5 สิ่งที่มือใหม่หัดกรีนควรพกติดตัวไว้

Care / Social Care

ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เรามีวิธีง่ายๆ หนึ่งเรื่องมาฝากกันค่ะ คือให้คุณลองพกสิ่งของ 5 อย่างดังต่อไปนี้ติดตัวไว้ทุกครั้งเวลาออกจากบ้าน รับรองว่านอกจากจะได้ช่วยโลกแล้ว ยังดีต่อสุขภาพ และที่สำคัญไม่แพ้กันอีกหนึ่งเรื่องคือ ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าด้วย!

สิ่งของ 5 อย่างที่ต้องพกติดตัวไว้คืออะไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ

ทำไมเราต้องพกกระติกน้ำเหมือนลูกเสือออกค่ายด้วย ทั้งๆ ที่เราสามารถซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดได้จากเกือบทุกที่ที่เราไป? มีใครกำลังสงสัยแบบนี้บ้าง ถ้ามี มาไขข้อข้องใจกันค่ะ

การพกกระติกน้ำติดตัวออกจากบ้านจะช่วยลดการใช้ขวดน้ำพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (single-use plastic) ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เราจะช่วยลดการผลิตขวดพลาสติกได้ และเมื่อเราลดการผลิตขวดพลาสติกได้ เราก็จะสามารถรักษาทรัพยากรไว้ได้อีกมากมายเลยทีเดียว เพราะตัวเลขที่น่าตกใจเกี่ยวกับการผลิตขวดน้ำดื่มพลาสติกคือ แค่ในสหรัฐอเมริกา เราต้องใช้น้ำมันมากถึง 17.6 ล้านบาร์เรล/ปี เพื่อผลิตขวดน้ำดื่มพลาสติกทั้งหมดที่ใช้ในหนึ่งปี!

ประโยชน์อีกสองอย่างของการพกพากระติกน้ำและหันมาดื่มน้ำกรองหรือน้ำดื่มจากขวดแก้วกันให้มากขึ้นก็คือ เรื่องสุขภาพกายและสุขภาพกระเป๋าสตางค์ของเรา เพราะรู้หรือไม่คะว่า น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก 1 ลิตร มีนาโนพลาสติก (nanoplastic) ปนเปื้อนมากถึง 240,000 อนุภาค ส่วนน้ำประปาแม้จะพบนาโนพลาสติกเหมือนกัน แต่ก็มีเพียง 5.5 อนุภาค/ 1 ลิตร เท่านั้น (อย่างที่เราเคยบอกกันไปแล้วว่า ปัจจุบัน นาโนพลาสติกและไมโครพลาสติก มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ จากการใช้พลาสติกของมนุษย์อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน)  

สุดท้าย ถ้าในแต่ละวัน เราๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อนต้องดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ก็เท่ากับว่าเราต้องเสียเงินซื้อน้ำขวด (600 มล.) ประมาณวันละ 4-5 ขวด โดยถ้าคิดราคาเฉลี่ยของน้ำดื่มที่ขวดละ 7 บาท ก็เท่ากับว่า ในหนึ่งวัน เราต้องเสียเงิน 28-35 บาท และหนึ่งปีเป็นราคามากถึง 10,220-12,775 บาท!

เห็นไหมคะว่า พกกระติกน้ำแค่อันเดียว ประหยัดเงินไปได้เป็นหมื่นต่อปีเลยทีเดียว!

Tips: แนะนำให้เลือกกระติกน้ำที่มีสัญลักษณ์ BPA Free หรือการการันตีว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ใช้สารประกอบอินทรีย์ Bisphenol A ที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เบาหวาน และหัวใจ ที่สำคัญอีกอย่าง อย่าลืมล้างกระติกน้ำทุกวัน จะได้ไม่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค

ลองจินตนาการถึงโลกในอุดมคติที่ไม่มีถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งกันดูนะคะ เราจะเห็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นเพราะไม่มีขยะจากถุงพลาสติก ไม่มีถุงพลาสติกที่ลอยละล่องอยู่ใต้ทะเลเหมือนแมงกะพรุนจนสัตว์ทะเลหลายชนิดเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหาร ไม่มีเต่าทะเลที่ถูกผ่าท้องออกมาแล้วพบขยะพลาสติกเต็มท้อง และสัตว์ทะเลหลายๆ ชนิดก็มีสุขภาพแข็งแรงปลอดภัยเพราะไม่ถูกขยะพลาสติกในมหาสมุทรพันธนาการตัวมันไว้ และสำหรับในฝั่งของมนุษย์ เราก็น่าจะพบไมโครพลาสติกในร่างกายของเราน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เช่นกัน

ปัจจุบัน มหาสมุทรทั่วโลกมีขยะพลาสติกอยู่เป็นจำนานราว 75-199 ล้านตัน และนี่แหละค่ะคือเหตุผลสำคัญที่สุดที่เราควรปฏิเสธไม่รับถุงพลาสติกแบบหูหิ้วจากร้านค้าต่างๆ และหันมาใช้ตะกร้า ถุงช็อปปิ้ง หรือกระเป๋าใดๆ ก็ตามที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ แทน ซึ่งถ้าคุณบอกว่าคุณอาศัยอยู่ห่างไกลจากทะเล และถุงพลาสติกที่คุณรับมาก็ไม่น่าจะมีทางไปอยู่ในทะเลได้ เราก็อยากให้คุณทำความเข้าใจว่า ถุงพลาสติกที่มีน้ำหนักเบามากเหล่านี้สามารถปลิวไปตกที่ไหนก็ได้ง่ายๆ และถ้าคุณเก็บถุงพลาสติกไว้เป็นระยะเวลานาน สุดท้ายมันจะแตกตัวกลายเป็นเศษพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่พร้อมจะหลุดรอดลงสู่สภาพแวดล้อม หรือถ้าคุณใช้ใส่ ขยะอาหาร มันก็จะไปสิ้นสุดที่หลุมฝังกลบ และไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่จะแตกตัวเป็นไมโครพลาสติก ปนเปื้อนลงในสิ่งแวดล้อม หรือถูกน้ำพัดพาไปจบที่มหาสมุทรในที่สุด

ทุกครั้งที่คุณรับถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้งมา เราอยากให้คุณลองนึกดูว่า ทุกปีมีสัตว์ทะเลมากกว่า 1 ล้านชีวิต หรืออาจถึง 100 ล้านชีวิต ตายเพราะมลพิษพลาสติกในทะเล และเฉพาะในประเทศไทย เราผลิตขยะจากถุงพลาสติกราว 5,300 ตัน/วัน ซึ่งขยะพลาสติกจำนวนมากมายเหล่านี้ มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับการจัดเก็บเพื่อนำไปทำลายอย่างถูกวิธี ส่วนที่เหลือก็ปะปนลงในธรรมชาติ กลายเป็นไมโครพลาสติกที่กลับมาหามนุษย์ผ่านทางอาหาร น้ำดื่ม และอากาศ ในที่สุด

แน่นอนว่า ปัจจุบัน เราอาจมาไกลเกินกว่าจะ “เลิก” ใช้ถุงพลาสติกทุกชนิดแบบเด็ดขาดกันแล้ว แต่อย่างน้อยๆ การพกถุงช็อปปิ้งเพื่อปฏิเสธถุงพลาสติกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็สามารถจะช่วยสิ่งแวดล้อมได้บ้าง

Tips: สำหรับใครที่เน้นเรื่องการพกพาสะดวก น้ำหนักเบา เราแนะนำถุงผ้าไนล่อนที่สามารถพับเก็บเป็นชิ้นเล็กได้ และสำหรับพ่อบ้านแม่บ้าน ถุงช็อปปิ้งเก็บอุณหภูมิก็เป็นอีกชิ้นที่ขาดไม่ได้ เพราะจะช่วยเก็บอาหารและเครื่องดื่มแช่เย็นให้อยู่ในอุณหภูมิที่พอเหมาะจนกว่าคุณจะถึงบ้าน ส่วนถุงช็อปปิ้งที่เราไม่แนะนำเลยคือ ถุงผ้าสปันบอนด์ เพราะมันก็คือพลาสติกที่ใช้ไปนานๆ แล้วจะแตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

ทุกวันนี้ ร้านกาแฟส่วนมากในบ้านเราแทบจะไม่มีแก้วเซรามิกหรือแก้วจริงๆ ไว้บริการลูกค้าที่เลือกนั่งดื่มที่ร้านกันแล้ว แต่จะใช้แก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งแทบทั้งนั้น ซึ่งบอกตรงๆ เลยว่าขัดหูขัดตาเรามาก เพราะนอกจากจะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังไม่ดีต่อสุขภาพ และทำให้ร้านกาแฟบรรยากาศดีๆ เสียอรรถรสในการนั่งละเลียดเครื่องดื่มไปอีกด้วย 

เราก็เลยอยากแนะนำว่าถ้าใครที่เป็นสายกาแฟ สายคาเฟ่ นอกจากกระติกน้ำดื่มแล้ว อีกสิ่งที่คุณควรพกติดตัวไว้ก็คือ แก้วเก็บอุณหภูมิ เพราะคุณจะช่วยลดขยะพลาสติกได้หลายชิ้นเลยทีเดียว ตั้งแต่ แก้ว ฝาครอบ กระดาษสวมแก้วกาแฟ (กันร้อน) ฯลฯ ส่วนร้านไหนที่ใช้แก้วกระดาษก็ไม่พ้นข้อหาสร้างขยะเหมือนกันค่ะ เพราะแก้วกระดาษหลายชนิดจะเคลือบพลาสติกแบบบางๆ ไว้เพื่อกันไม่ให้เครื่องดื่มรั่วซึม ทำให้แก้วที่ดูเหมือนกระดาษนั้น เอาเข้าจริงย่อยสลายตามธรรมชาติก็ไม่ได้ รีไซเคิลก็ยากเข้าไปอีก 

ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ แก้วเก็บอุณหภูมินั้นจะช่วยให้เครื่องดื่มของเราเย็นหรือร้อนได้นานหลายชั่วโมงเลยค่ะ เราจึงนั่งจิบเครื่องดื่มได้อย่างสบายใจ แถมบางร้านถ้าเรานำแก้วไปเองก็ยังมีส่วนลดค่าเครื่องดื่มให้ด้วย ประหยัดเงินในกระเป๋าไปได้อีก

Tips: แก้วเก็บอุณหภูมิที่ดีที่สุดคือแก้วสแตนเลส 304 ที่เป็น food grade เพราะแข็งแรงทนทาน ไม่มีสนิมและทนต่ออุณหภูมิทั้งร้อนและเย็น

อาจจะดูเป็นสิ่งของชิ้นเล็กๆ ที่ไม่น่าเป็นอันตรายกับใคร แต่หลอดพลาสติกติดอันดับต้นๆ ของขยะพลาสติกในทะเลที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลอย่างมาก เพราะความที่มีขนาดเล็กนี่แหละ หลอดพลาสติกจึงหลุดรอดออกสู่ทะเลได้ง่าย และสัตว์ทะเลก็กินมันเข้าไปเพราะเข้าใจว่าเป็นอาหาร หรือไม่ก็ถูกทำอันตรายเพราะความเข้าใจผิดอื่นๆ อย่างภาพหนึ่งที่ติดตาเรามาหลายปี คือเจ้าม้าน้ำตัวหนึ่งที่หางของมันพันเกี่ยวหลอดพลาสติกไว้ แล้วว่ายลากเอาหลอดไปกับมันด้วย

จริงๆ แล้ว เราอยากให้คุณๆ เลิกใช้หลอดกันไปเลย เพราะหลายครั้งเราสามารถดื่มน้ำจากแก้วหรือจากขวดได้เลย และในหลายประเทศที่เจริญแล้วก็มีการแบนหลอดพลาสติกไปเรียบร้อย (ยกเว้นในกรณีผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่บางประเทศยังอนุโลมให้ใช้หลอดพลาสติกได้) แต่สำหรับใครที่ติดหลอดหรือจำเป็นต้องใช้หลอดดูเครื่องดื่มที่เป็นแบบปั่น เราแนะนำว่านอกจากแก้วเก็บอุณหภูมิแล้ว ให้คุณพกหลอดติดตัวเป็นนิสัยไว้เลย แล้วเวลาสั่งเครื่องดื่ม อย่าลืมบอกพนักงานว่า “ไม่รับหลอด” ด้วยนะคะ

Tips: หลอดแบบใช้ซ้ำ (reusable straw) มีให้เลือกหลายหลายชนิด เช่น หลอดแสตนเลส หลอดไม้ไผ่ หลอดซิลิโคน สำหรับเราแล้ว แนะนำหลอดซิลโคนสำหรับพกพาออกนอกบ้าน เพราะน้ำหนักเบา เก็บก็ง่าย บางแบรนด์ออกแบบให้หลอดซิลิโคนม้วนได้ ทำให้เก็บไว้ในกล่องขนาดเล็กนิดเดียว หรืออีกหนึ่งแบรนด์กรีนๆ ที่เราแอบติดตามมานาน ก็เพิ่งออกสินค้าใหม่เป็นหลอดสแตนเลสที่ถูกออกแบบให้ ‘หดได้’ จนมีขนาดเล็กลงสามเท่า! แถมยังเก็บในกล่องได้อย่างเป็นระเบียบ ทำให้พกพาสะดวกสุดๆ 

ของชิ้นสุดท้ายที่เราแนะนำให้พกไว้เป็นยันต์กันพลาสติกทำลายโลก ก็ยังคงเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการกิน เพราะขยะพลาสติกส่วนมากบนโลกนี้ก็เกิดจากข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับอาหารทั้งนั้น

ปัจจุบัน หลายแบรนด์ผลิตช้อนส้อมตะเกียบแบบพกพาออกมาให้เราเลือกซื้อกันเต็มไปหมด มีทั้งช้อนส้อมสแตนเลส ช้อนส้อมซิลิโคนแบบ food grade หรือแม้แต่ช้อนส้อมพลาสติกเราก็ไม่ได้รังเกียจ ถ้าเป็นพลาสติกเกรดดีที่ใช้งานซ้ำได้อย่างปลอดภัย ทั้งหมดถูกออกแบบให้บรรจุอยู่ในกล่องขนาดเล็ก ทำให้ง่ายต่อการพกพา แถมยังมีดีไซน์สวยงาม เวลาหยิบออกมาใช้ตักอาหารหรือขนมที่คุณบังเอิญไปเจอระหว่างทางและอยากกินขึ้นมา ก็ดูดีกว่าช้อนส้อมพลาสติกเป็นไหนๆ แล้วก็ยังแข็งแรงกว่าด้วย ไม่ต้องเสี่ยงกับการมีช้อนส้อมพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งแตกหรือหักคาปาก

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไม่ใช่คนกินจุบกินจิบ และเวลาออกจากบ้านก็มักแวะกินอาหารในร้าน ก็ไม่จำเป็นต้องพกของสิ่งนี้ไว้ก็ได้ค่ะ แต่ถ้าใครเป็นสายกินชอบแวะซื้อไปเรื่อยๆ เราแนะนำค่ะ

Tips: อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการใช้ช้อนส้อมพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งได้เป็นอย่างดีคือ เวลาสั่งอาหารกลับบ้านหรือเดลิเวอรี อย่าลืมย้ำว่า “ไม่รับช้อนส้อม” ด้วยนะคะ 

ลองพกสิ่งของ 5 อย่างนี้ติดตัวไว้เวลาออกจากบ้าน แล้วลองดูค่ะว่าผลลัพธ์ที่คุณได้กลับมาคุ้มค่าแค่ไหน ที่สำคัญ ทำให้เป็นนิสัยแล้วคุณจะรู้ว่า มันไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย ส่วนถ้าบางวันใครไม่สะดวกพกไปหมดทุกอย่างจริงๆ สิ่งที่คุณทำได้คือ ปฎิเสธการรับหลอดพลาสติก เก็บรวบรวมขวดน้ำและแก้วพลาสติกเพื่อส่งรีไซเคิล ส่งถุงพลาสติกที่เต็มบ้านไปกำจัดกับ N15 Technology 

แค่นี้ก็ถือว่าช่วยโลกได้แล้วค่ะ 

อ้างอิงข้อมูล:
campuspress.yale.edu
rts.com
marineconservation.org
thaipbs.or.th
thairath.co.th
amarintv.com

บทความที่เกี่ยวข้อง