เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นิตยสาร The Atlantic ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับงานวิจัยทางการแพทย์ชิ้นหนึ่งที่มีหลักฐานสนับสนุนความเป็นไปได้ว่า เราอาจป้องกันตัวเองจากไวรัสโควิด-19 ได้ง่ายๆ ด้วย “การนอน”
การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอส่งผลดีมากมายต่อร่างกายและจิตใจ ในช่วงเวลาที่ร่างกายหยุดการเคลื่อนไหวและตัดขาดการรับรู้ออกจากสิ่งรอบข้าง กระบวนการภายในจะมีการปรับสมดุลฮอร์โมนและซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ นอกจากนั้น ขณะนอนหลับ ร่างกายจะหลั่งสารเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต รวมทั้งเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายสามารถต้านทานเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ดียิ่งขึ้น
ล่าสุด Feixiong Cheng นักวิจัยข้อมูลจาก Cleveland Clinic หนึ่งในโรงพยาบาลที่ดีที่สุดของโลก ยังได้ใช้ AI ศึกษาและประมวลผลการทำงานของเชื้อโควิด-19 ที่รุกรานเข้ามาในร่างกายมนุษย์ แล้วพบว่าสารที่มีแนวโน้มช่วยหยุดการทำงานของไวรัสดังกล่าวคือ เมลาโทนิน
อย่างไรก็ดี Cheng และบทความดังกล่าวไม่ได้แนะนำให้ผู้ป่วยกินเมลาโทนินเพื่อรักษาอาการจากไวรัสโควิด-19 เพราะทั้งหมดยังเป็นแค่การค้นพบเบื้องต้น และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อยืนยันอีกมาก แต่ที่แน่ๆ หากเมลาโทนินช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายสามารถต้านทานการเจ็บป่วยได้ เราก็ควรให้ความสำคัญต่อการนอนหลับพักผ่อนไม่แพ้การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ และกินอาหารที่มีประโยชน์
5 วิธีที่ช่วยให้นอนหลับพักผ่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
1. ตกแต่งห้องนอนให้สะอาดเป็นระเบียบ มีอากาศถ่ายเทสะดวก เงียบ ไม่มีแสงจากภายนอกรบกวนในเวลากลางคืน มีอุณหภูมิห้องที่พอดี ไม่ควรมีอุปกรณ์การทำงานในห้องนอน เพราะอาจทำให้เกิดอาการกังวลจนนอนไม่หลับ
2. ก่อนเข้านอน ผ่อนคลายร่างกายด้วยการอาบน้ำอุ่น ฟังเพลงจังหวะเบาๆ หรือนั่งสมาธิที่จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดรฟิน ไม่ควรเล่นโทรศัพท์มือถือ ดูหนังหรืออ่านหนังสือที่อาจก่อให้เกิดความเครียดและตื่นเต้น
3. ทำความสะอาดที่นอนและอุปกรณ์เครื่องนอนอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง เพื่อป้องกันไรฝุ่น และความสะอาดของที่นอนจะช่วยให้หลับได้ดีขึ้น
4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม หากนอนหลับยากแนะนำให้ดื่มชาคาโมมายด์อุ่นหรือนมอุ่นก่อนนอน
5. บริโภคอาหารจำพวกมันเทศ เผือก กลอย ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต และผลิตภัณฑ์โฮลเกรน ที่มีสารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยทำให้หลับสบายมากยิ่งขึ้น
–
แปลและเรียบเรียงจาก:
www.theatlantic.com
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
www.thaihealth.or.th
www.pharmacy.mahidol.ac.th