‘อัลไซเมอร์’ ภาวะที่พบในผู้สูงอายุจำนวนมากในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อสุขภาวะและการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยจากการบกพร่องด้านความจำ การคิดอ่าน การสื่อสาร การถ่ายทอดอารมณ์ ตลอดจนการประกอบกิจวัตรประจำวันเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องใช้ความเข้าใจเป็นอย่างมากสำหรับบุคคลรอบข้าง โดยเฉพาะผู้ดูแล การวางแผนและเตรียมความพร้อมในการดูแลรอบด้านแก่ผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย ขณะที่ยังทำให้ผู้ดูแลคงสามารถใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างมีคุณภาพในเวลาเดียวกัน
การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะต่างๆ
ด้วยอัลไซเมอร์ถือเป็นโรคสมองเสื่อมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องและสัมพันธ์ไปกับความคิดและความจำเป็นหลัก แต่เมื่อระยะของโรคดำเนินไปโดยที่ความเสื่อมของสมองบกพร่องมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ตามมาจะส่งผลกระทบถึงในเรื่องอื่นๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกระทบความสามารถในการดูแลตัวเองของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการทำงาน การดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการใช้ชีวิตที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การกิน การนอน การใช้เครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆ ความสามารถในการเดินทางไปพบแพทย์ตามนัด การจัดยา และรับประทานยาเอง เป็นต้น
ดังนั้น ผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตอาการ พฤติกรรม และความผิดปกติทั้งทางกายภาพและด้านอารมณ์ของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำข้อมูลต่างๆ ไปปรึกษาทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และคำแนะนำของแพทย์มาปรับแผนการดูแลผู้ป่วยให้ดำเนินไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพตามระยะของโรค โดยโรคอัลไซเมอร์นั้นสามารถแบ่งออกได้ 3 ระยะ ซึ่งมีวิธีการดูแลที่แตกต่างกันไป ดังนี้
ระยะที่ 1
อาการ: ผู้ป่วยจะเริ่มสูญเสียความจำระยะสั้น ข้อมูลที่เพิ่งเรียนรู้มา และลืมในสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ลืมปิดไฟ ลืมว่ากินข้าวแล้ว ลืมว่ากินยาไปรึยัง ลืมชื่อ มีการพูดที่วกวน ถามหรือพูดซ้ำๆ ในเรื่องเดิม ไปจนถึงการมีปัญหาด้านอารมณ์
การดูแล: ในระยะระยะเริ่มต้น แม้จะมีอาการดังที่กล่าวมา แต่ผู้ป่วยยังสามารถสื่อสารและประคองการดำเนินชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องการพึ่งพาคนรอบข้างเพียงบางกรณี สำหรับคนรอบข้างสามารถดูแลได้โดยการทำความเข้าใจกับตัวโรคและอาการต่างๆ ไปจนถึงการช่วยดูแลเรื่องการกินอาหาร กินยา การนัดหมายการพบแพทย์ของผู้ป่วย เพื่อป้องกันปัญหาจากการกิน การกินยาผิดหรือเกินขนาด รวมทั้งการหลงลืมนัดหมาย
นอกจากนี้ ในระยะแรก ผู้ดูแลสามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยในเรื่องการช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะการที่ผู้ป่วยสามารถดูแลหรือช่วยเหลือตัวเองได้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุดจะเป็นปัจจัยที่ช่วยประคับประคองให้สมองเสื่อมถอยช้าลง รวมทั้งการมีโอกาสไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ พบเเพื่อนฝูง ไปจนถึงมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมก็จะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่สามารถคงสมรรถภาพของสมองให้อยู่ได้นานต่อไปเรื่อยๆ
ระยะที่ 2
อาการ: ในระยะกลางของโรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยจะมีอาการหลงลืมมากขึ้น ส่งผลให้มีปัญหาในเรื่องความทรงจำระยะยาว ความคิด อารมณ์ การใช้ภาษา และมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น จำบ้านตัวเองไม่ได้ เดินออกจากบ้านโดยไม่มีจุดหมาย มีอารมณ์ฉุนเฉียว อาการเหล่านี้จะทำให้การดูแลเป็นไปด้วยความยากลำบากขึ้นและส่งผลต่อการเข้าสังคมอีกด้วย
การดูแล: เมื่อความเสื่อมของสมองเริ่มกระทบต่อความสามารถในด้านการตัดสินใจและการดูแลตัวเอง แต่ตัวผู้ป่วยยังสามารถดูแลเรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวันได้ เช่น การกิน การขับถ่าย การสวมใส่เสื้อผ้า แต่มีบางกิจวัตรที่ไม่สามารถทำได้ดังเดิม เช่น การจัดยาให้ถูกต้อง ความสามารถการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ในระยะดังกล่าว ผู้ดูแลจึงต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวันให้เป็นไปอย่างสะดวก สบายและปลอดภัยมากขึ้น เช่น เมื่อผู้ป่วยเข้าห้องน้ำและลืมปิดน้ำ หรือเมื่อผู้ป่วยประกอบอาหารและลืมปิดเตาแก๊ส เป็นต้น ดังนั้น นี่จึงเป็นสิ่งที่คนในครอบครัวต้องคำนึงถึงเนื่องจากความหลงลืมอาจนำไปสู่ความผิดพลาดและก่อให้อันตรายกับผู้ป่วยได้
ระยะที่ 3
อาการฺ: ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่ 3 หรือระยะสุดท้าย จะเป็นระยะที่ผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นวงกว้าง ส่งผลให้สูญเสียความทรงจำทั้งในระยะสั้นและยาว รวมถึงความสามารถด้านต่างๆ เกือบทั้งหมด เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการถดถอยในทุกด้าน ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือและทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง สุขภาพโดยรวมจะคล้ายกับผู้ป่วยติดเตียง กิน พูด เคลื่อนไหว และตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลงไปมาก
การดูแล: ด้วยระยะท้ายของโรคอัลไซเมอร์นี้ที่ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการดูแลตัวเองมากขึ้น แม้กระทั่งเรื่องพื้นฐานในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้การดำรงชีวิตของผู้ป่วยจะอยู่ได้ด้วยการช่วยเหลือจากผู้อื่นในทุกด้าน ในบางรายอาจจะต้องพึ่งพาคนดูแลตลอดเวลา ในระยะดังกล่าวจึงเป็นระยะที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วยของผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งเป็นจุดที่ครอบครัวต้องวางแผนและเตรียมการการดูแลผู้ป่วย เช่น การจัดหาผู้ดูแลมาดูแลผู้ป่วยโดยตรง หรือผู้ช่วยที่สามารถทำงานร่วมกับผู้ดูแลเพื่อแบ่งเบาหน้าที่บางอย่าง หรือการคิดพิจารณามองหาศูนย์ดูแลผู้ป่วยในระยะยาวต่อไปในอนาคตเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในบั้นปลาย
การจัดการและวางแผนด้านการเงินของครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์
สำหรับวางแผนการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ นอกจากการวางแผนการดูแลร่วมกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสมตามระยะของโรค โดยครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่ด้านกิจวัตรประจำวัน ด้านพฤติกรรม ด้านสุขภาพ ผู้ดูแลเองต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของตัวเอง รวมถึงเรื่องการจัดการด้านการเงินที่ต้องใช้ในการดูแลผู้ป่วย โดยสามารถแบ่งเป็นแต่ละด้านของการเงิน ได้แก่
1. ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
สำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ถือว่าไม่ได้เป็นจำนวนเงินที่มาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของค่ากินค่าใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร แต่สิ่งสำคัญที่ครอบครัวต้องคำนึงถึง คือ เมื่ออาการของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์พัฒนาไป จะกระทบต่อความสามารถในการคิดคำนวณ ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย ตัวผู้ป่วยอาจจะไปซื้อของและไม่สามารถคิดเงินทอนเงินได้ถูกต้อง และอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องระวังไว้ในอนาคตคือการถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินซึ่งเกิดขึ้นได้มากในยุคปัจจุบัน
ดังนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงไม่ใช่จำนวนเงิน แต่คือการที่ผู้ดูแลจะจัดการอย่างไรให้ผู้ป่วยสามารถใช้สตางค์ได้อย่างสบายใจและเกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด ซึ่งการจัดสรรค่าใช้จ่าย อาจจัดสรรได้ในลักษณะของการจัดค่าขนมแบบรายวัน โดยกำหนดเป็นจำนวนเงิน จำนวนธนบัตรที่มีความชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถที่จะหยิบจ่ายใช้สอยได้ง่าย มีการรับคืนหรือทอนเงินได้ง่าย เป็นต้น
2. ค่ารักษาพยาบาล
ค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยและการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์เป็นการดูแลที่ต่อเนื่อง โดยระยะเวลาโดยเฉลี่ยของการมีชีวิตอยู่รอดภายหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจะยาวนานประมาณ 8-10 ปี โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีอายุยืนได้ถึง 20 ปี ซึ่งในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะขึ้นอยู่กับสิทธิการรักษาพยาบาลที่ผู้ป่วยแต่ละท่านมี โดยมีความครอบคลุมถึงยาที่ใช้รักษาโรคแตกต่างกัน ตั้งแต่ประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม ไปจนถึงสิทธิข้าราชการ ซึ่งแม้ยารักษาโรคอัลไซเมอร์ โดยส่วนใหญ่ครอบคลุมภายใต้สิทธิการรักษาพื้นฐาน แต่จะมีการรักษาบางประเภทหรือยาบางชนิดที่อยู่นอกเหนือสิทธิการรักษา ซึ่งผู้ป่วยและครอบครัวอาจต้องดูแลค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วยตัวเอง ในด้านนี้ หากมีการทำประกันสุขภาพไว้ให้แก่ผู้ป่วยล่วงหน้าก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลงไปได้
3. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดูแลในอนาคต
เมื่ออาการของโรคพัฒนาไปมากขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมขึ้นมาจะรวมไปถึงการจ้างผู้ดูแล อาหารทางการแพทย์ในกรณีที่ผู้ป่วยที่ได้รับทางสายยางเนื่องจากปัญหาเรื่องการกลืน หรือผู้ป่วยที่ลืมวิธีการกลืนอาหาร ในรายที่ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้ จึงต้องใส่กางเกงซับน้ำหรือสายสวนปัสสาวะ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาพบแพทย์ โดยเฉพาะในรายที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงอาจมีค่าใช้จ่ายเรื่องการใช้บริการรถพยาบาล ตลอดจนการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นมาใช้ที่บ้านเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะสุดท้าย เช่น เตียง ที่นอนลม รถเข็น หรือค่าใช้จ่ายในการพาผู้ป่วยไปพักฟื้นในสถานดูแล ซึ่งเหล่านี้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับหลายๆ ครอบครัว เพราะฉะนั้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจำเป็นต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อให้สถานะการเงินในอนาคตเป็นไปอย่างเรียบร้อยมากขึ้น
บทบาทหน้าที่และการเตรียมตัวของผู้ดูแลผู้ป่วยในครอบครัว
‘ผู้ดูแล’ คือผู้ให้การดูแลในกิจกรรมลักษณะต่างๆ ที่บ้าน โดยไม่ได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทน เป็นการดูแลที่มีพื้นฐานมาจากจริยธรรม อารมณ์ โดยมีความผูกพันทางเครือญาติ (Ross & Mackenzie, 1996) ซึ่งผู้ดูแลผู้ป่วยในบริบทนี้กล่าวถึงผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่ส่วนใหญ่คือลูกหลานในวัยทำงาน ซึ่งต้องดูแลทั้งตัวเองและครอบครัวควบคู่กันไป ทำให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในหลากหลายมิติ คำแนะนำสำหรับผู้ดูแลในกรณีดังกล่าวนี้ คือการวางแผนและเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อปรับการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานให้สามารถดูแลผู้ป่วยในครอบครัวได้พร้อมๆ กับการสามารถคงการดำเนินชีวิตของตัวเองทั้งชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวได้ดังเดิมหรือใกล้เคียงเดิมมากที่สุด
สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยในครอบครัว บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการดูแลคุณภาพชีวิตของสมาชิก ทำให้หากต้องออกจากงานมาดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มตัวจะทำให้ขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัว สิ่งที่สามารถทำได้อาจเป็นการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานให้ทราบถึงสถานการณ์และความจำเป็นที่เกิดขึ้น ซึ่งหากทางบริษัทสามารถยืดหยุ่นได้ เช่น การมีนโยบายที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสที่ผู้ดูแลสามารถอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยได้มากขึ้น
ในกรณีที่ครอบครัวใดไม่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ การจ้างพยาบาลหรือผู้ดูแลผู้ป่วย จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระในด้านนี้ลงได้ โดยสามารถทำควบคู่กับทางออกอื่นๆ เช่น การติดกล้องวงจรปิดภายในบ้านและรอบๆ บริเวณนอกบ้าน ที่ช่วยให้คนในครอบครัวสามารถติดตามเฝ้าอาการของผู้ป่วย อีกทั้งยังสามารถสื่อสารกับผู้ดูแลและผู้ป่วยในช่วงเวลาทำงานได้สะดวก รวดเร็ว ซึ่งสามารถช่วยลดความกังวลว่าผู้ป่วยอาจเกิดอันตรายขึ้นได้มากทีเดียว
การจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์
ในเรื่องการจัดสิ่งแวดล้อมนับเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกบ้านมีผลต่อพฤติกรรม อารมณ์ และความปลอดภัย หากมีการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้ที่มีภาวะอัลไซเมอร์สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่แรกเริ่ม จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การดูแลผู้ป่วยทำได้ราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยป้องกันผู้ป่วยจากอันตรายและยังสะดวกต่อผู้ดูแลมากยิ่งขึ้นด้วย
ก่อนที่เราจะปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในบ้าน คำแนะนำแรกคือการสังเกตผู้ป่วยก่อนว่ามีข้อจำกัดทางด้านใดบ้าง เช่น นอกเหนือจากเรื่องความจำหรือความสามารถในการคิดและตัดสินใจแล้ว ยังมีปัญหาในด้านอื่นๆ อีกหรือไม่ เช่น การมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว ซึ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่มากำหนดว่าเราจะออกแบบ ปรับเปลี่ยน และจัดสภาพแวดล้อมในบ้านไปในแนวทางไหน ซึ่งแนวทางในการปรับที่พักอาศัย สามารถแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อได้ดังต่อไปนี้
1. มีความปลอดภัยทางกายภาพ
สำหรับความปลอดภัยทางด้านร่างกายและสุขภาพอนามัยนั้นครอบคลุมในเรื่องของขนาดพื้นที่ที่กว้างเพียงพอ แยกเป็นสัดส่วน มีแสงสว่างที่ส่องเข้าทั่วถึงที่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างชัดเจน ไม่มีสิ่งของวางระเกะระกะขัดขวาง พื้นและทางเดินปลอดภัย มีความราบเสมอกัน ไม่มันวาว ไม่ลื่น ไม่มีลวดลาย เพื่อป้องกันการอุบัติเหตุ เช่น การสะดุดล้ม มีอุณหภูมิภายในที่เหมาะสม มีการจัดเก็บสิ่งหรือสารอันตราย เช่น น้ำยาล้างห้อง หรือน้ำยาล้างจานไว้ ในชั้นวางของหรือตู้ให้มิดชิดเพื่อป้องกันผู้ป่วยนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้จนก่อให้เกิดอันตรายได้
2. สามารถเข้าถึงได้ง่าย
ในส่วนของการจัดบ้าน ต้องทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น สิ่งของหรือข้าวของเครื่องใช้ที่ผู้ป่วยต้องใช้ในชีวิตประจำวันควรตั้งวางไว้ใกล้กับผู้ป่วยให้มากที่สุดเพื่อให้สามารถหยิบทำได้สะดวก จัดสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยโดยไม่เปลี่ยนที่วางสิ่งของ หรือเปลี่ยนบรรยากาศภายในบ้านบ่อยๆ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความสับสนได้
นอกจากนี้ ห้องน้ำก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มักก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ป่วยได้ง่าย ดังนั้น ผู้ดูแลควรเตรียมห้องน้ำให้พร้อม โดยพื้นที่ภายในห้องน้ำควรมีขนาดเพียงพอให้สามารถจัดวางเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำและให้ผู้ดูแลเข้าไปช่วยเหลือในการทำธุระส่วนตัวได้ พื้นไม่เปียกลื่น มีไฟส่องสว่างตลอดทั้งคืน และไม่ควรจัดห้องพักของผู้ป่วยให้อยู่ห่างจากห้องน้ำมากเกินไป ห้องน้ำควรอยู่ใกล้ห้องนอน และห้องนอนควรอยู่ชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันอันตรายจากการขึ้นลงบันได เป็นต้น
3. จัดสิ่งแวดล้อมภายในให้ช่วยสร้างแรงกระตุ้นการทำงานของสมอง
การสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมที่เกิดการกระตุ้นให้มีกิจกรรมปริชานหรือการรู้คิด (Cognitive Activites) เช่น ติดตั้งนาฬิกาซึ่งมีตัวเลขขนาดใหญ่ ไปจนถึงปฏิทินที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยทราบวัน เวลา หรือการติดตั้งภาพสถานที่ และภาพบุคคลที่สำคัญในชีวิต เพื่อให้เกิดการนึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีความสุขในอดีต เชื้อเชิญให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การลุกเดินอย่างเหมาะสม ได้สัมผัสกับธรรมชาติซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสดชื่นและมีชีวิตชีวา ไปจนถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ในบ้านมีสีสันที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากภาวะสมองเสื่อมอาจส่งผลต่อการบอกความแตกต่างระหว่างสี ดังนั้น ข้าวของเครื่องใช้ที่มีสีสันชัดเจนจะช่วยลดความสับสนและทำให้ผู้ป่วยหยิบใช้ของได้ง่ายขึ้น มีการจัดความสว่างภายในบ้านให้เพียงพอและทำให้ชัดเจนระหว่างช่วงกลางวันและกลางคืนเพื่อป้องกันความสับสนของช่วงเวลากลางวันและกลางคืน โดยการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านในลักษณะดังที่ว่ามานี้ จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของสมองที่มีส่วนสำคัญในการชะลอความเสื่อมของสมองได้
4. ดูแลรักษาง่าย
บ้านและข้าวของเครื่องใช้ ควรเลือกที่สามารถดูแลและรักษาได้ง่าย เพราะโอกาสที่ผู้ป่วยจะทำผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นบ่อย การเลือกใช้สิ่งของที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และไม่แตกหักง่ายจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ป่วยมากขึ้นและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาได้
การวางแผนแบ่งหน้าที่ระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวเพื่อดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์
ในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะอัลไซเมอร์ เป็นงานที่มีความหนักและท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือการแบ่งหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างเหมาะสม เนื่องจากการมอบหมายหน้าที่ให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลซึ่งต้องรับมือกับผู้ป่วยโดยไม่มีการหยุดพัก อาจทำให้เกิดความเครียดสะสมจนส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ดูแลได้ โดยให้สมาชิกในครอบครัวพูดคุยกันเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งอาจแบ่งหน้าที่ตามทักษะและความสะดวกของแต่ละท่าน เช่น การดูแลเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน การดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย หรืออาจเป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาช่วยดูแล เป็นต้น
แน่นอนว่าสมาชิกในครอบครัวต่างคาดหวังให้การดูแลบุคคลอันเป็นที่รักดำเนินไปอย่างดีที่สุด อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่สมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะลูกๆ หลานๆ อยากทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด เมื่อใดก็ตามที่สมาชิกในครอบครัวมีเรื่องไม่เข้าใจกัน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับที่คาดหวังไว้ การตั้งสติและหันหน้ามาคุยกันว่าในขณะที่แต่ละคนทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล รู้สึกอย่างไร เหนื่อย และหนักมากขนาดไหน การพูดคุย เห็นอกเห็นใจ และที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็จะช่วยลดทอนปัญหาตรงนี้ไปได้ และมีผลต่อการดูแลผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นไปได้อีก
จะเห็นได้ว่า อาการของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในแต่ละระยะมีลักษณะและความรุนแรงแตกต่างกัน การสังเกตอาการและดูแลอย่างเหมาะสมและใกล้ชิด จะช่วยชะลอพัฒนาการของโรคให้ช้าลงได้ ซึ่งหากท่านใดมีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลด้วยความเข้าใจ
สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์มือใหม่ การเตรียมวางแผนและการเตรียมความพร้อมอาจจะต้องใช้เวลา ใช้พลังกาย และพลังใจที่สูง เนื่องการดูแลผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวมีรายละเอียดต่างๆ ที่ต้องอาศัยเวลา ความเข้าใจ ความใส่ใจอย่างมาก ดังนั้น ผู้ดูแลต้องไม่ลืมที่จะดูแลตัวเอง ให้เวลาตัวเองได้ใช้ชีวิต รวมไปถึงหมั่นสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของเราไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีคุณภาพและมีสุขภาวะที่ดีร่วมกัน
–
อ้างอิง:
นพ. วิชชากร ตรีสุคนธ์
จิตแพทย์ เฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์
โรงพยาบาลมนารมย์