อัลไซเมอร์มีกี่ระยะ…รู้เท่าทัน ก่อนสายเกินไป

Health

อัลไซเมอร์มีกี่ระยะ…? ถ้าหากเป็นโรคอัลไซเมอร์จะรู้ได้อย่างไรว่าอัลไซเมอร์ระยะแรกกับอัลไซเมอร์ระยะสุดท้ายมีอาการแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน…? วันนี้เราขอพาไปรู้จักกับโรคอัลไซเมอร์ให้มากขึ้นผ่านบทความนี้กัน 

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทที่ส่งผลต่อสมองเป็นหลัก ทำให้ความจำ ทักษะการคิด และการรับรู้โดยรวมลดลงไปทีละน้อย เรียกได้ว่าเป็นรูปแบบของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการหลงลืมในผู้สูงอายุ ในตอนแรกผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีการสูญเสียความจำและมีความสับสนเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไปอาการเหล่านี้จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนถึงขั้นที่ทำให้จำคนรอบตัวไม่ได้

จากคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัยว่าอัลไซเมอร์มีกี่ระยะนั้น เราขอบอกเลยว่าโดยทั่วไปแล้วโรคอัลไซเมอร์จะแบ่งเป็น 3 ระยะใหญ่ ๆ คือ…

  • อัลไซเมอร์ระยะแรก (Early-Stage)
  • อัลไซเมอร์ระยะที่สอง หรือที่เรียกว่าอัลไซเมอร์ระยะกลาง (Middle-Stage)
  • อัลไซเมอร์ระยะที่สาม หรือที่เรียกว่าอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย (Late-Stage)

ซึ่งอัลไซเมอร์แต่ละระยะหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลให้สมองเสื่อมลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น จนในที่สุดผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะไม่สามารถจำคนที่รักได้และไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์นั้นยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในปัจจุบัน แต่อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตรวมกัน โรคนี้มีลักษณะเฉพาะคือมีการสะสมของโปรตีนผิดปกติในส่วนของสมองที่มีหน้าที่ควบคุมความทรงจำ  เช่น การสะสมของเบตาแอมีลอยด์ (beta amyloid) ที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อย ๆ ลดลง และกลุ่มเส้นใยโปรตีน  tau tangles ที่พันกัน ทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ สูญเสียการทำงานเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ จนกระทั่งทำให้เซลล์สมองตายในที่สุด

อัลไซเมอร์มีกี่ระยะ…แต่ละระยะแตกต่างกันอย่างไร?

หลังจากที่ได้รู้ไปแล้วว่าอัลไซเมอร์คือโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการหลงลืมในผู้สูงอายุ โรคอัลไซเมอร์มีกี่ระยะ และสาเหตุของการเกิดอัลไซเมอร์มีอะไรบ้าง ทางเราขอพาทุกคนไปดูรายละเอียดของโรคอัลไซเมอร์ทั้ง 3 ระยะ พร้อม ๆ กันเลยด้านล่างนี้…

อัลไซเมอร์ระยะแรก (Early-Stage)

เป็นระยะเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ หรือที่เรียกว่าภาวะรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairment หรือ MCI ) โดยระยะแรกนี้สามารถสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในเรื่องของความจำและความสามารถในการคิด อยู่ในภาวะความจำถดถอยบ้างเป็นครั้งคราว เช่น ลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด วางของผิดที่ หรือเริ่มหลงทิศสับสนทิศทางซ้าย-ขวา เป็นต้น 

แต่ถึงแม้จะมีอาการเหล่านี้ก็ยังสามารถที่จะทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้เองอยู่

  • ความบกพร่องทางสติปัญญาระดับเล็กน้อย  (MCI)
  • ความจำหายไปเป็นครั้งคราว 
  • ความยากลำบากในการจัดระเบียบความคิด
  • สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เอง  

อัลไซเมอร์ระยะที่สอง หรือที่เรียกว่าอัลไซเมอร์ระยะกลาง (Middle-Stage)

เป็นระยะที่ผู้ป่วยเริ่มมีความบกพร่องในการดูแลตัวเอง การสูญเสียความทรงจำจะเด่นชัดมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อทั้งความทรงจำล่าสุดและความทรงจำในอดีต การจดจำใบหน้าและสถานที่คุ้นเคยจะกลายเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สูญเสียความสามารถในการใช้ภาษา นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างวิตกกังวล หรือหงุดหงิดได้ง่าย ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเห็นภาพหลอนร่วมด้วย 

  • ความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ลดลง
  • การสูญเสียความจำที่สามารถสังเกตได้ชัด
  • ปัญหาในการสื่อสาร รวมถึงการแสดงออกและความเข้าใจ
  • บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง สับสน วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย และปลีกตัวออกจากสังคม

อัลไซเมอร์ระยะที่สาม หรือที่เรียกว่าอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย  (Late-Stage)

เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะเจอกับภาวะการเสื่อมถอยของความรู้ความเข้าใจอย่างรุนแรงและมีความบกพร่องในการดูแลตัวเองจนต้องพึ่งพาผู้อื่น หรือคนในครอบครัวมากขึ้นสำหรับการดูแลในทุก ๆ ด้าน รวมถึงการป้อนอาหาร การเข้าห้องน้ำ และสุขอนามัย  มักจะจำคนที่รักหรือตัวตนของตนเองไม่ได้ ความสามารถในการสื่อสารถดถอยลง ทำให้ยากต่อการพูดหรือเข้าใจภาษา ร่างกายถดถอยลงนำไปสู่การล้มหมอนนอนเสื่อ ทั้งยังเป็นระยะที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งสุขภาพโดยรวมจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว 

  • ความรู้ความเข้าใจลดลงอย่างรุนแรง สูญเสียความทรงจำทั้งในระยะสั้นและยาว
  • ความสามารถในการสื่อสารแย่ลง พูดลำบาก และเข้าใจภาษายากขึ้น
  • ความสามารถทางกายภาพลดลง ต้องการความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และอาจถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อได้จนต้องให้ผู้อื่นดูแล พึ่งพาผู้อื่นอย่างสมบูรณ์สำหรับการดูแลทุกด้าน
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อน และมีสุขภาพโดยรวมลดลง

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่อัลไซเมอร์ระยะแรกไปจนถึงอัลไซเมอร์ระยะสุดท้ายนั้น จะมีอาการที่แตกต่างกันพอสมควร ซึ่งไม่ได้มีอาการเด่นชัดในเรื่องของการขี้ลืมเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ทั้งในด้านความคิด ด้านคำพูด และด้านพฤติกรรม ซึ่งหลังจากที่ได้รู้ว่าอัลไซเมอร์มีกี่ระยะ แต่ละระยะมีความแตกต่างกันอย่างไรไปแล้ว หากรู้สึกว่าผู้สูงอายุในบ้านมีอาการเหล่านี้ตั้งแต่ในระยะแรกก็ควรรีบพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อชะลอการลุกลามของโรค 

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์มีอะไรบ้าง

มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งโรคนี้เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทและเป็นหนึ่งในภาวะอาการหลงลืมในผู้สูงอายุที่พบเจอได้มากในปัจจุบัน สำหรับผู้ที่เสี่ยงหรือมีแนวโน้มสูงว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์โดยส่วนมากแล้วจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคได้ ดังนี้

1. อายุ

อายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับโรคอัลไซเมอร์ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ 5 ปีหลังจากอายุ 65 ปี และจะพบได้มากที่สุดในผู้ที่มีช่วงอายุมากกว่า 85 ปี

2. พันธุกรรม

ประวัติครอบครัวและพันธุกรรมมีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ เช่น หากมีพ่อแม่หรือพี่น้องที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ก็จะมีโอกาสเกิดภาวะดังกล่าวได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกลายพันธุ์ของยีน APP, PSEN1 และ PSEN2 เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ที่เริ่มมีอาการในระยะเริ่มต้น ในขณะที่ยีน APOE4 จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในระยะหลัง

3. กลุ่มอาการดาวน์ หรือดาวน์ซินโดรม

ผู้ที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมมักจะเป็นโรคอัลไซเมอร์และเริ่มมีอาการเร็วกว่าคนทั่วไป เนื่องจากพันธุกรรมของโครโมโซมคู่ที่ 21 ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโปรตีนที่นำไปสู่การสร้างเบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid plaques) 

4. เพศ

หลังจากที่ได้รู้ว่าอัลไซเมอร์มีกี่ระยะ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรคนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับเพศอีกด้วย ผู้หญิงจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์โดยรวมสูงกว่าผู้ชาย โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้หญิงมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชายนั่นเอง  

5. กลุ่มที่สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดไม่ดี

ผู้ป่วยที่มีสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดไม่ดี รวมถึงภาวะต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคอ้วน และเบาหวานจะเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่าง การออกกำลังกายเป็นประจำ และการกินอาหารไขมันต่ำ สามารถลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง 

6. กลุ่มที่เคยประสบกับอุบัติเหตุที่ศีรษะรุนแรง

ผู้ที่มีประวัติของการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการถูกกระทบกระเทือน มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน 

นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างยังสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น…

  • การสูบบุหรี่
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารแปรรูป 
  •  ความเครียด

เรียกได้ว่าปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้สามารถเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่าปกติ ซึ่งก็ไม่ได้รับประกันว่าคนที่อยู่ในกลุ่มนั้นจะเป็นโรคอัลไซเมอร์เสมอไป แม้ว่าเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงบางอย่างได้ เช่น อายุและพันธุกรรม แต่การดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานเพื่อให้มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงก็สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ และแน่นอนว่าระดับความรุนแรงของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยเหล่านี้อีกด้วย

โรคอัลไซเมอร์รักษาหายไหม? รักษาอย่างไรได้บ้าง?

สำหรับโรคอัลไซเมอร์ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือชะลอการเกิดโรคให้ช้าที่สุด ซึ่งหากตรวจพบเจออาการตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มก็สามารถใช้วิธีการรักษาต่าง ๆ เพื่อชะลออาการความเสื่อมของสมองได้ หลังจากที่รู้กันไปแล้วว่าอัลไซเมอร์มีกี่ระยะ เราไปดูแนวทางการรักษาเพิ่มเติมกันเลยดีกว่า 

วิธีการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน ซึ่งมีวิธีการรักษาจะใช้เพื่อลดอาการต่าง ๆ ชะลอการเกิดโรคในแต่ละระยะ และปรับปรุงคุณภาพชีวิต โดยแนวทางการรักษาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะของโรค เมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วว่าอยู่ในระยะไหนจากอัลไซเมอร์มีกี่ระยะ ที่แบ่งได้ 3 ระยะ การรักษาจะเป็นไปตามอาการของโรคและระยะของโรค ดังนี้…

แนวทางการรักษาอัลไซเมอร์ในระยะแรก (Early-Stage)

เมื่อรู้แล้วว่าอัลไซเมอร์มีกี่ระยะและเป็นผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์ การรักษาจะมุ่งเน้นการดูแลรักษาเพื่อช่วยลดความบกพร่องทางการรู้คิด โดยอาจจะมีการใช้ยากลุ่มแอนติโคลีนเอสเทอเรส (Cholinesterase inhibitors) เพื่อเพิ่มสารอาซิติลโคลีน (acetylcholine) ที่สารสื่อประสาทที่สำคัญในระบบการทำงานของสมอง

แนวทางการรักษาอัลไซเมอร์ระยะที่สอง (Middle-Stage)

แนวทางการรักษาในระยะนี้จะมีการเพิ่มตัวยาอื่นเข้ามาใช้ร่วมด้วย นอกจากตัวยากลุ่มแอนติโคลีนเอสเทอเรส (Cholinesterase inhibitors) แล้ว อาจมีการใช้ยากลุ่ม NMDA receptor antagonistsเพื่อชะลอความเสื่อมของเซลล์ประสาท โดยยาชนิดนี้จะช่วยบรรเทาอาการของภาวะสมองเสื่อมจากอัลไซเมอร์ระยะที่สองที่เป็นระยะกลางไปจนถึงระยะรุนแรงที่เกิดจากโรคอัลไซเมอร์ 

แนวทางการรักษาอัลไซเมอร์ระยะที่สาม (Late-Stage)

ในระยะที่สามนี้จะเป็นระยะสุดท้าย เน้นการรักษาที่เป็นการดูแลแบบประคับประคองอาการเป็นหลัก ซึ่ง ในอัลไซเมอร์ระยะนี้ผู้ป่วยจะตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงอย่างเห็นได้ชัดและสามารถเคลื่อนไหวได้น้อยลง นอกจากจะมีการใช้ยากลุ่มแอนติโคลีนเอสเทอเรส (Cholinesterase inhibitors) และ NMDA receptor antagonists แล้ว จะมีการใช้ยารักษาตามอาการร่วมด้วย เนื่องจากผู้ป่วยในระยะนี้อาจจะมีอาการต่าง ๆ เช่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนหลับไม่สนิท หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ 

หลังจากที่ผู้ป่วยได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ในระยะไหนจากอัลไซเมอร์มีกี่ระยะที่มีทั้งหมด 3 ระยะ แนวทางการรักษาต่าง ๆ รวมถึงการจ่ายยาเพื่อชะลออาการล้วนต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจาก​​การเลือกใช้ยาและขนาดยานั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษา อาจจำเป็นต้องมีการติดตาม ประเมิน และปรับเปลี่ยนแผนการใช้ยาเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่าการจัดการอาการเป็นไปอย่างเหมาะสมที่สุด

การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

หลังจากที่รู้กันไปแล้วว่าโรคอัลไซเมอร์มีกี่ระยะ หรือภาวะอัลไซเมอร์มีกี่ระยะ สำหรับครอบครัวไหนที่มีผู้สูงอายุที่เป็นโลกนี้ การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีข้อแตกต่างจากการป่วยในอาการอื่น ๆ เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นครอบครัวของผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องดูแลจำเป็นต้องมีความใจเย็นและมีความเห็นอกเห็นใจ เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์นี้จะมีอาการทางสติปัญญาและทักษะการสื่อสารที่ลดลง สูญเสียความทรงจำ และมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์สามารถดูแลได้โดยวิธีต่อไปนี้ …

  • สร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและคุ้นเคยสำหรับบุคคลที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ 
  • สื่อสารกันด้วยการใช้ภาษาที่เรียบง่ายและกระชับในท่าทีและน้ำเสียงอย่างใจเย็น
  • ติดฉลากบริเวณหรือวัตถุที่สำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น
  • ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
  • ส่งเสริมกิจกรรมที่กระตุ้นการรับรู้และความจำ เช่น เกม การบำบัดความทรงจำ ดนตรีบำบัด หรืองานง่าย ๆ 
  • ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการมีส่วนร่วมกับครอบครัวและเพื่อน ๆ 
  • กำหนดกิจวัตรการใช้ยาเพื่อให้แน่ใจว่ามีการรับประทานยาอย่างเหมาะสม 

ซึ่งการดูแลผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ต้องอาศัยใจเย็นและความอดทน และสิ่งสำคัญคือต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและให้การดูแลอย่างรอบคอบ เนื่องจากผู้ที่ดูแลสามารถสร้างความรู้สึกเชิงบวกต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้นั่นเอง 

———————————–

เป็นอย่างไรกันบ้างกับบทความอัลไซเมอร์มีกี่ระยะ…? แก่แล้วต้องเป็นทุกคนไหม ที่เราได้รวบรวมข้อมูลดี ๆ มาฝาก สำหรับใครที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือผู้ที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะแรกไปจนถึงอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย ทางเราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้สามารถรับมือกับโรคนี้ได้อย่างรวดเร็วและสามารถฟื้นฟูอาการได้อย่างเหมาะสม ถึงแม้ว่าโรคอัลไซเมอร์จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าหมั่นดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดก็สามารถช่วยชะลอระยะเวลาในการเกิดอัลไซเมอร์ในระยะอื่นได้ 

บทความที่เกี่ยวข้อง