รู้หรือไม่? การนอนหลับสามารถลดอาการชักได้

“ลมชัก” เป็นโรคที่เกิดจากกลุ่มอาการชักอันเนื่องมาจากการที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดทำงานมากเกินไปชั่วขณะ ทำให้มีการส่งสัญญาณประสาทผิดปกติเกิดขึ้นทันทีและกระจายออกไปตามสมองส่วนอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการชักเกร็งหรือกระตุกเฉพาะส่วนของร่างกาย เช่น แขนหรือขา การชักแบบนิ่งเหม่อลอย หรือการชักเกร็งหรือกระตุกทั้งตัวและหมดสติเป็นเวลาสั้นๆ ประมาณ 1-3 นาที ขึ้นกับหน้าที่ของสมองในตำแหน่งที่ถูกรบกวนในขณะชัก เราจึงต้องทำการสังเกตุอาการเพื่อให้เราได้รู้เท่าทันและสามารถดูแลสุขภาพของเราได้อย่างทันท่วงที

การเกิดลมชักนั้นมีสาเหตุที่ไม่ชัดเจน ส่วนหนึ่งเกิดจากการติดเชื้อในสมอง ความพิการแต่กำเนิด การเกิดอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนศีรษะ หรือเป็นผลมาจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคเนื้องอกในสมองเป็นต้น โดยในประเทศไทยนั้นมีการประมาณตัวเลขผู้ป่วยโรคลมชักอยู่ราว 6-7 แสนคน 

ลมชักเกิดได้แม้ตอนนอน

เพราะอาการชักสามารถเกิดได้ในหลายอิริยาบถระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งขณะนั่ง ยืน รวมทั้งการนอนด้วยเช่นกัน ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยเองอาจไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการขณะนอนหลับ โดยมักตื่นมาพร้อมอาการปวดเมื่อยตามตัว ปัสสาวะราด หรือตกเตียง ขณะเดียวกัน อาการชักก็มีความคล้ายคลึงกับความผิดปกติด้านการนอนอื่นได้เช่นกัน อย่างการนอนดิ้น การนอนละเมอ เดินละเมอ ซึ่งอาจต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของความผิดปกติดังกล่าวเพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ความเชื่อมโยงระหว่างการนอนกับโรคลมชัก 

นอกเหนือไปจากการเจ็บป่วย ความเครียด และการขาดยากันชักแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้นั้นมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ

Magda Lahorgue Nunes และคณะจาก PUCRS School of Medicine ในบราซิล ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการชัก/โรคลมชักกับการนอนหลับพบว่า ระยะเวลาในการนอนและระยะในการนอนหลับสนิทในผู้ป่วยโรคลมชักจะลดลง เมื่อเทียบกลุ่มคนปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยการชักนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะรบกวนกระบวนการนอนหลับ ซึ่งมีผลทั้งด้านคุณภาพ ปริมาณ และรูปแบบการนอนหลับ ตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของจำนวนครั้งและระยะเวลาของการตื่นในระหว่างการนอนหลับ ไปจนถึงประสิทธิภาพการนอนที่ลดลงด้วย

ขณะที่การศึกษาของ Touchon J. และคณะพบว่า ระยะเวลาของการนอน REM sleep หรือช่วงหลับฝัน ซึ่งเป็นวงจรของการหลับที่จะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ ความจำ และอารมณ์ ตลอดจนช่วยในการพัฒนาสมองของเด็กทารกนั้นมีความสัมพันธ์แบบแปรผกผันกับจำนวนการชัก นั่นคือ หากระยะเวลาของ REM sleep เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้อาการชักลดลงได้

แล้วเราจะเพิ่มระยะเวลาของการนอน REM sleep ได้อย่างไรบ้าง?

วิธีการที่เพิ่มคุณภาพการนอนแบบ REM sleep นั้น สามารถทำได้หลากหลายวิธี ได้แก่ 

1. ลองกำหนดเวลาในการนอนให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดความเคยชิน เพราะการนอนหลับในเวลาเดิมทุกๆ วัน จะช่วยให้ร่างกายของเราสามารถจดจำช่วงเวลาที่ต้องพักผ่อน นั่นจะส่งผลให้เราใช้เวลาในการเริ่มต้นนอนหลับน้อยลง อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มช่วงการนอนในระยะ REM sleep ได้มากขึ้นด้วย

2. ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการนอนมากขึ้น โดยพยายามตัดปัจจัยรบกวน ไม่ว่าจะเป็นเสียง แสงไฟในห้อง และอุณหภูมิ อาจเริ่มจากการปิดอุปกรณ์สื่อสารและแหล่งเสียงอื่นๆ ก่อนเข้านอน หลีกเลี่ยงแสงจ้าและสว่างมากในเวลานอน ทั้งความสว่างจากหลอดไฟ หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน เพราะฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายเข้าสู่การนอนหลับจะถูกสร้างในเวลาที่มีแสงสว่างน้อย และรักษาอุณหภูมิภายห้องให้อยู่ระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส เพื่อให้ร่างกายเราได้นอนหลับพักผ่อนได้อย่างสนิทตลอดทั้งคืน 

3. โดยปกติแล้ว ในวัยผู้ใหญ่ควรจะพักผ่อนวันให้ได้ประมาณ 7-9 ชั่วโมง ซึ่งหากน้อยกว่านั้น อาจทำให้วงจรการนอนหลับน้อยลงและลดช่วงการหลับในระยะ REM sleep ได้ ทว่าตัวเลขการนอนหลับ 8 ชั่วโมงขึ้นไปนั้น เป็นสถิติทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องสร้างความกดดันให้ตัวเอง ชั่วโมงการนอนที่น้อยกว่านั้น แต่หากเมื่อตื่นเป็นปกติแล้วรู้สึกสดชื่นในตอนเช้า ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะนั่นแสดงถึงการนอนหลับที่มีคุณภาพต่อร่างกายซึ่งก็ทำให้สุขภาพดีได้เช่นกัน

4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอลล์ก่อนเข้านอน เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์จะมีผลต่อการเข้าสู่ช่วงการนอนหลับในระยะ REM sleep ซึ่งหากดื่มในปริมาณมาก จะยิ่งทำให้ช่วง REM sleep ของเราลดลงตามไปด้วย

5. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายใกล้เวลานอน เพราะจะทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้สมองตื่นตัว หากต้องการออกกำลังกาย ลองขยับเวลามาเป็นช่วงเย็นเพื่อช่วยคลายความตึงเครียดจากการทำงานได้  

แม้ว่าโรคลมชักจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งผู้ป่วยและบุคคลรอบข้าง แต่โรคดังกล่าวสามารถควบคุมและดูแลได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและเหมาะสมกับสภาวะร่างกายของผู้ป่วย สิ่งสำคัญคือการที่ผู้ป่วยและครอบครัวมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค รวมไปถึงการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะอีกหนึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้การรักษามีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จได้ในที่สุด 

อ้างอิง:
วารสาร Epilepsy Digest Vol 2 May-August 2015
www.thaihealth.or.th
www.bangkokinternationalhospital.com
www.epilepsy.com

Share :
go to top