รู้หรือไม่? กินอาหารคีโตรักษาโรคลมชักได้

Health / Others

ในปัจจุบันอาหารคีโต หรือ คีโตเจนิค ไดเอต (Ketogenic Diet: KD) นั้น มีการพูดถึงในวงกว้างและมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลดน้ำหนัก แต่ในความเป็นจริงนั้นมีการรักษาโรคลมชักด้วยอาหารคีโตมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1920 และได้อยู่ในแนวทางการรักษาโรคลมชักแล้วทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่เป็นโรคลมชักชนิดดื้อต่อยากันชัก เรามาทำความรู้จักอาหารคีโตว่าคืออะไร ใช้ในการรักษาโรคลมชักอย่างไร เพื่อคลายความสงสัยและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการรักษาโรคลมชักด้วยอาหารคีโต 

ยินดีที่ได้รู้จัก Ketogenic Diet

คีโตเจนิค ไดเอต หรืออาหารคีโต คืออาหารที่มี ‘ไขมัน’ เป็นส่วนประกอบหลัก (ประมาณร้อยละ 90) ของอาหารที่ร่างกายต้องการต่อวัน โดยการทานอาหารคีโตนั้น มีจุดประสงค์เพื่อที่จะทำให้ร่างกายเปลี่ยนถ่ายนำไขมันมาใช้เป็นสารอาหารหลักในการสร้างพลังงาน ซึ่งร่างกายจะทำการเผาพลาญไขมันเพื่อสร้างพลังงานผ่านทางตับ ทำให้เกิดสารที่เรียกว่า คีโตนบอดี้ (Ketone Bodies) ที่มีฤทธิ์ในการ ‘ต่อต้าน’ การเกิดอาการชักผ่านกลไกหลายกลไกที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ชัดเจน แต่เชื่อกันว่าผลของการใช้คีโตเจนิค ไดเอต ในการรักษาอาการชักนั้น ไม่ได้เกิดจากกลไกการต่อต้านอาการชักเพียงกลไกเดียว แต่เกิดจากการปรับตัวของร่างกายและสารต่างๆ ที่ร่างกายสร้างขึ้น ในระหว่างที่ร่างกายอยู่ในภาวะคีโต การรักษาโรคลมชักด้วยอาหารคีโตนั้นอาจทำได้ยากในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เนื่องจากการจำกัดรูปแบบและชนิดของอาหาร ต่อมาจึงมีการพัฒนารูปแบบของอาหารเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสทานอาหารได้หลากหลายมากขึ้น ได้แก่ Modified Atkins Diet และ Low Glycemic Index Diet ซึ่งพบว่า อาหารทั้งสองแบบนี้ช่วยทำให้ผู้ป่วยมีอาการชักลดลงและสามารถปรับการใช้ชีวิตประจำวันในส่วนของการกินอาหารได้ดีขึ้น

อาหารคีโต เหมาะกับใคร?

การรักษาโรคลมชักด้วยอาหารคีโตสามารถใช้ได้กับอาการชักทุกแบบ มีรายงานว่าผู้ป่วยโรคลมชักอื่นๆ ที่ได้รับการรักษาด้วยคีโตเจนิค ไดเอต กว่าร้อยละ 50 มีอาการชักที่ลดลงจากเดิม เช่น ผู้ป่วยกลุ่มอาการ Doose ผู้ป่วยกลุ่มอาการ Dravet และผู้ป่วยที่มีโครงสร้างสมองผิดปกติผ่าตัดไม่ได้ เป็นต้น อย่างไรก็ดีการทำคีโตเจนิค ไดเอต นั้นไม่สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยทุกราย โดยมีข้อห้ามใช้คีโตเจนิค ไดเอต หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคความผิดปกติทางเมตาโบลิซึมบางชนิด เนื่องจากอาจทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลงและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้การรับประทานอาหารคีโตเพื่อหวังผลในการรักษาโรคลมชัก ควรอยู่ภายใต้การดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

อาหารคีโต คุมชักได้จริงหรือ?

ประสิทธิภาพในการรักษาโรคลมชักด้วยคีโตเจนิค ไดเอต นั้นขึ้นอยู่กับภาวะคีโตนของร่างกาย กล่าวคือผู้ที่รับประทานคีโตต้องมีวินัยในการที่จะควบคุมอาหาร เพื่อที่จะรักษาระดับของภาวะคีโตนในร่างกายให้สูงตลอดเวลา ซึ่งมีผลการศึกษาพบว่า อาหารคีโตสามารถช่วยลดและป้องกันอาการชักในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชักได้ดี และช่วยลดความถี่ของอาการชักอย่างน้อยร้อยละ 50 ในเด็กเมื่อได้รับการรักษาด้วยคีโตเจนิค ไดเอต อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 10 ถึง 15 ไม่มีอาการชักอีกเลยภายหลังจากทำคีโตเจนิค ไดเอต จึงมีการแนะนำให้เริ่มใช้คีโตเจนิค ไดเอต ในการรักษาโรคลมชักเร็วขึ้นในผู้ป่วยโรคลมชักชนิดดื้อยาที่ไม่มีข้อห้ามในการทำคีโตเจนิค ไดเอต โดยผู้ป่วยมักจะต้องได้รับยากันชักควบคู่ไปด้วย และเมื่ออาการชักลดลง แพทย์ก็จะสามารถลดขนาดและชนิดของยาลงได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยากันชักลดลง 

ข้อควรระวังของอาหารคีโต

ในช่วงแรกที่เริ่มทำคีโตเจนิค ไดเอต ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกอ่อนเพลียเล็กน้อยในช่วง 2 ถึง 3 วันแรก สำหรับเด็กอาการอ่อนเพลียอาจเป็นมากขึ้นหากมีอาการเจ็บป่วยอื่นร่วมด้วย ผู้ป่วยควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและผลแทรกซ้อนอื่นๆ ที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ที่รับประทานอาหารคีโตอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ได้แก่ นิ่วในไต ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูง ท้องผูก กระดูกหักง่าย นอกจากนั้นในเด็กอาจมีผลต่อความสูง โดยทั่วไปผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยคีโตเจนิค ไดเอตนั้น แพทย์จะนัดติดตามอาการทุกๆ 3 เดือน ซึ่งในช่วงเวลานี้จะเริ่มสังเกตเห็นว่าความถี่และความรุนแรงของอาการชักนั้นลดลง มีผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 40 มีความถี่ของอาการชักลดลงมากกว่าครึ่ง อีกทั้งยังสามารถลดขนาดและจำนวนของยากันชักที่ใช้ประจำลงได้ โดยหลายคนมีความรู้สึกสดชื่นและกระปรี้กระเปร่ามากกว่าเดิมแม้ว่าจะยังมีอาการชักอยู่ โดยทั่วไปแพทย์แล้วจะวางแผนการรักษาด้วยคีโตเจนิค ไดเอต เพื่อรักษาอาการชักอยู่ที่ประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นจะค่อยๆ ปรับลดสัดส่วนของไขมันในอาหารลง แต่หากไม่มีผลข้างเคียงก็สามารถที่จะใช้ คีโตเจนิค ไดเอต อย่างต่อเนื่องได้มากกว่า 2  ปี ภายใต้การดูแลของแพทย์และนักโภชนาการ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

บทความที่เกี่ยวข้อง