คุณซึมเศร้า…เราอยู่ตรงนี้ 6 วิธีรับมือ ‘คุณซึมเศร้า’ ที่อยู่รอบตัวเราและเราอาจไม่รู้!

Brain / Health / Mind

ทุกวันนี้ ‘โรคซึมเศร้า’ ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป ผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปีที่ผ่านมาพบว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารวมกันแล้วกว่า 300 ล้านคน โดยพบในทุกเพศ ทุกวัย และในทุกสังคม เรียกว่าเมื่อมองไปรอบตัวให้ดีแล้ว เราจะพบว่าเราต่างมีคนใกล้ตัวที่มีอาการของโรคซึมเศร้ากันทั้งนั้น ซึ่งคำถามที่สำคัญก็คือว่า เราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร?

ก่อนอื่น เราควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของคนรอบข้างว่าเข้าข่ายซึมเศร้าหรือไม่ โดยดูจากอาการดังนี้

  • สมาธิสั้นลง ไม่สามารถจดจ่อกับงานหรือการเรียนได้อย่างเคย มีอาการหลงลืม
  • โมโหง่าย ขี้รำคาญ และมักแสดงออกต่อคนใกล้ชิดอย่างก้าวร้าวกว่าที่เคย
  • รับประทานอาหารมากจนผิดปกติ หรือ เบื่ออาหาร
  • นอนไม่หลับ หรือ นอนมากกว่าปกติ
  • ไม่สนใจดูแลรูปร่างหน้าตาของตัวเอง หรือละเลยการทำความสะอาดร่างกายเบื้องต้น เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน
  • เก็บตัว ตัดขาดการสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อน และผู้คนรอบข้าง รวมทั้งอาจสูญเสียความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
  • มองโลกในแง่ร้าย สิ้นหวัง หดหู่ แสดงออกบ่อยครั้งว่าตัวเองไร้ค่า และพูดถึงความตาย การฆ่าตัวตาย

หากพบว่าสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนของคุณมีอาการดังกล่าว นี่คือ 6 วิธีเบื้องต้นที่คุณจะช่วยพวกเขาได้

(1) รับฟัง
แสดงออกให้พวกเขารู้ว่าคุณจะยังอยู่ข้างๆ เขาเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม โดยคุณอาจเป็นฝ่ายเริ่มต้นบทสนทนาเพื่อให้พวกเขาเปิดใจกับคุณ ด้วยคำถามเช่นว่า “ฉันสังเกตว่าหมู่นี้เธอดูไม่ค่อยสบายใจนะ มีอะไรรบกวนใจหรือเปล่า”

จำให้ดี: พวกเขาอาจเพียงต้องการพูดในสิ่งที่เขารู้สึก แต่ ไม่ได้ต้องการคำแนะนำ คุณจึงควรรับบทผู้ฟังที่ดี ตั้งคำถามที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น พยายามแสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณเห็นใจและสนใจเรื่องราวของเขา บอกพวกเขาว่า ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะรู้สึกอย่างนั้น แต่ อย่า ด่วนสรุปว่าคุณเข้าใจพวกเขา

(2) เป็นที่พึ่งในชีวิตประจำวัน
กิจวัตรประจำวันง่ายๆ เช่น ซักผ้า ล้างจาน จ่ายตลาด ฯลฯ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ที่มีคุณซึมเศร้าเป็นเพื่อน คุณจึงจำเป็นต้องเสนอความช่วยเหลือ โดยเริ่มต้นด้วยประโยคเหล่านี้

ควร: “วันนี้เธออยากให้ฉันช่วยทำอะไรมากที่สุด” / “ให้ฉันไปจ่ายตลาดเป็นเพื่อนไหม” / “หรือจดมาก็ได้ว่าเธออยากได้อะไรบ้าง ฉันจะไปซื้อให้” หรืออาจ ดียิ่งกว่า เมื่อคุณเสนอตัวทำกิจกรรมเหล่านั้นร่วมกับพวกเขา เช่น “ไปจ่ายตลาดแล้วมาทำกับข้าวกินกันดีกว่า”

ไม่ควร: “ถ้าเธอมีอะไรอยากให้ฉันช่วยก็บอกนะ”

(3) ชักชวนให้เข้าสังคม
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักตัดขาดตัวเองออกจากสังคม แม้แต่บางครั้งที่พวกเขาตอบรับคำชวนของเพื่อนๆ ไปแล้ว เมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็อาจเปลี่ยนใจไม่ไปตามแผนที่วางไว้ และยังรู้สึกผิดที่ผิดนัดเพื่อนๆ แม้พวกเขาจะปฏิเสธคำชวนหรือผิดนัดบ่อยๆ คุณก็ไม่ควรย่อท้อ เพราะนั่นจะยิ่งทำให้พวกเขาตัดขาดตัวเองออกจากสังคมมากขึ้น แต่คุณ ควร หมั่นส่งคำชวนไปอย่างสม่ำเสมอ แต่ อย่ากดดันพวกเขาจนเกินไป บอกเขาว่า “ถ้ามาไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนะ ไว้เมื่อไรที่เธอพร้อม ฉันรอได้เสมอ”

(4) หมั่นติดต่อ
ในกรณีที่คุณไม่สามารถไปพบเจอหรือใช้เวลากับพวกเขาได้มากอย่างที่ต้องการ อย่าลืมหมั่นติดต่อพวกเขาบ่อยๆ อาจเป็นการโทรศัพท์ไปทักทาย ส่งข้อความ พยายามบอกพวกเขาว่า คุณคิดถึงและเป็นห่วงพวกเขาเสมอ

(5) สนับสนุนการรักษา
หาโอกาสแนะนำให้พวกเขาไปพบจิตแพทย์ และพยายามโน้มน้าวให้เขาเข้ารับการบำบัดให้ได้ หากพวกเขาบ่ายเบี่ยงไม่ยอมไปพบแพทย์ตามนัด คุณอาจพูดว่า “อาทิตย์ที่แล้วเธอบอกว่าการบำบัดได้ผลมากๆ แล้วเธอก็รู้สึกดีมากด้วยไม่ใช่เหรอ งั้นฉันว่าการบำบัดอาทิตย์นี้ก็ต้องช่วยได้มากเหมือนกันแน่ๆ”

เช่นเดียวกัน หากจู่ๆ พวกเขาไม่อยากกินยาอีกต่อไปเพราะผลข้างเคียงบางอย่างที่เกิดขึ้น คุณต้องพยายามโน้มน้าวให้เขาอดทนสู้ต่อให้ได้ โดยคุณอาจแนะนำให้เขาปรึกษาจิตแพทย์ว่าสามารถเปลี่ยนเป็นยาที่มีผลข้างเคียงน้อยลงได้ไหม

(6) อย่าลืมดูแลตัวคุณเอง
การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องใช้พลังกายและใจเป็นอย่างมาก จนบางครั้งคุณอาจเครียดและเหนื่อยเกินไป ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นผลดีแน่ คุณจึงควรตั้งขอบเขตสำหรับตัวเองว่าคุณสามารถใช้เวลากับพวกเขาได้แค่ไหน และพยายามบอกกับพวกเขาอย่างนิ่มนวลว่าคุณสามารถรับโทรศัพท์พวกเขาได้หลังเลิกงานหรือในบางเวลาที่คุณสะดวกเท่านั้น

ควร: หาเบอร์สายด่วนให้พวกเขาไว้ เผื่อในบางเวลาที่เขาติดต่อคุณไม่ได้ รวมทั้งอาจชวนเพื่อนๆ คนอื่นมาช่วยกันดูแลเพื่อนที่อยู่กับคุณซึมเศร้า เพราะแน่นอนว่าสองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว

แปลและเรียบเรียงจาก:
healthline.com
www.luminouscounseling.org

บทความที่เกี่ยวข้อง