

“ส่วนการบาล๊านซ์ชีวิตของเราถือว่าต้องปรับตัวพอสมควรเลยในการหาตรงกลางระหว่างการทำงานกับชีวิตในมิติอื่น แต่สิ่งหนึ่งที่เราชัดเจนกับตัวเองมากๆ คือเราให้ความสำคัญกับงาน รวมถึงผลกระทบที่ตัวเองสร้างจากงานที่ทำอยู่ ดังนั้น ชีวิตของเราจึงไม่ได้แยกขาดออกจากการทำงาน ไม่ใช่คอนเซ็ปต์ที่ว่าอย่างไรต้องมีบาล๊านซ์ ต้องตั้งไว้ชัดเจนว่าหลังจากเวลานี้จะต้องไม่ทำงานแล้วนะอะไรขนาดนั้น แต่ว่าเราเชื่อว่า 2 พาร์ทของชีวิตสนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่ การได้ทำงานที่เรารู้สึกว่ามีคุณค่าทางใจกับเรา มันทำให้เรามีความสุขในการใช้ชีวิต ซึ่งนี่ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว ปรับมาจากระบบสแกนดิเนเวียนแล้วนะคะ (หัวเราะ) จนได้มาเป็นระบบของตัวเอง ซึ่งการที่เราจะทำงานให้มีประสิทธิภาพ มีพลังทุกวันได้ อย่างไรก็ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ที่สำคัญต้องมีเวลาออกกำลังกายด้วยเพราะเป็นมนุษย์ออกกำลังกาย ถ้าส่วนนี้ไม่ดี สุดท้ายเราก็ทำงานได้ไม่ดี ดังนั้น การจัดสมดุลจึงค่อนข้างยืดหยุ่นกับตัวเองพอสมควรและสามารถปรับได้ตลอด แต่ที่สำคัญคือทั้ง 2 ด้านจะต้องเป็นประโยชน์ต่อกัน เช่น เราจะแฮปปี้กับงาน งานนี้จะต้องทำให้เรารู้สึกมีความสุขกับการใช้ชีวิต ต้องมีคุณค่า ต้องให้อะไรสักอย่างในทางใดทางหนึ่ง

“แล้วในวัยนี้ เราไม่เร่งรีบเวลาที่เจอปัญหา แต่จะให้เวลากับตัวเองในการทำความเข้าใจปัญหาก่อน ดูว่าอะไรคือสาเหตุ เพื่อให้รู้ว่าเราพอจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรบ้างและแก้ด้วยความรอบคอบได้อย่างไร ซึ่งบางครั้งเราพบว่าบางปัญหาไม่จำเป็นต้องแก้ก็ได้ หรือสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหา แต่จริงๆ มันคือความท้าทายที่เข้ามาสร้างประโยชน์เพราะสิ่งที่เจอไปช่วยกระตุ้นให้รู้จักที่จะพัฒนาตัวเองในด้านความคิด การทำงาน หรือในมิติอื่นๆ เราพบความจริงข้อหนึ่งว่า ยิ่งเจอปัญหาหนักๆ ยิ่งทำให้เรารู้จักตัวเองได้ดีขึ้น ไม่แน่ใจว่าเคยได้ยินประโยคนี้มาจากที่ไหน แต่เขาเขียนไว้ว่า ‘You don’t grow when you are comfortable’ ถ้าเราสบาย เราจะไม่โต มันก็จริงนะคะ” 

“ด้วยงานที่เราทำ นอกจากการสอนและงานวิจัยแล้ว อีกหน้าที่ที่เราให้ความสำคัญมากพอๆ กันคืองานบริการวิชาการ ที่เป็นการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้คนนอกรั้วมหาวิทยาลัย ทั้งโรงเรียน ชุมชน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา หรือองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ เราคิดว่านี่เป็นรอยต่อสำคัญที่ทำให้ความรู้จากงานวิจัยจะถูกนำไปปรับใช้ได้จริง เช่น งานวิจัยฉบับนี้ เราสร้างมาก็จริง แต่ถ้าแค่ตีพิมพ์ บางครั้งอาจไปไม่ถึงปลายน้ำ ซึ่งการได้แลกเปลี่ยนไอเดียกับคนอื่น เช่น กับคนในพื้นที่ จะเป็นประโยชน์กับทั้งพวกเขาและตัวเราด้วยเหมือนกัน เพราะนอกจากเราจะได้ไอเดียบางอย่างกลับมาแล้ว ยังได้พลังใจและแง่มุมบางอย่างที่เราอาจนึกไม่ถึงกลับมาด้วย ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์ส่วนใหญ่อยู่กับคนในรั้วมหาวิทยาลัย อยู่กับงานวิจัย บางครั้งอาจทำให้เรามองยังได้ไม่รอบด้าน บางคำถามจากคนภายนอกเลยเป็นทั้งการเปิดโลกทัศน์และเป็นโจทย์ใหม่ให้เราไปหาคำตอบด้วยเหมือนกัน

“สำหรับความสุข ณ ตอนนี้ยังคงเชื่อมโยงอยู่กับงาน เรารู้สึกว่าเสน่ห์ของงานที่ทำคือความรู้สึกของการได้เชื่อมโยงโลก เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่ในอยู่บ้าน แต่รู้สึกว่าเป็นประชากรของโลกจริงๆ บางทีงานก็ยากจริงๆ ต้องยอมรับ แต่เรากลับรู้สึกว่าสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ทุกวันนี้คือสิ่งเดียวกันกับที่คนหลายๆ คนกำลังพยายามทำอยู่ในอีกหลายๆ มุมของโลกเช่นกัน ซึ่งการที่เราเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวของโลกแบบนี้ทำให้เรารู้สึกไม่โดดเดี่ยว มันมีค่ากับเรามาก และคือความความสุขใจในเวลานี้ด้วย

“ส่วนเรื่องของอนาคต เราทำงานเป็นนักวิจัยมาเกือบ 10 ปี รู้สึกโอเคกับตัวเองประมาณหนึ่งกับหน้าที่ที่ตัวเองทำมาในเรื่องการสร้างองค์ความรู้ผ่านงานวิจัย แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราอยากมีบทบาทและอยากทำหน้างานแบบที่สามารถไปทำอะไรที่ได้ประยุกต์และปรับใช้ความรู้ตัวเองให้มีอิมแพ็กมากขึ้นกว่าที่ทำอยู่ อยากมีบทบาทมากขึ้นในการเชื่อมวิทยาศาสตร์กับคนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนงานนโยบายที่ทำในงานอนุรักษ์ หรือชุมชนชายฝั่ง แม้สถานการ์ของการขับเคลื่อน การปกป้อง และดูแลทรัพยากรชายฝั่งอย่างเป็นรูปธรรมจะต้องการคนจำนวนมาก แต่ ณ เวลานี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่หลายๆ คนมีเป้าหมายร่วมกันอยู่ ฉะนั้น เราคิดว่านี่น่าจะนำไปสู่แนวทางการอนุรักษ์หรือทำอะไรที่ยั่งยืนในอนาคตร่วมกันกับคนอื่นๆ ได้ ซึ่งตัวเราตอนนี้กำลังอยู่ในกระบวนการที่จะทำให้ตัวเองไปถึงในจุดนั้นอยู่ คิดว่าภายใน 5 ปี 10 ปีจะขยับไปในทิศทางนั้นให้ได้ค่ะ”

ภาพ: วิทยา พานิชกุล

เพิ่มเติม: 
www.facebook.com/psuconnext
www.facebook.com/COCCPSU

บทความที่เกี่ยวข้อง