“บ้านหมุน” (Vertigo) เป็นชื่อเรียกอาการเวียนศีรษะชนิดหนึ่งซึ่งทำให้เรารู้สึกเหมือนตัวเองกำลังหมุน หรือสิ่งรอบตัวกำลังหมุน ทั้งๆ ที่ตัวเราและสิ่งรอบตัวนั้นอยู่กับที่ การหมุนนี้ทำให้เกิดอาการเสียศูนย์และสูญเสียการทรงตัว รวมทั้งอาจมีอาการอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น หูอื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ฯลฯ ข้อควรระวังก็คือ อาการบ้านหมุนมักเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว คิดแล้วก็น่ากลัวถ้าจู่ๆ เราเกิดอาการบ้านหมุนในขณะขับรถหรือกำลังเดินลงบันได
บ้านหมุนนั้นไม่ใช่โรค แต่เป็น อาการ ที่เป็นผลมาจากความผิดปกติของระบบควบคุมการทรงตัวของร่างกาย ซึ่งมีระดับความรุนแรงต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุและสภาพร่างกายของแต่ละคน เมื่อเกิดอาการบ้านหมุน แม้ว่าจะรู้สึกว่าหายแล้ว แต่ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากความผิดปกติตรงส่วนไหน จะได้รักษาให้ตรงจุด
สาเหตุยอดฮิต…ความผิดปกติในหู
หูไม่ได้มีประโยชน์แค่การได้ยินเสียง แต่ยังช่วยในเรื่องการทรงตัวของร่างกายด้วย ภายในหูชั้นในจะมีเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัวอยู่ ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหู ไม่ว่าจะเกิดจากโรคต่างๆ เช่น หูอักเสบ หูน้ำหนวก หรือจากการกระทบกระเทือนศีรษะอย่างรุนแรง นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการได้ยิน ยังเสี่ยงต่อเรื่องการทรงตัว ทำให้เกิดอาการเวียนหัวและบ้านหมุนได้อีกด้วย
ในที่นี้จะขอกล่าวถึง 2 โรคในหูที่ติดอันดับสาเหตุอาการบ้านหมุน
- โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด หรือโรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า (Benign Paroxysmal Positioning Vertigo: BPPV) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากตะกอนแคลเซียมหรือหินปูนเคลื่อนหลุดจากตำแหน่งปกติเข้าไปในอวัยวะท่อครึ่งวงกลม (Semicircular canals) ของหูชั้นใน ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการรับรู้การทรงตัวของร่างกาย เมื่อตะกอนหินปูนหลุดเข้าไปทำให้เสียสมดุล กระตุ้นให้เกิดอาการบ้านหมุน โดยมักเกิดขึ้นแบบกะทันหันในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ สาเหตุที่ตะกอนหินปูนหลุดอาจเกิดจากความเสื่อมตามวัย การเกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะ รวมทั้งในปัจจุบันคนวัยทำงานมักทำงานหนัก พักผ่อนน้อย และมีการก้มๆ เงยๆ ศีรษะอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ตลอด ก็อาจเป็นสาเหตุให้ตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดจนเกิดอาการบ้านหมุนได้เช่นกัน
- โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน โดยปกติแล้ว ปริมาณน้ำในหูชั้นในจะมีการไหลเวียนถ่ายเทในระดับที่พอดีกับการทำงานของเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว เมื่อมีความผิดปกติ เช่น น้ำในหูชั้นในมีปริมาณมากเกินไป จึงทำให้การทรงตัวเสียสมดุล เกิดอาการบ้านหมุน ซึ่งอาการบ้านหมุนจากสาเหตุน้ำในหูไม่เท่ากันนี้ มักจะมีความรุนแรงมากกว่าสาเหตุหินปูนชั้นในหลุด บ้านหมุนจากน้ำในหูไม่เท่ากันอาจเกิดอาการได้นานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน รวมทั้งอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินด้วย เช่น ได้ยินเสียงลดลง หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหู
ความผิดปกติที่ “สมอง”…ต้องระวัง
บ้านหมุนที่เกิดจากสาเหตุตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดและน้ำในหูไม่เท่ากัน แม้จะสร้างความทรมานขณะเกิดอาการ และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ตัวโรคเองนั้นไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต ต่างจากสาเหตุบ้านหมุนที่เกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เนื้องอก มะเร็ง หรือการกระทบกระเทือนที่ศีรษะอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ถ้ามีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้นร่วมกับอาการแขนขาชาอ่อนแรง ตาเหล่เห็นภาพซ้อน ปากเบี้ยวพูดไม่ชัด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
3 วิธีรับมือ “บ้านหมุน” อย่างมีสติ
- หยุดทุกกิจกรรม – หากมีอาการบ้านหมุนขณะกำลังทำกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ให้หยุดกิจกรรมนั้นทันที อย่าฝืนทำต่อไป โดยเฉพาะในสภาพแวดที่มีความเสี่ยง เช่น ขณะทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ขณะเดินอยู่ริมถนนหรือริมทางรถไฟ หรือกำลังเดินขึ้นลงบันได ให้มองหาที่ยึดเกาะหรือนั่งลงไว้ก่อน ถ้าเกิดอาการขณะขับรถ ให้ตั้งสติ อย่าเพิ่งรีบเหยียบเบรก แต่ค่อยๆ ลดความเร็ว และพยายามจอดรถในที่ปลอดภัยให้เร็วที่สุด
- นอนนิ่งๆ ไว้ – หากมีพื้นที่กว้างพอ ควรนอนราบบนพื้น และมองไปยังวัตถุที่อยู่นิ่ง ห้ามเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว รอจนอาการทุเลาแล้วจึงลุกขึ้นอย่างช้าๆ วิธีลุกที่ถูกต้องคือตะแคงตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง แล้วใช้ด้านข้างของลำตัวและมือช่วยพยุงตัวขึ้นมา
- ลดปัจจัยเสี่ยง – ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการบ้านหมุน คือการเคลื่อนไหวเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะบริเวณศีรษะ เช่น ก้ม เงย ลุกนั่งจากท่านอน หรือลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง และยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยช่วยกัน เช่น ความเครียด วิตกกังวล นอนไม่พอ หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ รวมทั้งการสูบบุหรี่ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ถ้าลดลงได้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงบ้านหมุน นอกจากนี้ ควรดูแลร่างกายให้แข็งแรงทั้งกายและใจ กินอาหารมีประโยชน์ครบห้าหมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ แม้ว่าโรคภัยหรืออุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นแบบคาดเดาไม่ได้ และเป็นสัจธรรมที่ว่าร่างกายย่อมมีการเสื่อมสภาพลงตามวัย แต่การรักษาร่างกายให้แข็งแรงไว้จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้แน่นอน
แหล่งข้อมูล:
Siriraj E-Public Library
Chulalongkornhospital.go.th