7 ความเข้าใจผิดของโรคลมชักในผู้หญิง

Health / Others

ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก ผู้หญิงกลุ่มนี้จะถูกจำกัดบทบาทในสังคม หน้าที่การงาน รวมถึงมีอัตราการสมรสและการมีบุตรต่ำ เนื่องจากคนในสังคมมักมองว่า ผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักมีสุขภาพไม่แข็งแรง และบุตรที่เกิดมาอาจจะมีความพิการหรือเป็นโรคลมชักได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังอาจตกเป็นเหยื่อของการถูกทารุณกรรมทางกาย ทางคำพูด หรือทางเพศอีกด้วย ซึ่งความเข้าใจผิดที่พบบ่อยในผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักมีหลายประเด็นดังต่อไปนี้

ผู้หญิง ‘วัยรุ่น’ ที่เป็นโรคลมชัก…ไม่สามารถเรียนหรือใช้ชีวิตปกติได้

X ผู้หญิงที่เป็นโรคลมชัก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นย่อมมีการเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมนและอารมณ์เช่นเดียวกับวัยรุ่นในวัยเดียวกัน ผู้หญิงกลุ่มนี้มักได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมในช่วงวัยนี้ จนทำให้ขาดความมั่นใจในตนเองและไม่กล้าเข้าสังคม 

>> ความสำคัญที่พ่อแม่หรือผู้ดูแลต้องปฏิบัติกับผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักในวัยรุ่นคือ ส่งเสริมให้มีการใช้ชีวิต มีอิสระ และตัดสินใจช่วยเหลือตัวเองเท่าที่ทำได้ ให้เหมือนเพื่อนในวัยเดียวกัน 

การมีประจำเดือนทำให้อาการชักแย่ลง

X แม้ว่าในช่วงการมีประจำเดือนฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลกระทบต่อการชัก อย่างไรก็ตามมีผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักจำนวนน้อยเท่านั้นที่มีอาการชักเพิ่มขึ้น ในช่วงก่อนหรือช่วงมีประจำเดือนที่เรียกว่า Catamenial Seizures ในขณะที่ส่วนใหญ่ไม่สัมพันธ์กัน 

>> หากสงสัยภาวะนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเรื่องทางเลือกของการให้ยาระยะสั้นเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือน

ผู้หญิงที่เป็นโรคลมชัก ‘ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้’

X ความเชื่อที่ว่า ‘ผู้หญิงที่เป็นโรคลมชัก’ ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้และโรคลมชักนั้นติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือน้ำลาย ถือเป็นความเชื่อที่ผิด ที่ถูกต้องแล้วผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักยังคงสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ และโรคลมชัก ไม่ติดต่อ ทางเพศสัมพันธ์หรือน้ำลาย 

>> ประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการมีเพศสัมพันธ์ของผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักคือ หากมีเพศสัมพันธ์แล้วควรมีการวางแผนเรื่องวิธีการคุมกำเนิดกับแพทย์ผู้รักษา เนื่องจากยากันชักบางชนิดอาจทำให้การใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทานออกฤทธิ์ได้ไม่ดี หรือทำให้เกิดเลือดออกกะปริดกะปรอยได้ ยากันชักรุ่นเก่าบางชนิดมีรายงานว่าลดความต้องการทางเพศ แต่ในยารุ่นใหม่ไม่มีรายงานมากนัก

โรคลมชักเป็นโรคติดต่อ

X ความคิดนี้เป็นความเข้าใจผิดที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน จนทำให้ผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักมักประสบกับปัญหาในการมีครอบครัว เนื่องจากครอบครัวฝ่ายชายมักไม่อนุญาตให้แต่งงานกับผู้หญิงที่เป็นโรคลมชัก เพราะความเข้าใจผิดว่าโรคลมชักเป็นโรคติดต่อ

>> โรคลมชักไม่ใช่โรคติดต่อ การอยู่ร่วมกันหรือแต่งงานกับผู้ป่วยลมชักไม่ทำให้เกิดโรคลมชักเพิ่มแต่อย่างใด

ผู้หญิงที่เป็นโรคลมชัก ‘ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้’

X ในอดีตมีความเชื่อว่าผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักนั้นร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้และบุตรที่เกิดจากผู้หญิงกลุ่มนี้มักจะพิการ 

>> ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักสามารถตั้งครรภ์ได้เหมือนผู้หญิงทั่วไปและส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากนี้ความเชื่อที่ว่าบุตรที่เกิดจากผู้หญิงกลุ่มนี้มักจะพิการนั้น ไม่เป็นความจริง จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า บุตรของผู้หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดมามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักก่อนตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนว่ายาที่รับประทานจะส่งผลทำให้บุตรในครรภ์เกิดความพิการหรือไม่ หรือหากรับประทานยากลุ่มนั้นอยู่ ในช่วงตั้งครรภ์อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาใช้ยาที่ไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ 

เด็กที่เกิดจากผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักจะเป็นโรคลมชัก

X คนส่วนใหญ่มักมีความเข้าใจว่าเด็กที่เกิดจากผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักนั้น จะเป็นโรคลมชักตามมารดา ความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริงเสมอไป

>> โรคลมชัก ‘บางชนิด’ เท่านั้นที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และถึงแม้จะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หากมีบิดาหรือมารดาเป็นโรคลมชักจะเพิ่มโอกาสที่เป็นโรคลมชักได้ 10% ในขณะที่เด็กทั่วไปก็มีโอกาสเกิดโรคลมชัก 1-2% และโรคลมชักบางอย่างถึงแม้จะถ่ายทอดทางพันธุกรรมก็สามารถหายได้หรือคุมได้ด้วยยากันชัก

แม่เป็นโรคลมชัก เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้

X ผู้หญิงหลายคนกังวลว่าเมื่อมีบุตรแล้วจะไม่สามารถทำหน้าที่แม่ได้อย่างสมบูรณ์ การรับประทานยากันชักจะไม่สามารถให้นมบุตรด้วยตัวเองได้ 

>> ในความเป็นจริงผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักสามารถมีบุตรและเลี้ยงดูบุตรได้ด้วยนมแม่เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไป มีเพียงยากันชักบางชนิด เท่านั้นที่ผ่านจากน้ำนมมาหาทารกได้ และมักไม่ได้ส่งผลร้ายแรงแต่อย่างใด ในกรณีนี้สามารถปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาเพื่อวางแผนการมีบุตรได้เลย

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า มีความเข้าใจผิดหลายอย่างที่ทำให้ผู้หญิงที่เป็นโรคลมชักถูกตีตราทางสังคม อยากให้ทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมชักในผู้หญิง เพื่อช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลเหล่านี้และเพื่อการดูแลที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต

บทความที่เกี่ยวข้อง