‘ยิ่งให้ ยิ่งได้’ ทฤษฎีง่ายๆ แต่ทรงพลังของ ‘ต่อเพนกวิน’ ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี

Human / Self-Inspiration

หากลองไล่เรียงเรื่องราวตลอด 7 ปีที่ผ่านมาของ ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี หรือ “ต่อเพนกวิน” เจ้าของร้านอาหาร Penguin Eat Shabu เราจะพบว่าชีวิตที่ผ่านมาของเขาเต็มไปด้วยความไม่ธรรมดา ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารเพราะต้องการช่วยวิกฤตของครอบครัว แต่มีต้นทุนเดียวที่นำไปต่อยอดได้คือความรู้และทักษะด้านการออกแบบและอสังหาริมทรัพย์ เขาจึงอาศัยลูกบ้า ความมุ่งมั่น และอึด-ถึก-ทน จนร้านชาบูของเขาและน้องชายฝาแฝด (ต้น-ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี) เปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน ด้วยทุน 1 ล้านบาท และในเวลาเพียงไม่กี่ปี ธุรกิจของเขาก็สามารถไล่กวดร้านอาหารรุ่นพี่ได้ด้วยรสชาติ แคมเปญทางการตลาดสุดว้าวและสนุก พร้อมสโลแกนประจำร้านอย่าง “ไม่อร่อยให้ต่อยเพนกวิน” จนความสำเร็จอยู่ห่างตัวเขาเพียงไม่กี่คืบ หรือการกระโดดจากเจ้าของธุรกิจมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์แบบโนประสบการณ์ให้กับเพจของตัวเองอย่าง Torpenguin – ผู้ชายขายบริการ ไปจนถึงการเขียนหนังสือที่เปิดเผยทุกซอกทุกมุมของธุรกิจร้านอาหารให้คนได้รู้ทั้ง “RESTAURANT BIBLE คัมภีร์เริ่มต้นธุรกิจร้านอาหาร” และ “Restaurant Management สูตรสำเร็จเปิดร้านอาหารอย่างเป็นระบบ”

นี่เป็นเพียงด้านหนึ่งในชีวิตของเขาเท่านั้น เพราะต่อยังมีเรื่องราวความสุข ความเศร้า และน่าตื่นเต้นปนหวาดเสียวอยู่อีกหลายครั้งหลายครา เท่าที่ (หรืออาจจะมากกว่า) ชีวิตของคนคนหนึ่งในวัยย่าง 38 พึงจะมี การได้คุยกับเขาในวันนี้ นอกจากเราจะสัมผัสได้ถึงคนที่โตเกินวัยแล้ว ผู้ชายคนนี้ยังก้าวไปไกลมากกว่าเขตขอบรอบรั้วของตัวเองด้วยการเป็นนักธุรกิจที่ไม่ได้มีตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่คือผู้คน สังคม และโลกใบนี้ด้วย ลองไปฟังเขาเล่าถึงเรื่องอะไรๆ แบบนี้กัน

กว่าจะมาเป็น Torpenguin – ผู้ชายขายบริการ

หลังจากกิจการของครอบครัวประสบปัญหาหนี้สิน เขาและน้องชายจึงต้องก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าครอบครัวแทนคุณพ่อเมื่อราว 7 ปีก่อน เพราะลำพังเพียงบริษัทออกแบบเล็กๆ ที่ยังไม่เติบโตอะไรมากมาย คงจะไม่เพียงพอที่จะดูแลคนทั้งครอบครัว ร้านชาบูที่ในเวลานั้นเรียกว่าตอบโจทย์ทุกอย่าง แต่สำหรับคนทำอาหารไม่เป็น แถมไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน เขาจึงต้องหาความรู้ด้วยตัวเองจากตำราต่างประเทศและโลกออนไลน์ จนเกิดคำถามว่า…เพราะเหตุใดเมืองไทยจึงไม่มีแหล่งเรียนรู้หรือหลักสูตรในการเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารแม้แต่แหล่งเดียว

“สิ่งที่ผมแปลกใจคือผู้ประกอบการร้านอาหารในเมืองไทยมีประมาณ 3 แสนราย เป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่ไม่มีใครออกมาให้ความรู้เลย เมื่อถามไป คำตอบที่ได้คือเป็นความลับ ไม่มีใครมานั่งเล่าให้ฟัง เจ้าของกิจการจะใช้เงินไปลองผิดลองถูกด้วยตัวเองกันหมด แบบที่ต้องล้มเองเจ็บเองถึงจะรู้ เอาเข้าจริง นี่แหละคือแหล่งความรู้ชั้นดี เพียงแต่ยังไม่มีใครออกมาถ่ายทอดเท่านั้นเอง ระหว่างนั้นผมวางระบบต่างๆ ของ Penguin Eat Shabu จนพอจะอยู่ได้และเริ่มขยายสาขา สื่อต่างๆ จึงเริ่มให้ความสนใจ เมื่อเรื่องราวผมออกไป ปรากฏว่ามีคนได้ประโยชน์ และให้ผมไปบรรยายแบบออฟไลน์ เวลานั้นผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะประสบการณ์ของเราสามารถช่วยคนอื่นได้ เลยบอกกับตัวเองว่าถ้าวันหนึ่งผมมีความรู้มากพอ ผมจะไม่กั๊กเด็ดขาด”

แม้จะมีโอกาสไปบรรยายให้หน่วยงานต่างๆ มากขึ้น แต่การต้องพูดเรื่องเดียวซ้ำๆ ในเวลาที่จำกัด ทั้งๆ ยังมีข้อมูลอีกมากมายที่อยากจะบอกต่อ ทำให้เขาเริ่มมองหาช่องทางที่อื่นๆ ที่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่มีได้แบบไม่อั้น แถมยังเป็นการเหนื่อยครั้งเดียว แต่ได้ผลลัพธ์ที่กว้างกว่า การสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์จึงเป็นคำตอบ “ผมอยากให้ความรู้ถูกถ่ายทอดผ่านช่องทางที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าที่ไหนเมื่อไหร่ ซึ่งน่าจะช่วยคนได้เยอะและทั่วถึงกว่า แถมยังสร้างความตระหนักเรื่องธุรกิจร้านอาหารไปพร้อมๆ กันได้ด้วย นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นของเพจ Torpenguin – ผู้ชายขายบริการ”

สื่อที่ตั้งใจส่งมอบคุณค่าและความดี

เมื่อคุณคลิกเข้าไปในเพจ Torpenguin เนื้อหาหลักๆ ที่คุณเจอคือการรวมสารพันปัญหาและวิธีการทำธุรกิจร้านอาหารอย่างไรให้ยั่งยืน เพราะต่อรู้ดีว่า นี่ไม่ใช่ธุรกิจที่หอมหวานและมีผู้ประการน้อยรายนักที่จะประสบความสำเร็จ ทุกวันนี้เพจดังกล่าวจึงพุ่งเป้าไปที่ 3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ 1. เรื่องราวที่คนอยากรู้ 2. สิ่งที่ผู้ประกอบการควรจะต้องรู้ และ 3. ประเด็นที่สังคมร้านอาหารควรหันมาสนใจและใส่ใจกัน

“สำหรับประเด็นหลัง ต่อให้ engagement ไม่ดี ผมก็ยังยืนยันที่จะทำ เพราะนี่เป็นเรื่องที่สังคมต้องรู้ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผมและทีมงานคือเราจะไม่ทำคอนเทนต์ที่ทำลายสังคม ทุกเนื้อหาที่เข้ามาตรงนี้จะต้องให้คุณค่าบางอย่างแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร เช่น ธุรกิจนั้นๆ ดูแลพนักงานอย่างไรที่ทำให้พนักงานกลับไปดูแลลูกค้าได้อย่างดี เราจะไม่ไปบอกว่าลงมาธุรกิจนี้กันเถอะเพราะคุณจะรวย แต่จะบอกว่าคิดให้ดีก่อนเข้ามาในธุรกิจนี้ เพราะมีผู้ประกอบการร้านอาหารแค่ 10% เท่านั้นที่อยู่รอดได้ เราช่วยให้คุณรวยไม่ได้ แต่จะช่วยลดโอกาสในการเจ๊งให้คุณได้ ผมจะพูดในมุมจริงๆ ที่ Pengiun Eat Shabu เคยสำเร็จและผิดพลาดมาก่อน”

จากการเริ่มต้นที่ยอด engagement และการแชร์เนื้อหาต่างๆ ภายในเพจอยู่เพียงหลักสิบ เพจของต่อไต่ระดับไปสู่ตัวเลขที่มากขึ้นแบบเท่าทวีคูณด้วยเนื้อหาที่แบไต๋กันแบบหมดเปลือง ซึ่งนับว่าเป็นผลลัพธ์แบบ one too many ที่เหนื่อยครั้งเดียว แต่ช่วยคนได้มหาศาล ขณะเดียวกัน เขายังนำเสนอเรื่องราวของคนทำร้านอาหารที่ทุกต้นเรื่องถูกคัดเลือกจากคุณค่าและความดี

“หนึ่งในเคสที่น่าสนใจเกิดขึ้นในช่วงโควิดระลอกแรกที่นักดนตรีส่วนใหญ่ต่างตกงานกันหมด พี่คนนี้มีเงินก้อนสุดท้ายไม่กี่พันบาท เขาเลยเอามอเตอร์ไซด์ของตัวเองมาติดตั้งอุปกรณ์ที่หาได้ในบ้าน แล้วทำเป็นร้านกาแฟเคลื่อนที่ ขับไปขายตามที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ไม่มีชื่อร้านอะไรเลย เราเป็นสื่อแรกๆ ที่ไปนำเสนอเรื่องราวของเขา ซึ่งคลิปนั้นเข้าถึงคนได้ประมาณ 7 ล้านคน เรื่องราวของพี่คนนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน รวมถึงทีมงานด้วยว่า การเริ่มทำธุรกิจไม่มีข้อแม้ใดๆ เราสามารถใช้ของที่มี นับหนึ่ง แล้วเริ่มได้เลย หรืออีกเคสเป็นร้านในโรงอาหารที่ทำอาหารไม่เป็น แต่เขามีเมนูหนึ่งชื่อ “แล้วแต่ยัด” เป็นข้าวพร้อมกับที่แล้วแต่คนขายจะเลือกให้และตักในปริมาณที่เด็กๆ จะอิ่มได้ภายใน 1 จานในราคา 40-50 บาท กลายเป็นว่าโมเดลนี้ทำให้เขาสามารถจัดการอาหารที่ขายไม่ออกได้ เด็กๆ ก็ได้รับความสนุกและอิ่มไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ win-win ทั้ง 2 ฝ่าย”

เพราะเคยได้รับ…จึงอยากส่งต่อ ‘โอกาส’

“ผมเป็นคนล้มเหลวมาก่อน แต่หลายๆ ครั้งที่ผ่านมาได้เพราะมีคนให้โอกาส ผมจึงอยากเป็นคนที่ยื่นโอกาสแบบที่ผมเคยได้รับให้คนอื่นบ้าง ซึ่งแม้จะให้แล้วให้อีก แต่ยังไม่เวิร์ก อย่างน้อยๆ ผมจะตอบตัวเองได้ว่า เราให้โอกาสและช่วยแล้ว ที่เหลือเป็นหน้าที่พวกเขาแล้วว่าจะคว้าไว้ไหม ไม่ใช่หน้าที่เรา ดังนั้น ในวันที่ผมมีธุรกิจของตัวเอง ผมจึงตั้งใจให้เป็นธุรกิจที่จะให้โอกาสคน ไม่ว่าคุณจะมีหรือไม่มีวุฒิทางการศึกษาและประสบการณ์ ผมไม่กลัวเลยที่จะรับเข้ามาทำงาน เพราะผมพร้อมจะสอน อาจจะช้าหน่อย แต่ผมรอได้ ถ้าเทียบกับวันหนึ่งที่ชีวิตพวกเขาดีขึ้น

ผมว่าคนส่วนใหญ่จะคิดว่าเราต้องทำเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อคนรอบข้างของเราก่อน หรือรอให้รวยก่อนแล้วค่อยไปช่วยคนอื่น แต่ผมลองมานั่งคิดว่าเราจะทำสิ่งนี้ไปพร้อมๆ กันไม่ได้เหรอ เราจะช่วยคนอื่น หยิบยื่นโอกาสที่เราให้ไหวโดยที่เราก็ได้รายได้ไปด้วยไม่ได้เหรอ จนผมมาเจอตัวเองชัดเจนขึ้นจริงๆ ตอนที่ไปบรรยายให้หน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งรวมเอาเจ้าของธุรกิจที่กำลังจะล้มมาไว้ด้วยกัน ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งยกมือแล้วบอกว่า “ต่อไม่เข้าใจพี่หรอก ต่อไม่เคยล้ม” ผมเลยเล่าชีวิตที่ผ่านมาว่าการที่ผมคิดอะไรแบบนี้ในวันนี้ ผมเคยเจออะไรมาก่อน บ้านเกือบล้มละลาย คุณพ่อคุณแม่ป่วยหนัก มีภาระหนี้สิน พอเริ่มธุรกิจ ต้องกู้นอกระบบ เอาบ้านเข้าไปแบงค์ หมดเนื้อหมดตัว แต่ในชีวิตจริง นี่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมาบอกออกสื่อว่าชีวิตเราเคยลำบากอย่างไร ลูกค้าไม่ได้สนใจ ลูกค้าสนใจว่าเราให้คุณค่าอะไรกับเขามากกว่า ผมบอกในห้องนั้นว่าทุกคนมีปัญหาหมด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาปัญหามาเป็นตัวฉุดรั้งหรือตัวขับเคลื่อนแล้วสู้ไปด้วยกัน ผ่านไปประมาณอาทิตย์หนึ่งได้ พี่ท่านนี้อินบ็อกซ์มาหาผมและขอบคุณในสิ่งที่เราทำ เขากำลังคิดจะฆ่าตัวตายเพราะว่าเขาล้มทุกอย่างหมดแล้ว แต่เขาจะสู้ต่อเพราะได้ฟังเรา แล้วบอกกับเรา ‘อย่าหยุดทำสิ่งนี้นะ’

เอาจริงๆ ธุรกิจชาบูของผมถือว่าแย่ ณ เวลานี้ แต่สำหรับผมมันไม่สามารถเป็นข้ออ้างได้ว่าถ้าธุรกิจเราแย่แล้วเราจะช่วยคนอื่นไม่ได้ เรายังสามารถนำสิ่งที่พลาดมาสอนคนอื่น สำหรับผมบทเรียนที่ดีที่สุดไม่ใช่บทเรียน success case แต่คือ fail case แล้วมาบอกคนอื่นว่าอย่าผิดพลาดแบบผมเลย”

ถึงตัวเล็ก แต่หัวใจใหญ่ได้

“สิ่งที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่ผ่านมาสำหรับผมคือการได้รู้ว่าตัวเองมีประโยชน์ต่อสังคม ผมเป็นเด็กที่โตมาแบบเละๆ เทะๆ พอสมควร ไม่เคยคิดว่าการมีชีวิตอยู่ของคนคนหนึ่งจะช่วยยกระดับสังคมได้อย่างไร คนส่วนใหญ่มักบอกว่าเราเป็นคนตัวเล็กจะไปทำอะไรได้ เรื่องแบบนี้เป็นหน้าที่ของรัฐ ของคนตัวใหญ่ ผมอยากพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ว่าใครก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ถ้าเรายึดมั่นในสิ่งที่เราทำมากพอ จนวันนี้ ผมรู้แล้วว่าสิ่งที่คนตัวเล็กอย่างผมได้ทำมีคุณค่าต่อสังคมอย่างไร นี่เป็นจุดที่ทำให้ผมอิ่มใจและเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่แบบที่เงินซื้อหาไม่ได้เลยนะ

ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากตัวเองและสิ่งรอบตัวก่อน เราอาจเริ่มได้จากการดูแลคนรอบข้างให้ดี เราอยู่ในธุรกิจอะไร พนักงานเรากินดีอยู่ดี ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน หรือจัดการชีวิตได้ดีแล้วหรือยัง เวลาเราดูแลใคร เราควรจะดูแลไปถึงคนที่บ้านเขาด้วย ลูกเขาจะเรียนจบอย่างไร จากนั้นจึงขยับขยายไปในวงที่ใหญ่ขึ้นอย่างชุมชนว่าเราจะสามารถช่วยได้อย่างไรโดยที่ไม่กินแรงตัวเองจนเกินไป อะไรที่สามารถแชร์คุณค่าร่วมกันได้ ให้คนในชุมชนมาทำงานร่วมกันได้ไหม เป็นเอาท์ซอร์สในการผลิตให้กับเราได้ไหม แทนที่จะต้องไปซื้อวัตถุดิบจากนอกจังหวัดหรือจากเจ้าใหญ่ แม้ตอนเริ่มต้น คุณภาพอาจจะยังไม่ได้มาตรฐาน แต่ทุกคนสามารถที่จะเติบโตไปด้วยกันได้ เมื่อเรามีความปรารถนาที่ดีต่อกัน วันหนึ่ง ไม่ว่าฝ่ายใดล้มลง เราจะประคองกันไปได้ เพราะเรารักกันและไม่อยากเห็นคนที่เรารักล้มลง”

ศักยภาพของคนขึ้นอยู่กับทัศนคติ

“จริงๆ ผมเป็นคนไม่เคยตั้งใจเรียนหนังสือเลยตั้งแต่เด็กแล้ว อาศัยว่าเพื่อนมากลากไป ดันโชคดีเอนท์ติดสถาปัตย์ ลาดกระบัง ซึ่งยังคงเละเทะเหมือนเดิมแหละ แต่ทักษะที่ดีที่สุดของตัวเองคือการเอาตัวรอด ฉะนั้น ไม่ว่าจะเกเรอย่างไร แต่ไม่เคยตกแม้แต่วิชาเดียว จนวันหนึ่งตอนที่ผมอยู่ปี 4 คุณพ่อตื่นขึ้นมาแล้วเดินไม่ได้เพราะกระดูกทับเส้นประสาท กายภาพอยู่เป็นเดือน แต่ยังต้องนั่งรถเข็นไปทำงาน ผมถามว่า ทำไมต้องนั่งรถเข็นไปทำงานด้วย เขาตอบผมว่าถ้าเขาไม่ไปทำงานใครจะส่งพวกผมเรียน จะเอาที่ไหนกิน วันนั้นน้ำตาไหลเลย ผมกลับมานั่งคิดว่า ตัวเราในฐานะลูก ทำไมเราเหลวแหลกขนาดนี้ ผมจึงสัญญากับตัวเองว่าจะเลิกเที่ยว เลิกกินเหล้า แล้วตั้งใจจะกลับมาเป็นผู้เป็นคน

เพราะตัวเองสตาร์ทต่ำกว่าคนอื่น สิ่งเดียวที่จะทำให้ผมวิ่งตามทันคนอื่นคือเราต้องไม่หยุดวิ่ง ใครทำอะไร ผมจะคูณสองหมดเลย เขาอ่านหนังสือ 1 เล่ม ผมจะอ่าน 2 เล่ม เขาเรียนปริญญาใบเดียว ผมเรียน 2 ใบ เขาทำงานอาชีพเดียว ผมทำ 2 อาชีพ เขาทำงาน 8 ชั่วโมง ผมทำ 16 ชั่วโมง ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ทำให้เห็นเลยว่าสมการมันง่ายแค่นี้เอง เมื่อเราไม่หยุดวิ่ง เราจะวิ่งได้เร็วกว่าคนอื่น

ผมเชื่อเสมอว่าศักยภาพของคนคนหนึ่งมีไม่จำกัด สิ่งเดียวที่จำกัดศักยภาพคือทัศนคติของตัวเราเอง ตัวผมจบสถาปัตย์ แต่มาทำร้านอาหาร เขียนหนังสือ เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และทำวิดีโอได้ นั่นเป็นข้อพิสูจน์หนึ่งให้กับตัวผมเองว่า ขอแค่เรามีทัศนคติที่ดี มุ่งมั่น และมีความตั้งใจจะเข้าใจในสิ่งที่กำลังจะทำ อะไรก็เป็นไปได้เสมอ มีผู้ประกอบการมากมายที่มีต้นทุนชีวิตไม่เท่าคนอื่น แต่ 2 มือของเขาได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นมากมาย ถ้าเขาทำได้ ทำไมคุณจะทำไม่ได้ล่ะ มาเรียนรู้ ทดลอง และลองผิดลองถูกด้วยกันนี่แหละ ผมพร้อมสนับสนุนเสมอ”

ภาพ: มณีนุช บุญเรือง

บทความที่เกี่ยวข้อง