กิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ‘Food for GERD: กินอย่างไร ห่างไกลกรดไหลย้อน’

Care / hhc for life

หนึ่งในโรคยอดฮิตร่วมสมัยของหนุ่มสาวชาวไทยที่อยู่ในวัยทำงานคือ โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD) โดยมักมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของสังคมเมืองที่รีบเร่ง เช่น กินอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด อาหารทอด อาหารที่ปรุงรสจัด รวมทั้งเครื่องดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ที่สำคัญคือ ความเคร่งเครียดกับงาน ทำงานดึก เลิกงานดึก ทำให้กินอาหารมื้อดึกเป็นประจำ แล้วเข้านอนเกือบจะทันที และไม่ออกกำลังกาย 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคนไทยเป็นโรคกรดไหลย้อนเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้ป่วยหลายคนยังคงขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง โดยเฉพาะในเรื่อง ‘อาหาร’ ที่เป็นปัจจัยสำคัญ และคนส่วนใหญ่เลือกที่จะหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตซึ่งค่อนข้างมีข้อมูลที่หลากหลายและกระจัดกระจาย บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เล็งเห็นว่า ‘ข้อมูลที่ถูกต้อง’ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยห่างไกลจากกรดไหลย้อนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำโครงการ ‘Food for GERD: กินอย่างไรให้ห่างไกลกรดไหลย้อน’ โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลหลายแห่งจัดโครงการและกิจกรรมต่างๆ ขึ้น เช่น

  • โครงการ ‘Healthy Food, Good for GERD’ โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 
  • โครงการ ‘Healthy Food, Good for GERD’ โดยโรงพยาบาลพญาไท
  • โครงการ ‘Food for GERD Market’ โดยโรงพยาบาลกรุงเทพ 


โดยโครงการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ซึ่งในการจัดงานจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการและจัดการบรรยาย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีกิจกรรมที่ช่วยคัดกรองอาการกรดไหลย้อนจากทางโรงพยาบาล รวมถึงการสาธิตการรังสรรค์เมนูอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อน และมีการจัดจำหน่ายอาหารสุขภาพที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อนให้ได้ซื้อและรับประทานอีกด้วย กิจกรรมดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี และสำหรับใครที่พลาดกิจกรรมเหล่านี้ไป ก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะในวันนี้ hhc Thailand ได้สรุปข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากผู้อ่านทุกท่านกัน

เช็คอาการ ‘กรดไหลย้อน’

ปกติแล้ว แพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนได้จากอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก นั่นคือ

  • รู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก และคอ โดยมักเกิดอาการมากหลังกินอาหารมื้อหนัก ยกของหนัก โน้มตัวไปข้างหน้า หรือนอนหงาย
  • รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและลำคอ
  • มีอาหารไหลย้อนขึ้นมาในปากและคอ
  • จุกเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่

นอกจากอาการที่พบได้บ่อยดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยบางรายยังอาจมีอาการอื่น เช่น

  • เจ็บหน้าอก โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ
  • เสียงแหบเรื้อรัง 
  • ไอเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
  • รู้สึกเหมือนมีก้อนติดในลำคอ ทำให้กลืนลำบาก
  • ฟันผุ มีกลิ่นปาก

โรคกรดไหลย้อน vs โรคกระเพาะอาหาร
ผู้ป่วยบางรายอาจสับสนอาการที่เกิดขึ้นของโรคกรดไหลย้อนกับโรคกระเพาะอาหาร แนะนำให้สังเกตที่อาการแสบร้อนหน้าอกขึ้นมาถึงคอเป็นหลัก เพราะผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารจะไม่มีอาการนี้ 

‘อาหารคลีน’ กินอร่อย…ห่างไกลกรดไหลย้อน

แม้จะมียาหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคกรดไหลย้อนได้ดี แต่รู้หรือไม่ว่าการ ‘เลือกอาหาร’ ที่รับประทานนั้น จะช่วยลดการเกิดอาการของโรคได้ดียิ่งขึ้น ดังที่กล่าวไปแล้วว่า การดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อให้ห่างไกลจากกรดไหลย้อน คือ การเลือกกินอาหาร

อาหารที่แพทย์แนะนำมากที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นกรดไหลย้อน คือ อาหารคลีน (clean food) ที่ทำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ปลอดสารพิษ ผ่านกระบวนการปรุงแต่งให้น้อยที่สุด ไม่ปรุงรสจัด และมีไฟเบอร์สูง ย่อยง่าย ช่วยให้ขับถ่ายสะดวก โดยอาหารคลีนสำหรับผู้ป่วยกรดไหลย้อนที่แพทย์แนะนำ เช่น

A picture containing application

Description automatically generated
Food for GERD Recommendedช่วยห่างไกลกรดไกลย้อนได้อย่างไร
ธัญพืช ผักใบเขียว ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีทกากใยธรรมชาติเหล่านี้ช่วยดูดซับปริมาณกรดเกินได้ดี และลดค่ากรดในกรณีที่มีอาการกรดไหลย้อนหลังรับประทานอาหารได้ด้วย
ผลไม้สดที่ไม่มีกรดมาก เช่น กล้วย แตงโม แคนตาลูป แอปเปิล พีช ลูกแพร์ อะโวคาโด ผลไม้สดที่มีรสไม่เปรี้ยวเป็นผลไม้กลุ่มที่จะไม่กระตุ้นการสร้างกรดและไม่ทำให้อาการกำเริบ ผลไม้กลุ่มนี้บางชนิดช่วยเคลือบกระเพาะได้ดีอีกด้วย
อาหารไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ขาว น้ำเต้าหู้อาหารกลุ่มนี้เป็นอาหารมีไขมันน้อย ซึ่งโดยปกติอาหารที่มีไขมันมากๆ จะกระตุ้นการหลั่งกรดออกมาได้เยอะ อาหารกลุ่มนี้มีข้อดีอีกอย่างคือ ย่อยง่าย ช่วยลดอาการท้องอืดได้อีกด้วย

นอกจากนั้น ยังมีอาหารและเครื่องดื่มอีกบางรายการที่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนเป็นพิเศษ คือ

  • น้ำขิง: ดื่มเป็นประจำจะช่วยขับลม ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ และช่วยลดอาการท้องอืด
  • กะหล่ำปลี: มีแร่ธาตุกำมะถัน (sulfur) ที่ช่วยขจัดสารพิษจากร่างกายและช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  • ไขมันดี: ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนไม่ควรงดไขมัน แต่ควรเลือกบริโภคอาหารที่ให้ไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันดอกทานตะวัน เป็นต้น 

นอกจากเลือกกินอาหารเหล่านี้ที่ช่วยลดอาการกรดไหลย้อนแล้ว อย่าลืมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตให้เหมาะสมด้วย ไม่ว่าจะเป็น งดการกินมื้อดึก งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ … เพียงเท่านี้ คุณก็จะไกลห่างจากโรคกรดไหลย้อนและมีสุขภาพแข็งแรงแล้ว

ที่มา:
bamrungrad.com
phyathai.com
rama.mahidol.ac.th

บทความที่เกี่ยวข้อง