‘ลุกกะ’ (Lykke) ส่องความสุขแบบเดนมาร์ก…สู่ความสุขที่สร้างได้ทุกมุมโลก

Care / Self Care

การดูแลตัวเองเริ่มที่ความสุข ในภาษาเดนมาร์ก คำว่า ความสุข เขียนว่า Lykke ออกเสียงว่า “ลุก-กะ

ลุกกะ คำธรรมดาของชาวเดนมาร์กคำนี้กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการเปิดตัวหนังสือ The Little Book of Lykke: The Danish Search for the World’s Happiest People ของ Meik Wiking นักเขียนและนักวิจัยอารมณ์ดีชาวโคเปนฮาเกน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยความสุข (Happiness Research Institute)

ใจความตลอดหนังสือเล่มนี้ ไมก์ได้ชักชวนให้เราออกตามล่าหาสมบัติ…และสมบัตินั้นคือ ‘ความสุข’ ของคนทั่วโลก โดยมี ลุกกะ ของประเทศเดนมาร์กเป็นตัวนำทางไป 

อย่าเพิ่งคิดว่านี่คือหนังสือความสุขแบบโลกสวยที่มองความสุขแบบฉาบฉวย เพราะนี่คือการชวนให้เรามองหาความสุขในมุมที่ยั่งยืนและครอบคลุมไปถึงครอบครัว ชุมชน และโครงสร้างสังคมกันเลยทีเดียว!

จาก ฮุกกะ (Hygge) ถึง ลุกกะ (Lykke)

ก่อนจะพูดถึง ลุกกะ ต้องทำความรู้จักกับ ฮุกกะ เสียก่อน 

ในช่วงปลายปี 2017 แนวคิด ฮุกกะ ได้กลายเป็นกระแสนิยมของคนทั่วโลก เกิดแฮ็ชแท็ก #Hygge มากมายในโลกออนไลน์ซึ่งเป็นผลจากการที่หลายๆ สำนักพิมพ์เปิดตัวหนังสือเกี่ยวกับ ฮุกกะ กันมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ The Little Book of Hygge โดยคุณไมก์ ไวกิ้งผู้นี้นี่เอง (หลังจากหนังสือ ฮุกกะ เขาก็เปิดตัวหนังสือ ลุกกะ ตามมาติดๆ)

ฮุกกะ เป็นภาษาเดนมาร์ก เป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้อธิบายสภาวะที่เราอยู่ในความอบอุ่นกายสบายใจ ตัวอย่างความ ฮุกกะ ที่โดดเด่นของเดนมาร์กก็คือการจุดเทียน (นึกภาพตาม–อากาศหนาวๆ เรานอนอยู่บนโซฟานุ่มๆ ผ้าห่มอุ่น โกโก้ร้อนสักแก้ว และแสงสลัวละมุนละไมจากเปลวเทียน–อะไรแบบนี้แหละ คือ ฮุกกะ

ฮุกกะ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนเดนมาร์ก ถึงขนาดเวลาไปหาหมอเพราะป่วยเป็นไข้หวัด หมออาจสั่งให้กลับบ้านไปทำอะไรที่มัน ฮุกกะ เป็นการรักษาตัว คนเดนมาร์กจะหาเวลาให้กับความ ฮุกกะ อยู่เสมอในทุกๆ วัน และทุกคนคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ

จาก ฮุกกะ ถึง ลุกกะ คือการรวมตัวของแนวคิดเพื่อสร้างความสุขในชีวิต และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เดนมาร์กติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก

(Photo: Bookscape)

ปัจจัย 6 ประการที่ช่วยสร้าง ลุกกะ 

ในหนังสือ The Little Book of Lykke ไมก์ได้เล่าถึงปัจจัย 6 ประการที่เขาค้นพบว่ามีผลกับการสร้างความสุขให้กับชีวิต นั่นคือ ความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Togetherness) เงิน (Money) สุขภาพ (Health) เสรีภาพ (Freedom) ความไว้วางใจ (Trust) และความมีน้ำใจ (Kindness)

ความเป็นหนึ่งเดียวกัน — ไมก์สรุปว่า ชีวิตที่ดีมีความสุขนั้นมีรากฐานมาจากชุมชนที่เข้มแข็ง ผู้คนมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และคอยช่วยเหลือดูแลกัน

เงิน — เงินมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสุขก็จริง และช่วยลดความทุกข์ได้จริง แต่วิธีที่เราใช้จ่ายเงินต่างหากที่เป็นตัวกำหนดความสุขที่แท้จริง เช่น แทนที่จะเลือกซื้อของที่มีราคาสูง ให้เลือกสิ่งที่จะสร้างประสบการณ์และความทรงจำมากกว่า หรือการยอมจ่ายภาษีแพง เพื่อให้รัฐนำไปใช้สร้างสาธารณประโยชน์ นั้นทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขในวงกว้าง (รัฐดี = ประชาชนดี = ประชาชนยินดีจ่ายภาษี)

สุขภาพ — การมีสุขภาพดีคือสิ่งที่คนในทุกวัฒนธรรมต้องการ ประเทศที่ติด 10 อันดับแรกของกลุ่มประเทศที่มีความสุขดีล้วนมีนโยบายให้ประชาชนมีสิทธิรักษาพยาบาลฟรี สุขภาพเป็นรากฐานที่ดีที่นำไปสู่ความสุข และในอีกด้านหนึ่ง ความสุขก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สุขภาพดีด้วย

เสรีภาพ — เสรีภาพที่จะเลือกใช้ชีวิตและเป็นผู้กำหนดชีวิตของเราเองนั้นส่งผลต่อความสุข ไมก์ยกตัวอย่างคู่สามีภรรยาชาวลอนดอนที่ย้ายมาอยู่เดนมาร์ก เพราะวัฒนธรรมการทำงานและนโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้พ่อแม่ได้เลี้ยงลูกอย่างอิสระและมีความสุขกว่า ทำให้รักษาสมดุลระหว่างชีวิตกับงานได้มากกว่า เช่น ทำงานที่บ้านได้ เลือกเวลาทำงานได้ มีวันลาให้ทั้งพ่อและแม่ เลือกวันลาได้ แบ่งวันลาได้ และยังได้รับเงินอุดหนุนค่าเลี้ยงดูบุตรด้วย ฯลฯ ในขณะที่พวกเขาไม่เคยได้รับโอกาสและเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตแบบนี้ตอนอยู่ที่ลอนดอน 

ความไว้วางใจ สังคมที่ผู้คนไว้เนื้อเชื่อใจกัน เห็นอกเห็นใจกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน คนแปลกหน้า ไปจนถึงระดับรัฐบาล คือสังคมที่ทำให้ผู้คนมีความสุข ความไว้ใจกันทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่าย และผ่อนคลายสบายใจ

ความมีน้ำใจ — สังคมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีน้ำใจต่อกันคือสังคมที่ผู้คนจะมีความสุข เมื่อได้ช่วยเหลือและทำเรื่องดีๆ ให้กับคนอื่น ฝั่งผู้ให้ก็จะรู้สึกดีกับตัวเองส่วนผู้รับก็ย่อมรู้สึกดีที่ได้รับน้ำใจ ในขณะที่คนที่ได้เห็นผู้ให้ผู้รับเค้ากำลังทำสิ่งดีๆ ต่อกันก็พลอยรู้สึกดีมีความสุขไปด้วย

ส่องความสุขแบบเดนมาร์ก 

เดนมาร์ก ครองแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกมาหลายสมัย สิ่งที่ไมก์นำเสนอในหนังสือสะท้อนให้เห็นว่า เดนมาร์กเป็นดินแดนที่มีปัจจัย 6 ประการในการสร้างความสุขซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนอยู่มากมาย

ตัวอย่างเช่น บูเฟลเลสสเกน หรือ โครงการบ้านพักอาศัยที่ใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน ชุมชนที่อาศัยอยู่ในบูเฟลเลสเกนเดียวกันจะรู้จักกัน คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ (มากๆ) โดยมีพื้นที่ส่วนกลางที่เชื่อมโยงทุกคนไว้ เช่น ครัวกลาง สวนผักกลาง สนามเด็กเล่น หรือแม้กระทั่งสตูดิโอศิลปะ และห้องรับรองแขก (และแน่นอนว่าแต่ละบ้านไม่มีรั้วกั้น) 

บูเฟลเลสสเกน บางแห่งมีการแบ่งเวรช่วยกันทำอาหารและมากินอาหารร่วมกัน (ลักษณะเหมือนงานมีงานบุญ แต่เกิดขึ้นแทบทุกวัน!) ทำให้บ้านที่มีลูกเด็กเล็กแดงสามารถใช้เวลาที่ต้องเตรียมอาหารในทุกๆ วัน ไปสร้างเวลาคุณภาพให้กับลูกแทน เช่น สอนการบ้าน อ่านหนังสือ หรือเล่นกีฬา เด็กๆ ได้เติบโตมาอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ พ่อแม่ก็ลดความเครียดในการเลี้ยงลูกลงไป สุขภาพจิตดีมีความสุข พอครอบครัวมีความสุข ทั้งชุมชนก็มีความสุขไปด้วย 

นอกจากนี้เดนมาร์กยังเป็นเมืองที่ผู้คนขี่จักรยานกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไมก์ก็บอกอย่างติดตลก (แต่จริงจัง) ว่านั่นไม่ใช่เพราะคนอยากมีสุขภาพดีหรอก แต่เพราะสภาพแวดล้อมของเมืองนั้นเอื้ออำนวยให้จักรยานกลายเป็นยานพาหนะที่สะดวกที่สุด เมื่อรัฐให้ความสำคัญกับการสร้างทางขี่จักรยานที่ดี ดูแลท้องถนนให้สะอาด ปลอดภัย มีแม้กระทั่งถังขยะที่ปากถังเอียงตัวให้เหมาะกับการขี่โฉบมาทิ้งขยะโดยไม่ต้องลงจากจักรยาน ด้วยเหตุนี้ ผู้คนจึงใช้รถยนต์กันน้อยลง มลพิษลดลง อากาศก็ดีขึ้น ผู้คนออกมาใช้งานพื้นที่สาธารณะ มาขี่จักรยาน มาออกกำลังกาย ว่ายน้ำในแม่น้ำ ส่งผลให้สุขภาพกายใจดี มีความสุขตามมา

นอกจากเป็นประเทศที่มีความสุขติดอันดับต้นๆ เดนมาร์กยังเป็นเมืองที่เก็บภาษีสูงมากติดอันดับต้นๆ อีกด้วย แต่นั่นยิ่งทำให้ประชาชนมีความสุข! เพราะรัฐนำไปใช้บริหารอย่างสมน้ำสมเนื้อ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากเมืองที่สะอาดปลอดภัย ยังรักษาพยาบาลฟรี เรียนหนังสือฟรี ถ้าตกงานรัฐก็จ่ายเงินช่วยเหลือรายเดือน แถมยังสนับสนุนให้มีสิทธิลาคลอดของคุณพ่อเพื่อให้สามีได้ช่วยภรรยาเลี้ยงลูก คนเดนมาร์กจะไม่คิดว่าการเลี้ยงลูกเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น เราจะได้เห็นพนักงานชายขออนุญาตกลับบ้านตอน 4 โมงเพื่อไปรับลูกที่โรงเรียน และกลับบ้านไปทำกับข้าวรอภรรยากลับจากทำงานเป็นเรื่องปกติ 

เห็นไหมล่ะว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของการสร้างความสุขที่ฉาบฉวย แต่เป็นการร่วมมือกันสร้างความสุขที่ยั่งยืนระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนที่มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน คือคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนอย่างเท่าเทียม

ความสุขที่สร้างได้ทุกมุมโลก

นอกจากเดนมาร์ก ไมก์ยังยกตัวอย่างผู้คนในอีกหลายมุมของโลกที่กำลังร่วมกันสร้างชุมชนแห่งความสุขขึ้นมาในท้องถิ่นของตน ตัวอย่างเช่น

ออสเตรเลีย — ชานี หญิงสาวชาวแคนาดาที่มาย้ายมาอยู่เมืองเพิร์ท ออสเตรีเลย ได้เปลี่ยนถนนเส้นเล็กๆ ที่เธออาศัยอยู่ให้กลายเป็นชุมชนที่ทุกคนหันมาทำกิจกรรมร่วมกัน คอยช่วยเหลือดูแลกัน 

เนเธอร์แลนด์ — ทุกวันที่ 26 พฤษภาคมของทุกปีคนดัตช์จะจัดงานเฉลิมฉลองวันเพื่อนบ้าน โดยจะชวนเพื่อนบ้านมาพบปะสังสรรค์กัน พวกเขาเชื่อว่า การมีเพื่อนบ้านที่ดีนั้นยอดเยี่ยมกว่ามีมิตรสหายที่อยู่ห่างไกลกัน 

อเมริกา — ชาวเมืองดิทรอยต์โดนวิกฤตเศรษฐกิจเล่นงาน ทำให้เมืองแห่งธุรกิจยานยนต์ประสบปัญหาอย่างหนัก พวกเขาช่วยกันจัดตั้งสวนชุมชนขึ้นทั่วเมือง จนกลายเป็นการเคลื่อนไหวทางเกษตรกรรมในเขตเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

บังกลาเทศ — องค์กรพัฒนาบีอาร์เอซี (BRAC) ในเมืองพับนา ชักชวนให้คนยากจนมารวมตัวกัน และส่งเสริมให้ใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อเปิดธุรกิจของตนเอง ทำให้ชุมชนฟื้นจากความยากไร้

สเปน — ร้านอาหารในกรุงมาดริดแห่งหนึ่งช่วยเหลือคนไร้บ้านในชุมชน โดยในเวลากลางคืนจะเปิดให้คนไร้บ้านมากินอาหารได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยลูกค้าที่มากินอาหารในช่วงกลางวันซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังจ่าย ก็ช่วยสมทบทุนช่วยเหลือด้วย

ญี่ปุ่น — คนญี่ปุ่นมีกิจกรรมยอดนิยมอย่างหนึ่งคือ การเดินป่า และกลายเป็นวิถีปฏิบัติที่เรียกว่า ชินริง-โยะกุ หรือ “การอาบป่า” พวกเขาจะหาเวลาออกไปเดินท่องในป่าเขาเพื่อซึมซับบรรยากาศของธรรมชาติรอบตัว เป็นการบำบัดที่ช่วยลดความเครียดในจิตใจ และทำให้ได้ออกกำลังกายไปด้วย

สวีเดน — หลายบริษัททั้งภาครัฐและเอกชนทดลองลดเวลาทำงานในแต่ละวัน ให้เหลือวันละ 6 ชั่วโมง แทนที่จะเป็นวันละ 8 ชั่วโมงแบบเดิม โดยเชื่อว่าเวลาทำงานที่สั้นลงจะช่วยให้ระดับความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น 

บราซิล — ชุมชนแออัดในเมืองรีโอเดจาเนโร ได้ชักชวนกันทาสีบ้านในชุมชนให้เป็นสีรุ้ง โดยมีเยาวชนในท้องถิ่นจำนวนมากเข้าร่วม สร้างความภาคภูมิใจ ความรักท้องถิ่น และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนภายนอกให้ความสนใจ 

อินเดีย — ที่เมืองไฮเดอราบาด มีโครงการแลกของขวัญโดยจับคู่เด็กๆ จากโรงเรียนที่ร่ำรวยและยากจน โดยเป้าหมายเพื่อช่วยทลายกำแพงความแตกต่างในสังคม

ตุรกี — บริษัทชื่อพูเกดอนในเมืองอิสตันบูล ช่วยสุนัขไร้บ้านไม่ให้อดตายด้วยตู้รีไซเคิลแลกขวดกับอาหารสุนัข นอกจากช่วยลดขยะและยังได้ช่วยน้องหมาน่าสงสาร

ยังมีมุมมองน่าสนใจ การดูแลตัวเองและเคล็ดลับแห่งความสุขอีกมากมายที่อัดแน่นอยู่ในหนังสือ The Little Book of Lykke ขอชวนเชิญให้ไปตามอ่านกันต่อได้ (ช่วยกันอุดหนุนให้คุณไมก์ได้มาเล่าเคล็ดลับดีๆ ให้เราฟังอีก) และที่สำคัญ–อย่าลืมหาโอกาสสร้างความสุขให้กับตัวเองและชุมชนของคุณไปด้วยกัน 🙂

อ้างอิง:
หนังสือ The Little Book of Lykke: The Danish Search for the World’s Happiest People
(“ลุกกะ วิถีความสุขจากทุกมุมโลก” ฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์ Bookscape ผู้แปล: ลลิตา ผลผลา)

บทความที่เกี่ยวข้อง