หลายคนที่มักจะดูแลสุขภาพโดยการตรวจสุขภาพประจำปีคงเคยตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งกันมาบ้างแล้ว แต่เราเคยสงสัยกันไหมว่า ค่าแต่ละค่าที่ตรวจมานั้นคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ที่สำคัญหากค่าที่ตรวจได้เหล่านั้นมีความผิดปกติแล้วจะบอกว่า เราเป็นมะเร็งได้หรือไม่ เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้และไม่เข้าใจถึงสารบ่งชี้มะเร็งเหล่านี้ เรามาทำความรู้จักสารบ่งชี้มะเร็งให้มากขึ้น เพื่อการตรวจสุขภาพครั้งถัดไปจะได้เข้าใจสุขภาพของตัวเองได้ดีขึ้นกว่าเดิม
รู้จัก ‘สารบ่งชี้มะเร็ง’ (Tumor Marker)
สารบ่งชี้มะเร็ง คือ สารที่สร้างขึ้นหรือเป็นส่วนประกอบของเซลล์มะเร็ง รวมถึงสารที่สร้างจากเซลล์ปกติที่ตอบสนองต่อเซลล์มะเร็งในร่างกาย ซึ่งสารบ่งชี้มะเร็งสามารถให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งได้ตามแต่ชนิดของสารบ่งชี้มะเร็งนั้นๆ เช่น ช่วยบอกว่าตัวโรคนั้นมีการพยากรณ์โรคอย่างไร หรือมีการตอบสนองต่อการรักษาอย่างไร ในปัจจุบันมีสารบ่งชี้มะเร็งที่ใช้ในทางคลินิกเป็นจำนวนมาก เราอาจจะแบ่งชนิดของสารบ่งชี้มะเร็งง่ายๆ เป็น 2 ชนิด คือ
1. Circulating tumor marker ซึ่งพบได้ในเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ หรือสารน้ำที่อยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งชนิดนี้ก็คือ สารบ่งชี้มะเร็งที่เราคุ้นเคยในการตรวจสุขภาพทั่วไปที่มักจะมีการตรวจหา เช่น CEA, CA19-9, CA125, AFP เป็นต้น
2. Tumor tissue (or cell) marker ซึ่งพบได้ที่ตัวมะเร็งเอง เช่น จากก้อนมะเร็งที่ได้จากการตัดชิ้นเนื้อหรือจากการผ่าตัด ตัวอย่างของ tumor tissue marker เช่น ตัวรับฮอร์โมน ER, PR ในมะเร็งเต้านม หรือที่เริ่มมีการใช้มากขึ้นในปัจจุบันคือ การตรวจหาสารพันธุกรรมมะเร็งที่อาจจะปล่อยออกมาในกระแสเลือด (liquid biopsy)
‘มะเร็ง’ พบก่อน…ปลอดภัยกว่า
ถึงตอนนี้คงเริ่มสงสัยกันแล้วว่า ‘สารบ่งชี้มะเร็ง’ มีประโยชน์อย่างไร ทำไมเวลาตรวจสุขภาพจึงต้องตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งทุกครั้ง นั่นก็เพราะว่าสารบ่งชี้มะเร็งแต่ละชนิดนั้นมีประโยชน์ที่แตกต่างกัน โดยเราสามารถแบ่งประโยชน์ในการตรวจได้ดังนี้
- เพื่อการวินิจฉัยโรค (Diagnosis) มีสารบ่งชี้มะเร็งบางตัวที่เราสามาถใช้ในการช่วยวินิจฉัยโรคได้ เช่น AFP (Alpha – fetoprotein) ในผู้ที่มีความเสี่ยงและภาพทางรังสีเข้าได้กับมะเร็งตับ หรือในมะเร็ง Germ cell tumor ชนิด nonseminoma
- เพื่อการตรวจคัดกรองโรค (Screening) คงเป็นจุดประสงค์หลักที่ผู้เข้ารับการตรวจร่างกายประจำปีทั่วไปต้องการ แต่ไม่ใช่ว่าสารบ่งชี้มะเร็งทุกตัวจะช่วยในการคัดกรอง ปัจจุบันมีเพียงการตรวจ PSA (prostate-specific antigen) เพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยต้องใช้ร่วมกับการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก ในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ส่วนสารบ่งชี้มะเร็งที่นิยมตรวจกันอื่นๆ ไม่มีหลักฐานในการใช้สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็ง เนื่องจากเหตุผลเรื่องความไวและความจำเพาะของสารนั้นยังไม่เพียงพอสำหรับการนำมาใช้ในข้อบ่งชี้นี้
- เพื่อการพยากรณ์โรค (Prognosis) สารบ่งชี้มะเร็งช่วยในการบอกความรุนแรงของโรคได้ เช่น ค่า CEA (Carcinoembrionic Antigen) ที่มากกว่า 5 ng/ml ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ บ่งชี้ว่าจะมีการพยากรณ์โรคที่แย่กว่า หรือการตรวจ AFP (Alpha – fetoprotein), hCG (Human Chorionic Gonadotropin), LDH (Lactate Dehydrogenase ) ในมะเร็ง Germ cell Tumor เพื่อบ่งบอกความรุนแรงเป็นต้น
- เพื่อติดตามการรักษาและสืบค้นการกลับเป็นซ้ำของโรค ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักที่ใช้กันเป็นส่วนมากของการตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง
สารบ่งชี้มะเร็ง…ที่ควรรู้จัก
สารบ่งชี้มะเร็งที่มักอยู่ในโปรแกรมตรวจสุขภาพตามที่ต่างๆ มีดังนี้ CEA, AFP, CA 19-9, PSA, และ CA125 เรามาทำความรู้จักสารบ่งชี้มะเร็งเหล่านี้ให้มากขึ้นดีกว่า
CEA (Carcinoembryonic Antigen)
เป็นแอนติเจนในกลุ่ม oncofetal antigen ชนิดหนึ่ง ซึ่งสร้างเป็นปกติจากเซลล์ลำไส้ ตับ และตับอ่อนของทารกในครรภ์ที่มีอายุครรภ์ประมาณ 2-6 เดือน ในคนปกติสามารถตรวจพบ CEA สูงได้เล็กน้อยในคนที่สูบบุหรี่ หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 6 เดือน รวมทั้งในผู้ป่วยที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ปอด และตับ แต่มักจะมีค่าไม่สูงมากนัก
ค่า CEA มักมีค่าสูงผิดปกติในผู้ป่วยมะเร็งชนิด adenocarcinoma ของระบบทางเดินอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งรังไข่ ฯลฯ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่จะพบ CEA สูงได้มากและบ่อยกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ
คำแนะนำเมื่อพบความผิดปกติของ CEA:
เนื่องจากค่า CEA อาจจะมีค่าผิดปกติได้ในโรคต่างๆที่ไม่ใช่มะเร็ง และอาจมีค่าผิดปกติได้ในมะเร็งหลายชนิดดังที่กล่าวมาข้างต้น ในรายที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติของค่า CEA โดยที่ไม่มีอาการ ไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั่วไปแล้วหากค่าผิดปกติต้องถามประวัติโดยละเอียด โดยเฉพาะอาการในระบบทางเดินอาหาร ถ้ามีความสงสัยอาจต้องตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น การส่องกล้องทางลำไส้ การตรวจ CT scan ช่องท้อง เป็นต้น
AFP (Alpha-fetoprotein)
เป็นแอนติเจนในกลุ่ม oncofetal antigen ซึ่งสร้างโดยเยื่อบุผิวของเซลล์ถุงไข่ (yolk sac) เซลล์ตับ และทางเดินอาหารของทารกในครรภ์มารดา เราจึงพบค่า AFP สูงได้ในเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา ทารกแรกคลอด และหญิงมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป แต่ในคนปกติทั่วไปจะตรวจพบค่า AFP ได้ในระดับต่ำ
ค่า AFP มักมีค่าสูงกว่าระดับปกติมากในมะเร็งตับ (hepatocellular carcinoma) และมะเร็ง Germ cell tumor รวมทั้งยังอาจพบระดับสูงขึ้นได้ในมะเร็งปอด และมะเร็งของระบบทางเดินอาหาร
AFP เป็น tumor marker ที่ได้รับการยอมรับให้นำมาใช้ตรวจหามะเร็งตับในกลุ่มที่เสี่ยง ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง (chronic hepatitis), ผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี (hepatitis B carrier), ผู้ป่วยโรคตับแข็ง (cirrhosis) โดยแนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 3 – 6 เดือน และ/หรือ ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ของตับ
คำแนะนำเมื่อมีความผิดปกติของ AFP:
ในคนปกติสามารถตรวจพบได้ในระดับต่ำ แต่หากค่าสูงมากๆ ต้องมีการซักประวัติและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของมะเร็งตับ และมะเร็ง Germ cell tumor ของอัณฑะและรังไข่ มีตรวจร่างกายโดยเน้นตรวจช่องท้อง ตรวจตับ คลำหาก้อนที่อัณฑะในผู้ชาย หรือส่งตรวจภายในสำหรับผู้หญิง ร่วมกับพิจารณาส่งตรวจ Ultrasound หรือ CT scan ช่องท้องเพิ่มเติมด้วย
CA19-9 (Carbohydrate Antigen 19-9)
เป็น carbohydrate antigen ที่สามารถตรวจพบได้ในมะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งปอด และอาจพบค่าสูงขึ้นในภาวะอื่นที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น ท่อน้ำดีอักเสบ ตับแข็ง ท่อน้ำดีอุดตันจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง นิ่วในถุงน้ำดี ตับอ่อนอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เรานิยมใช้ CA19-9 ในการติดตามการรักษามะเร็งตับอ่อนและมะเร็งท่อทางเดินน้ำดี แต่ไม่สามารถใช้การตรวจ CA19-9 ในการตรวจคัดกรองมะเร็งได้ เนื่องจากมีค่า positive predictive value ต่ำเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
คำแนะนำเมื่อพบค่า CA19-9 ผิดปกติ:
ในคนที่ตรวจพบค่า CA19-9 ผิดปกติโดยที่ไม่มีอาการ ต้องมีกซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติม โดยเน้นระบบตับอ่อนและท่อน้ำดีอย่างละเอียดอีกครั้ง ถ้าระดับของ CA19-9 สูงมากอาจต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อแยกโรคมะเร็งตับอ่อนและท่อทางเดินน้ำดี ด้วยการทำ CT scan whole abdomen (pancreatic protocol) นอกจากนี้ยังช่วยวินิจฉัยภาวะอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของค่า CA19-9 อีกด้วย
PSA (Prostate specific antigen)
เป็นเอนไซม์ protease ชนิดหนึ่งซึ่งสร้างจากเซลล์เยื่อบุผิว (epithelial cell) ของต่อมลูกหมากเป็นหลัก รวมทั้งสร้างได้ในเซลล์เยื่อบุท่อปัสสาวะ (para-urethral gland) ดังนั้นจึงอาจพบ PSA ระดับต่ำ ๆ ในผู้หญิงได้เช่นกัน ค่า PSA อาจพบระดับสูงกว่าปกติได้ทั้งในมะเร็งต่อมลูกหมาก และภาวะอื่นๆที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น ต่อมลูกหมากโต, ต่อมลูกหมากอักเสบ
PSA เป็น tumor marker ที่ได้รับการยอมรับให้ใช้ตรวจกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ในกลุ่มผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยแนะนำให้ตรวจ PSA ร่วมกับการตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (digital rectal examination) และควรเจาะเลือดตรวจก่อนดำเนินการตรวจทางทวารหนัก เนื่องจากการกระทำใดๆ ต่อต่อมลูกหมาก เช่น การกดคลำ จะทำให้มีการปลดปล่อย PSA ออกจากต่อมลูกหมากมากกว่าปกติ เป็นผลให้ระดับ PSA ขึ้นสูงกว่าที่ควรจะเป็น
คำแนะนำเมื่อพบค่า PSA ผิดปกติ:
หากพบค่า PSA มีระดับสูงผิดปกติ อาจต้องได้รับการซักประวัติและตรวจร่างกายเพิ่มเติม โดยตรวจต่อมลูกหมาก digital rectal examination ประเมินต่อมลูกหมากว่ามีขนาดโตหรือมีก้อนผิดปกติหรือไม่ ถ้าสงสัยมะเร็งควรปรึกษาศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมและพิจารณาตัดชิ้นเนื้อที่ต่อมลูกหมากเพื่อยืนยันการวินิจฉัยต่อไป
CA125 (Cancer Antigen 125)
เป็นสารโปรตีน glycoprotein ซึ่งพบอยู่บนผิวของเซลล์ที่มีต้นกำเนิดมาจากเซลล์ตัวอ่อนทารกชนิด embryonic coelomic epithelium CA125 มักมีค่าขึ้นสูงในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ชนิด non-mucinous type รวมทั้งมะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด มะเร็งของระบบทางเดินอาหาร มะเร็งตับ นอกจากโรคมะเร็งแล้วยังมีภาวะอื่นๆ ที่มีค่า CA125 ผิดปกติ อันได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีการอักเสบของช่องท้องและอวัยวะภายในช่องท้อง ตับอ่อนอักเสบ ตับแข็ง การอักเสบของอวัยวะภายในช่องเชิงกราน ซึ่งเรามักนิยมใช้การตรวจ CA 125 ในการติดตามการรักษาและประเมินการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งรังไข่
คำแนะนำเมื่อพบค่า CA125 ผิดปกติ:
หากพบว่าค่า CA125 ผิดปกติ อาจต้องได้รับการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยเน้นระบบรังไข่และในช่องท้องอย่างละเอียด ถ้าระดับของ CA125 สูงมาก อาจต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อแยกโรคมะเร็งรังไข่ ด้วยการส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางสูตินรีเวชเพื่อทำการตรวจภายในร่วมกับการตรวจพิเศษ transvaginal ultrasound และ/หรือ CT scan whole เพื่อค้นหาสาเหตุอื่นในช่องท้องที่เป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของ CA125
ตอนนี้ทุกคนคงรู้จักสารบ่งชี้มะเร็งแต่ละชนิดที่เราพบในการตรวจสุขภาพกันมากขึ้นแล้ว และคงเข้าใจว่าสารบ่งชี้มะเร็งแต่ละชนิดนั้นมีประโยชน์อย่างไร ควรดำเนินการอย่างไรต่อไป หากพบความผิดปกติของค่าเหล่านี้ อย่างไรก็ตามการตรวจร่างกายอยู่เสมอจะทำให้เราสังเกตุเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายและทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะโรคมะเร็งบางชนิดที่เราสามารถรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
–