ถอดแรงบันดาลใจจาก ‘YOLO’ หนังจีนสุดปังที่โด่งดังไปทั่วโลก

Care / Self Care

ทุกครั้งที่เห็นคำว่า ‘YOLO’ ผู้เขียนจะต้องนึกถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำ คือตอนที่รู้จักกับคำว่า YOLO เป็นครั้งแรกจากรอยสักของหญิงสาวแบ็กแพ็กเกอร์ชาวต่างชาติ ซึ่งเธออธิบายด้วยรอยยิ้มสดใสว่า เป็นคำย่อของประโยค “You Only Live Once” ที่แปลได้ว่า “เราเกิดมาแค่หนเดียว” (อยากทำอะไรก็ทำให้เต็มที่ ถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน) และการเดินทางท่องโลกเพียงลำพังของเธอคนนี้ก็ช่วยยืนยันความหมายของคำนี้ได้เป็นอย่างดี 

ในตอนนั้นผู้เขียนเกิดคำถามกับตัวเองทันที “แล้วตัวเราล่ะ…อยากทำอะไร?”

นี่คงเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับใครหลายๆ คน รวมถึง ‘เล่ออิ๋ง’ หญิงสาวว่างงานวัย 30 กว่าๆ ผู้หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต ล้มเหลวกับความสัมพันธ์ กินกับนอนไปวันๆ มีสิ่งเดียวที่อยู่ในช่วงขาขึ้นคือน้ำหนักตัว

เล่ออิ๋ง คือตัวละครหลักของหนังสัญชาติจีนเรื่อง YOLO แสดงโดย เจี่ย หลิง ผู้กำกับ นักเขียนบท และนักแสดงชาวจีนวัย 42 ปี ผู้ที่สร้างปรากฎการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ พาหนังกวาดรายได้ถล่มทลายในประเทศจีนและอีกหลายประเทศทั่วโลก ทำเงินไปไม่ต่ำกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2024 ทั้งที่พล็อตเรื่องก็ไม่ได้แปลกใหม่ และไม่ได้มีพระเอกนางเอกสวยหล่อมาดึงดูดใจ แต่ผู้ชมกลับชื่นชอบและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นหนังที่ทรงพลังและสร้างแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

และนี่ก็คือส่วนหนึ่งของแง่คิดดีๆ ที่ hhc Thailand นำมาฝากคุณผู้อ่านค่ะ

*คำเตือน: อาจมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนัง*

สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จถล่มทลาย น่าจะมาจากความสมจริงของบท ‘เล่ออิ๋ง’ ที่เล่น (และกำกับ) โดยเจี่ย หลิง ซึ่งเธอต้องเพิ่มน้ำหนักตัวเองขึ้นกว่า 20 กิโลกรัมให้สมบทสาวพลัสไซส์ จากนั้นก็ต้องลดน้ำหนักลงกว่า 50 กิโลกรัมภายในเวลา 1 ปี โดยเลือกที่จะไม่ใช้เทคนิคพิเศษหรือตัวแสดงแทน แต่น้ำหนักที่ลดลงและกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นมาเป็นมัดๆ นั้นมาจากการออกกำลังกายและฝึกหนักกันจริงๆ เปลี่ยนร่างอุ้ยอ้ายเทอะทะเป็นร่างของนักกีฬามวยอย่างสมบูรณ์แบบจนกลายเป็นที่ฮือฮาของชาวจีน และทำให้กีฬามวยและการเล่นฟิตเนสกลับมาฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง คงเพราะการได้เห็นใครสักคนทำเรื่องยากๆ ได้สำเร็จ เป็นเหมือนดังยากระตุ้นชั้นดีที่ทำให้รู้สึกว่า “เราเองก็ทำได้เหมือนกัน!” 

ตั้งแต่หนังเริ่ม เชื่อว่าคนดูคงลุ้นอยู่ตลอดว่านางเอกของเรื่องจะลุกมาเปลี่ยนแปลงตัวเองตอนไหน? ตอนที่ตกงาน? ตอนทะเลาะตบตีกับพี่สาว? ตอนโดนแม่ด่า? ตอนแฟนบอกเลิกไปแต่งงานกับเพื่อนสนิท? หรือแม้กระทั่งตอนที่นางบอกกับครูฝึกว่า อยากต่อยมวย เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าการมาเริ่มต่อยมวยตอนอายุสามสิบกว่าด้วยน้ำหนักร่วมร้อยโล มันจะสายไปมั้ย? แต่สุดท้ายคนดูก็เชื่อสนิทใจว่า ถึงจะเริ่มต้นช้าก็ยังไม่สายเกินไป มันมีโอกาสเดินทางไปถึงความสำเร็จได้ถ้าเราไม่หยุดเดิน จะเริ่มต้นตอนไหนก็ไม่สำคัญ แต่ถ้าไม่เริ่มต้นเลย ก็คงได้แค่หยุดอยู่กับที่!

ฉากหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากและกลายมาเป็นสิ่งที่ชาวเน็ตเรียกว่า ‘หลักการแอปเปิ้ล’ คือตอนที่พ่อกับเล่ออิ๋งคุยกันในร้านอาหาร เธอถามพ่อว่า “ถ้าพ่อมีแอปเปิ้ลลูกเล็กกับลูกใหญ่ และเพื่อนของพ่อก็อยากได้ พ่อจะให้ลูกไหนกับเพื่อน?” ในขณะที่พ่อตอบว่าให้ลูกใหญ่ แต่เธอตอบว่าคงจะให้ทั้งสองลูกเลย ถึงแม้จะเป็นคำตอบแบบขำๆ แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนเดิมของเล่ออิ๋งตลอดชีวิตที่ผ่านมา ที่เป็นคนแสวงหาความรักและการยอมรับจากคนอื่นโดยมองข้ามความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง อย่างที่เธอบอกในตอนท้ายว่า “ฉันเคยคิดว่าถ้าอยากได้รับความรัก ก็ต้องทำตัวดีๆ กับคนอื่นเพื่อแลกมา” แต่สิ่งที่เธอได้รับตลอดมาคือการถูกเอาเปรียบและทำให้สูญเสียความเป็นตัวเองไป

แต่แล้วการชกมวยก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้เธอรู้จักฟังเสียงข้างใน ให้ความสำคัญกับตัวเอง และเรียนรู้ที่จะแสดงความต้องการของตัวเองอย่างมั่นใจ การที่ต่างฝ่ายได้เป็นตัวของตัวเองโดยไม่เอาเปรียบกัน นั่นต่างหากคือความสัมพันธ์ที่ดี 

ไม่ผิดที่เราจะรักตัวเองก่อน ไม่ผิดที่เราจะอยากกินแอปเปิ้ลของเรา จงกล้าที่จะพูดปฏิเสธหรือรักษาสิทธิ์ของเรา ถ้ามันไม่ได้เป็นการเอาเปรียบใคร แต่ถ้าเพื่อนของเราเป็นเพื่อนที่ดี เราก็อาจจะใจดีแบ่งให้เพื่อนกินด้วยก็ได้  

เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงเลือกกีฬาชกมวย เจี่ย หลิง ให้เหตุผลง่ายๆ ว่าเพราะมวยเป็นกีฬาที่คู่ต่อสู้สามารถกอดกันหลังจบเกม พอจบยกสุดท้ายนักมวยทั้งสองฝ่ายก็จับมือสวมกอดกันได้ด้วยสปิริตของนักกีฬา ถึงแม้ว่าในระหว่างเกมจะออกหมัดซัดกันแรงโหดเหมือนโกรธใครมาก็ตาม

การต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าผลแพ้ชนะ คือการต่อสู้กับตัวเอง สู้กับความเหนื่อย ความท้อ หรือแม้แต่คำดูถูกถากถาง ซึ่ง เจี่ย หลิง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า หนังของเธอไม่ได้โฟกัสที่การลดน้ำหนักเป็นหลัก แต่เป็นการยกย่องความมุ่งมั่นและความพากเพียร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ที่ผอมลง (และอาจจะดูใกล้เคียงความสวยแบบพิมพ์นิยมมากขึ้น) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเส้นทางการเติบโตเท่านั้น หาใช่เป้าหมายสำคัญ

ฉากต่อยมวยตอนท้ายเรื่อง เราจึงได้เห็นเล่ออิ๋งที่แพ้น็อกเพราะโดนต่อยยับจนลงไปนอนแผ่ กลับมีรอยยิ้มแห่งความสุขเกิดขึ้น เพราะถึงแม้เธอจะพ่ายแพ้ในเกม แต่นอกเกมเธอชนะขาดลอย เธอชนะใจตัวเองให้ลุกขึ้นมาตามหาตัวเองจนเจอ เอาชนะความเหนื่อยยาก และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนใหม่ในเวอร์ชั่นรักตัวเองได้สำเร็จ 

เพราะ  “You only live once.” เราเกิดมาทั้งที ถ้าไม่ลงมือทำตอนนี้แล้วจะทำตอนไหน

แล้วคุณล่ะคะ “อยากทำอะไร?” และ “เริ่มลงมือทำแล้วหรือยัง?”

อ้างอิง:
scmp.com
straitstimes.com
netflix.com

บทความที่เกี่ยวข้อง