“เพราะเราจะได้ช่วยผู้ป่วยกับญาติให้คลายความทุกข์ได้อย่างรวดเร็วในวันที่พวกเขายังเข้าถึงการรักษาไม่ได้” ประโยคที่ตอบข้อสงสัยของเราว่าทำไม ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า จึงใส่เบอร์โทรศัพท์ ซึ่งเป็นเบอร์ส่วนตัว (081-050-4626) ในสื่อออนไลน์ของตัวเองทุกช่องทาง ในสไลด์เมื่อมีการสอน งานบรรยาย และทุกการประชุมที่ผ่านมา และยังเป็นคำตอบว่าทำไมอาจารย์หมอจึงเป็นที่รักของทั้งผู้ป่วย ลูกศิษย์ลูกหา เพื่อนร่วมงาน และประชาชนอย่างเราๆ
อาจารย์หมอไม่ได้เป็นเพียงศาสตราจารย์โรคระบบประสาทแสนใจดีของนักเรียนแพทย์ทั้งในและนอกภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ยังเป็นอายุรแพทย์ประสาทวิทยาที่ตลอดชีวิตการทำงานได้อุทิศทุกนาทีไปกับการแสวงหาความรู้และสร้างหนทางเพื่อให้ผู้ป่วยและประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับการรับหน้าที่อีกหลายบทบาท ทั้งการเป็นนักวิจัย บรรณาธิการวารสารทางการแพทย์ ผู้นำทัพเครือข่ายอายุรแพทย์ระบบประสาทในการสร้างเครือข่ายโรคหลอดเลือดสมองในภาคอีสาน และการพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘Stroke Fast Track’ เพื่อสร้างระบบการให้บริการทางการแพทย์ที่ดี ทันสมัย และทันเวลาให้กับประชาชน จนมีเครือข่ายการให้บริการที่เข้มแข็งทั้งในภาคอีสานและอีกหลายพื้นที่ของประเทศ ตลอดจนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นี่คือการแลกเปลี่ยนบทสนทนาแบบยาวๆ กับอาจารย์สมศักดิ์ คุณหมอที่ดูเหมือนงานทั้งหมดที่เราเพิ่งเล่าย่อๆ ไปเกินขอบข่ายการทำงานของความเป็นหมอไปมากโข และบทสัมภาษณ์ฉบับนี้น่าจะทำให้เราได้เห็นตัวอย่างของบุคคลที่เรากล้าการันตีว่าเป็นผู้ให้ได้แบบไร้ข้อกังขาจริงๆ
ชีวิตหมอนูโรฯ แห่งดินแดนที่ราบสูง
อาจารย์สมศักดิ์เล่าให้เราฟังว่า ในช่วงวัยเด็ก ตัวเขาไม่ได้ต่างไปจากเด็กนักเรียนทั่วไปที่ยังไม่รู้ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไรกันแน่ รู้แค่ว่าชอบหมอกับวิศวะ เพราะคนในครอบครัวยังไม่มีใครทำทั้ง 2 อาชีพนี้ จึงตัดสินใจเลือกคณะแพทย์และวิศวกรรมอย่างละครึ่งในการสอบ จนท้ายที่สุดก็ได้เข้ามาเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“ผมเป็นคนฉะเชิงเทรา เกิดในยุคที่การเอนทรานซ์เลือกได้ 6 อันดับ ตอนนั้นเลยเลือกแพทย์ 3 ลำดับ และวิศวะ 3 ลำดับ และสอบติดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากเป็นนักศึกษาแพทย์มาได้ถึงปี 5 ปี 6 ผมลงพื้นที่ไปอยู่ที่โรงพยาบาลชุมชนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ประสบการณ์ตอนนั้นทำให้พบว่าบุคลิกของตัวเองไม่เหมาะกับการอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนหรือเป็นผู้บริหารในโรงพยาบาลชุมชนอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก เลยกลับมาพิจารณาดูใหม่ว่าตัวเรามีความสนใจเรื่องอะไร และพบว่าตัวเองสนใจวิชาอายุรศาสตร์ อยากเป็นอาจารย์ อยากสอนนักศึกษาแพทย์ จึงสมัครเป็นแพทย์ใช้ทุนในสาขาอายุรศาสตร์ในปีสุดท้าย เรียนอยู่ที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ที่ขอนแก่นอีก 4 ปี จากนั้นจึงสมัครเป็นอาจารย์อยู่ที่ภาควิชานี้ต่อเลย”
ย้อนกลับไปในปี 2536-2537 จำนวนอายุรแพทย์ระบบประสาท หรือ Neurologist ในภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัดมีอยู่น้อยมาก เพียง 14 คนใน 8 จังหวัด นั่นจึงเป็นจุดที่ทำให้อาจารย์หมอตัดสินใจเรียนต่อในสาขาอายุรแพทย์ระบบประสาท ฝึกอบรมอยู่ที่ภาควิชานี้อีก 5 ปีเต็ม และสอบอนุมัติบัตรจนได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาอายุรศาสตร์ระบบประสาท ก่อนไปศึกษาต่อเฉพาะทางด้านโรคลมชักที่ประเทศอังกฤษ กระทั่งกลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นจนถึงปัจจุบัน
การขับเคลื่อนกฎหมาย ‘ชักไม่ขับ’
“เหตุผลที่ผมเลือกเรียนต่อด้านโรคลมชักที่ประเทศอังกฤษเพราะว่าที่ภาคอีสานในเวลานั้นไม่มีคุณหมอเฉพาะทางโรคลมชักสักคนเดียว ขณะที่โรคดังกล่าวมีจำนวนผู้ป่วยค่อนข้างมาก โดยความชุกของโรคนี้ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 7-8 คนต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งถือว่ามากพอสมควร แถมโรคนี้ยังเป็นได้กับทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ ที่ไปเรียนก็เพราะอยากจะกลับมาดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว เมื่อกลับมา นอกจากการเรียนการสอนและการดูแลคนไข้แล้ว หน้าที่ของการเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์คือการทำวิจัย โดยผมเลือกทำวิจัยเกี่ยวกับโรคลมชัก โดยเฉพาะอุบัติเหตุในผู้ป่วยโรคลมชักและเน้นเรื่องอุบัติเหตุทางจราจรในผู้ป่วยโรคลมชัก”
จากการสืบค้นข้อมูลในสื่อพบว่า ผู้ป่วยโรคลมชักมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 1.8 เท่า ทำให้หลายๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศในยุโรป มีการออกกฎหมายควบคุมผู้ป่วยโรคลมชักในการขับรถตั้งแต่ปี 1900 ขณะที่ประเทศไทยเรา จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อปี 2559 พบว่ากว่า 75% ของผู้ป่วยโรคลมชักยังคงขับรถอยู่และ 30% เคยเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่ระบุถึงอาการชักเพิ่มเติมไปอีกว่าสัมพันธ์ไปกับอุบัติเหตุจากการขับรถ
“ด้วยผมทำวิจัยเรื่อง ‘อุบัติเหตุที่เกิดจากโรคลมชัก (Accidents and Epilepsy)’ หนึ่งในนั้นคือการขับขี่ยานพาหนะ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2543-2544 ที่ผมกลับมาจากอังกฤษ ตอนนั้นบ้านเรายังไม่มีกฎหมายเรื่องการชักแล้วห้ามขับรถ ขณะที่ในต่างประเทศมีกฎหมายฉบับนี้แล้ว ผมศึกษาเรื่องนี้มาจากประเทศอังกฤษ เลยกลับมาเกาะติดเรื่องนี้ต่อ และพบว่าคนไทยที่เป็นโรคลมชักยังขับรถอยู่ราวๆ 80% ผมจึงพยายามผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมายเรื่อง ‘ชักไม่ขับ’ เกิดขึ้น โดยพยายามศึกษาเกี่ยวกับอุบัติเหตุต่างๆ ในคนไข้โรคลมชักและอุบัติเหตุทางจราจรมาตลอด รวมไปถึงการรณรงค์เพื่อให้ความรู้ จนกระทั่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทย สถาบันประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทยสภาที่ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายเรื่องชักไม่ขับเกิดขึ้นแล้วครับ”
จากสิ่งที่อาจารย์หมอศึกษาและรณรงค์ร่วมกับองค์กรทางการแพทย์หลายแห่งนำไปสู่การร่างกฎหมายการออกใบอนุญาตการขับขี่รถยนต์ในผู้ป่วยโรคลมชักในเวลาต่อมา ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้หารือร่วมกับแพทยสภาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสุขภาพสำหรับการออกใบรับรองแพทย์ให้กับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ โดยมีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ให้ ‘โรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ เป็นโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ ไม่สามารถขอรับใบขับขี่ได้’ ทั้งนี้ หากแพทย์ผู้ให้การรักษารับรองว่าผู้ป่วยไม่มีอาการชักเกินกว่า 1 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถออกใบรับรองแพทย์เพื่อขอรับใบอนุญาตขับรถได้ตามปกติ
“นอกจากเรื่องอุบัติเหตุจากการชักแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ผมห่วงคือการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ เพราะปัจจุบันยังมีคนในสังคมเข้าใจอยู่เลยว่าลมชักเป็นโรคที่เกิดจากภูติผีปีศาจ จากไสยศาสตร์ มีความเข้าใจกันผิดเยอะมาก ทั้งๆ ที่โรคลมชักสามารถรักษาให้หายได้ ผมจึงอยากให้คนที่มีอาการเข้ามารับการรักษาอย่างถูกต้องเพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างที่เคยเป็นมาครับ”
ดูแลผู้ป่วยด้วยความรู้และการสร้างเครือข่าย
“จริงๆ นอกจากโรคลมชักแล้ว อีกหนึ่งโรคที่ผมทำวิจัยคือโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาต นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ผมได้เข้ามาดูแลคนไข้กลุ่มนี้ในผู้ป่วยภาคอีสาน รวมทั้งยังมีโอกาสได้รักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อในระบบประสาทและโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงไปพร้อมๆ กันด้วย
“สำหรับโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาต เมื่อก่อนบ้านเรายังไม่มีการรักษาอะไรใหม่ๆ เข้ามา ทำให้แพทย์ใช้วิธีรักษาไปตามอาการและดูแลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน จนราวๆ ปี 2543 จึงเริ่มมีการนำวิธีรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดมาใช้ในประเทศไทย โดย ศ.พญ. นิจศรี ชาญณรงค์ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นผู้นำวิธีนี้เข้ามารักษาเป็นคนแรก ซึ่งผมสนใจเรื่องนี้มาตลอด แล้วโชคดีที่ทาง สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เข้ามาสนับสนุน จึงทำให้เกิดโครงการผู้ป่วยบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาเรื่องโรคหลอดเลือดสมองโดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ จากที่แต่ก่อน ค่าใช้จ่ายการรักษาโรคดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 8-9 หมื่นบาทต่อการรักษาผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งถือว่าสูงมากนะครับ พอ สปสช. เข้ามาสนับสนุนจึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษานี้ได้ โดยโครงการดังกล่าวในภาคอีสานเริ่มที่ 2 โรงพยาบาล หนึ่งคือที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลธานี และที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ผมทำงานอยู่ ดังนั้น ผมจึงมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองที่เราเรียกว่า ‘ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง’ ขึ้น และเกาะติดเรื่องโรคหลอดเลือดสมองมาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน”
อาจารย์หมอยังเป็นผู้นำในการสร้างเครือข่ายอายุรแพทย์ระบบประสาทตั้งแต่ช่วงเวลาที่เพิ่งเรียนจบแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทใหม่ๆ โดยเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างกันเพื่อ…หนึ่ง เพิ่มจำนวนและการกระจายตัวของแพทย์ระบบประสาทในภาคอีสาน และสอง เพื่อให้แพทย์ระบบประสาทสามารถติดต่อพูดคุย ให้บริการ ส่งต่อผู้ป่วย จัดกิจกรรมทางวิชาการ การศึกษาวิจัยร่วมกัน ตลอดจนจัดกิจกรรมที่ทำให้แพทย์มีความสนใจเข้ามาศึกษาต่อทางด้านระบบประสาทมากขึ้นด้วย
“สำหรับที่มาของการสร้างเครือข่ายอายุรแพทย์ระบบประสาท ต้องย้อนไปในปี 2551 ที่เราเริ่มต้นทำระบบทางด่วนโรคหลอดเลือดสมองขึ้น ด้วยโรคนี้ผู้ป่วยจะต้องเข้าถึงระบบการรักษาให้เร็วที่สุดภายใน 180 นาที แต่ในเวลานั้นหมอเฉพาะทางด้านนี้มีน้อยมาก เพียงแค่ 14 คนใน 20 จังหวัด แล้วใน 14 คนก็กระจายอยู่ใน 8 จาก 20 จังหวัดในภาคอีสาน ส่วนอีก 12 จังหวัดไม่มีหมอระบบประสาทนี้อยู่เลย ผมมองว่าเราจะต้องหาหนทางว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยที่อยู่ในภาคอีสานไม่ว่าจะจังหวัดไหน จะมีหมอระบบประสาทหรือไม่ก็ตาม สามารถเข้าถึงระบบการรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดที่ต้องได้ยาละลายลิ่มเลือดให้ได้ เลยเกิดแนวคิดว่าเราน่าจะต้องระดมความคิดเห็นกัน แล้วช่วยกันสร้างเครือข่ายขึ้น นั่นคือนอกจากหมอ 14 คนจะมาร่วมมือกันแล้ว เราจะต้องไปพัฒนาคุณหมออายุรแพทย์ทั่วไปให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลคนไข้โรคอัมพาตแบบทางด่วนโรคหลอดเลือดสมองนี้ให้ได้ด้วย เพราะหมออายุรแพทย์กระจายอยู่ทุกพื้นที่ในภาคอีสานและมีครบทุก 20 จังหวัด แถมยังอยู่ตามโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ด้วย ถ้าเราจะรอการผลิตอายุรแพทย์ระบบประสาทให้ครบทั้ง 20 จังหวัดคงใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 20 ปี จะไม่ทันการณ์ โดยเครือข่ายนี้ เราให้อายุรแพทย์ระบบประสาทเป็นแม่ข่าย แล้วให้คุณหมออายุรศาสตร์ทั่วไปเป็นเครือข่ายกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของภาคอีสาน นั่นจึงเป็นที่มาของการสร้างเครือข่ายอายุรแพทย์ระบบประสาท รวมถึงเครือข่ายโรคหลอดเลือดสมองภาคอีสานขึ้น
“หลังจากสร้างเครือข่ายและมีโรงพยาบาลกระจายอยู่ในหลายพื้นที่เกือบทั่วทั้งภาคอีสานแล้ว เราใช้เวลาอยู่ 6-7 ปี ก็ประสบความสำเร็จ โดยสำเร็จในที่นี้หมายถึงทุกพื้นที่ในภาคอีสานมีโรงพยาบาลที่มีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง คุณหมอสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ รวมทั้งมีเครือข่ายอายุรแพทย์ ทั้งอายุรแพทย์ระบบประสาท และอายุรแพทย์ทั่วไปภายใต้การให้คำแนะนำของอายุรแพทย์ระบบประสาทที่สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดได้ครบทั้งภาคอีสานในปี 2557”
‘Stroke Fast Track’ หน่วยช่วยชีวิตผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง
“ทุกๆ ปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม เป็นวันอัมพาตโลก เพื่อรณรงค์เกี่ยวกับโรคที่ว่านี้ โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปี 2558 พวกเราเองก็มีการทำแคมเปญเพื่อรณรงค์เรื่องโรคอัมพาตเช่นกัน เวลานั้น เราตั้งใจที่จะให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและคนทั่วไปว่าหากมีเหตุฉุกเฉินเรื่องโรคหลอดเลือดสมองจะต้องใช้ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ 1669 แต่ผมก็มานั่งคิดว่า คนที่เป็นอัมพาตจะมีแรงเอามือไปกดเบอร์เพื่อเรียกรถพยาบาลได้อย่างไร แล้วสมมติถ้ากดโทรศัพท์ได้ จะตอบคำถามเจ้าหน้าที่ได้อย่างไรในเมื่อผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตพูดไม่ชัด นึกคำพูดก็ลำบาก เลยคิดต่อไปว่าหากมีแอปพลิเคชันที่เมื่อกดแล้วสามารถไปดังที่ 1669 ได้และรู้สถานที่ของผู้เรียกด้วยจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันเวลา แต่ด้วยตัวผมไม่มีความรู้ทางด้านนี้ จึงไปปรึกษาท่านรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ดูทางด้านสารสนเทศดูว่าผมมีแนวคิดนี้อยู่ เมื่อท่านทราบก็บอกว่าเรื่องนี้ทำได้ไม่ยากและมีประโยชน์มาก จึงเรียกทีมงานมาช่วยกันคิด หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน เราก็พร้อมปล่อยแอปพลิเคชัน ‘Stroke Fast Track’ นี้ ได้ทันวันที่ 29 ตุลาคม ปี 2558 เราทำไวรัลคลิปและได้ คุณกอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ มาร้องแร็ป ‘แชร์เพื่อช่วยชีวิต: Share To Save Life’ เวลานั้นถือได้รับความสนใจเป็นแบบถล่มทลายทั้งจำนวนการเข้าชมคลิป ไปจนถึงจำนวนการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าวด้วย”
‘Stroke Fast Track’ คือแอปพลิเคชันที่มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ข้อ หนึ่งคือการเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินมารับ ณ จุดเกิดเหตุ โดยแอปฯ ดังกล่าวสามารถทราบตำแหน่งที่เกิดเหตุแน่ชัดผ่านระบบจีพีเอส ผู้ใช้จึงสามารถใช้แอปฯ ในการเรียกรถพยาบาลจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน แทนการโทรศัพท์ 1669 ได้ และสองคือการเป็นช่องทางการเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคอัมพาต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และภาวะเร่งด่วนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต โดยมีทั้งเครื่องมือคัดกรองด้านสุขภาพ ข้อมูลอินโฟกราฟิก หนังสือ และวิดีโอ
“ผลลัพธ์จากการเปิดตัวแอปฯ นี้ เราพบว่าผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบการรักษาเพิ่มมากขึ้น จากเดิมคนที่เป็นโรคนี้ 10,000 คนในปี 2551 ที่ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เพียงแค่ 1 คน แต่มาในปี 2556-2557 จำนวนผู้ป่วยที่เข้าถึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 คนใน 100 คน แต่ต้องบอกอย่างนี้ครับว่า ตัวเลขนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นเพราะแอปฯ โดยตรง แต่ประกอบขึ้นจากหลายๆ องค์ประกอบ ที่รวมไปถึงการรณรงค์เพื่อให้ความรู้เรื่องโรคอัมพาตให้กับประชาชนผ่านแอปพลิเคชันนี้ด้วย
“สำหรับตัวเลขของคนที่มาโรงพยาบาลผ่านแอปฯ ที่ว่า ในช่วงแรกๆ ใน 1 วันจะอยู่ที่ราวๆ 5-6 คน แล้วใช้กันอยู่แบบนี้ประมาณสัก 2-3 ปี จากนั้นจำนวนคนกดก็ลดลง เหลือวันละคน 2 คน ที่ผมทราบเพราะว่าทุกครั้งที่มีการเรียก ผมให้ทีมช่วยเซ็ตระบบให้ต้องดังมาที่ผมเพื่อให้รู้ว่ามีการใช้งานแอปฯ นี้เรียกรถพยาบาล เราเลยสอบถามเรื่องนี้ไปกับคนส่วนใหญ่ และพบว่าคนยังมีความคิดว่าไม่เชื่อว่าแอปฯ ที่ไม่เสียสตางค์นี้จะเรียกรถพยาบาลได้จริง ปัจจุบันตัวแอปฯ ยังอยู่นะครับ แต่ความถี่ของการใช้จะเป็นลักษณะของการเข้ามาหาความรู้มากกว่า แต่เรายังสามารถเรียกรถพยาบาลจากแอปฯ นี้ได้เช่นเดิม ใช้ได้จริง และแม่นยำนะครับ เพราะฉะนั้น หากพบคนใกล้ชิดหรือเห็นใครก็ตามที่ต้องการความช่วยเหลือจากการเป็นโรคอัมพาต สามารถใช้งานแอปฯ นี้ได้เลยครับ”
A Dose of Happiness
“ด้วยงานหลายบทบาทที่ผมได้รับ ซึ่งผมต้องแบ่งเวลาทั้งการสอน การพัฒนาตัวเองเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพและการส่งต่อความรู้ให้เด็กๆ ที่จะมาเป็นแพทย์ต่อไป การทำงานบริการให้กับผู้ป่วย งานวิจัย งานบรรณาธิการและงานเขียน รวมถึงงานบริหารโรงพยาบาลด้วย ดังนั้น ความท้าทายของการทำงานแบบนี้คือการจัดการชีวิตเราให้มีความสมดุล ทั้งในหน้าที่ที่ได้รับ ขณะเดียวกันก็ยังต้องบาลานซ์ให้ได้กับชีวิตส่วนตัวและจัดสรรเวลาที่เพียงพอให้กับครอบครัวด้วย นั่นจึงเป็นความท้าทายว่าเราจะทำอย่างไรให้ทุกบทบาทมีความสมดุล เพราะหากเราทำงานหนักจนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพให้ดีพอ ก็จะไปกระทบกับงานหลัก ชีวิตส่วนตัว และยังทำให้ชีวิตไม่มีความสุขไปด้วย ผมใช้หลักการของ Work Life Harmony มากกว่าที่จะใช้คำว่า Work Life Balance ในการรักษาชีวิตงานและส่วนตัวให้สอดคล้องกัน
“ส่วนความเป็นหมอในมุมมองของผม คือเราต้องมีใจที่จะเป็นผู้ที่ให้ เข้าถึงจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ มีความเมตตาและความอดทน รวมไปถึงเข้าอกเข้าใจคนที่มาพร้อมความเจ็บป่วยด้วย นั่นจะทำให้การทำงานในฐานะของการเป็นหมอสามารถให้เวลาและความใส่ใจเพื่อดูแลคนไข้ได้อย่างเต็มใจและเต็มที่ สำหรับผมเอง หมอไม่ใช่งานที่ดูแลคนไข้แค่ในช่วง 8 ชั่วโมงการทำงานแล้วจบ แต่นอกเวลาทำงาน ผมเองยังต้องพร้อมให้คำปรึกษาทั้งกับคนไข้และคุณหมอผู้ดูแลคนไข้โรคหลอดเลือดสมอง เทคนิคหนึ่งของผมที่จะช่วยคลายความเครียดในแต่ละวันได้คือ ผมจะมีสมุดเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งมาจดไว้เมื่อผมทำงานเสร็จ โดยจะมานั่งทบทวนในสมุดเล่มนั้นว่าวันนี้ผมทำอะไรไปบ้าง ดูว่าแต่ละงานที่ทำประสบความสำเร็จอย่างไร มีข้อบกพร่องตรงไหน เราได้เรียนรู้อะไร เรามีความสุขอะไรเกิดขึ้นจากการทำงานชิ้นนั้นๆ พอทำครบตรงนั้น เลยทำให้ผมไม่เครียดจากหน้าที่ที่ทำจบไปและนอนหลับได้ง่ายขึ้น และสามารถมีความสุขในแต่ละวันได้
“ดังนั้น ถ้าถามผมว่าความสุขเกิดได้อย่างไร ในมุมของผม ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ที่วิธีคิดนะ ซึ่งวิธีคิดนั้นก็คือผมจะมองว่าเราต้องรักในสิ่งที่ทำก่อน ดังนั้น เมื่อตัดสินใจมาเป็นหมอแล้ว เราต้องรักในวิชาชีพที่ทำอยู่ และผมจะคิดอยู่เสมอว่างานที่ได้รับมาไม่ใช่ภาระ แต่คือโอกาสที่จะทำให้ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง ผมจึงไม่เคยปฏิเสธทุกโอกาสที่เข้ามา โดยทุกๆ งานที่ผ่านมาได้สร้างทักษะและความชำนาญให้กับตัวผม สิ่งเหล่านี้แหละที่นำไปพบกับความสำเร็จ แล้วในวันที่คนเราประสบสำเร็จ วันนั้นเราจะมีความสุข พอผมทำหน้าที่เหล่านี้หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ทุกวัน เลยกลายเป็นว่าผมสามารถสร้างความสุขให้กับตัวเองได้ทุกขณะจนไม่ได้ไปมองหาความสุขจากที่อื่น และกลายเป็นขุมพลังให้ผมมีแรงและกำลังใจที่ดีในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น
“พอพูดถึงเรื่องโอกาสแล้ว ผมก็นึกขึ้นได้ถึงเหตุการณ์หนึ่ง ด้วยผมเป็นหัวหน้าทีมในการนำหน่วยแพทย์ของโรงพยาบาลออกหน่วยแพทย์ของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อท่านเสด็จมาปฏิบัติภารกิจที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในภาคอีสาน ผมและทีมจะตามออกหน่วยด้วยเสมอ ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านทรงตรัสกับผมว่า “ช่วยออกหน่วยแพทย์กันไปเรื่อยๆ เพื่อช่วยดูแลประชาชน อย่าเพิ่งเบื่อหรือเหนื่อยเลยนะ” ผมน้อมรับพระราชดำรัสนี้ และให้คำมั่นกับตัวเอง รวมทั้งเป็นหลักในการทำงานของผมมาตลอดว่าจะต้องดูแลผู้ป่วยทุกคนให้ดีที่สุดครับ”
–
ภาพ: จิณณไตญ ธนกฤตา
เพิ่มเติม: 081-050-4626, www.facebook.com/somsak.tiamkao
ขอบคุณสถานที่: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น