เมื่อพูดถึงวิธีรับมือกับปัญหาขยะล้นโลก แน่นอนว่าเราต้องนึกถึง หลัก 3Rs – Reduce (ลดขยะ) Reuse (นำกลับมาใช้ซ้ำ) และ Recycle (แปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่) รวมถึง หลักการแยกขยะก่อนทิ้ง เป็นอย่างแรกๆ แต่ยังมีอีกหนึ่งแนวคิดที่กำลังมาแรงแซงทางโค้ง นั่นก็คือการ ‘Upcycle’ หรือ ‘Upcycling’ ซึ่งหลายคนอาจจะเคยผ่านหูผ่านตา แต่ยังไม่ค่อยแน่ใจว่ามันคืออะไร? และมันต่างจากคำว่า Recycle ที่เราคุ้นเคยอย่างไร?
ชีวิตดี by hhc Thailand อยากชวนมาทำความเข้าใจไปพร้อมกัน จะได้ไม่ตกเทรนด์ Upcycle ที่กำลังเป็นที่จับตามองของทั่วโลก เพราะนอกจากจะช่วยรักษ์โลกแล้วยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีอีกด้วยค่ะ
Upcycle กับ Recycle เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?
ก่อนอื่นเรามาทบทวนความเข้าใจว่า Reuse คือการนำสิ่งของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ แทนที่จะใช้แล้วทิ้งไป เช่น การที่เรานำขวดแยมเก่ามาล้างแล้วใช้บรรจุอาหารอย่างอื่นต่อไป หรือนำเสื้อยืดที่ขาดแล้วมาทำเป็นผ้าขี้ริ้ว กระบวนการใช้ซ้ำนี้ไม่ต้องนำไปแปรรูปก่อนแต่อย่างใด
ส่วน Recycle นั้นคือกระบวนการแปรรูปขยะ โดยเริ่มจากการคัดแยกขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น พลาสติก แก้ว หรือกระดาษ แล้วนำไปผ่านกระบวนการแปรรูป ให้ออกมาเป็นวัตถุดิบชนิดเดิม เพื่อนำไปผลิตเป็นของชิ้นใหม่ที่อาจจะอยู่ในรูปแบบเดิมหรือไม่ก็ได้ เช่น การรีไซเคิลขวดพลาสติกให้เป็นโพลีเมอร์พลาสติก จากนั้นจึงนำพลาสติกรีไซเคิลที่ได้นั้นมาผลิตเป็นขวดพลาสติกอีกครั้ง หรือการนำขวดแก้วไปหลอมและผลิตขึ้นมาใหม่ และนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแก้ว ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบขวดเหมือนเดิม
ในขณะที่ Upcycle นั้นหมายถึงการนำขยะหรือสิ่งของเหลือใช้ กลับมาใช้งานใหม่ โดยอาจจะผ่านกระบวนการรีไซเคิล หรือไม่ผ่านเลยก็ได้ จุดเด่นอยู่ที่การใช้งานดีไซน์และความคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่นั้นโดดเด่นแตกต่างและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
ยกตัวอย่างสินค้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้วงการ Upcycle ได้อย่างดี ก็คือแบรนด์ Freitag ที่ผลิตกระเป๋าจากผ้าใบคลุมรถบรรทุกที่ใช้แล้ว ใครจะเชื่อว่ามันจะกลายเป็นสินค้าสุดฮิต ประสบสำเร็จถล่มทลายขายดีไปทั่วโลก นั่นเป็นเพราะดีไซน์สุดเท่ห์ มีเอกลักษณ์ ร่วมกับการตัดเย็บที่มีคุณภาพ ทุกวันนี้กระเป๋ารุ่นแรกของ Freitag ในปี 1993 ขึ้นแท่นเป็นผลงานล้ำค่า ถูกนำไปแสดงโชว์อยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ MoMA ไปเรียบร้อยโรงเรียนนิวยอร์ก
จะเห็นได้ว่าทั้ง Reuse, Recycle และ Upcycle นั้นเหมือนกันตรงที่ช่วยลดปริมาณขยะ ทำให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดน้อยลง ลดพลังงานและทรัพยากรที่ใช้ในการกำจัด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตใหม่ให้น้อยลง และลดต้นทุนการผลิตสินค้าใหม่ได้ด้วย
แต่ความแตกต่างที่ทำให้ Upcycle โดดเด่นขึ้นมา คือ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ การมองหาไอเดียใหม่ๆ ที่จะทำให้ขยะเหลือใช้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยเก๋ขึ้น มีคุณค่ามากขึ้น เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ไม่ใช่แค่นำกลับมาใช้ซ้ำหรือแปรรูปใหม่เท่านั้น
ตัวอย่างผลงาน Upcycle ฝีมือคนไทย
ก่อนหน้าที่น้องลิซ่า Blackpink จะเปิดตัวซิงเกิ้ลใหม่ Rockstar ที่สุดจะปังดังไปทั่วโลก เธอได้ปรากฏตัวออกสื่อในชุดเดรสสุดเก๋ที่ทำให้คำว่า Upcycle ถูกพูดถึงชั่วข้ามคืน เพราะว่าเป็นชุดที่ทำมาจากขยะพลาสติกเกือบสองพันชิ้น!
ชุดนี้เป็นผลงานของดีไซเนอร์คนไทยจากแบรนด์ Pipatchara (ภิพัชรา) ซึ่งมีจุดยืนในการออกแบบที่ใส่ใจในความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและให้คุณค่ากับงานฝีมือ มีผลงานออกแบบที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลออกมาแล้วหลายคอลเล็กชั่น
พลาสติกรีไซเคิลในชุดนี้ของลิซ่า ส่วนใหญ่มาจากฝาขวดน้ำสีทองและกล่องพลาสติกใส ซึ่งแน่นอนว่าการรวบรวมให้ได้จำนวนมากไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็เป็นไปได้ด้วยความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์อย่าง ‘YOLO – Zero Waste Your Life’ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ทำงานด้านการจัดการพลาสติกกำพร้าอย่างจริงจัง (สามารถเข้าไปติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการแยกขยะ การจัดการขยะพลาสติก และการบริจาคขยะพลาสติก ได้ที่เพจ facebook.com/zerowasteyolo) ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมขยะพลาสติก โดยทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นอีกที
ถึงตรงนี้เราจะเห็นถึงระบบนิเวศทางธุรกิจที่ค่อนข้างน่าสนใจ เริ่มตั้งแต่การแยกขยะในครัวเรือน ทำให้เกิดการส่งต่อขยะไปจุดรับบริจาค เกิดการจ้างงานของคนในชุมชนเพื่อรวบรวมและนำวัสดุไปรีไซเคิล ดีไซเนอร์นำไปต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ เกิดเป็นชิ้นงานที่สวยงามและมีคุณค่า สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับแบรนด์ แม้กระทั่งตัวน้องลิซ่าเองที่เลือกชุดจากแบรนด์รักษ์โลกก็สะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ดีมีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้ทุกฝ่ายล้วนได้ประโยชน์
Upcycle ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นความยั่งยืน
ปัจจุบันแบรนด์ต่างๆ และบริษัทชั้นนำทั่วโลกเริ่มตื่นตัวและลงทุนกับการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่มากขึ้น ถนนทุกสายกำลังมุ่งหน้าไปสู่ ‘ธุรกิจแบบหมุนเวียน’ (Circular Economy) ซึ่งจะเข้ามาแทนที่ธุรกิจรูปแบบเดิมที่เน้นการใช้แล้วก็ทิ้งไป รวมทั้งเริ่มมีการใช้กฎระเบียบนานาชาติเพื่อควบคุมและกีดกันสินค้าที่ไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย ต้องบอกเลยว่ากระแส Upcycle นั้นไม่ใช่แค่ผ่านมาแล้วผ่านไปแน่นอนค่ะ
นอกจากแวดวงแฟชั่นแล้ว แวดวงอื่นๆ ก็หันมาสนใจวิถี upcycle ไม่แพ้กัน แวดวงความงามก็มีการนำผงกาแฟที่ชงแล้วนำมาทำเป็นบอดี้สครับ หรือวงการรถยนต์ก็มีการนำขยะพลาสติกมาอัปไซเคิลเป็นประตูรถและเบาะที่นั่งให้กับรถยี่ห้อหรู รวมถึงโครงการดีๆ อย่างเช่น ‘Upcycling for Life’ โดยมูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ร่วมกับพันธมิตรอีกมากมาย ที่หันมาสร้างสรรค์ชิ้นงานจากวัสดุรีไซเคิลเพื่อช่วยชีวิตคน (มากกว่าแค่เพื่อความสวยงาม) เช่น อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงที่ทำจากขยะพลาสติก โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาใหญ่ของโลก ที่กำจัดเท่าไหร่ก็ไม่หมดเสียที แถมยังใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 500 ปี การรีไซเคิลขยะพลาสติกนั้นมีมานานแล้ว แต่เมื่อเพิ่มความคิดสร้างสรรค์เข้าไป ด้วยแนวคิดอัปไซเคิล ก็ยิ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดผลงานชิ้นใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
เราหวังว่าบทความชิ้นนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านได้ลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ให้โลกของเรา ใครที่ทำดีอยู่แล้วก็ขอให้มีกำลังใจทำต่อไป สิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างการลดขยะ แยกขยะ และชุบชีวิตให้ขยะ แม้จะเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่บ้าน แต่เมื่อรวมกันหลายๆ บ้านก็ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้แน่นอนค่ะ
–
อ้างอิง:
rd.com
thaipublica.org
greennetworkthailand.com
habitat.org
thairath.co.th