เคยไหมครับ…ที่ไปหาคุณหมอแล้วได้ยารักษาอาการเจ็บป่วยกลับมาหลายตัว เมื่อถึงบ้านก็เก็บยาไว้บริเวณที่สามารถหยิบใช้ได้ง่าย เช่น ในครัว บนตู้เย็น หรือแม้กระทั่งตู้วางของในห้องน้ำ เก็บยาไว้ที่ไหนก็ได้ขอให้สะดวกไว้ก่อน แต่รู้ไหมครับว่าการทำแบบนั้นโรคหรืออาการที่เราเป็นอยู่อาจจะไม่หายก็ได้ ทำไมหรือครับ ก็เพราะว่ายาไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่จะเก็บรักษายังไงก็ได้ไงครับ ยาก็เหมือนอาหารที่ต้องเก็บอย่างระมัดระวัง อาหารบางชนิดวางไว้เฉยๆ ที่อุณหภูมิปกติก็เก็บไว้ได้เป็นเดือนๆ แต่อาหารบางชนิด เช่น ผักสด ไข่ หรือไอศกรีม ก็ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น อาหารแต่ละชนิดมีวิธีการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ไม่เท่ากัน ซึ่งหลักการนี้เราก็ใช้กับการเก็บรักษายาเช่นเดียวกันครับ
6 ข้อควรรู้ในการ ‘เก็บรักษายา’
เนื่องจากยามีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ยาเม็ด ยาน้ำ ยาครีม ยาตา หรือยาฉีด ซึ่งยาแต่ละแบบเองก็มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเช่นกัน เช่น ยาเม็ด ก็ยังแบ่งเป็นยาเม็ดธรรมดา ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม ยาเม็ดเคลือบน้ำตาล ยาอมใต้ลิ้น ยาอมรักษาโรคชนิดแตกตัวเร็วในปาก หรือยาแคปซูล ซึ่งถ้าจะอธิบายทั้งหมดคงจะใช้เนื้อที่มากจนเกินไป ดังนั้นจึงขอกล่าวเพียงหลักกว้างๆ ในการเก็บรักษายาที่ควรทราบเท่านั้นนะครับ
- การเก็บยาโดยทั่วไปควรเก็บไว้ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อับชื้น และไม่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง
- จัดเก็บยาแยกตามชนิดของรูปแบบยา ได้แก่ ยาเม็ด ยาน้ำ ยาตา ยาใช้ภายนอก ยาเหน็บทวารหนัก เป็นต้น และควรเก็บยาอย่างเป็นสัดส่วนไม่นำมาปะปนกัน
- เมื่อท่านได้รับยามาจากโรงพยาบาล ควรเรียงลำดับการจัดเก็บแบบ ‘ได้มาก่อนใช้ก่อน’ (First In – First Out) โดยยาที่ได้รับมาก่อนควรวางไว้แถวหน้าเพื่อให้หยิบใช้ก่อน แต่…อย่าลืมดูวันหมดอายุของยากันด้วยนะครับ ยาใดที่หมดอายุก่อนถึงแม้จะได้มาทีหลังก็ต้องนำมาใช้ก่อน
- ควรมีกล่อง ตู้ หรือลิ้นชัก สำหรับจัดเก็บยาโดยเฉพาะ เพื่อให้สะดวกในการค้นหาและหยิบใช้ยา ที่สำคัญ! ควรวางไว้ในบริเวณที่เด็กเล็กไม่สามารถเอื้อมถึงได้
- สำหรับยาที่มีภาชนะบรรจุคล้ายกัน หรือยาที่มีหลายความแรง ปัญหาที่พบบ่อยคือ การหยิบยามารับประทานผิดโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงไม่ควรจัดวางไว้ที่ใกล้กัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการหยิบยาผิดมารับประทานนั่นเอง
- ยาที่อยู่ในรูปแบบแผง ก็ไม่ควรตัดแบ่งหรือทำให้แผงชำรุดนะครับ เพราะอาจทำให้ส่วนที่พิมพ์วันหมดอายุของยาบนแผงถูกตัดออกไป ยกเว้นกรณีที่จำเป็นในการพกพาสามารถตัดแบ่งได้เป็นครั้งๆ ไป โดยไม่ควรแกะเม็ดยาออกจากแผงบรรจุ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อ ‘คุณภาพของยา’
ทราบหรือไม่ครับว่า ยาที่บรรจุแบบแผงทำไมถึงไม่แนะนำให้แกะเม็ดยาออกจากแผงบรรจุ หลายคนที่อ่านถึงตรงนี้คงมีข้อสงสัยในใจว่า การแกะเม็ดยาออกจากแผงไม่ง่ายกว่าหรือ ใส่ตลับไว้จะได้พร้อมรับประทาน ถึงตรงนี้จะขออธิบายให้ทราบนะครับ เนื่องจากยาเป็นสารที่มีความบริสุทธิ์และจะสูญเสียคุณสมบัติหรือคุณภาพไปด้วยปัจจัยเหล่านี้
อุณหภูมิ ยาส่วนใหญ่จะถูกเร่งการเสื่อมจากอุณหภูมิที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ โดยทั่วไปให้เก็บตามคำแนะนำที่ระบุไว้ข้างบรรจุภัณฑ์ โดย
- ยาส่วนใหญ่จะแนะนำให้เก็บที่อุณหภูมิห้อง (25-30 องศาเซลเซียส)
- ยาที่ต้องเก็บในตู้เย็น (อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส) กลุ่มนี้ให้เก็บในช่องเย็น และไม่ควรเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง
- ยาที่ควรเก็บในที่เย็น (ไม่เกิน 15 องศาเซลเซียส) ยากลุ่มนี้ไวต่ออุณหภูมิน้อยกว่ากลุ่มที่ต้องเก็บในตู้เย็น แต่ควรเก็บไว้ในที่ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ โดยหลีกเลี่ยงบริเวณที่อุณหภูมิไม่คงที่
รู้ไหมครับว่าสองอย่างหลังนี้ต่างกันตรงไหน ยาที่เก็บในตู้เย็นนี่ถ้าไม่เก็บในอุณหภูมิที่เย็นๆ ตัวยามักจะเสื่อมสลายไป เช่น อินซูลิน ยาฉีด EPO สำหรับกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ส่วนยาที่เก็บในที่ที่ควบคุมอุณหภูมิ ตัวยามักจะไม่เสียแต่จะเสียสภาพทางกายภาพแทน เช่น ยาเหน็บทวารหนัก เป็นต้น
ความชื้น ความชื้นหรือน้ำทำให้เกิดการไฮโดรไลซิส (ปฏิกิริยาทางเคมีที่ใช้น้ำเข้าไปสลายพันธะ ทำให้สารโมเลกุลใหญ่แตกตัวเป็นสารที่มีโมเลกุลเล็กลง) และเร่งปฏิกิริยาออกซิเดชัน (ปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนอิเล็กตรอนจากสารเคมีหนึ่งไปยังอีกสารหนึ่ง) ทำให้เกิดการทำลายฤทธิ์ของตัวยาสำคัญ หรือทำลายความสามารถในการดูดซึมของรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่ไวต่อความชื้นได้ เช่น ยาเม็ดชนิดแตกตัวเร็วในปาก รวมถึงยังทำให้เชื้อจุลชีพ เช่น เชื้อราเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย ดังนั้นจึงควรเก็บยาในที่แห้ง ไม่เก็บไว้ในตู้ที่อับชื้นหรือในห้องน้ำนะครับ
แสง ยาบางชนิดและส่วนประกอบอื่นๆ ในยาอาจถูกแสงเร่งให้ยาสลายตัวได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเลตที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาโฟโตไลซิส (ปฏิกิริยาทางเคมีที่ทำให้โมเลกุลแตกเป็นชิ้นเล็กๆ ด้วยการดูดซับแสง) ได้มากกว่าช่วงแสงอื่น ซึ่งสังเกตได้จากคำแนะนำที่ระบุไว้ข้างบรรจุภัณฑ์ เช่น เก็บยาให้พ้นแสง เก็บยาไว้ในภาชนะหรือซองยามีสีชา เก็บยาไว้ในแผงบริสเตอร์ป้องกันแสงหรืออะลูมิเนียมฟอยล์ เพื่อลดการสัมผัสแสง เป็นต้น
ออกซิเจน เพราะออกซิเจนในอากาศทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันกับตัวยาสำคัญบางชนิด ทำให้เกิดการทำลายฤทธิ์ของตัวยาสำคัญได้นั่นเอง ดังนั้นผู้ผลิตยาจึงมักป้องกันโดยใช้วิธีการบรรจุยาลงในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท หรือบรรจุยาภายในแผงบริสเตอร์
‘ยา’ เปิดใช้แล้วเก็บอย่างไร…ต้องรู้!
โดยปกติแล้วยาที่ได้รับมามักจะไม่ได้ใช้หมดในครั้งเดียว หากเป็นยาชนิดใช้หลายครั้ง (Multi-dose) เช่น ยาน้ำในขวด ยาเม็ดในกระปุก ยาหยอดตา หรือยาครีมเป็นหลอด หากเปิดใช้แล้วอายุการใช้งานจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากวันหมดอายุที่ระบุไว้ข้างบรรจุภัณฑ์ ผู้ใช้ต้องกำหนดวันหมดอายุใหม่ โดยทั่วไปแล้วให้กำหนดเป็นดังนี้
1. ยาเม็ด กรณีบรรจุในขวดยาให้นับวันหมดอายุ 1 ปีหลังจากเปิดใช้ หากแบ่งนับใส่ซองบรรจุใหม่ ให้นับวันแบ่งบรรจุ หรือตามวันหมดอายุที่ข้างขวดแล้วแต่อย่างใดจะถึงกำหนดเวลาก่อน
2. ยาใช้ภายนอก ได้แก่ ยาครีม ยาขี้ผึ้ง หลังเปิดใช้แล้วไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน
3. ยาน้ำ หลังเปิดใช้แล้วไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 เดือน
4. ยาหยอดตา เก็บไว้ใช้ได้ไม่เกิน 1 เดือนหลังจากเปิดขวด
รู้ได้อย่างไรว่า ‘ยาเสื่อมสภาพ’
แน่นอนว่าการเก็บยาที่ไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยาเสื่อมสภาพก่อนเวลาที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ แนวทางการตรวจสอบยาเสื่อมสภาพก่อนกำหนด โดยทั่วไปสามารถสังเกตได้ดังนี้
1. สี เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อาจเข้มขึ้น ซีดลง หรือมีรอยด่าง สีไม่สม่ำเสมอ
2. กลิ่น เปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิม กลิ่นที่เคยมีหายไป หรือมีกลิ่นเหม็นหืน
3. เนื้อยาหรือเม็ดยา ให้ดูลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป โดยถ้าเป็น
3.1 ยาเม็ด: เม็ดยาแตกยุ่ยเป็นผง ฟิล์มเคลือบผิวร่อนบวม แคปซูลบวม ผงยาในแคปซูลจับกันเป็นก้อน
3.2 ยาน้ำ: น้ำเชื่อมหรือยาน้ำใสมีตะกอน ยาน้ำแขวนตะกอนเกิดตะกอนจับเป็นก้อนแข็งที่ก้นขวด เขย่าแล้วไม่กระจายตัวกลับ ความหนืดข้นของยาเปลี่ยนไป ยาแยกเป็นชั้น
3.3 ยาฉีด: เกิดการตกตะกอน น้ำยาขุ่น ความหนืดเปลี่ยน
3.4 ยาครีมหรือขี้ผึ้ง: มีน้ำมันแยกจากเนื้อยา เนื้อยาจับรวมเป็นก้อน เนื้อยาแห้ง เนื้อยาไม่เนียนเหมือนเดิม
เห็นไหมครับ ยาที่เราใช้อ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เราคิดเยอะนะครับ ขนาดเก็บดีๆ ยังต้องระวังยาเสื่อมสภาพเลย ตอนนี้หลายท่านคงจะหายสงสัยกับคำแนะนำของเภสัชกรหรือคุณพยาบาลกันแล้วใช่ไหมครับ ว่าทำไมเราจึงไม่ควรเอายาออกมาจากบรรจุภัณฑ์หากยังไม่ได้ใช้ทันที เพราะองค์ประกอบของความสำเร็จในแผนการรักษาและการดูแลสุขภาพผู้ป่วยของแพทย์นั้น นอกจากความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดแล้ว ประสิทธิภาพของยาก็เป็นส่วนสำคัญ ยาจะยังคงประสิทธิภาพในด้านผลการรักษาจำเป็นจะต้องได้รับการเก็บรักษาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของยาก่อนวันหมดอายุที่ผู้ผลิตระบุไว้นั่นเองครับ
–
อ้างอิง:
- คณะอนุกรรมการการสอบความรู้ผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม, คู่มือทักษะตามเกณฑ์ความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม(สมรรถนะร่วม) สภาเภสัชกรรม, (2562)
- นัยนา สันติยานนท์, “ความคงตัวของเภสัชภัณฑ์และการเก็บรักษา”, วารสารไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ 2551,3(1):180-187
- Waterman and Kenneth C, Understanding and predicting pharmaceutical product shelf-life Handbook of stability testing in pharmaceutical development (Springer,2009), 115-135