รศ.พญ.ธัญนันท์ ใบสมุทร หรืออาจารย์นา (นามสกุลเดิม เรืองเวทย์วัฒนา) อายุรแพทย์โรคมะเร็งวัย 46 ปี ผู้ควบตำแหน่งนักวิจัย ผู้บริหาร และอาจารย์ประจำสาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ใช้เวลากว่าหนึ่งทศวรรษในการนำความเชี่ยวชาญด้านมะเร็งในทรวงอก ความรู้เชิงลึกในเรื่องมะเร็งวิทยาชั้นสูง และการพัฒนายารักษามะเร็ง มาเพื่อขับเคลื่อน พัฒนา และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการแพทย์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการยกระดับการดูแลรักษาคนไข้มะเร็งปอดให้ก้าวไปข้างหน้า เธอทำงานแบบเทหมดหน้าตักทั้งงานวิจัยด้านมะเร็งปอด การพัฒนายามะเร็งปอดเพื่อคนไข้ในประเทศไทย การเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันและก่อตั้งทีมสหสาขาวิชาชีพเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดอย่างครบวงจร (Ramathibodi Lung Cancer Consortium, RLC) ที่รวมเอาทีมบุคลากรทางการแพทย์สหสาขาวิชาภายในโรงพยาบาลรามาธิบดีมาดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอดแบบองค์รวม รวมไปถึงการทำงานและทำวิจัยร่วมกับองค์กรต่างๆ ในต่างประเทศเพื่อนำเข้ายามะเร็งใหม่ๆ ที่ยังไม่มีในบ้านเรามาใช้กับคนไทย ตลอดจนการเป็นหนึ่งในบุคลากรที่ช่วยผลักดันให้ยามะเร็งที่เบิกไม่ได้และราคาสูงเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติได้สำเร็จ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหญ่คือการรักษาคนไข้ให้ชนะโรคที่เป็นอยู่ สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียม ที่สำคัญที่สุดคือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นี่คือบทสนทนาของเรากับอาจารย์นาตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กกับการตัดสินใจเปลี่ยนหางเสือจากที่จะได้โอกาสเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า สู่การเป็นนักศึกษาแพทย์ ไปจนถึงบทบาทของอายุรแพทย์ด้านมะเร็ง นักวิจัย ครู ผู้บริหาร และผู้ที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความสำเร็จของวงการมะเร็งปอดของประเทศไทยในทุกวันนี้
ปรับใบเรือเพื่อปลายทางใหม่
“จริงๆ ต้องเล่าย้อนไปตอนอยู่มัธยมเลย ตอนนั้น หมอสอบโควตาได้วิศวกรรมไฟฟ้าได้เรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยตัวเองเป็นลูกคนเล็กในบรรดาพี่น้องที่มีพี่สาวคนโตเป็นคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ พี่คนที่สองเป็นนักวิทยาศาสตร์ (Food Scientist) พี่คนที่สามเป็นวิศวกร เลยมานั่งคุยกับตัวเองว่า ครอบครัวของเรายังไม่มีใครเป็นหมอเลยนี่นา แล้วถ้าเรียนวิศวะฯ ก็คงเก่งสู้พี่ชายไม่ได้แน่ๆ เพราะพี่เราเก่งมาก พอได้ปรึกษากับที่บ้าน ทุกคนให้เราเลือกในสิ่งที่อยากเรียนได้เลย อีกอย่างที่คิดคือหากเรียนหมอจะได้ดูแลคุณพ่อคุณแม่ด้วยเวลาที่ท่านอายุมากแล้วหรือเวลาท่านเจ็บป่วย หมอก็เลยตัดสินใจสละสิทธิ์ที่สอบได้วิศวกรรมไฟฟ้า แล้วตั้งใจอ่านหนังสือใหม่จนสอบได้ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นี่คือก้าวแรกของการได้ทำความรู้จักกับอาชีพหมอ”
ส่วนการเลือกเรียนเฉพาะทางด้านมะเร็งเองก็มีที่มาที่ไปเช่นกัน อาจารย์นาเล่าให้เราฟังต่อว่าในช่วงของการใช้ทุน เธอสนใจด้านกุมารเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด (Neonatal-Perinatal Medicine) หรือหมอ Newborn แพทย์ที่ดูแลทารกแรกเกิด แต่เหมือนมีอะไรดลใจให้อาจารย์นากลับมาถามตัวเองซ้ำอีกรอบว่าอยากจะเรียนเฉพาะทางด้านนี้จริงๆ ไหม ประกอบกับเวลานั้น แม่ของเธอป่วยเป็นมะเร็งปอด ซึ่งการที่เธอต้องดูแลและพาท่านไปหาหมอ กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เธอเลือกเรียนด้านอายุรศาสตร์เพื่อดูแลผู้ป่วยผู้ใหญ่แทน
“ตอนที่แม่ป่วย หมอยังเป็นนักศึกษาแพทย์ปีห้าจะขึ้นปีหก ก็ได้มีโอกาสได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดในการดูแลคุณแม่ทันที กระทั่งได้เข้ามาเรียนแพทย์ประจำบ้านสาขาวิชาอายุรศาสตร์ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี แล้วตอนนั้นหมอคิดว่าคงเพราะเราคงทำได้หลายอย่าง ดูหน่วยก้านดี อาจารย์หมอเกือบทุกแผนก ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หมอโรคระบบทางเดินอาหารและตับ อาจารย์หมอปอด อาจารย์หมอด้านหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงอาจารย์หมอมะเร็ง เลยทาบทามว่า ถ้าเรียนจบแล้วสนใจมาเรียนด้านเฉพาะทางของพวกท่านไหม หมอก็เก็บคำชวนของอาจารย์แต่ละท่านมาคิดตลอด จนสุดท้ายเลือกเรียนมะเร็ง เพราะว่าคุณแม่เป็นมะเร็งปอดและท่านเสียตอนหมอเป็นแพทย์ประจำบ้านด้านอายุรศาสตร์ปีที่สองจะขึ้นปีที่สาม การป่วยของคุณแม่ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เราตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะเรียนต่อด้านมะเร็ง เพราะอยากทำด้านนี้ให้ดีจริงๆ จำได้เลยว่าตอนที่แม่ป่วย ท่านเป็นมะเร็งปอดระยะสี่ แต่เป็นระยะสี่ที่อยู่มาได้หกปีเต็มในช่วงเวลาที่ยังไม่มีนวัตกรรมเรื่องการรักษาและยาใหม่ๆ หมออยากให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบคุณแม่และอยากพัฒนาด้านการรักษาต่างๆ ทางด้านโรคมะเร็งปอดให้ดีขึ้นด้วย เลยตัดสินใจเรียนต่อทางด้านนี้”
คงเพราะความชอบด้านโรคมะเร็งปอด เลยทำให้เวลาเรียน เธอสนุกกับการเรียนมาก สามารถจำความรู้เข้าหัวได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เมื่อเรียนจบเฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยาจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เธอเดินทางไปศึกษาต่อด้านมะเร็งในทรวงอกที่ Mayo Clinic รัฐมินนิโซต้า รวมถึงด้านมะเร็งวิทยาชั้นสูงและการพัฒนายารักษามะเร็ง ณ Roswell Park Cencer Institute ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยไปศึกษาต่อทั้งหมดอีกสี่ปี
“ที่ Mayo Clinic เป็นโรงพยาบาลที่ติดท็อปสามของโลกและที่นั่นมีศูนย์มะเร็ง ตอนแรกที่ไป หมอไปเป็น Clinical Research Fellow ของมะเร็งในทรวงอก (Thoracic Malignancy) และได้ทำปริญญาโทอีกหนึ่งใบด้านวิทยาศาสตร์ชีวทางการแพทย์ (Biomedical Science) ทำให้เราเรียนรู้ในเรื่องการทำวิจัย ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์การแปลงความรู้สู่การปฏิบัติ (Translational Science) ควบคู่ไปกับการวิจัยด้านมะเร็งทรวงอก รวมถึงการได้เรียนต่อ Clinical Fellow ทางด้านมะเร็งวิทยาชั้นสูงและการพัฒนายารักษามะเร็ง ณ Roswell Park Cencer Institute การได้เรียนในทั้งสองสถาบันที่เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง การทำวิจัยทางด้านมะเร็งปอด การได้ตรวจคนไข้มะเร็งปอดซับซ้อนในรูปแบบต่างๆ และการตรวจคนไข้ที่เข้าโครงการวิจัยทางคลินิกที่ต่างประเทศ นอกจากจะได้เก็บเกี่ยวความรู้ด้านมะเร็งปอดและทรวงอกอยู่สี่ปีเต็มแล้ว หมอยังโชคดีที่ได้เจอที่ปรึกษาที่ดีมากๆ สองท่าน ทั้ง Prof. Julian R. Molina ที่ Mayo Clinic และ Prof. Alex A. Adjei ที่ Roswell Park Cancer Institute ซึ่งปัจจุบันทั้งสองท่านยังคงเป็นที่ปรึกษาของหมออยู่ อีกทั้งยังทำให้หมอได้เห็นการทำงานแบบมืออาชีพว่าเขาทำงานกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Prof. Adjei ถือเป็นต้นแบบในการทำงานของหมอมาจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างมาก ตรงนั้นเป็นจุดที่ทำให้เราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ถ้าเรียนจบแล้วจะกลับมาทำอะไรและอยากจะช่วยทำอะไรให้งานด้านมะเร็งปอดดีขึ้นบ้าง”
จากวงกลมเล็กๆ สู่วงกลมวงใหญ่ที่สมบูรณ์
“หลังจากไปศึกษาและเก็บเกี่ยวความรู้ด้านนี้มาอย่างลึกซึ้ง พอกลับมาปุ๊บ เรามีสิ่งที่อยากจะทำให้สำเร็จเต็มไปหมด หมอเลยมานั่งวาดสิ่งที่อยากจะทำเป็นวงกลมหลายๆ วง แต่ต่อเป็นรูปเดียว แล้วตั้งชื่อเองว่าเป็น ‘Circle of Career Path’ โดยตั้งโจทย์ใหญ่ๆ ว่าเราจะนำความรู้เรื่องมะเร็งปอดที่ร่ำเรียนมาพัฒนาวงการมะเร็งปอดไทยให้ไปข้างหน้าและมีคุณภาพ
“สำหรับวงกลมวงแรกจะเกี่ยวข้องอยู่สองเรื่อง หนึ่งคือเรื่องของการรักษาที่เราเริ่มต้นจากคำถามที่ว่าการรักษาโรคมะเร็งปอดในประเทศไทยจะต้องพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง เรื่องที่เราพยายามมาตลอดคือการทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วและทันเวลา เนื่องจากมะเร็งปอดมักไม่แสดงอาการในระยะต้น จึงทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่ตรวจพบในระยะแพร่กระจายหรือลุกลามไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายแล้ว เราเลยเป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้ง Ramathibodi Lung Cancer Consortium (RLC) ซึ่งเป็นทีมสหสาขาวิชาในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ความโชคดีคืออาจารย์ทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปอด ไม่ว่าจะเป็นหมอปอด หมอมะเร็ง หมอเอกซเรย์ หมอเวชศาสตร์นิวเคลียร์ หมอฉายแสง พยาธิแพทย์ หมอผ่าตัด รวมถึงพยาบาลและเภสัชกร ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าเราต้องมาร่วมมือกัน การทำงานของเราจึงเป็นในลักษณะของการประชุมกัน ดูคนไข้ด้วยกัน ทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาเร็วขึ้น และเป็นการรักษาแบบครบทุกมิติ ส่วนเรื่องที่สองคือเรื่องการวิจัยทางคลินิกต่างๆ (Clinical Study) ซึ่งสมัยก่อนเมืองไทยมีน้อยมาก ไม่เชิงว่าคนไม่ทำกันอะไรแบบนั้น แต่ส่วนใหญ่ที่คนไม่อยากมาทำที่เมืองไทย แม้จะค่าใช้จ่ายไม่แพงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่เพราะเขากังวลเรื่องคุณภาพการทำวิจัยทางคลินิก นั่นจึงเป็นอีกจุดที่เราต้องหาหนทางเพื่อพัฒนาคุณภาพการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งปอดในประเทศไทยให้ดีขึ้น
“วงที่สองและสามจะเกี่ยวข้องไปกับการทำวิจัย หมอคิดว่าเราอุตส่าห์ไปเรียนมาขนาดนี้ เราเองก็มีวิจัยที่อยากทำทันทีอยู่เหมือนกัน แต่ด้วยหน้าที่ของหมอไทยที่มีเยอะมาก เราจึงต้องอาศัยความช่วยเหลือและการร่วมมือระหว่างกัน โชคดีที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เรามีสำนัก Research Center และหมอเองก็มีพี่นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัยด้วยกันมาตั้งแต่สมัยที่หมอเป็น Fellow เลยได้ทำงานกับนักวิจัยมือฉมังอย่างเช่น ดร.นฤมล ตราชู แถมได้เจอผู้ใหญ่ใจดีอีก ทั้งท่าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ไปจนถึง ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา ที่ท่านเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีในเวลานั้น ซึ่งตอนนี้ท่านเป็นอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนอาจารย์ที่หน่วยมะเร็งที่ทุกคนช่วยเหลือและสนับสนุนเราทั้งหมด จนทำให้หมอสามารถทำทั้งหน้าที่ทางเทคนิค ทำวิจัย และหน้าที่อื่นๆ ไปพร้อมกันได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน
“วงที่สี่คือการสร้างเครือข่ายด้านมะเร็งที่หมอเริ่มสร้างความสัมพันธ์อันดีมาตั้งแต่ตอนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ เช่น การได้รับความร่วมมือจาก Mayo Clinic ที่จะมาทำงานร่วมกันเสมอ อย่างเช่น การจัดประชุมวิชาการร่วมกันอย่าง Ramathibodi-Mayo Clinic-Cleveland Clinic Joint Conference (RMC) และ The Ramathibodi Lung Cancer Consortium (RLC) Conference ซึ่งการสร้างเครือข่ายที่เกิดขึ้น หมออยากให้จุดนี้เป็นการเข้ามาช่วยเพิ่มเติมและขยายองค์ความรู้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในเมืองไทย โดยเราพยายามจะทำงานร่วมกันในแง่ต่างๆ อย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และได้ข้อมูลที่ทั้งอัพเดทและประโยชน์ตลอดเวลา และนอกจากนี้ตลอด 10 ปีที่กลับมาจากต่างประเทศ หมอยังสร้างเครือข่ายต่างๆ กับต่างประเทศเกี่ยวกับด้านโรคมะเร็งปอดไว้มากมาย ในการเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและ Steering Committee ของ ATORG (Asian Thoracic Oncology Research Group) และได้เข้าร่วมเป็นกรรมการต่าง ๆ ขององค์กรมะเร็งปอดระดับโลก อาทิ IASLC (International Association for the Study of Lung Cancer), ESMO (European Society for Medical Oncology) และยังได้เป็น Editorial Board Committee ของวารสารทางด้านมะเร็งปอดระดับโลกอย่าง JTO (Journal of Thoracic Oncology) อีกด้วย
“วงที่ห้าจะเป็นส่วนของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในโรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะหากเราจะพัฒนาด้านงานวิจัยและโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ เราจะต้องมี Clinical Research Center (CRC) ซึ่งก็ได้เข้าไปช่วยสอน ช่วยพัฒนา และสร้างบุคลากรใน CRC โดยเราใช้โครงการวิจัยต่างๆ ของเราเข้าไปผลักดันและทำจริงจัง ทำให้ CRC สามารถเจริญเติบโตได้ ตอนนี้ CRC ที่รามาฯ มีชื่อเป็นทางการเรียบร้อย นั่นคือ Ramithibodi Clinical Research Center (RAMACC) โดยตอนนี้ RAMACC สามารถที่จะช่วยน้องๆ ที่เพิ่งเริ่มในการทำวิจัยให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อนตอนที่หมอกลับมาซึ่งต้องลุยเองหมด ทั้งติดต่อ อย. เอง และอะไรอีกมากมาย ทำให้เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้ในอนาคตเราสามารถช่วยน้องๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นให้ทำงานง่ายขึ้น นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นอีกจุดในตอนนั้นที่ทำให้เราเข้าไปช่วยพัฒนา CRC”
ภารกิจเพื่อเปลี่ยนอนาคตผู้ป่วยมะเร็งปอด
นอกเหนือไปจากบทบาทการรักษา การสอน การทำวิจัย และการบริหาร อาจารย์นายังเป็นหัวเรือใหญ่ในการจุดประกายและขับเคลื่อนให้เกิดโครงการอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อให้การรักษามะเร็งปอดในไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
“มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งหมอทำร่วมกับทีมพยาบาลและนักวิจัยของหมอ โดยงานชิ้นนี้เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปอดชนิดหนึ่ง ต้องเท้าความก่อนว่า ปกติแล้วมะเร็งปอดจะแบ่งออกเป็นสองชนิด คือหนึ่ง ชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) กับสอง ชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small Cell Lung Cancer) ซึ่งมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กจะสัมพันธ์ไปกับการสูบบุหรี่ แต่หลังจากที่คนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลง ทำให้เราเจอผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดนี้ลดลงไปด้วย นั่นคือไม่ถึง 15% ขณะที่คนไข้ส่วนที่เหลือจะมาด้วยการป่วยชนิดหลัง คือชนิดเซลล์ไม่เล็ก หมอได้ทำการศึกษามะเร็งปอดชนิด Adenocarcinoma โดยในปัจจุบัน เราเจอมะเร็งชนิดนี้ในประเทศเอเชียตะวันออกราว 60% มีการกลายพันธุ์ของยีน EGFR (Epidermal Growth Factor Receptor) ซึ่งเป็นยีนที่อยู่บนผิวเซลล์ช่วยในการควบคุมการแบ่งตัวและรักษาสมดุลของเซลล์ ซึ่งหากยีน EGFR เกิดการกลายพันธุ์จะทำให้สูญเสียการควบคุมสมดุลในเซลล์ไป เมื่อมีการเพิ่มตัวของยีนที่ผิดปกติเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดเป็นมะเร็งปอดขึ้น ซึ่งสมัยก่อน ยาที่รักษาเบิกไม่ได้เลยในสิทธิ์ประกันสุขภาพและสิทธิ์ประกันสังคม ส่วนข้าราชการเบิกได้แต่ไม่สามารถใช้ได้ตั้งแต่แรกต้องผ่านยาเคมีบำบัดมาก่อนอย่างน้อยสองสูตร ซึ่งจริงๆ เมืองนอกใช้ในการรักษาตั้งแต่แรก พอมีการศึกษาวิจัยนี้ของหมอเข้ามา เราจึงสามารถนำข้อมูลที่ได้นี้ไปให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายยาดู และเป็นช่วงเดียวกับที่มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยได้ผลักดันยากลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน เลยเป็นการร่วมด้วยช่วยกันทำให้ตอนนี้คนไทยสามารถที่จะใช้ยาต้าน EGFR รุ่นที่ 1 นี้ได้ทุกคนทุกสิทธิ์การประกันสุขภาพ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดของเรามีโอกาสได้ใช้ยาได้มากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตและอัตราการรอดชีวิตดีขึ้นมาก
“ด้วยเรื่องที่เล่ามา หมออยากจะบอกน้องๆ เหมือนกันว่าเราในฐานะแพทย์มะเร็งวิทยา เราต้องตามโลกให้ทันเสมอ หมายความว่า เราเองต้องหาความรู้ใส่ตัวตลอดเวลาว่าเวลานี้มียาตัวไหนบ้างที่กำลังจะถูกนำออกมาใช้ ยาตัวไหนบ้างที่จะเหมาะกับคนไข้ของเรา หรือยาตัวไหนที่ช่วยคนไข้เราได้อย่างมีประสิทธิภาพบ้าง ในบางครั้งมันเป็นยาตัวใหม่ที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริก (FDA) อนุมัติแล้ว แต่กว่าจะเข้ามาในไทยต้องใช้เวลาหลายปีมาก ที่สำคัญคือเมื่อเข้ามาแล้วไม่ใช่ว่านำมาใช้ได้เลย เพราะราคาสูงมาก ดังนั้น มันมีช่องทางที่บริษัทยาเปิดโอกาสให้แพทย์และโรงพยาบาลสามารถที่จะขอยาใช้ได้ ในกรณีแบบนี้ ในฐานะของการเป็นหมอ เราต้องติดตามและต้องติดต่อด้วยว่าตอนนี้มียาตัวนี้ที่ต่างประเทศเขาอนุมัติแล้วบ้าง แต่เมืองไทยยังไม่มี เราสามารถที่จะขอใช้ยานี้ให้กับคนไข้เราได้ไหม โดยใช้โปรแกรมที่เรียกว่า Named Patient Use Program ซึ่งหมอขอไปเยอะมาก หมอรู้ว่ามันเป็นการเพิ่มงานเราแหละ แต่สำหรับหมอ มันเป็นการเพิ่มหน้าที่ที่คุ้มค่ามากๆ เลยนะ เพราะสามารถช่วยชีวิตคนไข้ให้เข้าถึงยาได้เร็วขึ้น มากขึ้น และมีโอกาสเข้าถึงยาดีๆ ช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา หมอขอให้คนไข้เป็นพันคน บางคนยังกินยาตัวนั้นอยู่เลย และทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาก”
วันที่เทียนหนึ่งเล่มต่อไฟให้เทียนอีกหลายพันเล่มได้สว่างไสว
“ถึงปีนี้จะเป็นปีที่ 11 แล้ว แต่ Circle of Career Path ของเรายังคงทำงานอยู่ทุกวัน และหมอโชคดีมากที่ทำได้ครบทุกวงเลย แล้วพอเราได้เห็นการออกดอกออกผลจากผลงานที่เราทำ ยิ่งตอกย้ำเลยว่าหมอตัดสินใจไม่ผิดและรู้สึกไม่เสียใจเลยที่สละสิทธิ์การเรียนวิศวะฯ ในเวลานั้นแล้วเลือกเรียนหมอ และไม่เสียใจเลยที่เปลี่ยนใจจากการที่จะเรียนหมอทารกแรกเกิดมาเรียนเป็นหมอผู้ใหญ่ แล้วก็ยิ่งไม่เสียใจอีกที่เลือกมาเรียนด้านมะเร็ง อย่างแรกที่เราได้รับคือตอนที่คุณแม่ป่วยแล้วได้ใช้ความรู้ในวันที่ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ปีที่ห้ามาดูแลแม่ได้อย่างดีและทำให้ท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดก่อนที่ท่านจะจากไป
“นอกจากนี้คือการที่เราได้สร้างสิ่งต่างๆ ไว้ครบถ้วนตามที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือคนไข้ ซึ่งเราไม่ได้พูดแค่ลอยๆ แต่เราได้เก็บข้อมูลทุกอย่างของคนไข้ตั้งแต่วันแรกที่สงสัย จนกระทั่งเริ่มการรักษาในทุกแง่มุม ที่พบตัวเลขหลายๆ อย่างลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนที่จะมี RLC คนไข้ใช้เวลาเพื่อรอผ่าตัดสองเดือน แต่เมื่อมี RLC แล้ว ระยะเวลาลดลงเหลือเพียงหนึ่งเดือน หรือจากการต้องรอเพื่อมาให้คีโมและให้ยามุ่งเป้า จาก 45 วันจึงจะเริ่มรักษา ก็เหลือแค่สองอาทิตย์ แล้วเริ่มการรักษาเลย จำนวนครั้งที่มาโรงพยาบาลก่อนเริ่มรักษาจากแปดเหลือเพียงสองครั้ง ข้อมูลเหล่านี้บ่งบอกได้ถึงการเข้าถึงการักษาที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตของคนไข้ยืนยาวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
“รวมไปถึงนักเรียนแพทย์ที่เราสอน พวกเขาเติบโตมาเป็นคุณหมอที่ดี เป็นหมอที่คิดถึงหัวใจคนไข้ เป็นหมอที่มีเป้าหมายคือการได้ดูแลคนไข้ของพวกเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี หมอได้เห็นแล้วว่าการที่เราทำให้เด็กๆ ที่เราสอนสัมผัสได้ถึงความตั้งใจและมุ่งมั่นด้วยการลงมือทำจริงมันส่งผลอะไรกลับมา เด็กๆ กลับมาหาเราแล้วบอกว่าพวกเขาได้นำสิ่งที่เราสอนไปทำอะไรแล้วบ้าง และน้องๆ เข้าใจแล้วว่าทำไมวันนั้นเราถึงสอนเขาแบบนั้น ที่น่าดีใจคือ น้องๆ และนักศึกษาที่เราเคยสอนบอกว่า พวกเขาจะนำสิ่งเหล่านี้ไปถ่ายทอดกับเด็กๆ ที่เขาสอนต่อไป พอได้ฟัง เลยทำให้หมอรู้สึกดีใจมากที่เทียนที่หมอเคยจุดไว้ส่องสว่างและแผ่ขยายไปมากขึ้นๆ (ยิ้ม)
“อย่างที่เห็น ตอนนี้หมอทำงานอยู่หลายบทบาท ทั้งการรักษาคนไข้ งานสอน งานวิจัย และมีหน้าที่บริหารเพิ่มเติมเข้ามาด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวที่ทั้งเข้าใจและเป็นกำลังใจให้หมอมาตลอด ตั้งแต่เด็กมาเลย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง ที่สนับสนุนเราทุกทางอย่างเต็มที่ ไม่เคยมากะเกณฑ์ว่าเราจะต้องทำหรือไม่ต้องทำอะไร มีแต่โอเค อยากเรียนอะไร ทำอะไร ลุยเลย มันเลยเป็นความโชคดีตั้งแต่เด็กว่าที่เราอยู่ในบรรยากาศของการถูกซัพพอร์ตมาเสมอทำให้เราไปได้สุดอย่างที่ตั้งใจไว้
“แล้วพอแต่งงาน สามีหมอก็ไม่เคยปิดกั้น เขาให้เราทำทุกอย่างเต็มที่เช่นกัน ยิ่งถ้าสิ่งที่เราอยากทำอะไรไปสร้างประโยชน์ หมอไม่ต้องลังเลเลย วันนี้เลยอยากขอบคุณทุกคนในชีวิตที่เห็นด้วยกับสิ่งที่หมอทำ กับการสร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น พวกเขาเองก็อยากให้เราทำตรงนี้ เพราะอยากให้เราได้ใช้เทียนของเราไปต่อแสงสว่างให้กับเทียนเล่มอื่นๆ แล้วได้แผ่ขยายความสว่างออกไปอีกมากมาย แม้ว่าบางทีพวกเราในครอบครัวอาจได้ใช้เวลาร่วมกันน้อยลงบ้าง แต่ถ้าความเสียสละนั้นได้ก่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นกับองค์รวม ทุกคนก็พร้อมที่จะซับพอร์ตหมอเสมอ แต่แน่นอนนะคะเราเองก็ต้องแบ่งเวลาให้ดีแบ่งเวลาให้เป็น เพราะครอบครัวก็มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเรา
“ถามว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา เหนื่อยไหม เหนื่อยนะ แต่มันเป็นความเหนื่อยที่มีความสุข นั่นเลยทำให้หมอภูมิใจที่ได้เป็นหมอมะเร็ง ภูมิใจที่ได้เป็นหมอมะเร็งปอด รวมถึงภูมิใจที่ได้เป็นอาจารย์แพทย์ที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จได้จริงๆ ที่ภูมิใจที่สุดคือการเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอดพัฒนาไปมาก ตลอดจนการได้ใช้ความรู้ในการดูแลคนไข้และครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นค่ะ (ยิ้ม)”
–
ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร