ต้องยอมรับว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่อาจสร้างความรู้สึกหลากหลายให้กับทุกคน มันไม่เพียงเปลี่ยนแปลงโลกเท่านั้น แต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตและความรู้สึกของมนุษย์ในหลากหลายแง่มุม หลายคนอาจนิยามสถานการณ์นี้หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าเป็น ‘ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด’
‘โอบรับ’ ความเปลี่ยนแปลง
ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด อาจกินความหมายถึงเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกเหนือความคาดหวังของผู้พูด แต่อีกนัยหนึ่งก็สะท้อนความคาดหวังที่ไม่ตรงความจริง (Unrealistic Expectation) ด้วยเช่นกัน เพราะนั่นแสดงว่าผู้พูดคาดหวังว่า ทุกสิ่งน่าจะต้องอยู่คงเดิมหรือเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่โดยธรรมชาติแล้ว ตราบใดที่เวลายังคงเดินต่อไป ความเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเตรียมใจให้สามารถ ‘โอบรับความเปลี่ยนแปลง’ จึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการรับมือกับสิ่งนี้
แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็ยากที่จะโอบรับมันไว้เหลือเกิน เช่น ความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเอง หรือสูญเสียปัจจัยที่จะมีชีวิตอยู่ภายนอก เช่น อาชีพการงานหรือเงินทอง แต่การพยายามปฏิเสธหรือลบล้างการเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นแล้วนั้น อาจทำให้เราติดอยู่กับความรู้สึกบางอย่างจนไม่สามารถใช้ชีวิตในปัจจุบันได้ เรียกได้ว่าไม่ยอม move on จากอดีต เปรียบเหมือนการโอบกอดที่แน่นเกินไปจนไม่รู้ตัวว่าตนเองก็เจ็บและเหนื่อยไม่น้อย อย่างไรก็ตามการกอดที่แน่นเกินไปนี้ โดยธรรมชาติแล้วมันก็ไม่ได้อยู่คงทนและสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเป็น ความคิดถึง ที่เราจะสามารถรู้สึกกับมันได้จริง อีกทั้งอาจนำมาเป็นพลังใจในการใช้ชีวิตต่อในปัจจุบันได้ด้วย
‘รับมือ’ กับความเปลี่ยนแปลง
การรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขั้นตอนต่อจากนี้จึงเป็นเพียงข้อแนะนำในการข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น คือ
สำรวจใจ เมื่อเตรียมความพร้อมให้ใจโอบรับความเปลี่ยนแปลงว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติได้แล้วนั้น ขั้นถัดมาคือการสำรวจใจว่า รู้สึกอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงนั้นและสาเหตุที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น ซึ่งส่วนมากแล้วก็จะเกี่ยวข้องกับมุมมองหรือความคาดหวังต่อสถานการณ์นั้นๆ เช่น อาจรู้สึกกังวลใจ เมื่อต้องทำงานแทนเพื่อนร่วมงานที่ติดโควิด ทำให้งานที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ในกรณีนี้ อาจกังวลจากความคาดหวัง เช่น ต้องทำงานให้ดีเท่าเดิม คาดหวังให้งานราบรื่นไม่มีปัญหา พอมีคนน้อยลงจึงมีความกังวลมาก เมื่อสำรวจได้แบบนี้แล้ว ลองดูมุมมองหรือความคาดหวังของตัวเองต่อสถานการณ์ว่ามีจุดใดที่อาจเป็นไปได้ยากในธรรมชาติ เช่น จำเป็นไหมที่งานต้องดีเท่าเดิม หรือการไม่มีปัญหาในงานเลยจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เมื่อมีทรัพยากรคนลดลง เป็นต้น
สำรวจวิธี คือ วิธีในการจัดการความรู้สึกและจัดการกับความเปลี่ยนแปลง โดยส่วนมากแล้ว หากการจัดการกับความรู้สึกยังทำได้ไม่ดีพอ การจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่ได้ผลดีก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งการจัดการกับอารมณ์ของแต่ละคนจะมีวิธีที่แตกต่างกันไป ลองสำรวจกิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย หรือหาคนไว้ใจที่สามารถรับฟังความรู้สึกเหล่านั้น ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ความรู้สึกดังกล่าวลดลงได้ การที่อารมณ์ลดลงแม้จะไม่หายสนิท แต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ใช้ความสามารถของสมองส่วนเหตุผลได้มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะหาแนวทางการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดแล้วส่วนมากจะไม่สามารถควบคุมได้ แต่ผลกระทบที่ตามมานั้นอาจยังมีทางที่จะป้องกันหรือควบคุมได้บางส่วน เช่น เมื่อรู้สึกงานมากเกินกำลัง อาจหยุดพัก หรือพูดคุยปัญหาปริมาณงานกับคนอื่นในทีม หากเป็นไปได้
สำรวจอนาคต เมื่อปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว หลายคนอาจมีผลกระทบด้านความรู้สึกตามมา เช่น ความรู้สึกผิด คิดว่าตนเองเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลง หรือรู้สึกโกรธ คิดว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดจากการที่คนอื่นทำอะไรไม่สมเหตุผล ความรู้สึกเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องระวังว่า อาจเผลอเอาความคิดเหล่านี้มาตัดสินตนเอง หรือคนอื่นในปัจจุบันและอนาคต คำถามที่ควรตั้งไว้กับตัวเองเมื่อผ่านความรู้สึกเหล่านั้นมาแล้วคือ เราได้เรียนรู้อะไรจากสถานการณ์นี้บ้าง และช่วงที่ผ่านมาเราสามารถจัดการมันได้อย่างไร หลังจากนั้นเก็บวิธีการจัดการไว้เป็น ‘บทเรียน’ ไม่ใช่ ‘บทลงโทษ’ ต่อตัวเองในอดีต รวมถึงปัจจุบันและอนาคต เมื่อความเปลี่ยนแปลงครั้งหน้ามาในรูปแบบที่อาจจะคล้ายกัน ก็จะมีความยืดหยุ่นทางจิตใจมากขึ้น และมีอาวุธเดิมที่เคยใช้สามารถหยิบขึ้นมาจัดการความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่แตกต่างได้ แน่นอนว่าการมีอาวุธหรือวิธีการที่หลากหลายย่อมมีโอกาสที่จะรับมือได้มากขึ้นในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป
Move on เป็นวงกลม
หลายครั้งการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่ายและสามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ เราอาจจะเคยจัดการความรู้สึกบางอย่างได้ แต่มันก็กลับมาอีกได้เช่นกัน หรือที่หลายคนเรียกว่า move on เป็นวงกลม ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้ว ขอให้เตือนตัวเองได้เลยว่า สิ่งนี้เป็นวงจรปกติและควรอนุญาตให้ตัวเองได้ใช้เวลากับความรู้สึกที่เกิดขึ้นก่อน แล้วจึงกลับไปสำรวจใจ สำรวจวิธี และสำรวจอนาคตอีกครั้ง ในขณะที่เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวหรือคนรอบตัวนั้น ตัวเราเองก็เปลี่ยนแปลงด้วยในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เปรียบเหมือนเป็นการเรียนรู้ชีวิตไปเรื่อยๆ
สุดท้ายนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากสำรวจใจแล้วพบว่ามีผลกระทบที่อาจจะผ่านมันไปไม่ได้ด้วยตนเอง ลองหาวิธีแล้วก็ยังไม่เจอทางออกและมีผลกระทบอย่างมากในชีวิต การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ นักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์ ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยประคับประคองให้ผ่านความเปลี่ยนแปลงไปได้เช่นเดียวกัน